นักพากย์ อาชีพที่ใช้ทักษะด้านการพูดและน้ำเสียงเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ไปสู่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการพากย์เสียงภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน และผลงานอื่น ๆ ซึ่งในการถ่ายทอดเสียงของนักพากย์นั้นขึ้นอยู่กับบทบาทในแต่ละผลงานด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นนักพากย์คนเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นว่านักพากย์คนนั้นจะต้องพากย์เสียงได้เพียงโทนเสียงเดียว 

หากย้อนกลับไปในสมัยก่อนการรับชมหนังและซีรีส์ด้วยเสียงพากย์ไทยนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก แม้ว่าในปัจจุบันหนังและซีรีส์หลาย ๆ เรื่องอาจจะไม่ได้มีพากย์ไทยให้เราได้ดูตลอด แต่อาชีพนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในอาชีพที่สำคัญ เสียงพากย์นั้นนอกจากจะทำให้เราได้รับอรรถรสใหม่ ๆ ในการรับชม และยังถือเป็นการมอบความสะดวกสบายอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจในการดูหนังภาษาไทยและไม่ชอบการอ่านซับไตเติ้ล โดยหลาย ๆ คนอาจไม่เคยทราบเบื้องลึกเบื้องหลังของ ‘นักพากย์’ มาก่อน ว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไร และมีกระบวนการการทำงานอย่างไรบ้าง? 

beartai BUZZ ได้ชวนนักพากย์ ‘เฟิร์ส (วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ)’ หรือชื่อที่หลาย ๆ คนอาจคุ้นหูอย่าง ‘นักพากย์ตั่วเฮีย‘ ซึ่งเขาเคยมีผลงานด้านการพากย์เสียงมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การพากย์เสียงเป็น มาร์ก วาห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) ในเรื่อง ‘Transformers’ ภาคที่ 4 และ 5 บท เคด เยเกอร์ หรือบท บัคกี บาร์นส์ หนังแฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโรของ Marvel และบทบาทอื่น ๆ มาให้สัมภาษณ์และพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานด้านการพากย์เสียง และชวนคุยถึงการเสพสื่อของคนในยุคนี้ที่เปลี่ยนไป ในยุคที่ผู้คนอาจชอบการรับชมหนังและซีรีส์พากย์ไทยน้อยลง  

เริ่มสนใจและชอบการพากย์เสียงตั้งแต่เมื่อไหร่? 

เฟิร์ส: การพากย์หนัง เรามาชอบด้วยความบังเอิญ เพราะเมื่อก่อนมักจะมีคนเอ่ยชมเราอยู่บ่อยครั้งว่า “เสียงเพราะ” จังเลย ตอนที่เคยโดนชมช่วงแรก ๆ มันเกิดขึ้นสมัยตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเราเป็นเด็กกิจกรรม เล่นละครเวที ด้วยความที่เป็นละครเวทีมันก็จะต้องมีการใช้เสียง แล้วพอคนอื่น ๆ ได้ฟังเรา เขาก็ชมเราว่า “เรามีเสียงกังวานดี เนื้อเสียงกับแก้วเสียงก็ดี” เราเลยมีความมั่นใจในเสียงตัวเองมากขึ้น

แล้วเราก็เริ่มคิดกับตัวเองว่า “นี่เราเสียงเพราะเหรอ?” หลังจากนั้นเราก็เลยไปลองศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการพากย์เสียงกับการพากย์หนังดู ซึ่งตอนนั้นก็ตกใจเหมือนกันนะว่า “เอ้ย มันมีการพากย์หนัง แล้วก็มีการเรียนสายนี้ด้วยเหรอ?” 

สมัยก่อนคนรอบตัวยังไม่เข้าใจเรื่อง ‘การพากย์เสียง’ และยังไม่สนับสนุนมากเท่าที่ควรใช่ไหม? 

เฟิร์ส: ของเราคือคนรอบตัวไม่เข้าใจมาก ๆ เลย ไม่เข้าใจว่าจะไปเรียนเพื่ออะไร ค่าเรียนแต่ละคอร์สก็แพงมาก ๆ ในยุคนั้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ค่าเรียนคือราว ๆ 29,000-39,000 บาท ซึ่งในยุคนั้นคนรอบตัวเราก็คัดค้านว่าจะไปเรียนทำไมเสียดายตังค์ เรียนแล้วมันจะเป็นยังไง แล้วมันจะมันสร้างรายได้ให้เราได้จริง ๆ เหรอ ซึ่งเราก็กดดันตัวเองมาก ๆ แต่ก็คิดว่า “เอาวะ! ลองดู” แล้วเราก็ตัดสินใจทุบกระปุกเงินของเราเพื่อไปเรียนเองเลย 

สถาบันที่มีสอนเรื่อง ‘การพากย์’ ในช่วงนั้นคือที่ไหน? 

เฟิร์ส: เราเริ่มเรียนการพากย์เสียงช่วงที่ใกล้จะจบมหาวิทยาลัย ตอนนั้นน่าจะประมาณ ปี 3-4 นั่นแหละ ซึ่งเราก็เรียนการพากย์เสียงหลาย ๆ คอร์ส ทั้งของสถาบันเจ็นเอกซ์ (GenX Academy) และเรียนกับทีมพากย์อินทรี  

ซึ่งสถาบันที่เปิดสอนตอนนั้นอย่างสถาบันเจ็นเอกซ์ (GenX Academy) จะอยู่ที่ RCA เป็นสถาบันที่ดีมาก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งสถานที่นี้เป็นสถาบันที่รวบรวมวิชาชีพเกี่ยวกับด้านบันเทิง มีเขียนบท แต่งเพลง สอนการเป็นผู้ประกาศข่าว สอนการพากย์การ์ตูนและหนัง การร้องเพลง แต่งเพลง ซึ่งเราก็ไปเรียนเรื่องการพากย์หนัง แต่ก่อนหน้านี้เราก็เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเสียงเลย ไม่ว่าจะเป็น เรียนร้องเพลง เรียนดีเจ แต่ยังไม่ค่อยใช่ทางเรา เราก็เลยมาด้านการพากย์หนังแทน แล้วช่วงที่เราไปเรียนก็ได้เจอกับอาจารย์ที่เป็นนักพากย์อยู่ช่อง 3 อาจารย์เขาก็เลยดึงเราเข้าไปฝึกพากย์บ่อย ๆ ให้เรามีวิชามากยิ่งขึ้น 

เริ่มทำงานพากย์เสียงแบบจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่? 

เฟิร์ส: เรียนจบปึ๊บก็ไม่ใช่ว่าเราจะได้ทำงานด้านการพากย์เสียงเลยนะ ตอนนั้นเราใช้เวลา 4-5 ปีเลยแหละ กับการที่คลุกคลีอยู่ในวงการ ในการไปฝึกพากย์เสียงตามห้องพากย์ต่าง ๆ ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีเลยกว่าจะเริ่มมีคนรู้จัก กว่าจะเริ่มมีคนมาเรียกใช้เสียงพากย์ของเรา  

จำได้ไหมว่าในช่วงนั้นพากย์เสียงอะไรเป็นอย่างแรก? 

เฟิร์ส: จริง ๆ ก็จำไม่ค่อยได้ แต่ว่าตอนที่ไปฝึกพากย์เสียงกับทีมในตอนนั้น เขาจะมีหนังจริง ๆ ที่มันจะออนแอร์มาให้เราลงเสียงพากย์ ซึ่งเราก็เริ่มจากการเป็น ‘ตัวประกอบ’ เช่น ชาย 1, ชาย 2 ซึ่งเป็นบทที่มีคำสั้น ๆ เช่น ครับ สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับครับผม 

คาแรกเตอร์ตัวละครหรือเสียงพากย์แนวไหนที่ได้พากย์เสียงบ่อยครั้ง? 

เฟิร์ส: ถ้าเป็นสมัยก่อนช่วงแรก ๆ ที่พากย์ ก็จะพากย์เสียงเป็น ‘พระเอกเกาหลี’ เป็นสามีแห่งชาติของใครหลาย ๆ คน แต่สมัยนี้จะเน้นไปพากย์ตัวตลกที่บ้า ๆ บอ ๆ มากขึ้น เพราะปกติแล้วเราเป็นคนที่ชอบพากย์เสียงตัวละครที่บ้า ๆ บอ ๆ และชอบพากย์เสียงตัวละครที่มีอารมณ์แบบเกรี้ยวกราดหรือโรคจิตไปเลย 

งานแรกที่พากย์เสียงแบบจริงจังชื่อเรื่องว่าอะไร พากย์เป็นตัวละครไหน? 

เฟิร์ส: งานแรกจะเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง ‘Dragons: Fire & Ice’ ซึ่งได้พากย์เป็น ’พระเอก’ ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจมาก ๆ ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงนั้น เหมือนในทีมตัวเราจะเป็นน้องใหม่แล้วก็เด็กสุดด้วย และพี่ ๆ ก็บอกว่าเสียงของเราน่าจะใช้ได้ ก็เลยทำให้เรามีโอกาสได้พากย์แอนิเมชันเรื่องนี้และผลงานอื่น ๆ  

กระบวนการด้านการทำงานพากย์เสียงมีขั้นตอนอะไรบ้าง 

เฟิร์ส: จริง ๆ มันไม่ได้มีขั้นตอนตายตัวแบบนี้ทุกงานนะ แต่ถ้าให้เรียงเป็นลำดับก็จะได้ประมาณนี้ 

  1. เริ่มแรกจะเริ่มจากการที่ห้องพากย์นั้นได้รับงานมา และมีความต้องการจะหานักพากย์ 
  2. ห้องพากย์จะมอบหมายให้ผู้กำกับการพากย์ประสานงานและติดต่อไปยังนักพากย์ที่เหมาะสมกับบทนั้น ๆ 
  3. เช็กตารางงานของนักพากย์และหาช่วงที่ว่างตรงกัน ถ้าสะดวกและว่างตรงกันก็นัดคิวหรือคอนเฟิร์มวัน (โดยในช่วงที่ติดต่อมาทีแรก นักพากย์มักจะยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องพากย์เสียงจากเรื่องอะไรหรือพากย์เสียงแนวไหน)
  4. ในวันพากย์เสียง พอมาถึงสตูดิโอ เขาก็จะให้เราเข้าห้องพากย์ ให้ iPad เรา ซึ่งในนั้นจะมีบทอยู่ และห้ามแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ห้ามถ่ายบท ห้ามถ่ายห้องพากย์ และภาพอื่น ๆ ที่ติดสตูดิโอ รวมไปถึงห้ามเปิดเผยสิ่งต่าง ๆ
  5. หลังจากนั้นจะเป็นการฟังบรีฟจากผู้กำกับการพากย์ว่าเราได้รับบทเป็นตัวละครไหน ลักษณะนิสัยเป็นยังไง และความรู้สึกในฉากนั้น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็เริ่มพากย์
  6. พอพากย์เสียงเสร็จเราก็กลับได้เลย 

โดยในการพากย์เสียงปกติ คนพากย์จะไม่ได้รู้ทุกซีน เราจะได้เข้าไปในสตูดิโอเฉพาะวันนั้นมีซีนที่เราต้องพากย์ ซึ่งส่วนมากถ้าเป็นหนังก็มักจะลงเสียงจบภายในวันเดียว แต่ถ้าเป็นการพากย์เสียงซีรีส์ก็จะเป็นงานที่ใช้ระยะเวลานานกว่า เพราะบทที่ต้องพากย์จะค่อย ๆ ทยอยส่งมา  

วิธีการดูแลรักษาเสียงและถนอมเสียงเพื่อใช้ในการทำงาน? 

เฟิร์ส: การดูแลของเรา คือ ถ้าปกติวันไหนมีงานที่จะต้องเข้าไปพากย์เสียง ก็จะพยายามเลี่ยงการรับประทานสิ่งต่าง ๆ ที่มันอาจทำให้เราระคายเคืองคอ เช่น ของมัน ของทอด และจะพยายามรักษาตัวไม่ให้เป็นหวัดหรือเป็นไข้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเสียงเราอาจจะเปลี่ยน และไม่สามารถใช้ในการพากย์ได้ ซึ่งการถนอมเสียง ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลอะไรมาก แต่ในระยะยาวมันอาจเห็นความแตกต่างได้ชัดมากขึ้น เช่น ถ้าเราถนอมเสียงของเราด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่นอนดึก เสียงของเราก็อาจจะมีคุณภาพหรือเสียงดี ใช้เสียงได้ถึงอายุ 70-80 ปี แต่สำหรับคนที่ไม่ถนอมเสียงเลยก็อาจจะใช้เสียงได้ถึงแค่อายุ 60 ปี  

เมื่อนักพากย์ลูฟี่🔥กับนักพากย์บั๊คกี้ ต้องมาพากย์ซีรี่ย์จีนเรื่องเดียวกันจะเป็นยังไงไปดูกัน#นักพากย์ตั่วเฮีย #นักพากย์เสียง #voiceactor #voiceover #fypシ #viral #tiktokuni #พากย์เสียง #เบื้องหลังการพากย์ #ซีรี่ย์จีน #ติ่งซีรี่ย์ #ติ่งจีน🇨🇳🇨🇳 #สอนให้รู้ว่า@นักพากย์ตั่วเฮีย @นักพากย์ตั่วเฮีย
เมื่อนักพากย์ลูฟี่🔥กับนักพากย์บั๊คกี้ ต้องมาพากย์ซีรี่ย์จีนเรื่องเดียวกันจะเป็นยังไงไปดูกัน#นักพากย์ตั่วเฮีย #นักพากย์เสียง #voiceactor #voiceover #fypシ #viral #tiktokuni #พากย์เสียง #เบื้องหลังการพากย์ #ซีรี่ย์จีน #ติ่งซีรี่ย์ #ติ่งจีน🇨🇳🇨🇳 #สอนให้รู้ว่า@นักพากย์ตั่วเฮีย @นักพากย์ตั่วเฮีย
@firstvoice

เมื่อนักพากย์ลูฟี่🔥กับนักพากย์บั๊คกี้ ต้องมาพากย์ซีรี่ย์จีนเรื่องเดียวกันจะเป็นยังไงไปดูกัน#นักพากย์ตั่วเฮีย #นักพากย์เสียง #voiceactor #voiceover #fypシ #viral #tiktokuni #พากย์เสียง #เบื้องหลังการพากย์ #ซีรี่ย์จีน #ติ่งซีรี่ย์ #ติ่งจีน🇨🇳🇨🇳 #สอนให้รู้ว่า@นักพากย์ตั่วเฮีย @นักพากย์ตั่วเฮีย

ในวันที่มี ‘นักพากย์มือสมัครเล่น’ เยอะมากขึ้น คนที่ทำงานเป็น ‘นักพากย์อาชีพ’ ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?  

เฟิร์ส: ถ้าตอบแบบจริง ๆ ก็ต้องตอบว่า ‘มีผลกระทบ’ แต่ในอีกมุมหนึ่งคือเราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการหมุนไปของโลกใบนี้ ซึ่งมันก็เป็นแง่มุมที่ดีที่มีคนใหม่ ๆ เข้ามาในวงการ เราก็จะได้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และได้เจอเสียงใหม่ ๆ แต่ถ้าถามว่าได้รับผลกระทบไหม? ก็ต้องตอบว่าได้รับผลกระทบเต็ม ๆ อย่างวงการพากย์สมัยก่อน เขาจะมีทีมพากย์เสียงแล้วก็มักจะใช้คนเก่า ๆ ของเขา ซึ่งมันก็อาจจะเกิดการใช้เสียงพากย์ที่จำเจหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมกับวัยของตัวละคร  

แต่ในปัจจุบันนี้รูปแบบของการพากย์เสียงเปลี่ยนไป คือ การแคสติ้งจะเอาเสียงตามวัยของตัวละครจริง เพราะฉะนั้นนักพากย์มืออาชีพแบบรุ่นใหญ่ที่มีฝีมือก็ค่อนข้างจะมีงานที่น้อยลง ตกงานมากขึ้น แม้กระทั่งเราซึ่งอยู่ในวัยกลางคน โดยปกติมักจะได้พากย์เสียงเป็นพระเอก แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้พากย์เสียงนั้นแล้ว แต่กลายมาเป็นพากย์เสียงรุ่นพ่อและอื่น ๆ แทน แต่ถ้าถามแบบโดยรวม จริง ๆ มันก็ดีต่อวงการ บางทีมันก็เหมือนกับ ‘ดาบสองคม’ เหมือนกันสำหรับเรื่องนี้ มันดีที่คนดูจะได้ดูอะไรที่แปลกใหม่แล้วก็หลากหลายมากขึ้น คนรุ่นเราก็ต้องทำใจยอมรับ แล้วก็ปรับตัวเอง เพื่อให้วงการนี้มันดีขึ้น 

ในปัจจุบันกลุ่มผู้ชมดูเหมือนจะรับชมหนังและซีรีส์ที่เป็นเสียงพากย์ไทยน้อยลง พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ทำให้งานพากย์ได้รับผลกระทบหรือไม่?  

เฟิร์ส: เราว่าปริมาณงานพากย์ตอนนี้มันก็ลดลงเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันนี้ถ้าถามว่ายังต้องมีการ ‘พากย์เสียง’ อยู่ไหม? ก็ต้องตอบว่ายังต้องพากย์อยู่ เพราะว่าคนไทยบางส่วนยังคงติดการดูหนังจีนที่ต้องมีเสียงพากย์ไทย หรือซีรีส์เกาหลีที่ต้องมีเสียงไทยอยู่ ส่วนเสียงพากย์ในหนังฝรั่งอนาคตก็อาจจะน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการที่พากย์ไทยมันดีหรือไม่ดีคนจึงดูน้อยลง แต่อาจจะเกี่ยวกับรูปแบบของการเสพสื่อในปัจจุบันที่มันเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง 

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน คิดว่าในอนาคตอาชีพนักพากย์จะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่โดน AI แย่งงานไปหรือไม่?  

เฟิร์ส: จริง ๆ ตอนนี้งานพากย์ก็ได้รับผลกระทบอยู่นะ ในอนาคตคิดว่าบางอย่างก็คงแทนที่ได้แน่นอน เช่น บางคนอาจจะแค่อยากรู้ว่าประโยคนี้มันพูดว่าอะไร โดยที่ไม่ได้ต้องการให้ใส่อารมณ์หรือน้ำเสียงที่มีอรรถรส กับอีกอย่างหนึ่งคือเราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับ ‘เงินทุน’ ด้วย ถ้าในอนาคตนายจ้างต้องการลดต้นทุนแล้วการมีอยู่ของ AI มันสามารถทำงานได้เร็วและประหยัดกว่า คนก็อาจจะเลือกใช้เทคโนโลยีแทนคนมากยิ่งขึ้น 

แต่ในอีกแง่มุม ถ้าพูดถึงฝั่งโซเชียลมีเดีย อันนั้นมันมีประโยชน์ต่อสายงานเราเหมือนกันนะ เราใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น หลาย ๆ คนรู้จักเราได้ก็เพราะ TikTok หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อีกทั้งมันยังทำให้เรามีงานพากย์เพิ่มมากขึ้นด้วย แล้วเราก็พยายามที่จะสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับ ‘การพากย์’ เพื่อที่จะให้คนทั่วไปได้รู้จักวงการการพากย์เสียงและรู้จักนักพากย์มากยิ่งขึ้นด้วย 

จนบางทีมันก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าคลิปของเราหรือการที่เราทำคอนเทนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ มันจะสามารถส่งพลังบวกหรือแพชชันให้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้

ติดตาม เฟิร์ส-วิรุฬห์วิชญ์ ถิรสุวรรณ หรือ ‘นักพากย์ตั่วเฮีย’ ได้ที่: Facebook, TikTok และ YouTube 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส