ยังจำหนังเรื่อง Stuart Little ปี 1999 กันได้ไหมครับ เป็นหนังครอบครัวอารมณ์ดี ที่ขายชื่อเจ้าหนู โจนาธาน ลิปนิกกี (Jonathan Lipnicki) ที่ตอนนั้นเพิ่งโด่งดังมาจากหนัง Jerry Maguire แล้วมารับบทนำคู่กับ ‘เจ้าสจวร์ต’ หนู CGI หนังอบอุ่นน่ารัก ดูกันได้ทั้งครอบครัว จนเป็นหนึ่งในโฮมวิดีโอที่เด็ก ๆ ชอบ แล้วหยิบมาดูกันบ่อยครั้ง จนผ่านไป 10 ปีแล้ว ที่หนังฮอลลีวูดเรื่องนี้ไปสร้างเรื่องราวเซอร์ไพรส์ในอีกซีกโลก

มหัศจรรย์คืนคริสต์มาสอีฟ 2009

Sleeping Lady with Black Vase

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ต้องย้อนไปในคืนคริสต์มาสอีฟปี 2009 ที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เกอร์เกลี บาร์กี (Gergely Barki) เขาผู้นี้เป็นนักวิจัย และยังเป็นเจ้าหน้าที่หอศิลป์แห่งชาติฮังการี ในคืนนั้นบาร์กีกำลังพักผ่อนอยู่กับ โลลา ลูกสาวของเขา ด้วยการเปิดหนัง ‘Stuart Little’ ดูด้วยกัน โลลาซึ่งนอนอยู่บนตักของคุณพ่อ ก็ดูหนังไปหัวเราะคิกคักไปอย่างมีความสุข แต่แล้วก็มาถึงฉากที่เจ้าหนูสจวร์ตกำลังพูดคุยกับพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์อยู่หน้าเตาผิง ฉากนี้ก็เป็นฉากธรรมดาสำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่สำหรับบาร์กี ฉากนี้ทำให้เขาถึงกับตกตะลึงได้ เพราะเขาสะดุดตากับภาพเขียนที่แขวนอยู่บนผนังด้านหลังในฉากนี้ เพราะมันไม่ใช่ภาพเขียนดาด ๆ ทั่วไป แต่มันคือภาพเขียนที่เป็นผลงานชิ้นเอกของ โรเบิร์ต เบเรนี (Róbert Berény) ศิลปินระดับตำนานของฮังการี ที่เคยถูกนำแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1928 ก่อนจะหายสาบสูญไป

“ผมนี่เกือบทำโลลาร่วงจากตักผมเลย สำหรับผมนี่มันคือเหตุการณ์มหัศจรรย์ในคืนคริสต์มาสเลยก็ว่าได้ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยครับที่จะเจองานเขียนชิ้นเอกมาแอบซ่อนอยู่ในหนังฮอลลีวูดแบบนี้”

โรเบิร์ต เบเรนี นั้นเป็นศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของฮังการี เขาเป็นสมาชิกในกลุ่ม “the Eight” กลุ่มของศิลปิน อวองต์การ์ด ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวงการศิลปะของฮังการีไปสู่ยุคใหม่ในปี 1909 นอกจากนั้นเขายังมีบทบาทโดดเด่นในสังคม เพราะเขาเป็นผู้ออกแบบโปสเตอร์ที่ใช้ในการประท้วงต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในฮังการี ทำให้เขาต้องบินหนีออกจากฮังการีไป ยังมีข่าวซุบซิบด้วยว่า เขามีสัมพันธ์สวาทกับ มาร์ลีน ดีทริช (Marlene Dietrich) นางเอกฮอลลีวูดชื่อดัง รวมไปถึง อนาตาเซีย ภรรยาของท่านดยุคชาวรัสเซียอีกด้วย

โรเบิร์ต เบเรนี 1887 – 1953

ภาพเขียนชิ้นดังกล่าวคือภาพที่ชื่อ “Sleeping Lady with Black Vase” ซึ่งเล่าขานกันว่าเป็นภาพของภรรยาคนที่ 2 ของเบเรนี ซึ่งเขาเขียนภาพนี้ขึ้นในปี 1926 แล้วมันก็หายสาบสูญไป บาร์กีไม่เคยได้เห็นภาพจริงมาก่อน เขาเคยเห็นภาพนี้ในหนังสือแคตตาล็อกของงานจัดแสดงภาพในปี 1928 แล้วเป็นแคตตาล็อกภาพขาว-ดำอีกด้วย แต่ด้วยสายตาที่เฉียบคมของเขา เมื่อเห็นภาพนี้อีกครั้งในหนัง เขาก็จำได้ทันที
“มันไม่ได้อยู่ในหนังแค่วินาทีเดียวนะ แต่มันโผล่ออกมาหลายฉากเลย ผมรู้ดีว่าผมไม่ได้เพ้อไปเองแน่”
พอมั่นใจดังนี้น บาร์กีก็เริ่มปฏิบัติการตามล่าภาพ Sleeping Lady with Black Vase ให้กลับคืนฮังการีประเทศบ้านกิดทันที

ก้าวแรกก็ประสบปัญหาแล้ว

เกอร์เกลี บาร์กี

โรเบิร์ต เบเรนี เริ่มต้นด้วยการอีเมลไปหา โซนี่สตูดิโอ และ โคลัมเบียพิกเจอร์ บริษัทผู้สร้างหนัง Stuart Little เพราะเป็นเพียงเบาะแสเดียวที่เขารู้ในขณะนั้น ผู้ที่ตอบอีเมลเขากลับมาเป็นตำแหน่ง ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ซึ่งพอจำภาพเขียนนี้ได้คลับคล้ายคลับคลา แต่พอหนังถ่ายทำเสร็จ เขาก็ไม่รู้แล้วว่าภาพเขียนไปอยู่กับใคร กลายเป็นทางตันสำหรับบาร์กี

ก้าวต่อไปของบาร์กี คือนั่งไล่ดูเครดิตทั้งหมดของหนัง Stuart Little บาร์กีขยันขนาดที่ว่าค้นหาอีเมลของทีมงานทุกคนเท่าที่จะหาได้ แล้วส่งอีเมลไปหาทุกคน บางคนก็เงียบหาย บางคนก็ตอบกลับมา แต่ที่ตอบกลับมาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ไม่รู้รายละเอียดที่ไปที่มาของภาพเขียนดังกล่าวนั้น จนบาร์กีถอดใจแล้วว่าเขามาได้แค่นี้ ไม่รู้แล้วว่าจะหาภาพนี้ด้วยวิธีใด

ผ่านไป 2 ปี จนบาร์กีเองก็ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็ได้รับอีเมลตอบกลับมาจากสาวผู้หนึ่ง ที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฉาก โชคดีที่เธอนี่ล่ะคือตัวจริง เพราะเธอเป็นเจ้าของภาพนี้เอง เธอเล่าว่าเธอมีหน้าที่หาอุปกรณ์ประกอบฉาก เธอก็เลยซื้อภาพนี้มาในราคา 500 เหรียญ จากร้านของเก่าในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย พอหนังถ่ายทำจบ เธอก็นำภาพนี้กลับไปแขวนที่บ้าน
“มันแขวนอยู่บนผนังห้องนอนในบ้านของเธอที่วอชิงตัน ในปีนั้นเลย ที่ผมบินไปหาเธอเพื่อดูภาพนี้ด้วยตาตัวเอง ผมไม่ปิดอะไรเลยนะ ผมเล่าความจริงเกี่ยวกับภาพนี้ให้เธอฟัง ทำเอาเธอเซอร์ไพรส์มาก”

จากฮังการี มาแคลิฟอร์เนียได้อย่างไร

ไมเคิล แฮมป์สตีด

พอภาพ Sleeping Lady with Black Vase กลายเป็นข่าวขึ้นมา เจ้าของคนก่อนหน้าที่เห็นข่าวก็เผยตัวออกมา เขาคือ ไมเคิล แฮมป์สตีด (Michael Hempstead) เขาซื้อภาพนี้มาจากงานประมูลการกุศลที่จัดโดย St. Vincent de Paul องค์กรอาสาสมัครระหว่างประเทศในคริสตจักรคาทอลิก ที่จัดขึ้นในซานดิอาโก เมื่อกลางยุค 90’s
“ผมซื้อมาในราคา 40 เหรียญ เท่านั้นเอง เพราะใครสักคนนี่ละ เขาบริจาคมาให้องค์กรพร้อมกับทรัพย์สินอื่น ๆ อีกหลายอย่าง”
แฮมป์สตีดย้อนเล่าที่มา

ซึ่งตอนที่แฮมป์สตีดประมูลภาพนี้มานั้น ตัวเขารู้อยู่แล้วว่านี่เป็นผลงานของ โรเบิร์ต เบเรนี แต่เขาไม่รู้มาก่อนว่านี้เป็นภาพที่สูญหาย ซึ่งเขาก็นำไปขายต่อให้กับร้านขายของเก่าในราคา 400 เหรียญ ซึ่งก็เป็นร้านที่ ผู้ช่วยผู้กำกับฉากไปซื้อต่อมานั่นเอง

ส่วนที่ไปที่มาของภาพก่อนที่แฮมป์สตีดซื้อมานั้น ยังเป็นเรื่องราวที่เป็นปริศนา และไม่มีใครตอบได้ บาร์กีได้แต่เพียงคาดเดาอย่างมีหลักการว่า น่าจะมีนักสะสมไปซื้อมาจากงานแสดงภาพเมื่อปี 1928 ที่เขาเคยเห็นภาพนี้ในแคตตาล็อกขาว-ดำ ครั้งนั้นล่ะ
“เพราะนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ภาพนี้ถูกนำออกแสดง แล้วคนที่ซื้อภาพเขียนในงานแสดงครั้งนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวยิวที่มีฐานะ แล้วพอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวพวกนี้ก็เลยต้องหนีออกนอกประเทศกัน”
“หลังสงคราม การปฏิวัติ และความวุ่นวายในศตวรรษที่ 20 ผลงานชิ้นเอกของฮังการีจำนวนมากก็สูญหายไปด้วย น่าจะกระจัดกระจายไปทั่วโลกเลยล่ะ”
แล้วก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า ภาพเขียนนี้ไปลงเอยในงานประมูลของคาทอลิกได้อย่างไร

กลับคืนสู่มาตุภูมิ

Sleeping Lady with Black Vase ถูกนำมาประมูลอีกครั้ง

หลังจากผู้ช่วยผู้กำกับฉากสาวคนดังกล่าว ผู้ไม่ขอเปิดเผยนามตัวเอง ก็ยินดีขายภาพนี้ให้กับบาร์กี แต่ไม่เปิดเผยราคา แล้วในที่สุดภาพ Sleeping Lady with Black Vase ก็ได้กลับสู่หอศิลป์แห่งชาติในบูดาเปสต์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2014 แต่ที่น่าตลกก็คือ ภาพที่ตามหากันแทบพลิกแผ่นดิน พอได้กลับคืนสู่หอศิลป์ แทนที่หอศิลป์จะเก็บรักษาไว้ในสถานะสมบัติที่ภาคภูมิใจของชาติ แต่หอศิลป์ดันนำมาประมูลอีกครั้ง แล้วก็มีนักสะสมมชาวฮังกาเรียนประมูลไปในราคา 285,700 เหรียญ ประมาณ 9.8 ล้านบาท

ซึ่งบาร์กีก็คงรู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจเช่นนั้นของผู้บริหารหอศิลป์ เขาจึงไม่เข้าร่วมชมการประมูล
“สำหรับผมมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ครั้งหนึ่งครั้งเดียวในชีวิตเลยก็ว่าได้ กับประสบการณ์ที่ได้ค้นพบภาพเขียนมากมูลค่าเช่นนี้ นั่นล่ะเป็นส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดแล้ว”
“ในฐานะนักวิจัย เราไม่เคยละสายตาออกจากงานประจำได้เลย แม้แต่ตอนที่นอนดูหนังในคืนคริสต์มาสอยู่ที่บ้านก็ตาม”

ที่มา : today i found out