‘Jurassic Park’ ภาคแรกผลงานกำกับของพ่อมดฮอลลีวูด สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1993 นับถึงปีนี้ 2023 หนังต้นกำเนิดแฟรนไชส์เรื่องนี้ก็มีอายุครบ 30 ปีแล้ว ถ้าใครที่เกิดทันในวันนั้น และได้มีประสบการณ์ดู ‘Jurassic Park’ บนจอภาพยนตร์ ก็น่าจะจำความรู้สึกในขณะนั้นได้ กับวินาทีแรกที่ได้เห็นภาพไดโนเสาร์ที่เหมือนกลับมามีชีวิตอีกครั้งจริง ๆ เป็นภาพโคลสอัปให้เห็นผิวหนัง ดวงตา กันแบบช้า ๆ ชัด ๆ และเป็นเทคโนโลยีที่มีละเอียดสมจริงมาก ขนาดว่าผ่านมา 30 ปีแล้ว หนังบางเรื่องยังไม่สามารถสร้างสัตว์จำลองให้มีคุณภาพเท่าเทียมใน ‘Jurassic Park’ (1993) ได้เลย

วันนี้ ‘Jurassic Park’ ได้กลายเป็นแฟรนไชส์ทรงคุณค่า สานภาคต่อมาได้อีก 5 ภาค รวมหนังทั้ง 6 ภาคแล้ว ทำรายได้รวมไปถึง 6,012 ล้านเหรียญ และ Jurassic Park ภาคแรกก็ทำรายได้ไปสูงถึง 1,045 ล้านเหรียญ ถ้าเทียบอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะมีค่าเท่ากับ 2,199 ล้านเหรียญในปัจจุบัน นั่นเท่ากับรายได้สูงที่สุดในจำนวนทั้ง 6 ภาค ในโอกาสที่หนังมีอายุครบ 3 ทศวรรษแล้ว แบไต๋ขอหยิบ 20 เรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจของ ‘Jurassic Park’ (1993) มาฝากกันครับ เชื่อว่าหลาย ๆ เรื่อง ผู้อ่านน่าจะยังไม่เคยรู้มาก่อน


1.ผลงานของ ไมเคิล ไครช์ทัน (Michael Crichton) หนึ่งในนักเขียนที่มีอิทธิพลอย่างมากในฮอลลีวูด

ซ้าย : ไมเคิล ไครช์ทัน / ขวา : สตีเวน สปิลเบิร์ก

ไมเคิล ไครช์ทัน เป็นนักเขียนนิยายที่ประสบความสำเร็จระดับโลกผู้หนึ่ง ผลงานหลายเรื่องของเขาถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ อย่างเช่น Twister, Westworld, Sphere และ Timeline และหนึ่งในผลงานยุคแรก ๆ ของเขาก็คือ ER ที่ไครช์ตันเป็นผู้ให้กำเนิดทีวีซีรีส์ชื่อดังชุดนี้ เขาเขียนเรื่องจากประสบการณ์ตัวเองตอนที่เป็นหมอฝึกหัดในห้องฉุกเฉินอยู่ช่วงสั้น ๆ ไครช์ทันได้นำบทภาพยนตร์ ER ไปเสนอกับค่าย Amblin Television ของ สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) และทำให้สปิลเบิร์กให้ความสนใจในตัวของไครช์ทัน จึงได้ถามถึงนิยายเล่มต่อไปของเขาว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร ซึ่งนั่นก็คือเรื่อง ‘Jurassic Park’ หลังจากฟังเรื่องราวที่เล่าจากปากของไครช์ทันเอง ทำให้สปิลเบิร์กให้ความสนใจอย่างมาก และติดต่อไปยังยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ให้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้ในเดือนพฤษภาคม ปี 1990 ก่อนที่หนังสือจะถูกตีพิมพ์เสียด้วยซ้ำ สปิลเบิร์กตื่นเต้นกับการที่จะได้กำกับ ‘Jurassic Park’อย่างมาก ถึงกับลงมือร่างสตอรี่บอร์ดจากหนังสือนิยาย ก่อนบทภาพยนตร์จะเสร็จสิ้นเสียด้วยซ้ำ


2.เพราะ ‘Jurassic Park’ ถึงได้มีหนัง ‘Schindler’s List’

แม้ว่าสปิลเบิร์กจะตื่นเต้นอยากกำกับ ‘Jurassic Park’ อย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน ‘Schindler’s List’ ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ในฝันของเขา แต่ ซิด ไชน์เบิร์ก (Sid Scheinberg) ประธานยูนิเวอร์แซลในขณะนั้นเองก็ยังไม่มั่นใจกับการที่จะควักทุนสร้างให้สปิลเบิร์กมาทำหนังที่เล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ที่จะออกมาเป็นหนังขาวดำและมีความยาวกว่า 3 ชั่วโมง ก็เลยยื่นข้อแม้ว่า สปิลเบิร์กจะต้องทำ ‘Jurassic Park’ ให้สำเร็จก่อนทางยูนิเวอร์แซลถึงจะอนุมัติทุนสร้างให้กับ ‘Schindler’s List’

ผลก็คือผลงานชิ้นเอกของสปิลเบิร์กทั้งสองเรื่อง ก็สำเร็จเสร็จสิ้นและได้ออกฉายในปี 1993 ‘Jurassic Park’ ฉายเดือนมิถุนายน ส่วน ‘Schindler’s List’ ออกฉายในเดือนพฤศจิกายน ทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกเหนือจากทำกำไรให้กับยูนิเวอร์แซลมหาศาลแล้ว ‘Schindler’s List’ ยังกวาดออสการ์ไปได้ 7 สาขา รวมถึง ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ ส่วน ‘Jurassic Park’ก็กวาดไป 3 ออสการ์ รวมไปถึงรางวัล ‘สเปเชียลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม’


3.เอาภาพจากปกหนังสือนิยายมาใช้เป็นโปสเตอร์หนัง

ปกนิยาย Jurassic Park


ไม่ว่าหนังสือนิยายเรื่องไหน ที่ถูกสตูดิโอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วก็มักจะนำโปสเตอร์หนังมาใช้เป็นปกหนังสือ เพื่อหวังผลทางด้านการตลาด แต่สำหรับ ‘Jurassic Park’กลับตรงกันข้าม เมื่อทางผู้สร้างภาพยนตร์เลือกใช้ภาพจากปกนิยายมาดัดแปลงเป็นโปสเตอร์หนัง ซึ่งภาพดังกล่าวก็คือภาพโลโก้ ‘Jurassic Park’ ที่ทุกคนคุ้นตากัน เป็นโลโก้ที่ดัดแปลงมาจากโครงกระดูกทีเร็กซ์ ซึ่งเป็นผลงานของ ชิป คิดด์ (Chip Kidd) ดีไซเนอร์ชื่อดังที่ออกแบบโลโก้นี้เพื่อใช้เป็นปกนิยาย


4.เครื่องเล่นในสวนสนุก ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้ สตีเวน สปิลเบิร์ก

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่มีส่วนผลักดันให้ สตีเวน สปิลเบิร์ก อยากสร้างหนัง ‘Jurassic Park’ ก็คือ ประสบการณ์จากการที่เขาได้ไปเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุกยูนิเวอร์แซล สตูดิโอที่ชื่อว่า “King Kong Encounter” นักท่องเที่ยวจะนั่งรถรางเข้าไปใกล้ ๆ กับหุ่นคิงคองขนาดยักษ์ ผลงานออกแบบโดย บ็อบ เกอร์ (Bob Gurr) เป็นหุ่นอนิเมทรอนิกส์ขนาดเท่าคิงคองตัวจริงในหนัง ร่างของคองเหมือนเป็นลูกโป่งอัดลมขนาดใหญ่ มีโครงลวดดามขึ้นรูปอยู่ด้านใน แม้ว่าหนัง Jurassic Park’จะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล และยูนิเวอร์แซลก็เคยมีแผนการจะสร้างสวนสนุกจูราสสิคพาร์ก แต่คำนวณแล้วว่าถ้าจะสร้างไดโนเสาร์ขนาดจริงขึ้นมาจำนวนมากนั้น ใช้ทุนสูงจนเกินไป


5.ระดมทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดมาทั้งหมด

เดนนิส มูเรน, สแตน วินสตัน, ฟิล ทิปเพ็ตต์ และ ไมเคิล แลนเทียรี

ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดตัวใหญ่โตมาก การจะสร้างหุ่นอนิเมทรอนิกส์ หรือหุ่นจักรกลที่เคลื่อนไหวได้จริงในขนาดเท่าจริงทุกตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ ทีมงานจึงต้องคิดหาวิธีพลิกแพลงต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่สมจริงที่สุด ดังนั้นสปิลเบิร์กจึงต้องระดมทีมงานที่มีความสามารถพิเศษทางด้านเทคนิคพิเศษระดับตำนานมาเพื่อจำลองวิสัยทัศน์ของเขาให้ออกมาเป็นภาพบนจอให้ได้

เริ่มจาก สแตน วินสตัน (Stan Winston) และทีมงานของเขา ที่เคยมีผลงานในการสร้างหุ่นยนต์ T-800 ใน ‘The Terminator’ มาแล้ว มารับผิดชอบในการสร้างหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ขึ้นมา งานของวินสตันในเรื่องนี้ก็ประกอบไปด้วย หุ่นทีเร็กซ์ในขนาดจริงแบบเต็มตัว และไดโนเสาร์พันธุ์อื่น ๆ อีกหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างเฉพาะครึ่งบนบ้าง บางตัวก็เฉพาะครึ่งล่าง บางตัวก็เฉพาะส่วนขา หรือกรงเล็บ อย่างฉากบราชิโอเซารัสกำลังกินพืชนั้น ก็มีการสร้างหุ่นชักที่ขนาดความสูง 2.2 เมตร ซึ่งสร้างเฉพาะส่วนหัวและลำคอแค่นั้น

ไมเคิล แลนเทียรี (Michael Lantieri) คนนี้เคยดูแลด้านสเปเชียลเอฟเฟกต์ให้กับหนัง ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ และ ‘Back to the Future’ ภาค 2 และ 3 มาแล้ว มาดูแลด้านความต่อเนื่องของงาน CGI กับหุ่นจำลองจริง ผลงานเด่น ๆ ของเขาก็คือฉากท้ายเรื่อง ทีเร็กซ์โยนร่างแรปเตอร์ที่เป็นภาพ CGI เข้าใส่โครงกระดูกทีเร็กซ์ ซึ่งเป็นหุ่นจำลองจริงอยู่ในฉาก แลนเทียรีรับผิดชอบให้ภาพของหุ่นโครงกระดูกแตกและร่วงได้เหมือนกับถูกร่างแรปเตอร์โยนเข้าใส่จริง ๆ ก่อนที่ภาพแรปเตอร์จะถูกเติมเข้ามาภายหลัง

ฟิล ทิปเพ็ตต์ (Phil Tippett) ผู้คว้ารางวัลออสการ์สาขาสเปเชียลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมมาแล้วจาก ‘Return of the Jedi’ เขาเชี่ยวชาญในเทคนิค “Go-Motion” เขาดูแลในการสร้างหุ่นจำลองขนาดเล็กเพื่อมาถ่ายทำในเทคนิคสต็อปโมชัน แล้วเติมเทคนิคโมชันเบลอเข้าไปในแต่ละเฟรม ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ภาพไดโนเสาร์เคลื่อนไหวได้นุ่มนวลเสมือนจริงมาก มีการใช้เทคนิคนี้ในฉากที่เก็บภาพมุมกว้าง

และสุดท้ายคือ เดนนิส มูเรน (Dennis Muren) รายนี้เคยควบคุมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ในหนัง Star wars หลายภาค รวมไปถึง ‘E.T.’ และ ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ ใน ‘Jurassic Park’ นี้ มูเรนเป็นผู้ควบคุมดูแลทีมงาน ILM ในการใส่เอเฟกต์ทั้งหมดในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ


6.’Jurassic Park’ทำลายกรอบของงาน CGI เดิม ๆ


ในช่วงแรก ๆ นั้น สปิลเบิร์กไม่พอใจกับการได้เห็นภาพทดสอบของไดโนเสาร์ในมุมกว้าง สปิลเบิร์กรู้สึกว่าพวกมันยังดูไม่เหมือนจริงพอ มูเรนและทีมงาน ILM ของเขาจึงต้องกลับไปทำการบ้านมาใหม่ ด้วยการรื้อฟื้นทักษะต่าง ๆ ที่เคยใช้ในหนังอย่าง ‘The Abyss’ และ ‘Terminator 2: Judgment Day’ มาจำลองภาพฟุตเทจไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ เป็นภาพโครงกระดูกของไดโนเสาร์แกลลิมิมัสกำลังวิ่งผ่านทุ่ง รอบนี้ทำเอาสปิลเบิร์กทึ่งไปเลยกับการเคลื่อนไหวที่ดูสมจริง แต่ขณะเดียวกัน สปิลเบิร์กก็ไม่อยากทิ้งงานหุ่นจำลองของทิปเพ็ตต์ จนเมื่อมูเรนกลับมานำเสนอผลงานอีกครั้ง คราวนี้เป็นภาพ ทีเร็กซ์กำลังเดินผ่านทุ่งในเวลากลางวันแสก ๆ และเป็นงานที่ผ่านขั้นตอนเรนเดอร์มาอย่างสมบูรณ์แล้ว พอสปิลเบิร์กได้เห็นแบบนี้ก็ยอมใช้ CGI เต็มรูปแบบในบางฉาก ส่วนทิปเพ็ตต์ที่ทุ่มเททดลองเรื่องการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์มาโดยตลอดนั้น ก็ไม่ได้ออกจากกองถ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาย้ายไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมงาน CGI แทน เพื่อให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ที่ออกมาดูสมจริงอย่างที่สุด


7.บทพูดประโยคหนึ่งของ เอียน มัลคอล์ม หยิบมาจากคำพูดถึงทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์

ขณะที่ สตีเวน สปิลเบิร์ก และทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ได้ดูฟุตเทจทดสอบที่เสร็จสมบูรณ์แล้วของ เดนนิส มูเรน อยู่นั้น ฟิล ทิปเพ็ตต์ ก็เอ่ยขึ้นมาว่า “ผมคิดว่าผมสูญพันธุ์แน่แล้ว” สปิลเบิร์กได้ยินคำนี้แล้วรู้สึกชอบใจ เลยเอาประโยคนี้ไปใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย ในฉากที่ อลัน แกรนต์ บทของ แซม นีล (Sam Neil) พูดกับ เอียน มัลคอล์ม บทของ เจฟฟ์ โกลด์บลูม (Jeff Goldblum) ในฉากนี้แกรนต์เป็นคนเอ่ยขึ้นมาว่า “ผมคิดว่าเราน่าจะตกงานกันแล้วล่ะ” มัลคอล์มก็ตอบเขากลับไปว่า “คุณไม่ได้หมายถึงเราจะสูญพันธุ์กันใช่ไหม”


8.เพื่อที่จะสร้างภาพไดโนเสาร์ให้ออกมาสมจริง ทีมงานเอฟเฟกต์ต้องสวมบทบาทตัวเองเป็นไดโนเสาร์

มีการเปิดเผยคลิปวิดีโอของเหล่าทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ทำท่าทำทางเหมือนฝูงไดโนเสาร์แกลลิมัส เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการสร้างภาพฉากที่พวกมันแตกตื่น วิธีการนี้จะช่วยให้ทีมงานได้เข้าใจพฤติกรรมตามส้ญชาตญาณของไดโนเสาร์แล้วถ่ายทอดเป็นภาพได้สมจริงมากขึ้น ทีมงานของ แสตน วินสตัน ก็เผยภาพหนึ่งในทีมงานสวมชุดแรปเตอร์ เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของมัน ผลสุดท้ายเมื่อ ‘Jurassic Park’ สำเร็จเสร็จสิ้นออกมาเป็นภาพยนตร์ความยาว 127 นาที มีภาพไดโนเสาร์ทั้งหมดรวมกันแล้ว 14 นาที เป็นภาพไดโนเสาร์ที่เป็น CGI ล้วน ๆ เพียงแค่ 6 นาที แต่ทีมงานต้องทุ่มเทศึกษากันเป็นเวลานับปี


9.มีนักแสดงแถวหน้าหลายคน เป็นตัวเลือกในบทนำ


3 นักแสดงนำของหนังประกอบไปด้วย แซม นีล ในบท ดร.อลัน แกรนต์, ลอรา เดิร์น ในบท เอลลี่ แซตเทลอร์ และ เจฟฟ์ โกลด์บลูม ในบท เอียน มัลคอล์ม แต่กว่าที่จะมาลงตัวที่ 3 คนนี้ ก็มีนักแสดงแถวหน้าหลายคนที่เป็นตัวเลือกในบทนำนี้ อย่างบท ดร.อลัน แกรนต์ นั้น ก็มีตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างเช่น วิลเลียม เฮิร์ต (William Hurt) ผู้ล่วงลับ และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford), คริสตินา ริชชี (Christina Ricci) ในบท เล็กซ์, ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) ในบท จอห์น แฮมมอนด์ และ โรบิน ไรต์ (Robin Wright) หรือไม่ก็ จูเลียต บิโนช (Juliette Binoche) ก็เป็นตัวเลือกในบท เอลลี่ แซตเทลอร์


10.ดึง ริชาร์ด แอตเทนโบโรห์ ที่เกษียณไปแล้วให้กลับมารับงานแสดงได้อีกครั้ง

ริชาร์ด แอตเทนโบโรห์

ริชาร์ด แอตเทนโบโรห์ (Richard Attenborough) ผู้รับบท จอห์น แฮมมอนด์ มหาเศรษฐีเจ้าของจูราสสิค พาร์ก เขาหยุดรับงานแสดงไปแล้ว 15 ปี ตอนที่สปิลเบิร์กไปเชิญเขาให้กลับมาร่วมแสดงใน ‘Jurassic Park’ในวัย 70 ปีได้สำเร็จ ริชาร์ด แอตเทนโบโรห์ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลแห่งฮอลลีวูด เขาเป็นทั้งนักแสดง ผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับ ‘Gandhi’ ผลงานกำกับของเขาเมื่อปี 1982 ก็เคยเอาชนะ ‘E.T.’ ภาพยนตร์ของสปิลเบิร์กมาแล้วบนเวทีออสการ์ ด้วยการคว้ารางวัลออสการ์สาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ และ ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ มาครองได้สำเร็จ แอตเทนโบโรห์เผยว่าเหตุที่เขายอมรับคำเชิญของสปิลเบิร์ก และกลับมารับงานแสดงอีกครั้งก็เพราะว่าสปิลเบิร์กนั้นมี “มนตร์เสน่ห์ของปีศาจ” แอตเทนโบโรห์เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2014 ด้วยวัย 90 ปี


11.กองถ่ายเผชิญกับพายุเฮอริเคนลูกใหญ่

พายุอินิกิที่พัดโจมตี เกาะคาไว ในฮาวาย

เฮอริเคนอินิกิ เป็นพายุเฮอริเคนที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยพัดเข้าโจมตีรัฐฮาวาย พายุอินิกิพัฒนาจนถึงจุดรุนแรงที่สุดในวันที่ 11 กันยายนและเป็นวันที่มันพัดเข้าเกาะคาไวของฮาวาย ด้วยความเร็ว 235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 4 แล้วช่างเป็นเรื่องบังเอิญเสียจริงที่พายุคาไวขึ้นฝั่งที่เกาะคาไวในวันสุดท้ายที่กองถ่าย ‘Jurassic Park’ กำลังปักหลักกันอยู่ที่นี่ สตีเวน สปิลเบิร์กเปิดดูข่าวพายุในตอนเช้าวันที่ 11 กันยายน แล้วก็ต้องตกใจที่หัวข้อข่าวเปิดด้วยภาพเกาะฮาวายที่เขาพร้อมทั้งนักแสดงและทีมงานจำนวน 130 ชีวิตกำลังอยู่กันที่นี่พอดี พวกเขาต้องลงไปหลบกันอยู่ในห้องใต้ดินของโรงแรม เพื่อรอให้พายุอินิกิผ่านพ้นไป ส่วน ริชาร์ด แอตเทนโบโรห์ เป็นคนเดียวที่ไม่สะทกสะท้านอะไรกับพายุ เขานอนอยู่ในห้องทั้งวัน จนพายุพัดผ่านไป พอสปิลเบิร์กได้ถามไถ่ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบว่า “ไอ้หนูเอ๊ย ตอนที่เยอรมันบุกลอนดอนแบบสายฟ้าแลบ ข้ายังรอดมาได้เลย”

แซม นีล ย้อนเล่าว่า เช้าวันนั้น เขายืนอยู่บนชายหาดกับ ลอรา เดิร์น แล้วก็มองเห็นพายุลูกใหญ่กำลังมุ่งหน้ามายังเกาะคาไวที่พวกเขาอยู่ ลอราที่เห็นภาพนั้นก็รู้สึกตื่นตระหนก เธอถามแซมว่า “คุณคิดว่าเราจะปลอดภัยไหมคะแซม ?” แซมก็ตอบแบบกวน ๆ กลับไป “ผมคิดว่าเราคงจะตายกันหมดนะลอรา”

หลังพายุอินิกิผ่านพ้นไป ฉากและสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่ใช้ในการถ่ายทำก็ถูกพายุพัดเสียหาย ทำให้ทีมงานตัดสินใจปรับแต่งบทเพื่อตัดฉากที่เสียหายและถ่ายทำไม่ได้ออกไป


12.เจฟฟ์ โกลด์บลูม ชอบอ่านบทเสียงดังในกองถ่าย

เมื่อปี 2011 อาริอานา ริชาร์ด (Ariana Richards) ผู้รับบท เล็กซ์ ย้อนเล่าความทรงจำในกองถ่ายกับนิตยสาร Interview ว่า มีวันหนึ่งเธอต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับ โจอี้ มาซเซลโล (Joey Mazzello) ที่รับบทเป็น ทิม แล้วก็มี เจฟฟ์ โกลด์บลูม นั่งไปด้วย ซึ่งเขาถือบทอยู่ในมือ
“ตอนนั้น ฉันนี่อึ้งไปเลยค่ะ ที่เพิ่งรู้ว่าเขามีวิธีการท่องบทที่แปลกประหลาดต่างจากนักแสดงอื่น ๆ ทั่วไป คือคนอื่น ๆ น่ะเขาจะอ่านบทแบบเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงรบกวนใคร แต่เจฟฟ์เขาอ่านบทออกมาเสียงดังฟังชัดเลย”


13.มีนักบรรพชีวินวิทยาเป็นที่ปรึกษาประจำกองถ่าย

แจ็ก ฮอร์เนอร์


แจ็ก ฮอร์เนอร์ (Jack Horner) เป็นนักบรรพชีวินผู้มีชื่อเสียงเขารับหน้าที่ที่ปรึกษาประจำกองถ่ายและอยู่ร่วมด้วยระหว่างที่ถ่ายทำ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพไดโนเสาร์ที่ออกมานั้นจะถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ภาพลักษณ์ของฮอร์เนอร์ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละคร อลัน แกรนต์ บทบาทของ แซม นีล

โรเบิร์ต ที.เบกเกอร์

อีกคนคือ โรเบิร์ต ที.เบกเกอร์ (Robert T. Bakker) เป็นนักบรรพชีวินวิทยาชาวอเมริกัน เขารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเหล่าแอนิเมเตอร์ในการสร้างภาพไดโนเสาร์ให้ถูกต้องตามหลักกายภาพ ปัจจุบันเบกเกอร์ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ซากดึกดำบรรพ์ประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติฮูสตัน


14.ทีมงานไม่ได้สร้างภาพไดโนเสาร์ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงเสมอไป

วิลอซิแรปเตอร์ ตัวจริงจะหน้าตาแบบนี้

แม้ว่าสปิลเบิร์กจะให้ความสำคัญต่อความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่เสมอไป โดยเฉพาะการปรากฏตัวของไดโนเสาร์ตัวเด่น ๆ ในเรื่องอย่าง ทีเร็กซ์ หรือ แรปเตอร์ อย่างเช่นฟันของทีเร็กซ์นั้น เบกเกอร์ก็มีข้อมูลอ้างอิงว่าที่จริงแล้วฟันของมันมีรูปทรงคล้ายกล้วย
“แต่พลังที่สื่อออกมาในหนังนั้นมันไม่น่ากลัว ดังนั้นภาพของทีเร็กซ์ที่ออกมาในหนังนั้นก็เลยถูกเหลาฟันให้แหลมคมขึ้น” ที เบกเกอร์ กล่าว

อีกกรณีหนึ่งก็เกี่ยวกับ วิลอซิแรปเตอร์ ที่เราเห็นในหนังนั้น มันจะดูคล้าย Deinonychus เสียมากกว่า ตามข้อมูลของหนังสือ “Predatory Dinosaurs of the World” ที่เขียนโดย เกรกอรี พอล ระบุว่า วิลอซิแรปเตอร์ นั้น มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 22 กิโลกรัม และมีขน ซึ่งถ้ายึดตามหลักความเป็นจริงตามนี้ คงจะดูไม่น่ากลัวเลย

แต่ทีมงานก็มีความโชคดีอยู่บ้าง ระหว่างที่กำลังถ่ายทำกันนั้น ก็บังเอิญมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์แรปเตอร์พันธุ์ใหม่ขึ้นมาพอดี เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ชื่อว่า “ยูทาห์แรปเตอร์” (Utahraptor) โดย ดร.เจมส์ เคิร์กแลนด์ เป็นผู้โทรแจ้งข่าวนี้กับ โรเบิร์ต ที.เบกเกอร์

“จิม!! ผมตะโกนด้วยความดีใจ รู้มั้ยคุณเพิ่งพบแรปเตอร์ยักษ์สำหรับหนังของสปิลเบิร์ก ตอนนั้นจิมคงนึกว่าผมบ้าไปแล้ว แต่เขาไม่รู้หรอกว่า เพราะผมเพิ่งคุยโทรศัพท์เรื่องแรปเตอร์ยักษ์เมื่อเช้านี้เอง เป็นสายที่โทรมาจากหนึ่งในทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ของหนัง Jurassic Park เขากำลังวิตกกังวลอย่างมากเรื่องแรปเตอร์ในหนังที่จะมีบทบาทเด่นแต่ไม่เคยมีหลักฐานอ้างอิงว่ามีการค้นพบฟอสซิลจริง เขาบ่นให้ฟังว่า สปิลเบิร์กกำลังสร้างแรปเตอร์ที่ไม่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ขึ้นมาในหนัง ส่วนตัวเขาน่ะ อยากได้ข้อเท็จจริงมาอ้างอิง อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับฟอสซิล ใช่ครับ เรามีแรปเตอร์ยักษ์ในหนังที่อาจจะเป็นไปได้เฉพาะตามหลักทฤษฎี แต่เราไม่มีหลักฐานอ้างอิง และแล้วจิมก็ค้นพบยูทาห์แรปเตอร์ที่มีตัวตนจริง ๆ”

Utahraptor ถูกค้นพบในเดือนมกราคม ปี 1992 ซึ่งมีขนาดตัวเท่ากับแรปเตอร์ตัวเมียที่เห็นในหนังเลย


15.มีไดโนเสาร์หุ่นยนต์เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เข้าฉากในกองถ่ายที่เกาะฮาวาย

ทีมงานของ สแตน วินสตัน นั้นรับผิดชอบในการสร้างหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ เขาทำงานจากต้นแบบที่เป็นภาพเขียนที่มีรายละเอียดสูง ทีมงานจะขึ้นแบบจากหุ่นปั้นด้วยดินเหนียวมีทั้งขนาดเล็กและขนาดจริง จากนั้นจึงค่อยไปขึ้นโครงหุ่นที่ควบคุมด้วยรีโมตแล้วจึงค่อยหุ้มด้วยผิวหนังที่ทำจากโฟมลาเท็กซ์ เมื่อเสร็จสิ้นออกมาเป็นไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ขนาดเท่าตัวจริง ทีมงานบอกว่าหุ่นทีเร็กซ์ของเขานั้นมีอันตรายพอ ๆ กับทีเร็กซ์ตัวจริงเลย หุ่นยนต์ไดโนเสาร์ทุกตัว รวมไปถึงฉากที่ทุกคนจดจำได้ คือฉากทีเร็กซ์สู้กับแรปเตอร์ในห้องครัวนั้น ก็ถ่ายทำกันในโรงถ่าย มีหุ่นไทรเซราท็อปตัวเดียวที่ยกไปถ่ายทำกันบนเกาะฮาวาย เป็นหุ่นที่ใช้ในฉากที่ตัวละครเจอไทเซราท็อปตัวนี้นอนป่วยอยู่ระหว่างออกสำรวจสถานที่


16.ต้องใช้สัตว์หลายชนิดเพื่อสร้างเสียงคำรามของทีเร็กซ์

‘Jurassic Park’ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เปิดตัวระบบเสียง DTS (Digital Theatre System) และหนังก็ได้สร้างเสียงใหม่ ๆ ขึ้นมาหลากหลายเสียงอันกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น อย่างเช่น เสียงคำรามของทีเร็กซ์ หน้าที่การสร้างเสียงเหล่านี้ตกเป็นความรับผิดชอบของ แกรี่ ริดสตรอม (Gary Rydstrom) และทีมงานของเขา

ปัญหาของริดสตรอมก็คือเขาไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ว่า ทีเร็กซ์ตัวจริงนั้นมีเสียงอย่างไร และในวันนั้นก็มีการค้นพบฟอสซิลของทีเร็กซ์เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ข้อมูลของทีเร็กซ์ยังน้อยและมีการคาดเดากันไปมากมายว่าเสียงของไดโนเสาร์น่าจะเป็นเสียงแบบนั้นแบบนี้ ข้อมูลอ้างอิงเพียงอย่างเดียวของริดสตรอมก็คือ หนังสัตว์ประหลาดในยุคก่อน ๆ อย่าง ‘Godzilla’ หรือ ‘King Kong’ปี 1933 ที่มีทีเร็กซ์ไปปรากฎตัวอยู่ในหนังด้วย เสียงคำรามของทีเร็กซ์ในเรื่องนั้น ใช้การผสมเสียงของเสือภูเขาและเสียงของการอัดอากาศ

ริดสตรอมทำการค้นคว้าเป็นเวลาหลายเดือน ในการบันทึกเสียงสัตว์ต่าง ๆ มามิกซ์เข้าด้วยกัน
“ผมพยายามบันทึกเสียงสัตว์ที่น่าสนใจทุกตัวเท่าที่จะหาได้ ไม่สนด้วยว่าจะเอาไปใช้ได้หรือไม่”
เคล็ดลับในการสร้างเสียงนี้ไม่ใช่การมิกซ์เข้าด้วยกัน แต่เป็นการค้นหาไดนามิกของเสียงที่ความถี่สูงและต่ำ จากนั้นก็นำมายืดเสียงและเล่นให้สปีดช้าลง
“สิ่งที่น่าสนุกในงานออกแบบเสียงคือการเอาเสียงมาปรับให้ช้าลง แต่เสียงมันจะออกมาฟังดูใหญ่ขึ้นมาก”
จากนั้นริดสตรอมก็ทดสอบวิธีการนี้กับเสียงลูกช้าง เสียงจากลำคอจระเข้ เสียงคำรามของเสือ มามิกซ์เข้าด้วยกัน กลายเป็นว่าเสียงเหล่านี้เข้ากันได้อย่างลงตัว กลายเป็นเสียงคำรามที่แปลกใหม่และน่ากลัว แล้วก็ฟังดูน่าเชื่อถือเพราะสร้างจากเสียงสัตว์ที่มีชีวิตจริง ๆ แล้วสุดท้ายความพยายามของริดสตรอมก็ส่งผลตอบแทนที่ชัดเจนแก่เขา ด้วยการคว้าออสการ์สาขา Best Effects, Sound Effects Editing จาก ‘Jurassic Park’นี่เอง


17.ทีเร็กซ์มีประสาทสัมผัสทางการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม

แรกเริ่มทีเดียว มีความเชื่อกันว่าทีเร็กซ์น่าจะมีความสามารถในการมองเห็นภาพที่ดี จากการวิเคราะห์ตำแหน่งดวงตาที่หันไปทางด้านหน้าของกระโหลกศีรษะที่แคบ นั่นแปลว่าภาพที่ทีเร็กซ์เห็นนั้นจะมีภาพจากดวงตาแต่ละข้างมาซ้อนทับกัน ทำให้ทีเร็กซ์ประเมินระยะความลึกของภาพที่เห็นได้ดี และดวงตาของทีเร็กซ์จะมีขนาดพอ ๆ กับลูกซอฟต์บอล ระยะการรับภาพของทีเร็กซ์นั้นกว้างที่ 55 องศา ซึ่งมากกว่าการมองเห็นของเหยี่ยว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการมองเห็นเหยื่อที่อยู่ในระยะไกลได้อย่างน่าทึ่ง จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ทีเร็กซ์อาจจะมีการมองเห็นที่ชัดเจนกว่ามนุษย์ถึง 13 เท่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าประทับใจ และอาจจะมองเห็นได้ไกลถึง 6 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ทีเร็กซ์ยังมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นที่ยอดเยี่ยม วิเคราะห์จากการที่มันมีโพรงจมูกขนาดใหญ่และต่อตรงกับสมองส่วนที่ประมวลผลการรับกลิ่น ฉะนั้นฉากที่ ดร.อลัน แกรนต์ แอบอยู่หลังตู้ห่างจากจมูกของมันไม่ถึง 1 เมตรแบบนั้น ถ้าประเมินตามหลักความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางรอดไปได้ จุดด้อยที่สุดของทีเร็กซ์ก็คือ ขาหน้าที่มีขนาดเล็กมากของมัน ถ้าหากว่ามันล้มลงขณะวิ่งแล้ว มันอาจจะลุกขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ทีเร็กซ์จะวิ่งไล่กวดรถแบบนั้น


18.นักล่าไดโนเสาร์เลือกใช้ปืน SPAS-12


หนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นในเรื่องนี้ก็คือ โรเบิร์ต มัลดูน รับบทโดย บ็อบ เพ็ก (Bob Peck) นักล่าไดโนเสาร์ที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ เยือกเย็น สุขุม และดูเป็นพรานที่มีความช่ำชองมากประสบการณ์ อาวุธคู่ใจของมัลดูนก็คือ ปืน SPAS-12 เป็นปืนลูกซองขนาด 12 เกจ เอนกประสงค์ ที่ออกแบบมาเพื่อทหารและตำรวจใช้ในปฏิบัติการพิเศษ ยิงได้ทั้งแมนนวล และโหมดปั๊มแอ็กชัน และยิงแบบกึ่งอัตโนมัติ ใช้ได้ทั้งกระสุนมาตรฐาน กระสุนพิเศษแบบที่ใช้ของเหลวที่เป็นสารระคายเคือง หรือกระสุนความเร็วต่ำที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต

แม้ว่า SPAS-12 จะเป็นอาวุธที่มากพิษสง แต่ก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นเดียวกับปืนลูกซองทั่วไป คือประสิทธิภาพจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อต้องยิงเป้าในระยะใกล้ และใช้ยิงระยะไกลได้ยากมาก อย่างที่เราเห็นจุดจบของมัลดูน เมื่อต้องเผชิญกับเหยื่อที่เขาตามล่าเองในระยะประชิด และปืนทรงพลังกระบอกนี้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้เลย ได้แต่เอ่ยปากมาเพียงคำเดียว “Clever Girl”

ปัจจุบัน SPAS-12 เลิกผลิตไปแล้ว เพราะมีราคาแพง 3,350 เหรียญ ประมาณ 119,xxx บาท และค่อนข้างหนัก 4.5 กก. ก่อนบรรจุกระสุน แต่ SPAS-12 ยังพบเห็นได้ในหนังหลาย ๆ เรื่อง, หรือในวิดีโอเกม


19.ฉากน้ำกระเพื่อมในแก้วที่โด่งดัง มาจากไอเดียของ สตีเวน สปิลเบิร์ก กำลังฟังเพลงของ Earth, Wind, and Fire

“ผมกำลังทำงานอยู่แล้วสตีเวนก็โทรมาหาผมที่ออฟฟิศ เขาเล่าว่า ‘ผมกำลังอยู่ในรถนะ แล้วผมก็เปิดเพลงของ Earth, Wind, and Fire ด้วยเสียงที่ดังสุด จากนั้นกระจกรถผมก็สั่น และนี่ล่ะคือสิ่งที่เราจะทำกัน”
ไมเคิล แลนเทียรี ผู้ดูแลเทคนิคไดโนเสาร์เล่า
“ตอนนั้นผมก็คิดว่าต่อว่า ผมจะทำอย่างไร อาจจะต้องเขย่ากระจกมั้ง หรือทำอะไรสักอย่างกับน้ำ”
ซึ่งเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการตีโจทย์จากวิสัยทัศน์ของสปิลเบิร์กให้ออกมาเป็นภาพ
“กระจกน่ะมันสั่นง่ายอยู่แล้ว แค่ใส่มอเตอร์เข้าไปแล้วก็เขย่า แต่น้ำนี่สิอีกเรื่องเลย ทำยากมาก”
จากนั้นแลนเทียรีก็เรียกระดมทีมงาน มาช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้ผิวน้ำสั่นจนมองเห็นได้ชัด แล้วแลนเทียรรีก็เริ่มทดลองจากกีตาร์ของเขาเอง
“ผมวางแก้วน้ำไว้ใกล้ ๆ แล้วก็เริ่มเล่นกีตาร์ด้วยโน้ตต่าง ๆ จนเจอความถี่ที่ถูกต้อง โน้ตที่ใช่ และแล้วผมก็ได้สิ่งที่ผมต้องการ”
พอถึงขั้นตอนถ่ายทำฉากนี้ “ผมต่อสายกีตาร์ออกมาจากในรถ ยาวลงไปถึงพื้น จากนั้นผมก็ให้ทีมงานลงไปนอนใต้ท้องรถแล้วก็ดึงสายกีตาร์”
สุดท้ายก็ออกมาเป็นหนึ่งในฉากอมตะของโลกภาพยนตร์


20.จอร์จ ลูคัส เพื่อนสนิทเข้ามารับช่วง ‘Jurassic Park’ต่อ ส่วนสปิลเบิร์กก็ไปถ่ายหนัง ‘Schindler’s List’


อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ สปิลเบิร์กถ่ายทำหนัง ‘Jurassic Park’ และ ‘Schindler’s List’ แบบต่อเนื่องกันเลย และออกฉายในปีเดียวกันคือ 1993 สปิลเบิร์กปิดกล้อง ‘Jurassic Park’ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1992 เป็นการปิดกล้องได้ก่อนกำหนดถึง 12 วัน จากนั้นสปิลเบิร์กจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมสมาธิและเตรียมงานกับ ‘Schindler’s List’ ภาพยนตร์เรื่องต่อไปของเขาทันที ซึ่งเปิดกล้องในเดือนมีนาคม 1993 เท่ากับว่ามีช่วงห่างหลังจากปิดกล้อง ‘Jurassic Park’ เพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น และงานหลังการถ่ายทำ ‘Jurassic Park’ นั้นก็เยอะแยะวุ่นวายมาก เขาจึงมอบหมายภาระหน้าที่ส่วนนี้ให้กับ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) เพื่อนสนิทที่ร่วมงานกันมาหลายครั้งแล้ว และเป็นเจ้าของ ILM บริษัทที่รับผิดชอบงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ในเรื่องนี้อยู่แล้วด้วย ในเครดิตท้ายเรื่อง เราจะเห็นตัวหนังสือ “special thanks” มอบให้กับ จอร์จ ลูคัส

ที่มา : mentalfloss jurassicpark.fandom IMDB CBR pewpewtactical businessinsider