ในตอนนี้หลายคนคงกำลังตื่นเต้นที่จะได้ไปชมการแสดงสดสุดอลังของ Coldplay ในงาน “Coldplay Music Of The Spheres World Tour Bangkok” ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่ตอนแรกจะมีขึ้นแค่เพียงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งเพียงไม่นานบัตรที่กดจองกันข้ามปีก็ขายหมดเกลี้ยง จนต้องมีเพิ่มรอบในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ซึ่งใครที่พลาดรอบแรกก็ยังสามารถจับจองบัตรกันได้ Thaiticketmajor

วงดนตรีอินดี้อัลเทอร์เนทีฟร็อกจากลอนดอนวงนี้ มาเยือนไทยเป็นครั้งแรกในปี 2003 ที่อิมแพ็คอารีน่าเมืองทองธานี หลังจากออกอัลบั้มชุดที่ 2 ‘A Rush of Blood to the Head’ จากนั้นพวกเขาก็เดินทางมาไกลและได้มาเล่นในสถานที่ที่ใหญ่กว่าเดิม (อย่างมาก) อย่างราชมังคลากีฬาสถานเป็นครั้งแรกใน ‘A Head Full Of Dreams Tour’ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2017 แน่นอนว่าคอนเสิร์ตทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาก็เต็มแน่นหมดเกลี้ยง จึงไม่แปลกใจเลยที่คอนเสิร์ตในครั้งนี้จะเต็มขนาดต้องเพิ่มรอบ เอาจริง ๆ มันก็คงไม่น่าแปลกใจนักในการเติบโตและความชื่นชมที่แฟน ๆ มีให้กับพวกเขา เพราะหากเราย้อนกลับไปฟังอัลบั้มเปิดตัวของวงที่มีชื่อว่า ‘Parachutes’ ที่เพิ่งครบรอบ 23 ปีไม่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เราจะพบว่าในท่วงทำนองอันเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่เข้ามาสู่ความรู้สึกของเราอย่างลึกลับนั้นมีศักยภาพของการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ซ่อนไว้อยู่

‘Parachutes’

อัลบั้มเปิดตัว ‘Parachutes’ นี้ทำให้ Coldplay เติบโตขึ้นมาในฐานะหนึ่งในวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปรากฏขึ้นในรุ่งอรุณของสหัสวรรษใหม่ ที่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังปรับตัวและเปลี่ยนแปลง Coldplay ได้ปรากฏตัวขึ้นในวงการเพลงด้วยเสียงที่กลมกล่อมและแฝงแววครุ่นคิดที่จะกำหนดยุคสมัยอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่นนี้ แต่อัลบั้มเปิดตัวของวงก็จุดประกายให้วงการเพลงบริตป๊อปทันที (และวงการดนตรีโลกในเวลาต่อมา) เมื่อออกจำหน่ายในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 อันเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมระหว่างเสียงร้องที่นุ่มนวลแต่ทรงพลังของ คริส มาร์ติน (Chris Martin) การแต่ง เรียงร้อย และบรรเลงเพลงที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ทำให้อัลบั้มนี้ยังคงเป็นผลงานเพลงคลาสสิกเหนือกาลเวลา มอบประสบการณ์ทางดนตรีที่ก้องกังวานและกินใจและได้กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จที่สุดของศตวรรษที่ 21

Coldplay

กว่าจะมาเป็น ‘Coldplay’

ต้นกำเนิดของ Coldplay สามารถย้อนกลับไปได้ถึงเดือนกันยายน 1996 เมื่อ คริส มาร์ติน ได้พบกับมือกีตาร์ จอนนี่ บัคแลนด์ (Jonny Buckland) เป็นครั้งแรกในช่วงสัปดาห์รับน้องใหม่ที่ University College London (UCL) ขณะเล่นพูลที่บาร์ของสมาพันธ์นักศึกษา ทั้งคู่ได้สานสัมพันธ์ผ่านความหลงใหลในดนตรีที่มีร่วมกัน พูดคุยถึงศิลปินที่ชื่นชอบเช่น Sting, U2, เจฟฟ์ บัคลี่ย์ (Jeff Buckley) และ ลีโอนาร์ด โคเฮน (Leonard Cohen) และได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมจากวงดนตรีที่พวกเขาค้นพบร่วมกันที่ UCL โดยเฉพาะ Radiohead และ Echo & The Bunnymen จากแรงบันดาลใจที่มีมาร์ตินและบัคแลนด์เริ่มเขียนเพลงร่วมกัน

ในเวลาต่อมา กาย เบอร์รีแมน (Guy Berryman) มือเบสและเพื่อนร่วมสถาบันได้เข้าร่วมเดินบนเส้นสู่ความฝันร่วมกัน ทั้ง 3 คนเริ่มรวมตัวกันพูดคุยเรื่องดนตรีและต่อเติมผลงานเพลงร่วมกัน จากนั้นสมาชิกคนสุดท้ายของวงคือมือกลอง วิล แชมเปียน (Will Champion) ซึ่งในตอนแรกปฏิเสธข้อเสนอของพวกเขา แต่ต่อมาได้เข้าร่วมหลังจากที่ต้องซ้อมเพื่อเล่นในงานดนตรีอย่างกะทันหัน เมื่อนักดนตรีอายุน้อยและทะเยอทะยานทั้ง 4คนนี้เริ่มเล่นคอนเสิร์ตในสถานที่ต่าง ๆ เช่น Camden’s Laurel Tree พวกเขาได้ปรากฏตัวภายใต้ชื่อ ‘Starfish’ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ ‘Coldplay’ หลังจากเห็นชื่อนี้จากหนังสือบทกวีสำหรับเด็กที่ชื่อว่า ‘Child’s Reflections: Cold Play’ เมื่อได้ชื่อที่เหมาะสมพวกเขาก็เริ่มฝึกฝนและสร้างสุ้มเสียงของตัวเอง

ช่วงแรกของ Coldplay นั้นเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ ผู้จัดการคนสุดท้ายของพวกเขา ฟิล ฮาร์วีย์ (Phil Harvey) ให้ทุนสนับสนุนเพื่อบันทึกเสียงเดโมครั้งแรกที่ Sync City Studios (ปัจจุบันคือ Bally Studios) ในท็อตแนม และผลการบันทึกเสียงครั้งนี้คืออัลบั้ม ‘Safety EP’ นำไปสู่งานสำคัญที่ผับ Camden Falcon ซึ่งพวกเขาไปเตะตา A&R ไซมอน วิลเลียมส์ (Simon Williams) แห่ง Fierce Panda Records ซึ่งเสนอตัวเซ็นสัญญากับวง ด้วยการสนับสนุนจากค่ายเพลงอินดี้สำหรับการเปิดตัวซิงเกิลเปิดตัว “Brothers & Sisters” ทำให้ Coldplay เริ่มเป็นที่ฮือฮา และในไม่ช้าก็ได้รับเสียงชื่นชมจากวงการและได้รับการเผยแพร่เรื่องราวผ่านนิตยสารและสื่อต่าง ๆ อย่าง NME และ BBC Radio 1

ไม่นานนัก A&R จากค่ายเพลงใหญ่ ๆ ก็เริ่มสนใจพวกเขา และในที่สุด Coldplay ก็เซ็นสัญญากับ Parlophone ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาสังกัดอยู่ นั่นคือ Radiohead จากนั้น EP ที่ 2 ของวงอย่าง ‘The Blue Room’ ได้ถือกำเนิดขึ้นอันตามมาด้วยกำหนดการทัวร์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Premier Tour ของ NME ในช่วงต้นปี 2000 ซึ่งพวกเขาได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวก จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเขาที่ UCL ไปจนถึงการเป็นที่รู้จักมากขึ้น เห็นได้ชัดว่า Coldplay กำลังพุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ อย่างงดงาม

เผชิญหน้ากับ ‘ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์’ ผ่านพ้น ‘สิ่งที่ยากที่สุดที่เคยทำมา’

เป็นเรื่องธรรมดาที่สมาชิกวงดนตรีที่อยู่ร่วมกันมาย่อมจะมีเรื่องที่ขัดแย้งกัน ซึ่งนั่นอาจนำมาสู่จุดจบของความเป็นวงดนตรีได้ สำหรับ Coldplay มันอาจจะเป็นเรื่องดีที่พวกเขาเจอประสบการณ์นี้เสียแต่เนิ่น ๆ หลังจากอัดเพลงบางเพลงที่ Orinoco Studios ในลอนดอน โดยมี คริส อัลลินสัน (Chris Allinson) เป็นโปรดิวเซอร์ Coldplay ไม่พอใจกับเสียงที่ออกมา จนถึงจุดหนึ่ง คริส มาร์ติน ที่ผิดหวังกับผลงานอย่างมากถึงกับไล่ วิล แชมเปียน มือกลองออกไป “มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในสตูดิโอ และผมบอกกับวิลว่ามันเป็นความผิดของเขา” มาร์ตินกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Q แต่ในไม่ช้าเขาก็เสียใจกับการตัดสินใจอันรุนแรงนี้ มาร์ตินจึงไปง้อและเชิญแชมเปียนให้กลับมา แต่ความกดดันในการเร่งทำผลงานออกมาให้ดีทันกำหนดเวลานั้นยังคงอยู่

ในช่วงปลายปี 1999 วงได้ย้ายค่ายไปที่ Rockfield Studios ทางตอนใต้ของเวลส์ โดยมี เคน เนลสัน (Ken Nelson) โปรดิวเซอร์คนใหม่ และพวกเขาก็ก้าวหน้าไปมาก เพลง “Shiver” บทเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหญิงสาวลึกลับที่มาร์ตินหลงรัก และความหลงใหลในศิลปินที่เขาชื่นชมนั่นคือ เจฟฟ์ บักลีย์ (Jeff Buckley) ได้ถูกเลือกให้เป็นซิงเกิลนำของ ‘Parachute’ ที่มีกำหนดวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2000 เสียงกีตาร์จากบทเพลงนี้คือหนึ่งในสิ่งที่น่าประทับใจและทำให้บทเพลงขึ้นสูงสุดที่อันดับ 35 ในสหราชอาณาจักร ต้องขอบคุณไลน์กีตาร์ที่ส่องประกายระยิบระยับของบัคแลนด์ และเสียงร้องสูงต่ำเปี่ยมอารมณ์ของมาร์ติน “มันเป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้งต่อแรงบันดาลใจในเจฟฟ์ บักลีย์ ซึ่งผมคิดว่ามันอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่” มาร์ตินได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของเขาในการสัมภาษณ์กับ BBC Radio 1 “ตอนนั้นเราอายุ 21 ปี และเขาก็เป็นฮีโรของเรามาก ๆ และแน่นอนว่างานของเรามันจึงถูกกรองผ่านแรงบันดาลใจที่มี”  

ช่วงเวลาแห่งการดูดาวยามค่ำคืนเป็นแรงบันดาลใจให้ “Yellow” ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของ Coldplay ในทันทีที่ถูกปล่อยออกมา เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ความมืดปกคลุมชนบทอันงดงามของเวลส์พวกเขาได้ก้าวออกไปข้างนอกเพื่อแหงนมองท้องฟ้าที่ส่องแสงดาว เนื้อเพลงผุดขึ้นในหัวของมาร์ตินทันที เพาะเมล็ดพันธุ์ของเพลงที่แสดงความโหยหาและความอัศจรรย์ใจในช่วงเวลานั้น แม้ว่ามาร์ตินจะกล่าวติดตลกว่าการเลือกสีที่ใช้ในเพลงนี้มาจากสมุดหน้าเหลือง แต่เนื้อหาของเพลงกลับเจาะลึกถึงแก่นเรื่องของการอุทิศตนและความเต็มใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อคนที่คุณห่วงใยอย่างสุดซึ้ง

มาร์ตินก้าวเข้าไปในห้องอัดเสียงโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์เสียงของ นีล ยัง (Neil Young) และมีเป้าหมายที่จะเลียนแบบการผันเสียงที่โดดเด่นของนักร้องนักแต่งเพลงชาวแคนาดาระดับตำนานคนนี้ โดยเฉพาะเมื่อมาร์ตินร้องคำว่า ‘stars’ “เพลงนี้มีคำว่า ‘stars’ และนั่นดูเหมือนคำที่คุณควรร้องด้วยเสียงของนีล ยัง” มาร์ตินกล่าวไว้ในหนังสือ “Viva Coldplay !” โดย มาร์ติน โรช (Martin Roach) ​“Yellow” เปิดตัวเป็นซิงเกิลในเดือนมิถุนายนปี 2000 ได้รับการโปรโมตด้วยมิวสิกวิดีโอสุดเท่ที่ถ่ายทำเป็นลองเทคมาร์ตินเดินตากฝนอยู่ริมหาดของอ่าวสตัดแลนด์ในสวาเนจโดยมีฉากหลังเป็นช่วงเวลาก่อนตะวันจะมาเยือนและจบเพลงพอดีกับที่แสงตะวันแรกของวันสาดส่องมาถึง มันช่างเข้ากันกับเพลงอะไรอย่างนี้ ผลงานชิ้นนี้กำกับโดย เจมส์ ฟรอสต์ (James Frost) จากนั้นบทเพลงนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดในยุค 2000 เพลงขึ้นสู่อันดับสูงสุดที่อันดับ 4 ในสหราชอาณาจักร และต่อมาอันดับ 48 ในสหรัฐอเมริกา เป็นความสำเร็จเชิงพาณิชย์ครั้งสำคัญสำหรับ Coldplay ปัจจุบัน “Yellow” ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเพลงรักที่ดีที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าการทำอัลบั้มให้สำเร็จจะต้องใช้ความอุตสาหะและการทำงานอย่างหนัก แต่ ‘Parachutes’ อัลบั้มเปิดตัวของ Coldplay ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวงนี้สามารถเอาชนะความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นระหว่างเซสชันการอัดเสียงครั้งแรกได้อย่างสง่างามเพียงใด “ในแง่ของดนตรี มันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่เราเคยทำมา” คริส มาร์ติน กล่าวในภายหลัง แม้จะมีความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่ความทุ่มเทที่ไม่เปลี่ยนแปลงของวงและการแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่ลดละทำให้ ‘Parachutes’ มาถึงจุดที่พร้อมสำหรับการปล่อยตัวตามที่คาดหวังไว้สูง สมดังกับชื่ออัลบั้ม ‘Parachutes’ (ร่มชูชีพ) ซึ่งเป็นชื่ออันเหมาะสมที่ทางวงต้องการเปรียบเปรยถึงบางสิ่งที่ช่วยให้รอดและแคล้วคลาดจากภัยอันตราย ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะกว่า ‘Don’t Panic’ หรือ ‘Yellow’ ที่ตอนแรกทางวงตั้งใจจะใช้

