ในประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีอเมริกัน มีเพียงไม่กี่คนที่ยืนหยัดและสร้างสรรค์ผลงานได้เทียบเท่า ‘โทนี่ เบนเน็ตต์’ (Tony Bennette)

ด้วยอาชีพที่สั่งสมมาเกือบ 80 ปี โทนเสียงที่นุ่มนวลของเบนเน็ตต์ และสไตล์การร้องที่ไม่เหมือนใคร และการทำงานร่วมกันกับศิลปินหลากยุคหลายสมัยอันเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ ได้ทิ้งร่องรอยทางดนตรีที่ไม่มีวันลืมเลือนเอาไว้ในโลกแห่งเสียงเพลง

เบนเน็ตต์ได้จากโลกนี้ไปในวัย 96 ปีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝากเอาไว้ซึ่งเสียงร้องและผลงานเพลงอันสุดประทับใจให้เราได้ระลึกถึงเสน่ห์ของเขาที่ไม่มีวันจากหายไป

จุดเริ่มต้นของตำนาน

โทนี่ เบนเน็ตต์ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1926 พร้อมชื่อ ‘แอนโธนี โดมินิก เบเนเดตโต (Anthony Dominick Benedetto)’ และเติบโตในย่าน Astoria ของ Queens รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นลูกชายของจอห์นเจ้าของร้านขายของชำจากทางตอนใต้ของอิตาลี และแอนนา ช่างเย็บผ้า พ่อของเขาเสียชีวิตเมื่อเบนเน็ตต์อายุได้เพียง 10 ขวบ และแอนนาต้องทำงานทุกชั่วโมงเพื่อเลี้ยงดูลูกทั้ง3 คนของเธอ เมื่อเฝ้าดูการต่อสู้ของเธอ เบนเน็ตต์ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องประสบความสำเร็จมากพอที่จะทำให้ชีวิตอันลำบากและเหน็ดเหนื่อยของแม่สิ้นสุดลง ลุงดิ๊กของเขาซึ่งเป็นนักเต้นแท็ปได้มองเห็นช่องทางในธุรกิจการแสดงตั้งแต่เนิ่น ๆ และเบนเน็ตต์หลงใหลทั้งการร้องเพลงและการวาดภาพเมื่อเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะอุตสาหกรรม (School of Industrial Art) [ปัจจุบันคือโรงเรียนมัธยมศิลปะและการออกแบบ (High School of Art and Design)] ในแมนฮัตตัน

เบนเน็ตต์ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟก่อนจะมาร้องเพลงในร้านอาหาร เบนเน็ตต์ร้องเพลงร่วมกับวงดนตรีของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่เขาถูกลดตำแหน่งและได้รับมอบหมายให้ไปขุดหลุมฝังศพสำหรับคืนวันขอบคุณพระเจ้ากับทหารผิวดำคนหนึ่งที่เคยเป็นเพื่อนสมัยเรียน  20 ปีหลังจากนั้น เบนเน็ตต์กำลังเดินขบวนในแอละแบมากับ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง (Martin Luther King) เขาถูกกระตุ้นให้กลายเป็นผู้รักความสงบหลังจากการสู้รบในยุโรปในปี 1945 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขาอธิบายว่าเป็น “ที่นั่งแถวหน้าในนรก”

หลังจากการปลดประจำการ เบนเน็ตต์เข้าชั้นเรียนร้องเพลงในสไตล์เบลคันโตที่โรงเรียน American Theatre Wing (ครูที่นั่นแนะนำให้เขาลองเลียนแบบการร้องของนักดนตรีแจ๊ส) และเขาเริ่มร้องเพลงในไนต์คลับตั้งแต่ปี 1946 ภายใต้ชื่อ โจ บารี (Joe Bari) นักแสดงตลก บ็อบ โฮป (Bob Hope) จ้างเขาในปี 1949 แต่บอกเขาว่าไม่ชอบชื่อที่เขาใช้เลย และบอกกับเขาว่า “ต่อไปเราจะเรียกคุณว่า โทนี่ เบนเน็ตต์”

เบนเน็ตต์ทำงานในนิวยอร์กที่โรงละคร Paramount ในรายการยอดนิยมของโฮป ซึ่งในไม่ช้าเขาก็ดังกระฉ่อนและมีแฟนคลับมากมายจนถึงขนาดที่ต้องมีเครื่องกีดขวางของตำรวจเพื่อกันแฟนเพลงวัยรุ่นของเขา ในตอนที่เขาแต่งงานกับ แพทริเซีย บีช (Patricia Beech) ในปี 1952 ถึงกับมีสาว ๆ กลุ่มหนึ่งปรากฏตัวด้านนอกที่ทำพิธี แต่งกายราวกับกำลังไว้ทุกข์สำหรับการที่พวกเธอจะต้องสูญเสียชายหนุ่มในฝันให้กับสาวนางหนึ่ง

โทนี่ เบนเน็ตต์ และ แพทริเซีย บีช

ผู้สร้างสรรค์ผลงานสุดคลาสสิก

เบนเน็ตต์กลายเป็นหนึ่งในนักร้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีเพลงฮิตอันดับ 1 ถึง 3 เพลง ได้แก่ “Because of You”, “Cold, Cold Heart” (ทั้ง 2 เพลงออกมาในปี 1951) และ “Rags to Riches” (1953) ซิงเกิล “Stranger in Paradise” ของเขาจากละครเพลงบรอดเวย์เรื่อง “Kismet” ทำให้เขาขึ้นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรในปี 1955 แต่การมาถึงของร็อกแอนด์โรลทำให้เบนเน็ตต์ติดอันดับท็อป 10 ซิงเกิลแรกและซิงเกิลสุดท้ายของเบนเน็ตต์ในสหราชอาณาจักร และเขามีเพลงฮิตอีกแค่เพียงเพลงเดียวในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพลง “In the Middle of an Island” ขึ้นอันดับ 9 ในปี 1957

เบนเน็ตต์จำเป็นต้องปรับตัว สำหรับการร่วมงานกับวงสวิงบิ๊กแบนด์ที่เขาไม่เคยทำงานด้วยเลยซึ่งแตกต่างจาก แฟรงก์ ซินาตร้า (Frank Sinatra) หรือ บิง ครอสบี (Bing Crosby) ที่คุ้นเคยกับวงบิ๊กแบนด์ดี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ร่วมกันกับนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญที่ส่งผลดีต่อเบนเน็ตต์ในการลับคมเทคนิคและเติมไอเดียใหม่ ๆ ให้กับเขาได้ ต่อมาในปี 1957 เขาเริ่มมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับนักเปียโนแจ๊สและผู้เรียบเรียงเสียงประสานที่เกิดในลอนดอน ราล์ฟ ชารอน (Ralph Sharon) ซึ่งโน้มน้าวให้เขาสนใจดนตรีแจ๊สมากขึ้น อัลบั้ม ‘The Beat of My Heart’ ของเบนเน็ตต์ในปี 1957 สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากนักดนตรีแจ๊สฝากฝีมืออย่าง เฮอร์บี มานน์ (Herbie Mann), อาร์ต เบลคกี้ (Art Blakey) และ โจ โจนส์ (Jo Jones) รวมถึงคนอื่น ๆ ตามมาด้วยอัลบั้ม ‘Basie Swings, Bennett Sings’ (1958) และ ‘In Person!’ (1959) ที่ทำงานร่วมกับวงดนตรีขนาดใหญ่ของ เคาต์ เบซี (Count Basie)

จากนั้นเบนเน็ตต์ก็ก้าวสู่จุดรุ่งเรืองจุดหนึ่งในชีวิต ในปี 1962 ชารอนซึ่งเป็นเพื่อนกับนักแต่งเพลง จอร์จ คอรี (George Cory ) และ ดั๊กลาส ครอส (Douglass Cross) แนะนำให้เขารู้จักเพลง “I Leave My Heart” เบนเน็ตต์ได้บันทึกเสียงร้องเพลงนี้ใน B-side ของอัลบั้ม ‘Once Upon a Time’ คว้ารางวัลแกรมมี่ 2 รางวัล และจัดคอนเสิร์ตในเดือนมิถุนายนที่ Carnegie Hall นอกจากนี้ยังร้องเพลงในการออกอากาศครั้งแรกใน “The Tonight Show Starring Johnny Carson” ในเดือนตุลาคม เดือนเดียวกันกับที่ The Beatles ได้ปล่อยซิงเกิลเปิดตัว “Love Me Do” และในฤดูใบไม้ผลิปี 1964 ก็ขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา

ต่อมาเบนเน็ตต์พบว่ายอดขายของเขาลดลงอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเกิดขึ้นของนักร้องประเภทเดียวกับเขาอีกหลายคน เขาพยายามเลี่ยงเส้นทางที่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 1969 ไคลฟ์ เดวิส (Clive Davis) หัวหน้าของ Columbia Records ชักชวนให้เขาทำอัลบั้มร้องเพลงป๊อปฮิตในยุค 60s ซึ่งรวมถึงเพลง “Eleanor Rigby” ของ The Beatles ด้วย ภาพหน้าปกอัลบั้ม ‘Tony Sings The Great Hits Of Today’ แสดงภาพเขาในฉากหลังสีแดงเพลิงและเนกไทในสไตล์ไซคีเดลิกที่ดูเท่ดีไม่หยอก เบนเน็ตต์รู้สึกไม่ค่อยโอเคนักกับผลงานอัลบั้มนี้เพราะมันยังมีสิ่งที่เขาคิดว่าไม่โอเคมากมายในระหว่างการบันทึกเสียงและเขาคิดว่าเขาสามารถทำมันให้ได้ดีกว่านี้ เขากล่าวในภายหลังว่ามันทำให้เขานึกถึงแม่ของเขาตอนที่ถูกบังคับให้ทำชุดราคาถูกเพื่อแลกกับเงินสำหรับใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก

‘Tony Sings The Great Hits Of Today’

เบนเน็ตต์ออกจากค่าย Columbia และทำงานให้กับค่ายเพลงแจ๊สขนาดเล็กในช่วงทศวรรษต่อมา เขาแสดงร่วมกับวงดนตรีขนาดใหญ่ของ วู้ดดี้ เฮอร์แมน (Woody Herman), บัดดี ริช (Buddy Rich) และ ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) และในปี 1975 ได้สร้างอัลบั้มดูโอสำหรับค่ายเพลง Fantasy ร่วมกับ บิล อีแวนส์ (Bill Evans) นักเปียโนที่มีเพลงที่มีเนื้อร้องมากที่สุดคนหนึ่ง สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความร่วมมือที่ไม่น่าเป็นไปกลับนำมาซึ่งผลงานที่น่าประทับใจอันเกิดจากความเข้ากันได้ดีอย่างน่าทึ่งระหว่างศิลปินทั้งคู่ เสียงร้องของเบนเน็ตต์ในเพลงฮิตของอีแวนส์อย่าง “Waltz for Debby” เผยให้เห็นถึงแรงบันดาลใจในศิลปะแห่งการตีความและเสียงร้องที่ในสไตล์แจ๊สอันกลมกล่อมของเบนเน็ตต์ อีก 2 ปีต่อมา ทั้งคู่กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในอัลบั้ม ‘Together Again’ ที่ออกกับทางค่าย Improv ที่เบนเน็ตต์ร่วมงานด้วยในช่วงสั้น ๆ

การล้มละลายของค่าย Improv ความล้มเหลวในการแต่งงานครั้งที่ 2 ของเบนเน็ตต์กับ แซนดรา แกรนต์ ( Sandra Grant) พฤติกรรมการเสพโคเคนของเขา และการลดลงของงานแสดงนอกลาสเวกัสทำให้เบนเน็ตต์ในยุค 70s เข้าสู่ยุคมืดสำหรับเขา โดยเจ้าหน้าที่ภาษีพยายามยึดบ้านของเขาในลอสแองเจลิส ในปี 1979 เขาเกือบเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด และขอความช่วยเหลือจากแดนนีและเดย์ลูกชายที่เกิดจากการแต่งงานครั้งแรก แดนนี่กลายเป็นผู้จัดการของพ่อและเบนเน็ตต์เริ่มต้นอาชีพของเขาอีกครั้งในระดับที่เล็กลงผ่านทางวิทยาลัยและโรงละคร ชารอนกลับมาเล่นเปียโน ส่วนเบนเน็ตต์กลับไปค่าย Columbia แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมแนวทางสร้างสรรค์ผลงานของค่าย ด้วยอัลบั้ม ‘The Art of Excellence’ (1986) โปรดิวซ์โดยแดนนี อาชีพของนักร้องวัย 60 ปีก็กำลังจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

การสำรวจพรมแดนใหม่ในโลกแห่งเสียงเพลง

ในช่วงทศวรรษที่ 90s เบนเน็ตต์ได้แสดงความคารวะต่อซินาตร้าและ เฟรด แอสแตร์ (Fred Astaire) ในอัลบั้ม ‘Perfectly Frank’ และ ‘Steppin’ Out’ ตามลำดับ และยังบันทึกเสียงอัลบั้มที่แสดงความคารวะต่อ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) ‘Tony Bennett on Holiday’ และ ดุ๊ก เอลลิงตัน ‘Bennett Sings Ellington: Hot and Cool’ จากการทำงานร่วมกับ เคดี แลง (kd lang) และ เอลวิส คอสเตลโล (Elvis Costello) ทาง MTV ทำให้เบนเน็ตต์เชื่อมต่อกับผู้ชมวัยหนุ่มสาวอีกครั้ง นอกจากนี้เขายังเคยแสดงที่กลาสตันเบอรี (Glastonbury) ในปี 1998 โดยผู้จัดงานได้วางฟางไว้เป็นทางเพื่อไม่ให้ชุดผ้าไหมของเขาเปื้อนโคลนระหว่างทางขึ้นเวที

ในอัลบั้ม ‘Playin’ With My Friends: Bennett Sings the Blues’ (2001) เขาได้บันทึกชุดเพลงคู่ที่น่าจดจำร่วมกับ เคดี แลง, เรย์ ชาร์ลส์ (Ray Charles), เชอร์รีล โครว์ (Sheryl Crow), บิลลี่ โจเอล (Billy Joel), ไดอาน่า คราลล์ (Diana Krall), บีบี คิง (BB King), บอนนี่ เรตต์ (Bonnie Raitt) และ สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder)

เนื่องในวันเกิดครบรอบ 80 ปีของเขาในปี 2006 เบนเน็ตต์เปิดตัวอัลบั้ม ‘Duets: An American Classic’ ซึ่งได้ร่วมงานกับศิลปินชื่อดังมากมายทั้ง พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney), เอลตัน จอห์น (Elton John), บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) และ โบโน (Bono) และอีก 5 ปีต่อมาก็ออกอัลบั้ม ‘Duets II’ พร้อมด้วยนักร้องมากฝีมืออีกหลายคนทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ เช่น อารีทา แฟรงคลิน (Aretha Franklin), เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) และ เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) ซึ่งเขาและเธอได้มอบเสียงร้องอันน่าจดจำร่วมกันในบทเพลง “Body and Soul”

เบนเน็ตต์ได้มอบเสียงร้องที่อบอุ่น ในขณะที่ไวน์เฮาส์ก็ได้ขับขานเสียงร้องในสไตล์แจ๊สได้อย่างงดงาม หลังจากการเสียชีวิตของไวน์เฮาส์ในเดือนกรกฎาคมปีนั้น เบนเน็ตต์ได้กล่าวถึงเธอว่า หากเธอยังมีชีวิตอยู่ เธออาจเทียบชั้นได้กับฮอลิเดย์ หรือ ไดน่า วอชิงตัน (Dinah Washington) เลยทีเดียว ‘Duets II’ ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตอัลบั้ม Billboard ทำให้เบนเน็ตต์เป็นศิลปินอายุ 85 ปีเพียงคนเดียวที่ได้ไปถึงจุดนั้น

ในปี 2012 “Life Is a Gift” หนังสือเชิงปรัชญาชีวิตของเบนเน็ตต์ได้รับการตีพิมพ์ และมีอีกหนึ่งอัลบั้มที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่งคือ ‘Tony Bennett & Lady Gaga: Cheek to Cheek’ ออกมาในปี 2014 เป็นอีกอัลบั้มที่ติดท็อปชาร์ตของ Billboard และในปีต่อมาเขาได้รับรางวัลแกรมมี่จากอัลบั้มที่แสดงความคารวะแด่ เจอโรม เคิร์น (Jerome Kern)

อัลบั้ม ‘Tony Bennett & Lady Gaga: Cheek to Cheek’ ชนะรางวัลแกรมมี่ปี 2014 อัลบั้มอันน่าประทับใจชุดนี้นำศิลปิน 2 คนจากรุ่น แนวเพลง และภูมิหลังที่แตกต่างกัน มารวมเป็นหนึ่งเพื่อเฉลิมฉลองดนตรีแจ๊สคลาสสิกอย่างกลมกล่อมและกลมกลืน การร่วมงานกันในครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงพลังเสียงของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งข้อความที่ทรงพลังเกี่ยวกับธรรมชาติของดนตรีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย

‘Tony Bennett & Lady Gaga: Cheek to Cheek’

เลดี้ กาก้า ศิลปินเพลงป๊อปที่มีความเอนเอียงไปในแนวเปรี้ยวจี๊ดจัดจ้าน อาจดูเหมือนเป็นคู่หูที่ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับเบนเน็ตต์ นักดนตรีแจ๊สรุ่นใหญ่มาดลุ่มลึก แต่เคมีทางดนตรีและความชื่นชมซึ่งกันและกันส่งผลให้อัลบั้มนี้สะกดใจผู้ฟังทั่วโลก ‘Cheek to Cheek’ ก้าวข้ามขอบเขตทางดนตรีได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่การแสดงบนเวทีที่ดึงดูดใจของทั้งคู่และพรสวรรค์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มหลงใหล

ผลงานการแสดงสดครั้งสุดท้ายของเบนเน็ตต์คือการแสดงร่วมกับเลดี้ กาก้าในปี 2021 ที่ Radio City Music Hall นิวยอร์ก

ศิลปินผู้รักในความงามของธรรมชาติและชีวิต

ในวันเกิดปีที่ 90 ของเบนเน็ตต์ในปี 2016 ตึกเอ็มไพร์สเตตได้รับการประดับไฟเป็นพิเศษ และในปีนั้น สตีวี่ วันเดอร์, บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), เลดี้ กาก้า และศิลปินอีกมากมายได้แสดงในรายการพิเศษช่วงไพรม์ไทม์ของ NBC ‘Tony Bennett Celebrates 90: The Best Is Yet To Come’ สถาบันศิลปะอเมริกันบัตเลอร์ (The Butler Institute of American Art ) ในโอไฮโอ (ที่ซึ่งคอลเลคชัน ‘Homage to Hockney’ ที่เบนเน็ตต์สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อคารวะต่อ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) เป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชันถาวร) ได้นำเสนอนิทรรศการ ‘Two Painters’ โดยจัดแสดงผลงานของเบนเน็ตต์ทั้งภาพวาดภาพทิวทัศน์ทัสคานี ภาพหุ่นนิ่ง และภาพบุคคลควบคู่ไปกับผลงานของ ชาร์ลส รีด (Charles Reid) ศิลปินสีน้ำ และในเดือนพฤศจิกายน 2017 หอสมุดแห่งชาติ (Library of Congress)ได้มอบรางวัลเกิร์ชวิน (Gershwin prize) ให้กับเขา ทำให้เขาเป็นศิลปินคนแรกที่ไม่ใช่นักแต่งเพลงที่ได้รับรางวัลนี้

เบนเน็ตต์ยังคงทำงานศิลปะต่อไปในปีต่อ ๆ มา นอกจากนี้เบนเน็ตต์ยังเคยสนับสนุนวงการศิลปะด้วยการบริจาคเงินและก่อตั้ง ‘Frank Sinatra School of the Arts’ มาตั้งแต่ปี 2001 เบนเน็ตต์วาดภาพทุกวันตราบเท่าที่เขาสามารถทำได้ “คุณวาดภาพธรรมชาติในท้องทุ่ง แล้วคุณจะรู้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นงดงามเพียงใด” เบนเน็ตต์เล่าถึงความประทับใจในศิลปะ “คนส่วนใหญ่แค่เดินผ่านไป ผมเคยเดินผ่านมันไป ทุกวันนี้ ด้วยอายุของผม ผมได้แต่มองมันและทะนุถนอมมัน หากผู้คนสามารถเข้าใจได้ว่ามันวิเศษเพียงใดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้” เบนเน็ตต์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ในปี 2016 แต่มันก็ไม่ได้ลดทอนมุมมองที่เขามีต่อความงามของชีวิตและธรรมชาติเลย เบนเน็ตต์เคยโพสต์ไว้ในทวิตเตอร์ว่า “ชีวิตคือของขวัญ แม้ว่าผมจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ตาม”

นวัตกรรมแห่งเสียงร้อง

ตั้งแต่วันแรกในอาชีพของเขาในทศวรรษ 1950s จนถึงการบันทึกเสียงครั้งสุดท้ายในต้นปี 2020 เบนเน็ตต์ได้สำรวจดินแดนทางดนตรีใหม่ ๆ อย่างไม่เกรงกลัว ปฏิวัติเสียงร้องในสไตล์แจ๊สที่ดึงดูดใจผู้ฟังจากหลายชั่วอายุคน

สไตล์การร้องของเขาโดดเด่นและทำให้เขาแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ ในยุคนั้น เขาใช้วิธีร้องแบบ ‘laid-back’ หรือการร้องแบบดึงจังหวะ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรียกว่า “รูบาโต” (Rubato) ที่เป็นการร้องแบบไม่ลงตรงจังหวะพอดีแต่มีการร้องที่เร็วขึ้น-ช้าลงอย่างอิสระ สิ่งนี้สร้างความรู้สึกคาดหวังในการเปล่งคำร้องของเขา เพิ่มความประหลาดใจให้กับการแสดง ด้วยการใช้รูบาโตอย่างชำนาญของเบนเน็ตต์ เขาสามารถเล่นตามจังหวะและท่วงทำนองของเพลง ด้วยการดัดและยืดวลีทางดนตรีเพื่อกระตุ้นอารมณ์ที่หลากหลาย การปรับจังหวะที่ละเอียดอ่อนนี้ทำให้เพลงของเขาเป็นธรรมชาติและให้ความรู้สึกใกล้ชิดเหมือนกับการสนทนา ทำให้ผู้ฟังรู้สึกราวกับว่าเขากำลังแบ่งปันเรื่องราวของเขากับพวกเขาอย่างใกล้ชิด

ด้วยเสียงที่นุ่มนวลและขี้เล่นนี้ เบนเน็ตต์เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงต้นอาชีพของเขา โดยได้รับการยกย่องจาก แฟรงก์ ซินาตร้า ว่าเป็น “นักร้องที่ดีที่สุดในธุรกิจนี้”

ในช่วงระยะหลังที่เบนเน็ตต์สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับศิลปินร่วมสมัย ไม่ได้หมายความว่าเขาละทิ้งตัวตนทางดนตรีของตัวเอง แต่ด้วยการผสมผสานดนตรีแจ๊สแบบดั้งเดิมเข้ากับองค์ประกอบร่วมสมัย เขาสามารถดึงดูดใจผู้ฟังจากหลายรุ่น ดึงดูดทั้งแฟนเพลงที่รู้จักกันมานานและผู้ฟังหน้าใหม่

สิ่งสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จของเบนเน็ตต์คือความสามารถของเขาในการแสดงอารมณ์ของอเมริกันยุคเก่า ชวนให้นึกถึงศิลปินอย่างซินาตร้า, บิลลี ฮอลิเดย์ และ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความแตกต่างร่วมสมัยที่สอดคล้องกับมนุษย์ในยุคปัจจุบันมากขึ้น แนวทางดนตรีของเขาจับทั้งแก่นแท้และการต่อสู้ของอเมริกา ทำให้เพลงของเขามีเสน่ห์เหนือกาลเวลาและเป็นสากล นอกจากนี้น้ำเสียงของเขายังสื่อถึงความคุ้นเคยและปลอบประโลมใจคล้ายกับการฟัง ‘คุณลุงผู้เป็นที่รัก’ กำลังขับกล่อมเราอยู่

เสียงร้องที่พาเราดื่มดำไปในอารมณ์อันลึกซึ้ง

ผลงานของเบนเน็ตต์มีความโดดเด่นไม่เพียงแค่เสียงที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณและการถ่ายทอดที่ไร้ที่ติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีที่เขาดึงผู้คนจากภูมิหลังทางดนตรีที่หลากหลายมาสู่โลกดนตรีแจ๊สของเขาด้วย ในฐานะโปรดิวเซอร์ เขาตระหนักถึงความสำคัญของการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวศิลปินออกมา

ในขณะเดียวกัน วิธีการของเบนเน็ตต์ในการพัฒนาเสียงร้องของตัวเองโดยยังคงรักษาแก่นแท้ของเสียงไว้ ทำให้เขาแตกต่างในฐานะศิลปิน เขามีความไม่เกรงกลัวในการแสวงหานวัตกรรม เจาะลึกองค์ประกอบทางดนตรีร่วมสมัยและร่วมมือกับโปรดิวเซอร์เพื่อใส่มิติใหม่ของเสียงลงในอัลบั้มของเขา ผลลัพธ์ที่ได้คือการดึงผู้ฟังเข้าสู่การเดินทางที่ใกล้ชิดและดื่มด่ำเหมือนกำลังนั่งฟังอยู่ในคอนเสิร์ต

อัลบั้มของเบนเน็ตต์ประสบความสำเร็จไม่เพียงเพราะความฉลาดทางเทคนิคและดนตรีของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเสียงของเบนเน็ตต์ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งซึ่งก้าวข้ามอุปสรรคของเวลาและวัฒนธรรม สัมผัสหัวใจของผู้ฟังจากภูมิหลังที่หลากหลาย ดนตรีของเขามีความเป็นสากลซึ่งทำให้เขาเป็นศิลปินที่รักและเคารพไปทั่วโลก

ชีวิตของเบนเน็ตต์ครอบคลุมหลายทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสหรัฐอเมริกาและโลกใบนี้ ในดนตรีของเขาผู้ฟังสามารถค้นพบความสวยงามได้เสมอในช่วงเวลาที่ท้าทาย และในขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีอเมริกันในศตวรรษที่ 20 และ 21 ประสบกับการปฏิวัติของตัวเอง วิวัฒนาการทางศิลปะของ เบนเน็ตต์ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตอกย้ำตำแหน่งของเขาในฐานะไอคอนแห่งวงการเพลงที่ท้าทายขอบเขตของเวลาและกระแสนิยมทางดนตรี สร้างสรรค์ผลงานที่ไร้กาลเวลาและจะยังคงอยู่ในใจของผู้ฟังทั่วโลกไปตราบนานเท่านาน

ที่มา

The Guardian

The Conversation

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส