ตลอดประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี ศิลปินต่างแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมต่อกับผู้ฟังในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นวัตกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 คือ ‘คอนเซ็ปต์อัลบั้ม’ (Concept Album) รูปแบบการเล่าเรื่องทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์นี้ปฏิวัติวิธีการจัดโครงสร้างอัลบั้ม โดยนำเสนอการเล่าเรื่องหรือแก่นเรื่องซึ่งรวมเพลงทั้งหลายในอัลบั้มให้เป็นหนึ่งเดียวกันและพาผู้ฟังดื่มด่ำไปกับประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์

เราจะมาดูประวัติอันน่าทึ่งของคอนเซ็ปต์อัลบั้มกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1940 มาจนถึงปัจจุบัน สำรวจที่มาของคอนเซ็ปต์อัลบั้มและการพัฒนาเติบโตสู่ภูมิทัศน์ดนตรีร่วมสมัย ก้าวข้ามขอบเขตทางศิลปะ และสร้างประสบการณ์อันประทับใจให้กับผู้ฟัง

นิยามของคอนเซ็ปต์อัลบั้ม

‘คอนเซ็ปต์อัลบั้ม’ (concept album) เป็นอัลบั้มที่แต่ละเพลงในอัลบั้มเชื่อมโยงกันด้วยจุดประสงค์หรือความหมายหลักของอัลบั้มผ่านโครงสร้างการเล่าเรื่อง แก่นเรื่องหรือธีม โดยที่บทเพลงนั้นอาจเป็นเพลงร้องหรือเพลงบรรเลงก็ได้ แต่ทั้งนี้ความหมายและขอบเขตของคอนเซ็ปต์อัลบั้มก็มีความยืดหยุ่นเลื่อนไหลและแตกต่างกันไปตามยุคสมัยหรือตามมุมมองของศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีหรือนักวิจารณ์ เช่น ฟิโอน่า สเตอร์เกส (Fiona Sturges) จาก The Independent ได้กล่าวว่าคอนเซ็ปต์อัลบั้ม “แรกเริ่มเดิมทีใช้กับงานเพลงขนาดยาวเป็นอัลบั้มที่เพลงทั้งหมดเกิดขึ้นบนฐานของแนวคิดที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้คำ ๆ นี้ก็ถือเป็นอัตนัยหรือเป็นมุมมองของแต่ละคน” คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุดมักหมายถึงแนวทางที่ใช้กันในอัลบั้มเพลงโดยเฉพาะเพลงร็อกในยุคปลาย 50s -60s ที่บทเพลงในอัลบั้มสัมพันธ์กันผ่านแก่นเรื่องหรือธีมโดยเฉพาะของอัลบั้มนั้น ๆ  

ตลอดประวัติศาสตร์วงการดนตรีเราสามารถแบ่งคอนเซ็ปต์อัลบั้มออกได้เป็นคร่าว ๆ ตามโครงสร้างการเล่าเรื่อง แนวทางตามธีม หรือสไตล์ดนตรี ได้ 6 ประเภทดังนี้

คอนเซ็ปต์อัลบั้มแนวการเล่าเรื่อง – อัลบั้มเหล่านี้จะบอกเล่าเรื่องราวที่ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ มีโครงเรื่องที่ชัดเจน และแต่ละเพลงจะมีความเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างคอนเซ็ปต์อัลบั้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ “The Wall” ของ Pink Floyd และ “Quadrophenia” ของ The Who

คอนเซ็ปต์อัลบั้มแบบมีธีมเฉพาะ – อัลบั้มเหล่านี้จะมีแนวคิดภายใต้ธีมหรือแนวคิดหลักมากกว่าโครงเรื่อง เพลงจะสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ภายในธีมนั้นและอาจไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องแบบเส้นตรงไล่มาตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนในกลุ่มแรก ตัวอย่างคอนเซ็ปต์อัลบั้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ “What’s Going On” ของ Marvin Gaye และ “Ziggy Stardust and the Spiders from Mars” ของ David Bowie

คอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละคร – อัลบั้มเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา การเติบโตและประสบการณ์ของตัวละครหรือชุดของตัวละคร บทเพลงให้แง่คิด อารมณ์ และการเดินทางของตัวละคร ตัวอย่างคอนเซ็ปต์อัลบั้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ “Arthur (Or the Decline and Fall of the British Empire)” ของ The Kinks และ “Tommy” ของ The Who

คอนเซ็ปต์อัลบั้มแนวประวัติศาสตร์หรือการเมือง – อัลบั้มเหล่านี้สำรวจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประเด็นทางการเมือง หรือความเห็นทางสังคม มักจะกล่าวถึงช่วงเวลาหรือบริบททางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างคอนเซ็ปต์อัลบั้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ “London Calling” ของ The Clash และ “To Pimp a Butterfly” ของ Kendrick Lamar

คอนเซ็ปต์อัลบั้มตามสไตล์ดนตรี – อัลบั้มเหล่านี้ทดลองกับสไตล์หรือแนวดนตรีที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในแนวดนตรีนั้น ๆ  โดยอาจรวมองค์ประกอบของการเล่าเรื่องหรือความเป็นหนึ่งเดียวกันของเนื้อหาผ่านการเรียบเรียงดนตรี ตัวอย่าง ได้แก่ “OK Computer” ของ Radiohead และ “Discovery” ของ Daft Punk

คอนเซ็ปต์อัลบั้มเชิงนามธรรมหรือเชิงทดลอง – อัลบั้มเหล่านี้ท้าทายโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมและแทนที่ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การสร้างแนวคิดเชิงนามธรรมหรือเป็นงานเชิงทดลอง อาจสำรวจธีมที่แปลกใหม่ ใช้เทคนิคล้ำหน้า หรือท้าทายขอบเขตดนตรีแบบเดิม ตัวอย่าง ได้แก่ “Dark Side of the Moon” ของ Pink Floyd และ “Biophilia” ของ Björk

จุดเริ่มต้นของคอนเซ็ปต์อัลบั้ม

ในสารคดีปี 2016 ‘When Pop Went Epic: The Crazy World of the Concept Album’ บรรยายโดย ริก เวคแมน (Rick Wakeman) ได้ให้ข้อมูลว่าคอนเซ็ปต์อัลบั้มแรกในประวัติศาสตร์วงการดนตรีคืออัลบั้ม ‘Dust Bowl Ballads’ ของ วู้ดดี้ กูทรี (Woody Guthrie) ในปี 1940 ซึ่งสัมพันธ์กันกับ The Independent ที่ถือว่าอัลบั้มชุดนี้ ‘อาจจะ’ เป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์อัลบั้มชุดแรก ซึ่งประกอบด้วยเพลงกึ่งอัตชีวประวัติที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบากของแรงงานอพยพชาวอเมริกัน

ในช่วงเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1940 และ 1950  แม้ว่าแนวคิดเรื่องคอนเซ็ปต์อัลบั้มจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีตัวอย่างแรกเริ่มที่มองได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ในช่วงเวลานั้นศิลปินที่มาพร้อมเสียงร้องอันเปี่ยมเสน่ห์อย่าง แฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) และ แนท คิง โคล (Nat King Cole) ได้ออกอัลบั้มที่มีธีมเฉพาะเป็นของตัวเอง ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นจากยุคนี้คืออัลบั้ม ‘In the Wee Small Hours’ (1955) ของซินาตรา ซึ่งบทเพลงทั้งหลายในอัลบั้มนี้ต่างเกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยธีมของความเหงา ความปวดร้าวใจ และการครุ่นคิดคำนึงในยามค่ำคืน แม้ว่าอัลบั้มจะไม่มีการเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง แต่ธีมและอารมณ์ที่เหนียวแน่นของอัลบั้มก็สร้างรากฐานสำหรับวิวัฒนาการในอนาคตของคอนเซ็ปต์อัลบั้ม

‘In the Wee Small Hours’ (1955)

แนท คิง โคล เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่นับว่าเป็นผู้บุกเบิกคอนเซ็ปต์อัลบั้มในยุคแรก ๆ จากผลงานอัลบั้ม ‘Wild Is Love’ (1960) ซึ่งเป็นชุดเพลงที่เกี่ยวกับการค้นหาความรักของชายคนหนึ่ง โดยในแต่ละเพลงก็เป็นเรื่องราวของชายคนนี้กับหญิงสาวแต่ละนางที่แตกต่างกันไป ชายหนุ่มพยายามหาคนที่ใช่แต่ก็ยังไม่เจอคนที่ถูกใจเสียที จนกว่าจะมาเจอกับรักที่ตามหาในบทสรุปท้ายอัลบั้ม อัลบั้มชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของการมีแก่นเรื่องที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์การฟังที่น่าประทับใจและตื่นใจไม่น้อยให้กับผู้ฟัง

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมในยุคนี้และมีความสำคัญต่อการเกิดคอนเซ็ปต์อัลบั้มก็คือ การมีรูปแบบแผ่นเสียงแบบพับหรือ gatefold ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ซึ่งทำให้มีพื้นที่สำหรับใส่บันทึกย่อเพื่ออธิบายแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มนั่นเอง

เมื่อชาวร็อกสร้างสรรค์ผลงานผ่านคอนเซ็ปต์

คอนเซ็ปต์อัลบั้มที่เรารู้จักในปัจจุบันได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 โดยส่วนใหญ่เป็นแนวเพลงร็อก ในยุคนี้ศิลปินเริ่มทดลองกับโครงสร้างอัลบั้ม ผสมผสานเรื่องเล่าที่มีเอกภาพ และความต่อเนื่องทางดนตรี อัลบั้มแนวร็อกเหล่านี้ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของสิ่งที่อัลบั้มหนึ่ง ๆ สามารถทำได้ ดึงดูดผู้ฟังด้วยการเล่าเรื่องที่ชวนดื่มด่ำและการเรียบเรียงดนตรีที่ทะเยอทะยาน

หนึ่งในคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่มีอิทธิพลและโดดเด่นที่สุดตลอดกาลคือ ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ ของ The Beatles (1967) จากรูปแบบอัลบั้มดั้งเดิม The Beatles นำเสนอวงดนตรีที่สวมบทบาทสมมตินั่นคือ ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ และนำผู้ฟังไปสู่การเดินทางทางดนตรีที่ก้าวล้ำยุค อัลบั้มนี้มีเพลง สไตล์ และอารมณ์ที่หลากหลายผสมผสานกันอย่างลงตัวเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ความลุ่มลึกในบทเพลง และความเป็นหนึ่งเดียว ‘Sgt. Pepper’s’ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนในวิวัฒนาการของคอนเซ็ปต์อัลบั้ม

‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ (1967)

อัลบั้มแนวร็อกที่แหวกแนวอีกชุดหนึ่งในยุคนี้คือ ‘Tommy’ (1969) ของ The Who ที่เขียนบทโดย พีท ทาวน์เซนด์ (Pete Townshend) ‘Tommy’ บอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายหูหนวก เป็นใบ้ และตาบอดที่กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ อัลบั้มนี้ขยายขอบเขตของดนตรีร็อกด้วยการผสมผสานส่วนของการเล่าเรื่องที่พัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ มีการใช้โมทีฟและการสร้างตัวละครต่าง ๆ ขึ้นมา ‘Tommy’ ไม่เพียงแต่แสดงความสามารถทางดนตรีของวงเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคอนเซ็ปต์อัลบั้มในฐานะรูปแบบทางดนตรีที่สามารถเปิดพื้นที่ในการเล่าเรื่องที่ทะเยอทะยานและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น

เมื่อวงต่าง ๆ ในยุคนี้ต่างทดลองวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์บทเพลงผ่านคอนเซ็ปต์อัลบั้ม มีหรือที่วงล้ำ ๆ  อย่างPink Floyd จะไม่ร่วมด้วย ‘The Dark Side of the Moon’ (1973) คือหนึ่งในคอนเซ็ปต์อัลบั้มสุดล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เจาะลึกประเด็นในเรื่องเวลา จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ อัลบั้มนี้นำเสนอการเดินทางของเสียงผ่านบทเพลงที่เชื่อมต่อถึงกัน ที่มีทั้งเพลงร้องและเพลงบรรเลง ด้วยซาวด์สเคปที่ชวนดื่มด่ำ เนื้อเพลงที่ชวนครุ่นคิด และความสอดคล้องกันของธีมหลัก ‘The Dark Side of the Moon’ จึงกลายเป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ขายดีที่สุดและได้รับคำชมเชยจากนักวิจารณ์ตลอดกาล

‘The Dark Side of the Moon’ (1973)

‘The Lamb Lies Down on Broadway’ ของ Genesis (1974) เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มแนวร็อกที่โดดเด่น อัลบั้มแผ่นคู่ชุดนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เหนือจริงและซับซ้อนของ ‘ราเอล’ เด็กหนุ่มข้างถนนชาวเปอร์โตริโก ในขณะที่เขาเดินทางผ่านเหตุการณ์แปลกประหลาดในนิวยอร์กซิตี้ ด้วยโครงเรื่องที่ซับซ้อน ช่วงฉากที่เป็นโคลงสั้น ๆ และซาวด์แบบโปรเกรสซีฟร็อก

สานต่อคอนเซ็ปต์อัลบั้มในแนวโปรเกรสซีฟร็อก

โปรเกรสซีฟร็อกในช่วงปี 1970 เป็นแนวดนตรีที่ได้นำแนวคิดของคอนเซ็ปต์อัลบั้มมาใช้อย่างเต็มที่ ผลักดันขอบเขตของการทดลองทางดนตรีและการเล่าเรื่อง วงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกพยายามสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่ซับซ้อนท้าทายโครงสร้างเพลงแบบดั้งเดิมและเปิดรับแนวคิดที่สดใหม่ทั้งในด้านเนื้อหาและดนตรี ยุคนี้คือยุคที่เราได้เห็นการเกิดขึ้นของคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่มีความทะเยอทะยานและมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี

Pink Floyd ที่เราได้กล่าวถึงไปในยุคก่อนจากอัลบั้ม ‘The Dark Side of the Moon’ ก็ได้สานต่อแนวคิดของการทำคอนเซ็ปต์อัลบั้มด้วย  ‘Wish You Were Here’ (1975) ที่ทำให้สถานะของพวกเขาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในฐานะผู้บุกเบิกคอนเซ็ปต์อัลบั้ม อัลบั้มชุดนี้สำรวจธีมของความแปลกแยก ชื่อเสียง และวงการเพลง บทเพลงไตเติลแทร็กอุทิศให้กับ ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barrett) อดีตสมาชิกของวง เป็นบทเพลงที่รวบรวมความปรารถนาที่จะเชื่อมต่อถึงกันท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของโลกสมัยใหม่ไว้อย่างสวยงาม ด้วยเพลงที่เชื่อมต่อถึงกันและซาวด์สเคปที่สร้างบรรยากาศอันลุ่มลึกเป็นเอกลักษณ์ ‘Wish You Were Here’ ได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของ Pink Floyd ในการสร้างสรรค์งานผ่านคอนเซ็ปต์อัลบั้ม

 ‘Wish You Were Here’ (1975)

Yes เป็นวงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกที่โดดเด่นอีกวงหนึ่งที่เปิดตัวคอนเซ็ปต์อัลบั้มของวงด้วย ‘Close to the Edge’ (1972) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่อง “สิทธารถะ” ของ แฮร์มัน เฮสเส (Hermann Hesse) และ ‘สภาวะจิตใจ’ ของวง Yes ณ ขณะนั้น เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่แสดงความเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์และโครงสร้างเพลงที่ซับซ้อน การประพันธ์เพลงแบบยาว 3 เพลงของอัลบั้มนี้สำรวจธีมของจิตวิญญาณ การค้นพบตนเอง และความเชื่อมโยงระหว่างกันของจักรวาล ‘Close to the Edge’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความทะเยอทะยานและความซับซ้อนที่โปรเกรสซีฟร็อกนำมาสู่คอนเซ็ปต์อัลบั้ม

Genesis ก็เป็นอีกวงหนึ่งในแนวโปรเกรสซีฟร็อกที่สานต่อการสร้างสรรค์คอนเซ็ปต์อัลบั้ม จาก ‘The Lamb Lies Down on Broadway’ ในยุคก่อน มาคราวนี้วงได้ก้าวข้ามขีดจำกัดด้วยอัลบั้ม ‘Selling England by the Pound’ (1973) ซึ่งเผยให้เห็นความสอดคล้องกันของแก่นเรื่องและสำรวจอัตลักษณ์ของประเทศอังกฤษ ปัญหาสังคม และความโหยหาอดีต การผสมผสานขององค์ประกอบดนตรีซิมโฟนี การเรียบเรียงที่ซับซ้อน และเนื้อเพลงที่กระตุ้นความคิดของอัลบั้มนี้ทำให้ Genesis มีชื่อเสียงในฐานะวงดนตรีสุดเก๋าแห่งโปรเกรสซีฟร็อก

‘Thick as a Brick’ ของ Jethro Tull (1972) นำคอนเซ็ปต์อัลบั้มไปสู่อีกระดับด้วยการนำเสนอเพลงเดียวที่มีความยาวต่อเนื่อง 43 นาทีโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อัลบั้มนี้เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ล้อเลียนรูปแบบของคอนเซ็ปต์อัลบั้มเอง โดยมีตัวละครและเนื้อเพลงเชิงเสียดสี “Thick as a Brick” ที่แสดงให้เห็นถึงความช่ำชองทางดนตรีของวงและความสามารถของพวกเขาในการประดิษฐ์องค์ประกอบที่ซับซ้อนที่ไหลลื่นจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วน

สู่แนวเพลงอื่นและพัฒนาการจนถึงปัจจุบัน

คอนเซ็ปต์อัลบั้มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยศิลปินจากหลากหลายแนวรับรูปแบบนี้เพื่อสำรวมแก่นเรื่อง ธีมและเรื่องเล่าที่หลากหลาย หาหนทางใหม่ ๆ ในการใช้คอนเซ็ปต์อัลบั้มถ่ายทอดแนวคิดศิลปินในแนวเพลงต่าง ๆ ได้ค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการรวมเอาการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกันและความเป็นเอกภาพของเนื้อหาไว้ในอัลบั้มของพวกเขา ซึ่งขยายขอบเขตของคอนเซ็ปต์อัลบั้มออกไป

ในอาณาจักรของเพลงป๊อปและอาร์ตป๊อป เดวิด โบวี (David Bowie) ออกอัลบั้มอันทรงอิทธิพล ‘The Rise and Fall of Ziggy Stardust and the Spiders from Mars’ (1972) คอนเซ็ปต์อัลบั้มนี้นำเสนอตัวละคร ‘Ziggy Stardust’ ร็อกสตาร์จากดาวดวงอื่น และว่าด้วยเรื่องของตัวตนและชื่อเสียง วิธีการที่แปลกใหม่ของโบวีในการผสมผสานการเล่าเรื่องเข้ากับเพลงป๊อปร็อกที่โฉบเฉี่ยวนี้ ได้สร้างอิทธิพลต่อศิลปินและคนดนตรีจำนวนนับไม่ถ้วน และทำให้คอนเซ็ปต์อัลบั้มกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการทดลองทางศิลปะ

‘The Rise and Fall of Ziggy Stardust and the Spiders from Mars’ (1972)

โลกของฮิปฮอปเองก็ใช้รูปแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้มด้วยเหมือนกัน โดยใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราว วิจารณ์สังคม และเล่าเรื่องส่วนตัว ตัวอย่างอัลบั้มที่โดดเด่นคืออัลบั้ม ‘To Pimp a Butterfly’ (2015) ของ เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) อัลบั้มนี้รวบรวมประเด็นที่ลุ่มลึกและชวนครุ่นคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ การเมือง และการต่อสู้ของปัจเจกบุคคล ชื่ออัลบั้มเป็นการคารวะต่อนวนิยายเรื่อง ‘To Kill a Mockingbird’ ของฮาร์เปอร์ ลี (Harper Lee) และเป็นคำอุปมาอุปมัยถึงสิ่งที่มีความสวยงามและอิสระเหมือนผีเสื้อ ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ สไตล์ดนตรีที่หลากหลาย และธีมที่เชื่อมโยงถึงกัน ‘To Pimp a Butterfly’ ได้ผลักดันขอบเขตคอนเซ็ปต์อัลบั้มแนวฮิปฮอปและได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง

‘What’s Going On’ (1971) ของมาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มจากแนวเพลงโซลที่ทรงอิทธิพล โดยบอกเล่าประเด็นทางสังคมและการเมืองที่สำคัญในยุคนั้นและนำเสนอเรื่องราวที่มีเอกภาพตลอดทั้งอัลบั้ม ทำให้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของคอนเซ็ปต์อัลบั้มในแนวนี้ ‘What’s Going On’ สำรวจธีมของความอยุติธรรมทางสังคม สงคราม ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และการค้นหาสันติภาพและความเข้าใจในโลกที่วุ่นวาย คอนเซ็ปต์ของอัลบั้มนี้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามที่กลับบ้านเพื่อรับรู้ความอยุติธรรมและความท้าทายที่ชุมชนของเขาต้องเผชิญ สะท้อนผ่านมุมมองในการทำความเข้าใจต่อสภาพสังคมในยุคนั้น

ในขอบเขตของดนตรีอาร์แอนด์บีและโซล ‘The ArchAndroid’ (2010) ของ เจเนลล์ โมเน (Janelle Monáe) โดดเด่นในฐานะคอนเซ็ปต์อัลบั้มจากแนวดนตรีนี้ อัลบั้มนี้ประกอบไปด้วยส่วนที่ 2 และ 3 ของคอนเซ็ปต์อัลบั้มซีรีส์ ‘Metropolis’ ของโมเนที่เป็นส่วนผสมจากองค์ประกอบของ Afrofuturism และนิยายไซ-ไฟ ‘The ArchAndroid’ สานต่อเรื่องราวในซีรีส์เกี่ยวกับหุ่นแอนดรอยด์ชื่อ ซินดี้ เมย์เวทเธอร์ ขณะที่เธอต่อสู้กับการกดขี่และสำรวจในประเด็นของความรัก ตัวตน การตระหนักรู้ในตนเอง และการปลดปล่อย ด้วยการผสมผสานแนวเพลง การเล่าเรื่องเชิงจินตนาการ และการถ่ายทอดเสียงร้องอันทรงพลัง ‘The ArchAndroid’ ทำให้สถานะของโมเนแข็งแกร่งขึ้นในฐานะศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์

‘The ArchAndroid’ (2010)

ส่วนอัลบั้ม ‘Lemonade’ (2016) ของบียอนเซ่ (Beyoncé)  ก็เป็นอัลบั้มป๊อป อาร์แอนด์บีและโซล ที่เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่แหวกแนว เจาะลึกประเด็นความรัก การหักหลัง และการสร้างพลังอำนาจ สำรวจการเดินทางของผู้หญิงคนหนึ่งที่นำทางผ่านความซับซ้อนของความสัมพันธ์ ‘Lemonade’ ผสมผสานเสียงร้องของบียอนเซ่ สไตล์ดนตรี เรื่องเล่า และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เข้าด้วยกันอย่างลงตัวในการสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่ลึกซึ้ง

‘American Idiot’ (2004) ของ Green Day เป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ด้วยแนวคิดที่โดดเด่นซึ่งบอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง ติดตามเรื่องราวของ ‘Jesus of Suburbia’ ตัวเอกหนุ่มที่เริ่มต้นการเดินทางเพื่อค้นพบตัวเอง เผชิญความท้อแท้กับสังคมอเมริกันหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน และหาหนทางปลดปล่อยสังคมไปสู่สิ่งที่ดี

‘American Idiot’ วิจารณ์บรรยากาศทางการเมือง ลัทธิบริโภคนิยม การบิดเบือนของสื่อ และความแปลกแยกที่ประสบกับคนยุค 9/11 ผ่านเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มที่มีความเชื่อมโยงกันไม่ว่าจะเป็น “American Idiot,” “Holiday,” “Boulevard of Broken Dreams,” และ “Wake Me Up When September Ends” ในด้านดนตรีความเป็นพังก์ร็อกของ Green Day และอัลบั้มชุดนี้ได้มาพร้อมพลังที่เต็มเปี่ยม ช่วยนำพังก์ร็อกกลับคืนสู่ดนตรีกระแสหลัก มีความโดนใจผู้ฟังทั้งเนื้อหาและดนตรี

‘American Idiot’ (2004)

‘The Black Parade’ ของ My Chemical Romance (2006) เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่โดดเด่นที่รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตาย และการสะท้อนตัวตน อัลบั้มนี้พาผู้ฟังเดินทางผ่านตัวละคร ‘The Patient’ กลุ่มบุคคลที่กำลังจะตายและได้สะท้อนภาพชีวิตของพวกเขา

เนื้อหาของ ‘The Black Parade’ สำรวจและตั้งคำถามถึงแก่นแท้และความหมายของการมีชีวิตอยู่ การต่อสู้กับอัตลักษณ์ และการครุ่นคิดถึงความตาย โดยสะท้อนผ่านเรื่องของความหวัง ความสิ้นหวัง และความเป็นมนุษย์ อัลบั้มนี้โดนใจผู้ฟังจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้อเพลงที่มีอารมณ์และสัมพันธ์กัน ทำให้อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และทำให้สถานะของ My Chemical Romance แข็งแกร่งขึ้นในฐานะวงดนตรีที่ใช้รูปแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้มเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่มีความน่าสนใจและประเด็นที่ลึกซึ้ง และกลายเป็นอัลบั้มสำคัญในแนวเพลงอีโมและอัลเทอร์เนทีฟร็อก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของวงและแนวเพลงนี้

“Metropolis Pt. 2: Scenes from a Memory” เป็นอัลบั้มแนวโปรเกรสซีฟเมทัลจาก Dream Theatre หนึ่งในวงดนตรีแนวนี้ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน อัลบั้มชุดนี้วางจำหน่ายในปี 1999 โดยบอกเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนเกี่ยวกับชายชื่อนิโคลัส (Nicholas) และการสำรวจการบำบัดด้วยการถอยย้อนกลับไปสู่ชีวิตในอดีตของเขา อัลบั้มนี้นำผู้ฟังเดินทางผ่านอดีตและปัจจุบันของ นิโคลัสผ่านชุดบทเพลงที่มีการประพันธ์ดนตรีที่งดงามและแสดงชั้นเชิงทางดนตรีอย่างสูง

แนวเพลงของเด็กแนวอย่างอัลเทอร์เนทีฟและอินดี้ ก็ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสในการสร้างสรรค์ผ่านคอนเซ็ปต์อัลบั้มหลุดลอยไปอย่างแน่นอน ‘OK Computer’ ของ Radiohead (1997) ผสมผสานเนื้อเพลงที่ชวนคิด ในธีมดิสโทเปีย และซาวด์สเคปแนวทดลองเพื่อสร้างประสบการณ์อัลบั้มที่ลึกซึ้งและกระตุ้นความคิด

นอกจากนี้ วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกยอดนิยมอย่าง The 1975 ก็มีคอนเซ็ปต์อัลบั้มด้วยเหมือนกัน ใน ‘A Brief Inquiry into Online Relationships’ (2018) The 1975 ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี ความรัก และการพึ่งพาสังคมยุคใหม่ในการเชื่อมต่อผ่านโลกดิจิทัล ด้วยแนวดนตรีที่หลากหลายและการสำรวจเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านบทเพลงของอัลบั้มในหลากแง่หลายมุมของความซับซ้อนบนความสัมพันธ์ของมนุษย์ในยุคดิจิทัล

ส่วน ‘folklore’ (2020) ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ก็เป็นตัวอย่างคอนเซ็ปต์อัลบั้มยุคใหม่ในขอบเขตของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟและอินดี้ป๊อป นำผู้ฟังเข้าสู่การเดินทางที่ครุ่นคิดคำนึงและหวนคิดถึงอดีตผ่านชุดเรื่องราวและตัวละครที่เชื่อมโยงถึงกัน ‘folklore’ แสดงให้เห็นถึงความเก่งกาจในการแต่งเพลงของสวิฟต์และความสามารถของเธอในการสร้างบรรยากาศที่งดงามลึกซึ้งและความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในอัลบั้ม

‘folklore’ (2020)

ศิลปินไทยเองก็รับเอาแนวทางของคอนเซ็ปต์อัลบั้มมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ (2539) ของมาโนช พุฒตาล คืองานคอนเซ็ปต์อัลบั้มสุดคลาสสิกของวงการดนตรีไทย เป็นอัลบั้มในตำนานของวงการโปรเกรสซีฟร็อกเมืองไทย อัลบั้มชุดนี้เป็นดนตรีแนวทดลองในรูปแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ร้อยเรียงบทเพลงต่อเนื่องกันไป สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับศาสนา สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยที่ปะทะกันทางความคิดหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ขณะเดียวกันก็ก้าวเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ในปี 2540 ผลงานเพลงชุดนี้จึงเป็นเสมือนการบันทึกเรื่องราวบ้านเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ (2539)

’12 ราศี’ (2536) คอนเซ็ปต์อัลบั้มจากวงตาวันก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน อัลบั้มนี้ประกอบไปด้วย 12 บทเพลงที่เป็นตัวแทนบุคลิกของคนใน 12 กลุ่มดาว เช่นในเพลง “นักคิด” เป็นตัวแทนของราศีกุมภ์ที่หัวใจเปิดกว้างรับต่อทุกสรรพสิ่ง เป็นนักค้น นักคิด ประดิษฐ์ และช่างฝัน แต่บางครั้ง ดื้อรั้น ดึงดัน “กลับบ้าน” เป็นตัวแทนของราศีกรกฎ ผู้ที่รักบ้านสุดชีวิตจิตใจ และมีความอ่อนไหวสูง แม้จะไม่ช่ำชองในเรื่องรัก แต่เรื่องซื่อสัตย์นั้นไม่เป็นรองใคร หรือ “ห่วงใย” เป็นตัวแทนของราศีสิงห์  สัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ อำนาจ และทนงในศักดิ์ศรีแต่บางครั้งก็มีความอ่อนไหวอยู่ลึก ๆ งานดนตรีในอัลบั้มนี้ถ่ายทอดคุณลักษณะของแต่ละราศีออกมาได้เป็นอย่างดี ใครเกิดราศีไหนลองไปหาฟังกันดูว่าท่วงทำนองของบทเพลงนั้นบ่งบอกความเป็นตัวเราไหม

‘เรือสำราญราตรีอมตะ’ อีพีอัลบั้มของ ‘HUGO’ หรือ ‘เล็ก-จุลจักร จักรพงษ์’ ในปี 2564 เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่มีไอเดียจากข่าวที่มหาเศรษฐีและผู้คนบนโลกมากมายเริ่มมองอวกาศเป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว จึงเกิดภาพจำลองที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมและนำเสนอในแบบ Sci-Fi จินตนาการไปสู่อนาคตที่อาจเกิดขึ้นจริงได้ในสักวัน อัลบั้มนี้มีเพลงทั้งหมด 6 เพลงได้ ‘ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม’ และ ‘ติ๊ก Playground’ มาช่วยสร้างสรรค์และร้อยเรียงทั้งท่วงทำนองและเนื้อร้องของทั้ง 6 เพลงให้กลมกลืนและเชื่อมร้อยไปอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานการเล่าเรื่องด้วยเนื้อหาจิกกัด เสียดสี สะท้อนสังคมอย่างมีชั้นเชิงทางภาษาและแพรวพราวไปด้วยดนตรีครบเครื่อง ออกมาเป็นงานดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฮิวโก้ 

ล่าสุดกับ ‘ธาตุทองซาวด์’ คอนเซ็ปต์อัลบั้มจากแรปเปอร์หนุ่ม ‘YOUNGOHM’ ที่มาพร้อมความแปลกใหม่ ทั้งเนื้อเพลง ดนตรี การเล่าเรื่องราว อันผสมผสานไปกับแนวดนตรีฮิปฮอป ผ่านบทเพลงทั้ง 19 ที่สะท้อนประสบการณ์ เรื่องราวและความทรงจำส่วนตัวของโอม ที่ผู้ฟังจะรู้สึกเหมือนกับกำลังดูหนังชีวิตของโอมที่เป็นตัวละครหลักร่วมกับเหล่าเพื่อนพ้องในรั้วโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ผ่านเรื่องราวของความสัมพันธ์ ความฝันและความรัก ผสานกับความคะนองของวัยรุ่นและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตของตนเอง

‘ธาตุทองซาวด์’ (2566)

คอนเซ็ปต์อัลบั้มได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ศิลปินได้ใช้ในการถ่ายทอดความคิดและมุมมองของตัวเองอย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ซึ่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปินในยุคนี้ยังคงสำรวจและเรียนรู้รูปแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้มต่อไป โดยผสมผสานเข้ากับมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์และสุนทรียภาพทางดนตรีของตน ตัวอย่างเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าคอนเซ็ปต์อัลบั้มยังคงเป็นรูปแบบของการแสดงออกทางดนตรีที่มีชีวิตชีวาและมีความสำคัญ ช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างโลกที่ชวนดื่มด่ำ สำรวจธีมและประเด็นที่ลึกซึ้ง และเชื่อมต่อกับผู้ฟังในระดับที่ลึกยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ที่มา

A Brief History of the Concept Album

Rollingstone

Udiscovermusic

Encyclopedia

Thaipbs

Bloggang

Happeningandfriends

Urbancreature

ป๋าเต็ด ‘คุยคุ้ยเพลง’

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส