หากพูดถึงวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสักวงหนึ่ง ในอุตสาหกรรมดนตรีของไทย คงมีไม่กี่วงหรือแทบไม่มีเลย ที่จะสามารถยืนหยัดมีสตูดิโออัลบั้ม ออกมาได้มากถึง 29 ชุด หรือสามารถมีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองได้นับร้อย ๆ โชว์ ปรากฏการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ ‘คาราบาว’ ตำนานวงดนตรีเพื่อชีวิตของไทย เดินหน้าจารึกประวัติศาสตร์ของตัวเองมายาวนานกว่า 42 ปี ภายใต้การนำทัพของหัวหน้าวงที่ชื่อ ยืนยง โอภากุล หรือ ‘พี่แอ๊ด คาราบาว’

beartai BUZZ ขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนความหลังไปกับสามหัวเรือใหญ่ของคาราบาวทั้ง แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล, เล็ก-ปรีชา ชนะภัย และ เทียรี่-สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา ที่วันนี้ทั้งสามจะมาเล่าเรื่องราวการเดินทางของตำนานหัวควาย จากวันแรกที่เจอกัน สู่วันที่พวกเขากลายเป็นกระบอกเสียงของคนรากหญ้า และเป็นขบถทางดนตรีที่กล้าต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด รวมไปถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อเด็กรุ่นใหม่ในวันนี้

คาราบาวกับการเดินทางมาพบ ‘ดนตรี’

แอ๊ด: พ่อผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี ผมเกิดมาอยู่บนกองเครื่องดนตรี คุณพ่อมนัส โอภากุล เป็นหัวหน้าวงดนตรี ช.ส.พ. หรือ วงดนตรีชาวสุพรรณฯ ที่เป็นวงดนตรีวงเดียวในจังหวัด งานบวช งานแต่ง งานทั้งหลายวงนี้เหมาหมด แล้วช่วงหนึ่งของชีวิตพ่อ ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ ก็เคยใช้วงของพ่อเล่นทัวร์ภาคกลางทั้งหมด ผมเกิดมาก็เห็นเรื่องแบบนี้ แต่ผมไม่ทันหรอกรุ่นครูคำรณ กีตาร์ตัวแรกที่ผมเล่นก็ของพ่อ พ่อเล่นกีตาร์ฮาวาย นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมีวันนี้

เล็ก: ผมเสริมนิดหนึ่ง บ้านพี่แอ๊ดเขาจะขายของชำ แล้วมีกีตาร์โปร่งด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งผมกับพี่แอ๊ด ไปนั่งที่หน้าร้านนะแล้วเอากีตาร์ที่คุณแม่พี่แอ๊ดขายมาเล่น พอเล่นเสร็จปุ๊บก็เช็ดขายอันเก่าต่อ

แอ๊ด: พี่เล็กกับพี่เนี่ยเป็นเพื่อนกันมาตั้งสมัยอยู่อุเทนถวาย ตอนนั้นไม่ได้สนิทกันนะ แต่รู้จักกันตลอดเพราะว่าพี่เล็กเขาซ่าที่สุดในอุเทนฯ แล้ว ไม่มีใครซ่ากว่าเขาแล้ว

เทียรี่: ผมได้แรงบันดาลใจด้านดนตรีมาจากคุณแม่  เพราะคุณแม่ผมเป็นสวิส เมื่อก่อนท่านเรียนร้องโอเปร่า แล้วผมก็จะอยู่กับท่านตลอด ท่านชอบฟังเพลง จะเต้นรำอยู่กับท่าน ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ

แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล

จุดเริ่มต้นของ ‘คาราบาว’

แอ๊ด: โอ้โหมันโคตรฟลุคเลย วันหนึ่งผมไปเล่นโฟล์กซองอยู่แถวถนนเพลินจิตที่นิเกิ้ลผับ แล้ววันนั้นเล็กเขาหยุดพอดี เขาก็มาเยี่ยม แต่พอมาถึง “กูจะฟังเพลงลุงขี้เมา” ร้องให้ฟังหน่อย คือกติกาของนิเกิ้ลผับคือ ห้ามร้องเพลงไทย ต้องร้องเพลงสากลล้วนแต่วันนั้นเล็กมันเมา สุดท้ายเราก็เล่นให้ พอเล่นเสร็จก็โดนไล่ออกทั้งวงเลย

เทียรี่: ผมเจอพี่แอ๊ดครั้งแรกตอนผมเล่นอยู่ที่ผับ พี่แอ๊ดเขาก็มาฟังแล้วก็ชวนผมเข้าวง แต่ตอนนั้นอีก 10 วันผมต้องไปนิวยอร์กแล้ว เพราะอยากลองไปใช้ชีวิตที่โน่นดู พอกลับมาผมก็มารับจ้างอัดเสียงที่อโซน่า ซึ่งเป็นช่วงที่คาราบาวย้ายค่ายมาอยู่อโซน่าพอดี ก็เลยกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง มันเหมือนเป็นโชคชะตา

‘คาราบาว’ ทะยานเมื่อชุดสาม

แอ๊ด: พอเริ่มชุดที่ 3 (วณิพก) เราเริ่มกล้าแล้ว กล้าที่จะเขียนเพลงเอง แต่ตอนชุด 1 ไม่กล้าเลย เรายังเอาเพลง “Anak” ของ เฟรดดี อากีลาร์ (Freddie Aguilar) มาแปลงเป็น “ลุงขี้เมา” แต่พอชุดที่ 3 เรากล้าขึ้น ผมมีพี่เล็กอยู่ข้างกาย ผมไม่ต้องห่วงเลยเรื่องดนตรีเพราะเขาเชี่ยวชาญมาก เขาเล่นวงใหญ่ ๆ มาตลอด ผมเล่นในผับในบาร์เป็นดนตรีโฟล์กซอง แต่สุดท้ายเราก็ม้วนมันมารวมกันได้ จนทำให้วงคาราบาวเติบโตมาถึงทุกวันนี้

ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเพลงเพื่อชีวิตคืออะไร ที่ผมเข้าใจก็คือ มันคือเพลงที่ถูกเขียนให้กับคนไทยทั้งหลายที่เสียเปรียบในสังคม เพื่อให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้

วณิพก

‘คาราบาว’ กล้าที่จะแตกต่าง

แอ๊ด: มันไม่ใช่คนอื่นไม่ทำ แต่เรากล้าทำก่อนที่คนอื่นเขาจะเห็น แล้วคนอื่นเขาก็ตามเราไง เขาก็อาจจะกล้าทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นแนวทางไหนแต่พอมีคาราบาวขึ้นมามันเป็นดนตรีที่เป็นวงร็อกอ่ะ มีเครื่องครบ

เทียรี่: คือสมัยก่อนเวลาอัดเสียงก็จะมีคนเขียนโน้ตมา แล้วก็วางให้เราเล่นตาม แต่คาราบาวเนี่ยพี่แอ๊ดเนี่ยเป็นคนแรก ๆ ที่มีการทำเดโมเพื่ออัดดูว่าตรงไหนดีบ้างไม่ดีบ้าง

‘คาราบาว’ วันนี้ต้องทำเพลงเอาใจเด็ก หรือทำเพื่อป้อนคนกลุ่มใหม่ไหม

แอ๊ด: พวกผมพวกผมไม่ได้สนใจนะ แค่เป็นคนแก่ที่ยังก้มหน้าทำงานต่อไป ภายใต้แนวความคิดที่เราคิดอยู่ตอนนี้ แต่ว่าโดยความเป็นจริงของสังคมโลก ของใหม่มันต้องมาแทนที่ของเก่าอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปกลัว อีกหน่อยคาราบาวก็ต้องหายไป คนใหม่ก็ต้องขึ้นมานี่เป็นสัจธรรม เราไม่ได้คิดอะไรมาก เราก็แค่อยู่แล้วก็ทำงานที่ทำให้เรามีความสุข นี่คือเรื่องสำคัญ

เราไม่สามารถที่จะไปแต่งเพลงแข่งกับเด็กสมัยนี้ มันไม่ได้อ่ะ ก็ดูดิเพลงที่เขาดังตอนนี้ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบอย” เราต้องไปถามเลย ว่ามันหมายถึงอะไร ดังนั้นภาษาของเรามันก็จะมีเด็กรุ่นหนึ่ง เด็กที่ฟังเพลงคาราบาวมาทั้งชีวิตเพราะพ่อแม่ฟัง เราก็ยังทำงานต่อไป ผมเคยคุยกับน้อง ๆ ในวง ขอแค่มีคนฟังคาราบาวแค่หมื่นคนเราก็อยู่รอดแล้ว

เล็ก-ปรีชา ชนะภัย

คาราบาว เคยเป็นเด็กที่ถูกดูถูกมาก่อน

แอ๊ด: มีครั้งหนึ่งที่ผมเจ็บปวดหัวใจมาก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนหนังสือออกมาดูถูกคาราบาว ‘โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย’ แล้ววันนี้เป็นไง? จะให้ผมไปด่าเด็กรุ่นใหม่? ผมนี่ฮาเลย เด็กมันก็ต้องโตในแบบของมันแล้วก็มันคิดแบบของมัน

เทียรี่: ลูกผมเนี่ยทำเพลงเหมือนกัน เวลาผมไปดูเขาอัดเพลง เขาบอก “ไม่เอาพ่อแบบนี้ไม่ชอบ” เขาอยากคิดในแบบที่เขาอยากทำ เราต้องปล่อยเขาเพราะมันเป็นยุคของเขาแล้ว

แอ๊ด: ผมเป็นคนที่ยอมรับคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง แต่บางทีผมก็มีบทเรียนที่อยากจะเตือน ก็เลยต้องพูดออกไปเพราะผมก็ปากหมา ‘หัวควายปากหมา ประสาเพลง’ แต่ผมไม่มีอะไรติดใจพูดแล้วก็จบ

เล็ก: เคยมีคนถามนะว่า “เป็นห่วงไหมว่า วงเพื่อชีวิตในอนาคตจะเป็นยังไง จะมีตัวแทนไหม?” ผมบอกผมไม่ห่วงเลยนะ เพราะมันอยู่ที่สภาพบ้านเมือง เดี๋ยวเขาจัดการเอง วงเพื่อชีวิตในอนาคตอาจใส่ชุดมนุษย์อวกาศแบบที่พี่เทียรี่บอกก็ได้ คือมันยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ลูกยังมาสอนเราเล่นโทรศัพท์ด้วยซ้ำ

เด็กมักถูกมองว่าเป็นอ่อนด้อยประสบการณ์ ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ

แอ๊ด: ผมยอมรับเลยเด็กไทยเก่งดนตรี เก่งไม่มีข้อจำกัดด้วย จะให้ผมไปบอกว่าเก่งอ่อนด้อยประสบการณ์ยังคิดไม่เป็น ผมพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมันคนละยุค ผมคนยุคเก่า ผมตกยุคไปแล้ว ผมไม่มีสิทธิ์ที่ไปวิจารณ์เขาเลย เพราะว่าผมตามไม่ทัน ต้องให้คนพวกนี้เป็นคนคิดแทนเรา เราเป็นคนออกคำสั่งนำทางเขา

เทียรี่-สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา

คาราบาว เคยมีช่วงหมดไฟไหม

เล็ก: ไม่หมด พูดแบบหยาบ ๆ ก็คือสันดานพวกเรา มันชอบทำงานนะ สันดานเราสามคนชอบทำงานมากเลย ไม่รู้เป็นไรมันหยุดไม่ได้หรอก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเกษียณเมื่อไหร่ เกษียณของเราก็คือมีงานอดิเรกทำทุกวัน นั่นก็คือการได้ไปเล่นดนตรี ได้เห็นรอยยิ้มแล้วมีความสุข ไม่ต้องถามว่าเราจะเล่นคอนเสิร์ตสุดท้ายเมื่อไหร่นะ แต่แน่นอนไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ วันสุดท้ายมันต้องมีกันทุกคน เพราะฉะนั้นสังวรไว้ ชีวิตคือความไม่แน่นอนบนความแน่นอน เพราะฉะนั้นมาดูพวกเราเล่นเพื่อความแน่นอนดีกว่า

การเขียนเพลงที่ไม่เคยพบกับทางตัน

แอ๊ด: ผมใช้ทุกวิถีทางที่จะได้ข้อมูลมาแต่งเพลง  สมมติวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมา ผมจับกีตาร์แล้วนั่งเล่นไปเรื่อย ๆ ในใจก็คิดไปว่า “วันนี้จะเขียนเพลงอะไรดี” เราได้ยินเรื่องอะไร เจออะไรเราก็เขียน หนึ่งเพลงที่ผมแต่งได้เนี่ยมันจะทำให้ผมมีความสุขไปอีกหนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือนเลย นี่คือชีวิตประจำวันของพวกผม

ว่ากันว่าเคล็ดลับความสำเร็จของศิลปินคือความดื้อ คาราบาวดื้อขนาดไหน

แอ๊ด: เราไม่ใช่ดื้ออย่างเดียว เราโคตรดื้อเลย เพราะเราโค่นอำนาจรัฐด้วย เป็นวงดนตรีวงเดียวที่โค่นอำนาจรัฐนะ ไปหาประวัติศาสตร์ดูได้เลย

“บัวลอย” เป็นอีกหนึ่งเพลงสัญลักษณ์ของคาราบาว เบื้องหลังของเพลงนี้เริ่มต้นมาจากไหน

เล็ก: เมโลดี้พี่แอ๊ดไปแต่งที่หาดใหญ่ ตอนนั้นเราไปทัวร์กัน

แอ๊ด: ผมได้ยินเสียงอาซาน ที่คนอิสลามเขาสวดตอนเย็น ผมได้ยินเสียงอาซาน ผมก็หวน ๆ ออกมาเป็น “บัวลอย”

คาราบาว

เดินทางมาถึงปีที่ 42 นี่คือฝันที่เกินฝันของ คาราบาวหรือเปล่า

เทียรี่: ผมไม่เคยคิดเลย เมื่อก่อนเราเป็นแค่นักดนตรีไง จะเรียกว่าไม่มีอนาคตเลยก็ยังได้ ตอนที่ผมเล่นร้านอีฟเนี่ยจะมีพี่กุ้ง-กิตติคุณ เชียรสงค์ พี่ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว เล่นอยู่ด้วยกัน แล้วก็ค่าตัวก็เท่ากัน แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายต่างคนก็ต่างไปประสบความสำเร็จหมด

แอ๊ด: แต่ผมไม่ ผมมีความมุ่งมั่นตลอดว่า ผมจะต้องทำให้วงดนตรีคาราบาวนั้นยิ่งใหญ่ ตอนที่ผมได้มาเจอพี่เล็ก ผมรู้เลยว่าเราจะสามารถยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ได้ แล้วเราก็ทำได้สำเร็จ

ความฝันของคาราบาวตอนนี้

แอ๊ด: เป้าหมายของคาราบาวตอนนี้ ก็คือเล่นทุกคืน ไม่มีอะไรเลย ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ทุกวันนี้เราแค่ออกไปเล่น เพราะทุกคืนที่เราเล่นเรามีความสุข เราได้เดินทางเจอเพื่อนฝูง เราก็มีความสุขเหมือนได้ดูทีวี ดูหนังสักเรื่อง นั่นก็คือความสุขของคาราบาว

คอนเสิร์ตใหญ่ 40 ปี ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แอ๊ด: จริง ๆ ปี 2023 มันจะครบ 42 ปี แต่คอนเสิร์ตครั้งนี้โดนเลื่อนมาสองปีเพราะโควิด-19 ก็อยากให้พี่น้องไปดูกัน เพราะว่าครั้งนี้จะเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่พวกผมจะทำเต็มที่ จะเล่นให้พวกท่านสนุกกัน 40 ปี 40 เพลงเป็นอย่างต่ำ เจอกันนะครับ 11 พฤศจิกายนนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส