มีผู้กำกับไม่กี่คนในฮอลลีวูดที่มีสไตล์การกำกับหนังและควบคุมโทนของหนัง รวมทั้งการวางองค์ประกอบภาพ การจัดวางภาพ การถ่ายภาพ การเคลื่อนกล้อง โปรดักชัน กราฟิก การเลือกสีที่มีการคุมโทนมาแล้วเป็นอย่างดี ฯลฯ ที่จัดจ้านเป็นเอกลักษณ์จนกลายเป็นสไตล์ของตัวเอง แถมเป็นสไตล์ที่โด่งดังจนกลายเป็นเสมือนกึ่ง ๆ Trendsetter ให้ชาวเน็ตได้อ้างอิงและหยิบจับไปครีเอตเป็นผลงานในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีทั้งในรูปแบบภาพนิ่ง คลิปวิดีโอที่เป็นไวรัล

หรือแม้แต่ยุคนี้ที่มี AI เดี๋ยวนี้เราก็มักจะเห็นไวรัลที่ศิลปินนักสร้างสรรค์ภาพ ได้นำขุมพลังของ AI ไปใช้สร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการอ้างอิงจากสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของหนังเรื่องต่าง ๆ หรือของผู้กำกับบางคนมาถ่ายทอดเป็นคอนเทนต์ในรูปแบบของตนเอง รวมถึงการเอาสไตล์และรูปแบบของหนังเรื่องต่าง ๆ มา Crossover หรือจับผสมกันเพื่อทดลองว่า ถ้าหนังเรื่องนั้นกำกับโดยผู้กำกับคนนี้ หน้าตาของหนังเรื่องนั้นจะออกมาเป็นแบบไหน

Asteroid City

ผู้กำกับสไตล์จัดที่หลายคนชื่นชอบในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้นผู้กำกับจอมเป๊ะ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ที่มักจะสอดแทรกสไตล์ในแบบฉบับของเขาลงไปหนังแทบทุกเรื่อง อาทิ ‘The Royal Tenenbaums’ (2001), ‘The Darjeeling Limited’ (2007), ‘Fantastic Mr. Fox’ (2009), ‘The Grand Budapest Hotel’ (2014), ‘Isle of Dogs’ (2018), ‘The French Dispatch’ (2021) และล่าสุดใน ‘Asteroid City’ ที่กำลังจะเข้าฉาย ที่ยังคงสไตล์จัดจ้านเอาไว้เช่นเดิม เพิ่มเติมคือมีนักแสดงดัง ๆ ร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

ซึ่งทั้งการจัดองค์ประกอบภาพ คน สิ่งของ สถานที่ ให้มีความสมมาตรอย่างชัดเจน การเคลื่อนและแพนกล้องแบบแข็ง ๆ หรือการใช้โทนสีพาสเทลนุ่มละมุนที่มีการคุมโทนอย่างจริงจัง (หรือถ้าอยากเอาให้เหมือนยันกลิ่นอาย แนะนำให้ใส่เพลง “Obituary” เพลงสกอร์จากหนัง ‘The French Dispatch’ ไปด้วยก็จะยิ่งเหมือนหนังเวสสุด ๆ ) ทำให้ทั้งตัวผลงานหนังของเขา และสไตล์แบบเวส แอนเดอร์สัน ที่จะว่าไปก็ถือว่ากลายเป็นอีกหนึ่ง Pop Culture ของยุคนี้ไปแล้ว

ยกตัวอย่างผลงานดัง ๆ ที่หยิบยืมเอาสไตล์จากหนังของแอนเดอร์สันไปใช้ในงานรูปแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่างก็เช่น วอลลี โควัล (Wally Koval) และภรรยา ที่ได้ทำโปรเจกต์เดินทางไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเวส แอนเดอร์สัน มาโพสต์ลงใน Instagram @accidentallywesanderson ผลงานของเขาโดดเด่นและโด่งดังจนถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือโฟโตบุ๊กสวย ๆ ในชื่อ ‘Accidentally Wes Anderson’ ที่ขายดิบขายดีทั่วโลก (รวมทั้งฉบับภาษาไทยด้วย)

นอกจากนี้ก็มี Instagram @panoramachannel ที่ใช้เครื่องมือวาดรูปด้วยปัญญาประดิษฐ์ยอดนิยม Midjourney วาดภาพเพื่อวาดภาพคอนเซปต์ในจินตนาการว่า หาก เวส แอนเดอร์สัน กำกับหนังดังทั้ง ‘Harry Potter’ และ ‘Guardians of the Galaxy’ หน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน รวมไปถึงช่องยูทูบ Curious Refuge ที่ได้จินตนาการภาพของหนังมหากาพย์สงคราม ‘Star Wars’ และช่องยูทูบ AI Show ที่นำเอาหนังไซไฟ ‘Dune’ มาตีความใหม่ในสไตล์ เวส แอนเดอร์สัน ที่ออกมาแปลกตาสุด ๆ จนรู้สึกอยากจะเห็นแอนเดอร์สันกำกับจริง ๆ สักครั้ง

รวมทั้งเทรนด์ที่เพิ่งเป็นไวรัลบน TikTok ที่เริ่มต้นจากคลิปที่มีผู้ใช้คนหนึ่งที่ชื่อว่า เอวา วิลเลียมส์ (Ava Williams) ได้โพสต์คลิปที่ใช้ชี่อว่า ‘Girl on a Train’ ที่มีการวางองค์ประกอบภาพและโทนสีให้มีกลิ่นอายหนัง เวส แอนเดอร์สัน ที่มียอดคนดูมากกว่า 13.8 ล้านครั้ง และมียอดกดหัวใจให้มากกว่า 2.3 ล้านครั้ง โดยวิลเลียมส์ นักศึกษาวัย 26 ปีได้เผยว่า เธอได้แรงบันดาลใจในการทำคลิปนี้ หลังจากที่เธอได้ดูหนัง ‘The French Dispatch’ กับพ่อและแม่ ตอนที่เธอกลับมาเยี่ยมบ้านในวันหยุด และพอวันหยุดวันสุดท้ายมาถึง เธอรู้สึกเศร้า ๆ ก็เลยถ่ายคลิปตอนที่เธอเดินทางกลับมหาวิทยาลัยด้วยรถไฟเอาไว้ ซึ่งต่อมาคลิปนี้ก็กลายเป็นชาเลนจ์ที่ได้รับความนิยม จนทำให้แฮชแท็ก #wesanderson มีผู้ชมรวมมากกว่า 1.7 ล้านครั้ง

With a good imagination, everything is symmetrical. Let a girl day dream! #wesanderson
With a good imagination, everything is symmetrical. Let a girl day dream! #wesanderson
@avawillyums

With a good imagination, everything is symmetrical. Let a girl day dream! #wesanderson

แต่ก็ไม่ใช่ผู้กำกับทุกคนจะรู้สึกยินดี ชื่นชอบ หรือปลาบปลื้มกับการที่ผู้คนได้นำสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปสร้างสรรค์ต่อยอด หรือกลายเป็น Challenge ฮิตติดกระแสที่ชาวเน็ตแห่กันเอาไปทำตามอย่างมากมาย ซึ่งผู้กำกับที่ไม่ปลื้มคนนั้นก็คือ เวส แอนเดอร์สัน นั่นเอง ที่ล่าสุด หลังจากเปิดตัวหนัง ‘Asteroid City’ เขาเองก็ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Times ที่เขาได้เปิดเผยความรู้สึกไม่ชอบ และไม่ปลื้มต่อกระแสและผลงานที่หยิบยืมสไตล์เวส ๆ ของเขาไปใช้สักเท่าไหร่

“ผมว่าผมเก่งมากในการป้องกันตัวเองจากการพบเห็นงานพวกนั้นนะ ถ้ามีใครส่งอะไรมาให้ผม ผมจะลบมันทันทีเลย ผมแค่อยากจะบอกว่า ‘ขอโทษด้วยนะ แต่ได้โปรด อย่าส่งสิ่งที่พวกเขาทำกับผมมาให้ผมดูอีก’ เพราะผมไม่อยากจะถูกมองและทำให้คนเข้าใจแบบผิด ๆ กันไปเองว่า ‘นี่ผมทำอะไรแบบนั้นด้วยเหรอ ? ‘ หรือ ‘ผมทำงานแบบนั้นด้วยเหรอ’ ผมไม่อยากให้ใครมาตัดสินไปว่างานของผมจะต้องออกมาเป็นแบบไหน เพราะคงมีแต่พราะเจ้าเท่านั้นแหละที่รู้ว่างานผมเป็นแบบไหน”

แม้เหตุผลที่เขาเผยออกมาจะทำให้หลายคนรู้สึกแอบหมั่นไส้นิด ๆ แต่เขาเองก็เคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน เช่นในบทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ The Daily Beast เกี่ยวกับไวรัล ทั้งชาเลนจ์ใน TikTok และผลงานที่สร้างขึ้นจาก AI

“ผมแค่เคยได้ยินที่เขาพูด ๆ กันเท่านั้นครับ ผมไม่เคยเห็นเลยสักงาน แน่นอน มันง่ายสำหรับผมที่จะเข้าหน้าเว็บไซด์ดู แต่ผมเลือกที่จะไม่อยากมีส่วนร่วมกับสิ่งเหล่านั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะผมแค่ไม่อยากจะเสียสมาธิกับของพวกนั้้นน่ะ มันเหมือนกับมีคนบอกว่า ‘เพื่อนของคุณก็คือตัวคุณในเวอร์ชันที่ดีกว่า’ ไรงี้ ซึ่งบางทีคุณก็อยากจะเห็น และบางทีคุณก็คงไม่อยากจะเห็นมัน แม้ว่ามันจะดีมากก็ตาม ซึ่งก็จะเกิดความสงสัยว่า ‘นี่มันตัวเราเหรอวะ’ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ”

“ผมคิดว่าบางทีผมก็อาจจะอยากเห็นนะ แต่ผมไม่มี TikTok ผมว่าผมคงไม่เข้าไปดูงานสไตล์ตัวเองว่ะ” (หัวเราะ)

นอกจากนี้ แอนเดอร์สันก็ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่า “เหตุผลเดียวที่ผมไม่ดูของพวกนี้ก็เพราะว่า ผมอาจจะต้องใช้สิ่งที่ผมเคยทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะบีบบังคับให้ยอมรับเมื่อผมต้องทำหนัง แต่ผมต้องการจะสร้าง (แนวทาง) ขึ้นมาด้วยตัวเอง สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ สิ่งที่ทุกคนตอบสนองต่อหนังที่ผมทำมาตลอดด้วยความกระตือรือร้น ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความโชคดี ผมมีความสุขที่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านั้นอยู่นะ แต่ตัวผมเองมีความรู้สึกสงสัยข้างในอยู่ลึก ๆ ว่า ‘เฮ้ย นั่นเป็นสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่เหรอ ? ‘ ผมจึงต้องปกป้องตัวเองจากสิ่งเหล่านั้น”

“ในท้ายที่สุด สิ่งที่สำคัญมากกว่าสำหรับผม (ในการทำหนัง) ก็คือมันเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร ผมใช้เวลาไปมากกับการเขียนบทภาพยนตร์ รวมทั้งนักแสดงที่เป็นศูนย์กลางในหนังของผม มากกว่าการคิดมากเรื่องสไตล์ ทั้งหมดนี้ไม่สามารถจำลองขึ้นมาได้ หรือบางทีถ้าคุณสามารถทำได้ด้วย AI บางทีผมอาจจะคิดไปแล้วว่ามันทำได้ก็ได้”


ที่มา: The Times, The Daily Beast, AP, BBC