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกเพลงมีความรู้สึกอยู่ในนั้นจริง ๆ”

วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมปี 2000 หนึ่งเดือนหลังจากความสำเร็จของซิงเกิล “Yellow” อัลบั้ม ‘ Parachutes’ ขายได้กว่า 70,000 ชุดในสัปดาห์แรกและขึ้นสูงสุดที่อันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร แซงยอดขาย ของอัลบั้ม ‘The Marshall Mathers LP’ ของ Eminem ได้อย่างโดดเด่น Parachutes นำเสนอการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อก ความเป็นอินดี้ และเพลงบัลลาดที่กินใจ ‘Parachutes’ ได้สร้างอิมแพคให้กับวงการดนตรีทันที ผลักดันให้ Coldplay กลายเป็นดาวเด่นระดับประเทศในชั่วข้ามคืน ซิงเกิลที่ 3 ของอัลบั้มคือเปียโนบัลลาด “Trouble” ที่ขึ้นสูงสุดที่อันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร และทำให้ Coldplay เป็นวงที่ประสบความสำเร็จแห่งปี เพลงนี้นับเป็นหนึ่งในเพลงไฮไลท์ของอัลบั้ม ‘Parachutes’ เพลงที่สร้างสะพานเชื่อมระหว่างวงและช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอีกด้วย “มีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นในวงของเรา” มาร์ตินพูดถึงความหมายของเพลง “เพลงนี้เกี่ยวกับการประพฤติตัวไม่ดีต่อคนที่คุณรักจริง ๆ และผมก็ทำแบบนั้นกับสมาชิกบางคนในวงด้วย” ซึ่งสมาชิกที่ว่านั้นก็คือแชมเปียนมือกลองของวงนั่นเอง

ตั้งแต่ความรู้สึกลึกลับที่รายล้อมรอบตัวในเพลง “Spies” ที่เป็นเหมือนการคารวะต่อ เจมส์ บอนด์ (James Bond) และงานประพันธ์เพลงของ จอห์น เบอร์รี (John Barry) ที่พวกเขาชื่นชอบ บัลลาดที่นุ่มนวลสว่างไสวด้วยเสียงเบสที่คดเคี้ยวและเสียงแหลมของนิ้วบนกีตาร์อะคูสติกใน “Sparks” รวมถึงเพลง “High Speed” ​​ซึ่งเต็มไปด้วยไลน์กีตาร์ที่เท่เร้าใจและริฟฟ์เบสที่หนักแน่นคล้ายกับเพลง “Come Together” ของ The Beatles ไปจนถึงเปียโนแจ๊สที่ไพเราะของเพลงปิดอย่าง “Everything’s Not Lost” ‘Parachutes’ ได้ผสมผสานไลน์กีตาร์ที่พุ่งทะยานของบัคแลนด์ เพอร์คัสชันที่สร้งสรรค์และกระชับทุกอารมณ์ของแชมเปียน งานเบสที่เร้าใจของเบอร์รีแมนและท่วงทำนองเปียโนที่ละเอียดอ่อนของมาร์ติน ทั้งหมดปลุกความรู้สึกของเราทั้งความหวังและความเศร้าโศก ดำดิ่งลึกลงไปในห้วงความทรงจำ อารมณ์และความรู้สึก

‘Parachutes’ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในหมู่ผู้ฟังทั้งหลายโดยเฉพาะชาวอัลเทอร์เนทีฟร็อกนั้นมีความต้องการมากขึ้นที่จะได้สัมผัสกับท่วงทำนองทางดนตรีที่สะท้อนความเปราะบางและอ่อนไหวในอารมณ์ของมนุษย์เรา ด้วยความอ่อนไหวของมาร์ตินและผองเพื่อนสิ่งเหล่านี้จึงได้มีขึ้นในเพลงของพวกเขา “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกเพลง…” มาร์ตินกำลังกล่าวถึงหัวใจในบทเพลงของพวกเขา “…ต้องมีความรู้สึกจริง ๆ อยู่ในนั้น” ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษ วิล แชมเปียน สำหรับความไม่รอบคอบในอดีตของเขา (“I never meant to cause you trouble/And I, I never meant to do you wrong” – “Trouble”) หรือแสดงความโหยหาการหลบหนีของเขา (“I want to live in a wooden house/Where making more friends would be easy” – “We Never Change”) มาร์ตินการันตีเลยว่าทุกบทเพลงใน ‘Parachutes’ เกิดจากความจริงใจอย่างสุดซึ้ง

ซิงเกิลที่ 4 และเพลงสุดท้ายที่ปล่อยออกมาจากอัลบั้มคือ “Don’t Panic” เป็นหนึ่งในเพลงแรกสุดที่ Coldplay เขียนขึ้น เนื้อเพลงแสดงอารมณ์ทางการเมือง ความเบื่อหน่ายโลกซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยของการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง (“Bones, sinking like stones/All that we fought for”) ด้วยการสะท้อนความท้อแท้และความคับข้องใจที่หลายคนรู้สึกในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ  Coldplay ได้จับอารมณ์ของคนรุ่นหนึ่งที่อุดมการณ์ทางการเมืองกำลังสูญเสียความสดใส และนำมาสู่สไตล์การแต่งเพลงใหม่ที่จับใจคนยุคหลัง Y2K

“อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เราเคยทำมา”

‘Parachutes’ ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ดีที่สุดแห่งยุค 2000  Coldplay ได้รับรางวัล BRIT Awards ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 ในสาขา Best British Album และ Best British Group พวกเขาได้รับความสนใจในระดับนานาชาติและได้รับรางวัลแกรมมี่อวอร์ดสาขา ‘Best Alternative Music Album’ ในปี 2002 แม้ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในอัลบั้มต่อ ๆ มา เช่น ‘A Rush Of Blood To The Head’ และ ‘X&Y’ แต่หากไม่มี ‘Parachutes’ วิถีของ Coldplay อาจแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘Parachutes’ มียอดขายมากกว่า 13 ล้านชุดทั่วโลก และส่งผลให้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หนึ่งในอัลบั้มเปิดตัวที่ดีที่สุด (และขายดีที่สุด) ตลอดกาล’ อัลบั้มเปิดตัวของ Coldplay ไม่เพียงแค่ได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก พิสูจน์ให้เห็นว่าดนตรีที่มีอารมณ์ลึกซึ้งและครุ่นคิดของ คริส มาร์ติน และเพื่อน ๆ นั้น สามารถมอบความสบายใจและความหมายให้กับแฟน ๆ นับล้านทั่วโลก ในหลาย ๆ ด้าน ‘Parachutes’ ได้วางรากฐานให้กับการเดินทางอันน่าทึ่งของวง โดยหลาย ๆ คนยังคงยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของ Coldplay

“เราทำงานหนักอย่างไม่น่าเชื่อ” วิล แชมเปียน กล่าวกับนิตยสารกลอง ‘Drum !’ “และเราเชื่อว่ามันเป็นสถิติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำได้” เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทและความเชื่อที่ไม่เปลี่ยนแปลงของ Coldplay ในฝีมือของพวกเขา ‘Parachutes’ ยังคงยืนหยัดในบททดสอบของกาลเวลา เป็นผลงานที่ยืนยงของความงามอันละมุนลึกที่ยังคงสะกดใจผู้ฟังผ่านกาลเวลามาตราบจนทุกวันนี้

ที่มา

NME

Thisisdig

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส