หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ ในที่สุด ภาพยนตร์แอ็กชันผจญภัยล่าสมบัติชื่อก้อง ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny’ ภาคที่ 5 ของแฟรนไชส์ อินเดียนา โจนส์ โดยความพิเศษในภาคนี้ นอกจากจะเป็นการปิดตำนานบทบาทอินเดียนา โจนส์ ฮีโรนักล่าสมบัติที่มาพร้อมหมวกและแส้คู่ใจ ที่รับบทโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) แล้ว

ก็ยังมีความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ การตามล่าหาวัตถุโบราณ ที่คราวนี้ไม่ได้อ้างอิงจากตำนานปรัมปราโบราณอย่างเดียว แต่เป็นการอ้างอิงจากวัตถุโบราณที่ถูกค้นพบจริง ๆ และถือเป็นวัตถุโบราณที่แม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 2 สหัสวรรษแล้ว แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยกลไกอันซับซ้อน น่าทึ่ง และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังคงเป็นปริศนาที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุที่ว่านั่นก็คือ กลไกแอนติคิเธียรา (Antikythera Mechanism) นั่นเอง


กลไกแอนติคิเธียราที่ปรากฏอยู่ในหนัง

คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny

Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

ในหนัง ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny’ กลไกแอนติคิเธียรา ประดิษฐ์ขึ้นโดย อาร์คีมีดีส (Archimedes) นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และวิศวกรชาวกรีก จากยุคกรีซโบราณ เป็นสิ่งล้ำค่าหลักที่ เยอร์เกน วอลเลอร์ (แมดส์ มิคเคลเซน – Mads Mikkelsen) นักโบราณคดีของกองทัพนาซีครอบครองส่วนเสี้ยวของกลไกนี้เอาไว้อยู่ เพราะมีความเชื่อว่ากลไกนี้มีพลังอำนาจในการคำนวณและค้นหารอยแยกของกาลเวลา และพาผู้ครอบครองย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้ ในขณะที่ เบซิล ชอว์ เพื่อนนักโบราณคดีของ อินเดียนา โจนส์ ก็ได้ทำการค้นคว้าไขความลับเกี่ยวกับกลไกนี้เช่นกัน

หลังจากต่อสู้กันบนรถไฟ เยอร์เกนได้เผลอทำชิ้นส่วนของกลไกแอนติคิเธียราตกลงที่ลำธาร หลังจากกำราบศัตรูได้แล้ว อินดี้และเบซิลตัดสินใจกระโดดลงจากสะพานรถไฟลงสู่ลำธาร ก่อนที่พวกเขาจะงมหาได้สำเร็จ จนกระทั่งในอีก 25 ปีต่อมา เฮเลนา ชอว์ (ฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ – Phoebe Waller-Bridge) ลูกสาวของเบซิล และลูกบุญธรรมของอินดี้ ได้สืบต่อการไขปริศนาของกลไกนี้ต่อจากพ่อ ที่เชื่อว่ากลไกนี้สามารถพาย้อนอดีตได้ ด้วยเหตุบางอย่าง ทำให้อินดี้จึงต้องสวมหมวก จับแส้ ร่วมผจญภัยไขปริศนากลไกนี้ ค้นหาชิ้นส่วนกลไกอีกครึ่งหนึ่งร่วมกันกับเฮเลนา ก่อนที่ ดร.ชมิทช์ หรือเยอร์เกน จะได้กลไกทั้งหมดไป และนำไปใช้ย้อนเวลาไปแก้ไขประวัติศาสตร์นาซี


กลไกแอนติคิเธียรา คืออะไร
Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

แม้กลไกแอนติคิเธียรา ที่เป็นวัตถุโบราณจริง ๆ จะไม่ได้มีฤทธิ์เดชที่สามารถพาย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้เหมือนในหนัง และกลไกจริง ๆ จะมีรูปร่างที่ต่างจากในหนังแบบคนละเรื่อง แต่กลไกนี้ก็มีความสำคัญ ในฐานะที่ไม่ใช่แค่วัตถุโบราณธรรมดา ๆ แต่ยังเป็นเครื่องกลที่มีความสามารถในการคำนวณด้านดาราศาสตร์อันซับซ้อน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เครื่องคอมพิวเตอร์แบบแอนะล็อกเครื่องแรกของโลก’ ที่ชาวกรีกใช้ในการสร้างภาพจำลองรูปแบบจักรวาลได้ด้วยเครื่องมือ ฟันเฟือง หน้าปัด เข็ม ที่รวมอยู่ในตัวเครื่องที่ทำจากสัมฤทธิ์ บรรจุอยู่ภายในกล่องไม้ขนาดใกล้เคียงกับกล่องใส่รองเท้า

อธิบายโดยคร่าว ๆ กลไกแอนติคิเธียรา (Antikythera Mechanism) คืออุปกรณ์สำหรับช่วยคำนวณทางดาราศาสตร์ กลไกนี้สามารถคำนวณบอกปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในหลายแขนง อาทิ คำนวณเพื่อติดตามการโคจรของดวงจันทร์ ช่วยในการคำนวณการเกิดสุริยคราส และจันทรคราส รวมทั้งใช้ติดตามการโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ เช่น ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์

นอกจากนี้ ชาวกรีกยังใช้กลไกแอนติคิเธียราในการคำนวณเพื่อทำนายสุริยุปราคาได้ล่วงหน้านานหลายทศวรรษ นอกจากนี้ยังใช้เป็นปฏิทินบอกวันเวลา เพื่อให้ชาวกรีกสามารถทราบเวลาที่จะใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งการเพาะปลูก และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง หรือแม้แต่การคำนวณหารอบเวลาในการแข่งขันกีฬา เช่น การคำนวณเพื่อหาวันเวลาอันเป็นวาระที่เหมาะสมในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ

ความน่าทึ่งของกลไกนี้ก็คือ จากการคำนวณพบว่า กลไกนี้น่าจะมีอายุราว ๆ 2,200 ปี ในยุคสมัยกรีซโบราณ (Ancient Greece) และด้วยความที่กลไกแต่ละชิ้นประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่ความละเอียด ซับซ้อน และล้ำหน้าได้ขนาดนี้ สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันก็คือ ชาวกรีกสร้างสิ่งนี้มาเพื่ออะไรกันแน่ รวมทั้งคำถามที่ว่า พวกเขาใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรม หรือแม้แต่ในด้านวัสดุศาสตร์ในระดับสูง เพื่อประดิษฐ์และผลิตชิ้นส่วนภายในกลไก ที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนโลหะที่ละเอียดอ่อน ตั้งแต่เข็ม หน้าปัด เรื่อยจนไปถึงฟันเฟืองขนาดต่าง ๆ ที่ดูล้ำยุคเกินกว่าภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในเวลานั้นจะผลิตออกมาได้อย่างไร ยังไม่รวมคำถามที่ว่า กลไกนี้ใช้หลักการใดอ้างอิงวิธีการและผลการคำนวณ

ทำให้กลไกนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวัตถุโบราณที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘Out of Place Artifacts’ (OOParts) หรือวัตถุ และสิ่งประดิษฐ์จากยุคโบราณที่ดูล้ำหน้าผิดจากยุคสมัย ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ หรือภูมิปัญญาของคนยุคนั้น ๆ ตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ เพราะทั้งช่วงเวลาก่อนหน้า และหลังจากที่กลไกนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้น ก็แทบไม่มีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ที่คล้ายคลึงและใกล้เคียงกับกลไกนี้เลย กว่าที่ชาวยุโรปจะสามารถประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาจักรกล (Mechanical Clock) หรือนาฬิกาไขลานขึ้นมาได้ ก็ต้องรอเวลานานจนเข้าศตวรรษที่ 13 หรืออีกราว ๆ 1,000 ปีหลังจากนั้น


ประวัติศาสตร์แห่งการค้นพบ
Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

กลไกแอนติคิเธียรา ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1901 หรือเมื่อ 122 ปีที่แล้ว โดย เอเลียส สตาดิอาติส (Elias Stadiatis) นักประดาน้ำค้นหาฟองน้ำทะเลชาวกรีก ได้ค้นพบซากเรือสินค้าของชาวกรีกโบราณที่อับปาง จมอยู่ใต้มหาสมุทรที่ความลึก 45 เมตร (148 ฟุต) นอกชายฝั่งพอยต์กลีฟาเดีย (Point Glyphadia) ใกล้พื้นที่เกาะแอนติคิเธียรา (Antikythera Island) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลอีเจียน (Aegean) อันเป็นที่มาของชื่อกลไก ในซากเรือลำนี้ยังมีวัตถุโบราณ รวมทั้งสินค้ามากมายอยู่ภายใน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผา รูปปั้นทองสัมฤทธิ์และหินอ่อน เครื่องแก้ว เครื่องประดับ เหรียญ ฯลฯ

แต่สิ่งที่ค้นพบและสร้างความฉงนให้กับนักสำรวจก็คือ มีการพบเครื่องมือบางอย่างที่บรรจุอยู่ในกล่องไม้ กว้าง 34 ซม. ยาว 18 ซม. สูง 9 ซม. ภายในมีชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่นโครงสร้างที่มีอักษรจารึก มีกลไกคล้ายด้ามสำหรับใช้มือจับหมุนด้านข้าง ทั้งหมดทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ (โลหะผสมทองแดง) ทั้งด้านหน้าและหลังของกลไกมีหน้าปัดและเข็มชี้สำหรับอ่านผลลัพธ์ หน้าตาคล้ายหน้าปัดนาฬิกา 3 เรือนที่อยู่ในกล่องเดียวกัน โดยที่ชิ้นส่วนของตัวกล่องและแป้นหมุน มีอักษรจารึกไว้ประมาณ 2,000 ตัวอักษร

นอกจากนี้ ก็ยังประกอบไปด้วยฟันเฟืองขนาดต่าง ๆ ราว 30 ชิ้น โดยฟันเฟืองบางชิ้นถูกค้นพบภายหลัง เนื่องจากบางชิ้นส่วนเกิดการผุกร่อนและเข้าไปติดกับเศษหิน ฟันเฟืองชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของกลไกนี้ที่มีการค้นพบ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร และมีฟันเฟืองจำนวน 223 ซี่ รวมชิ้นส่วนทั้งหมดที่ค้นพบรวม 82 ชิ้นส่วน ซึ่งถือว่าเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของกลไกทั้งหมด เพราะเชิ้นส่วนที่เหลือของกลไกราว ๆ 2 ใน 3 ได้สูญหายไปหมดแล้ว ชิ้นส่วนกลไกทั้งหมดที่ถูกค้นพบ ด้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

จนกระทั่งในปี 1902 วาเลเรียส สเตส (Valerios Stais) นักโบราณคดีชาวกรีกได้นำชิ้นส่วนกลไกนี้มาศึกษาอีกครั้ง จึงพบว่าชิ้นส่วนดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องกลที่ทำจากสัมฤทธิ์ มีชุดฟันเฟือง เพลา ที่น่าจะใช้ทำงานร่วมกัน แต่ด้วยความซับซ้อนของกลไกดังกล่าว ก็ยังไขปริศนาไม่ออกว่ามันคืออะไรกันแน่ จนกระทั่งในปี 1958 ศาสตราจารย์ ดีเร็ก เจ เดอ โซลลา ไพรซ์ (Derek J. de Solla Price) นักฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาศึกษาการทำงานของกลไกนี้ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ชาวกรีกใช้ในการคำนวณตำแหน่งของดวงดาว เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ

จนกระทั่งในปี 1971 ไพรซ์ได้ทำการสแกนชิ้นส่วนของกลไกด้วยรังสีเอ็กซ์ และตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการค้นคว้าในปี 1974 แต่นับจากนั้น นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่กลับไม่ได้ให้ความสนใจในสิ่งประดิษฐ์นี้เท่าที่ควร กว่าที่กลไกนี้จะถูกนำกลับมาศึกษาวิจัยใหม่อีกครั้งก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 แล้ว

ในอดีต นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่า กลไกนี้ได้รับการออกแบบและสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกในช่วงเวลาก่อนที่เรือจะอับปาง บ้างคาดว่ามีอายุประมาณ 87 จนถึง 205 ปีก่อนคริสตศักราช ในขณะที่นักวิชาการหลายคนคาดคะเนว่ากลไกนี้อาจมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 70 – 60 ปีก่อนคริสตศักราช อีกคำถามที่ถูกตั้งข้อสงสัยมาเนิ่นนานก็คือ ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นกลไกนี้ขึ้นเกิดเป็นข้อสงสัยในหลายทฤษฎี

บ้างก็ว่าถูกคิดค้นโดย ฮิปปาร์คอส (Hipparchus) นักดาราศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกในยุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic period) เพราะฮิปปาคอสอาศัยอยู่ในเมืองโรสด์ (Rhodes) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มักมีเรือจอด อีกทฤษฎีบ้างก็ว่าถูกสร้างโดยอาร์คีมีดีส เนื่องจากมีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกันกับที่กลไกนี้ถูกสร้างขึ้น และถูกทหารโรมันคนหนึ่งสังหารในระหว่างสงครามโจมตีเมืองซีราคิวส์ (Syracuse) สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า เรือสินค้าอับปางที่ค้นพบกลไกนี้เป็นเรือของชาวโรมันเช่นเดียวกัน


อธิบายกลไกและความสามารถของกลไกแอนติคิเธียรา (แบบคร่าว ๆ )
Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

การค้นพบกลไกนี้ทำให้ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ ที่มักเชื่อกันว่า ชาวกรีกมีภูมิปัญญาในการสร้างวิทยาการแบบง่าย ๆ เช่น เครื่องจักรไอน้ำ หรือการใช้ฟันเฟืองแบบง่าย ๆ ในช่วงแรก ๆ ถึงกับสงสัยเป็นอย่างมาก ในช่วงแรก ๆ ของการศึกษา นักโบราณคดีต่างเชื่อกันว่า กลไกนี้เป็นเครื่องมือที่ชาวกรีกโบราณใช้ในการคำนวณวันเวลาในการเดินเรือ คำนวณทิศทางของดวงดาว และทำนายการเกิดสุริยคราส

ในปี 2008 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ได้ใช้เทคโนโลยี Microfocus X-ray Computed Tomography ด้วยการใช้รังสีเอ็กซ์เพื่อสแกนชิ้นส่วนภายในของกลไก จนกระทั่งพบว่า ภายในกลไกดังกล่าวยังมีวงล้อ ฟันเฟือง ที่ทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ ทั้งหมด 37 ชิ้น หน้าปัดจารึกสัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งสัญลักษณ์จักรราศี มีวงล้อที่น่าจะประดับอัญมณี และมีการจารึกตัวอักษรของชาวโครินธ์ (Corinth)

ชิ้นส่วนดังกล่าวทำให้นักวิจัยค้นพบว่า กลไกนี้ยังมีความสามารถอีกหลายอย่าง ทั้งการทำนายสุริยุปราคา โดยผู้ใช้งานจะหมุนเครื่องมือนี้ด้วยมือจับที่อยู่ด้านข้าง (คล้ายการหมุนเม็ดมะยมในนาฬิกา) เพื่อให้ฟันเฟืองทำงาน คำนวณ และแสดงผลที่ต้องการออกมาบนหน้าปัด

โดยหน้าปัดที่อยู่ด้านหน้า จะใช้แสดงการโคจรของดวงดาว ส่วนด้านหลังจะมีหน้าปัด 2 ส่วน ด้านบนใช้เป็นปฏิทิน ส่วนด้านล่างใช้คำนวนการเกิดคราส ทั้งสุริยุปราคา และจันทรุปราคา ทั้งสองด้านจะมีแผ่นปิดหน้าที่จารึกตัวอักษรที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณส่วนอื่น ๆ เช่น วงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นต้น

กลไกนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถูกสร้างขึ้นจากองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของชาวกรีกในยุคโบราณ ที่ยังมีความเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เนื่องจากกลไกนี้ สามารถคำนวณทิศทางของดาวเคราะห์ 5 ดวงที่โคจรรอบโลก ได้แก่ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ด้วยรูปแบบเอปพิไซเคิล (Epicycles) ซึ่งเป็นการโคจรที่มีโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามแนวคิดของฮิปปาร์คอส และ ปโตเลมี (Ptolemy)

Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

นอกจากนี้ยังพบว่า กลไกภายใน มีการใช้รูปแบบของเฟืองที่เรียกว่า เฟืองดอกจอก (Differential Gear) แบบเดียวกับที่ใช้ในนาฬิกาจักรกลในสมัยศตวรรษที่ 15 และยังมีกลไกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยในการคำนวณขั้นสูง เพื่อชดเชยการโคจรของดาวเคราะห์บางดวงที่ไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ก็ยังมีกลไกที่สามารถคำนวณวัน เวลา ตามระบบปฏิทินของกรีกและอียิปต์ได้อีกด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้หากจะต้องสร้างขึ้นมาจริง ๆ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จงต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรม รวมทั้งความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ในการผลิตโลหะสัมฤทธิ์ให้กลายเป็นฟันเฟือง ประกอบเข้ากันจนสามารถคำนวณและประมวลผล จนถูกเรียกว่าเป็นคอมพิวเตอร์ (หรือคอมพิวเตอร์แบบอะนาล็อก) เครื่องแรกของโลก ที่สามารถประมวลผลได้อย่างแม่นยำและล้ำหน้ากว่าองค์ความรู้ของชาวกรีกโบราณ จนกลายมาเป็นปริศนาว่า ชาวกรีกสามารถสร้างกลไกที่ซับซ้อนขนาดนี้ได้อย่างไรกันแน่ (และพอมันดูล้ำขนาดนี้ บางคนก็เลยเชื่อว่า นี่อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ต่างดาวไปด้วยซ้ำ)


แบบจำลอง 3 มิติชี้ สามารถคำนวณวงโคจรดาวศุกร์-ดาวเสาร์ได้อย่างแม่นยำ
Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

นับตั้งแต่ที่มีการค้นพบเป็นคร้งแรกเมื่อ 120 กว่าปีก่อน กลไกแอนติคิเธียราก็ยังถือเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ยังคงตั้งคำถามและหาคำตอบไม่จบไม่สิ้น รวมไปถึงการค้นคว้าที่ยังไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างในกระแสหลักมากนัก ทำให้กลไกนี้กลับไม่ได้รับความสนใจในวงการวิทยาศาสตร์กระแสหลักเท่าที่ควร เนื่องจากชิ้นส่วนของกลไกที่เสียหายเป็นจำนวนมาก กว่าที่กลไกนี้จะถูกนำกลับมาศึกษาวิจัยใหม่อีกครั้งก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีเอ็กซ์เรย์มาใช้แล้ว รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะจำลองด้วยการผลิตกลไกนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ศึกษาและหาคำตอบที่ยังคงเป็นปริศนา

ซึ่งคนแรก ๆ ที่ได้พยายามผลิตกลไกจำลองก็คือ ไมเคิล ไรต์ (Michael Wright) อดีตภัณฑารักษ์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ได้นำแนวคิดของกลไกแอนติคิเธียรา นำมาสร้างแบบจำลองที่เลียนแบบชิ้นส่วนที่ถูกค้นพบ และต้องจำลองชิ้นส่วนที่หายไปขึ้นมาทดแทนจนสำเร็จในปี 1997 ซึ่งแม้เครื่องคำนวณจำลองนี้จะสามารถใช้งานในการคำนวณได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ช่วยให้นักวิจัยสามารถไขปริศนาอีกหลายข้อเกี่ยวกับกลไกนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

จนกระทั่งในปี 2021 มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (University College London (UCL)) ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการจำลองภาพของจักรวาลของกลไกแอนติคิเธียรา บน Scientific Reports ของเว็บไซต์ Nature โดยทีมผู้วิจัยได้นำเอาข้อมูลจากการสแกนด้วยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา ด้วยเทคโนโลยี CT-Scan

รวมไปถึงทฤษฏีของนักวิจัย กลไกจำลองของไรต์ รวมทั้งแนวคิด และถ้อยความที่ปรากฏอยู่ในกลไก ผนวกเข้ากับวิธีการทางคณิตศาสตร์ของ พาร์เมนิดีส (Parmenides) นักปรัชญาชาวกรีกโบราณยุคก่อนโสคราตีส (Socrates) เพื่อนำไปสร้างแบบจำลองกลไกการเคลื่อนย้ายดวงดาวแบบ 3 มิติ ที่สามารถบรรจุฟันเฟืองเข้าไปในกล่องที่มีขนาด 25 มิลลิเมตรได้อย่างพอดี

Antikythera Mechanism Indiana Jones and the Dial of Destiny

ผลการศึกษาและจำลองกลไกขึ้นมาใหม่นี้ทำให้สามารถไขปริศนาเกี่ยวกับการทำงานของกลไกนี้ได้บางส่วน ตั้งแต่การที่แต่แรก นักวิจัยวิเคราะห์ว่า เข็มที่อยู่บนหน้าปัดถูกใช้แทนเครื่องหมายตำแหน่งดวงดาว แต่การค้นพบล่าสุดพบว่า สิ่งที่ถูกนำมาใช้แทนสัญลักษณ์ของดาวเคราะห์ คือเพชรพลอยชิ้นเล็ก ๆ ที่ประดับอยู่บนวงแหวนบนหน้าปัดต่างหาก นอกจากนี้ยังสามารถชี้ได้ว่า กลไกนี้น่าจะมีอายุราว ๆ 100 – 150 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,100 ปีก่อน

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์โครงสร้างภายในของกลไกนี้ และการถอดความตัวอักษรที่จารึกบนตัวกลไกยังพบว่า กลไกนี้สามารถคำนวณเส้นทางวงโคจรของดาวศุกร์และดาวเสาร์ ที่โคจรผ่านโลกด้วยความแม่นยำสูง ซึ่งถือว่าแตกต่างไปจากองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของชาวกรีกโบราณอยู่พอสมควร โดยกลไกนี้สามารถระบุรอบการโคจรของดาวศุกร์ได้ยาวนานถึง 462 ปี และดาวเสาร์ที่ 442 ปี ซึ่งทำให้แบบจำลองที่ทำขึ้นใหม่นี้ สอดคล้องกับหลักฐานทางกายภาพ และคำอธิบายที่จารึกไว้บนกลไก

แม้แบบจำลองนี้จะถือว่าเป็นการจำลองที่เข้าใกล้รูปแบบการทำงาน ในฐานะกลไกสำหรับคำนวณด้านดาราศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดก็คือ ใครเป็นผู้ประดิษฐ์กลไกนี้ขึ้นมา แล้วประดิษฐ์ขึ้นมาทำไม กลไกนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นด้วยจุดประสงค์อะไรกันแน่

กลไกนี้อาจเป็นได้ทั้งเครื่องมือสำหรับใช้สำหรับเดินทางบนเรือ ใช้สอนและค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ หรือแม้แต่เป็นของเล่นอย่างหนึ่ง รวมถึงข้อสงสัยที่ว่า ชาวกรีกโบราณผลิตเฟือง เพลา จากโลหะสัมฤทธิ์ได้อย่างไร หากในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องกลึงโลหะที่ง่ายและสะดวกเหมือนสมัยนี้

หรือแม้แต่คำถามที่ว่า กว่า 122 ปีที่ผ่านมา ทำไมถึงยังไม่มีการค้นพบเครื่องกลไกในลักษณะนี้ หรือในทำนองนี้ ทั้งก่อนหน้าที่จะมีการประดิษฐ์กลไกนี้ขึ้น และหลังจากนั้นต่อไปอีกนับพันปี และทำไมชาวกรีกโบราณจึงไม่ได้นำเอานวัตกรรมฟันเฟืองไปต่อยอดกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น นาฬิกา เครื่องคำนวณ พาหนะ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้หลักการของกลไกแบบเดียวกันนี้ต่อไปอีก

ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของชาวกรีกโบราณ จะยังมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนมากกว่านี้อีกหรือไม่


ที่มา: BBC, BBC ไทย, MGR Online, Vice, The Guardian, Smithsonian magazine, Smithsonian magazine(2), Interesting Engineering, Wikipedia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส