วันที่ 23 กันยายน 2566 ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม VIRTUAL MEDIA LAB TECHNOLOGY FOR BUSINESS OPPOTUNITIES จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และเพื่อให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้เห็นภาพได้ชัดเจน ผมจะเรียบเรียงประเด็นตั้งแต่การบอกว่า เวอร์ชวล โปรดักชัน (Virtual Production) คืออะไรและแบ่งเป็นกี่ประเภท องค์ประกอบของเวอร์ชวล โปรดักชัน ไปจนถึงตัวอย่างงาน

Virtual Production คืออะไร ?

ภายในกิจกรรมทางคุณ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยมีผลงานอย่าง ‘Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี’ ได้เล่าที่มาที่ไปและลำดับขั้นของงาน Virtual Production ดังนี้

Chroma Key Process

ตัวอย่างฉากรบสุดท้ายใน ‘Avengers: End Game’ ปี 2019 ที่ยังใช้การถ่ายทำหน้ากรีนสกรีนอยู่

เพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด กระบวนการโครมาคีย์ (chroma key) คือการถ่ายงานในสตูดิโอโดยใช้ฉากหลังสีน้ำเงิน (blue screen) หรือ ฉากหลังสีเขียว (green screen) โดยข้อดีของการถ่ายทำแบบนี้คือ ผู้กำกับสามารถทำงานได้อย่างอิสระสามารถไปหา ฟีลลิง (feeling) หรืออารมณ์ในการเล่าเรื่องเอาหน้ากองถ่ายและยังสามารถลบสลิงได้สะดวกเพราะมีฉากหลังเป็นสีเขียวหรือสีฟ้าที่ง่ายต่อการลบสิ่งแปลกปลอม

แต่กระนั้นการถ่ายแบบโครมาคีย์ก็ยังมีข้อจำกัดสำคัญนั่นคือเรื่องของ “เวลา” ที่ถือเป็นต้นทุนที่หาซื้อไม่ได้ เพราะการถ่ายแบบโครมาคีย์ หมายถึงกระบวนการหลังการถ่ายทำหรือ โพสต์ โปรดักชัน (Post Production) ที่ต้องแก้ไขสร้างจากฉากที่มีเพียงสีฟ้าหรือสีน้ำเงินเท่านั้น นั่นหมายถึงการต้องเพิ่ม “เวลา” ในการทำงานเข้าไปอีก

Virtual Production โดยโปรแกรม Unreal Engine

ตัวอย่างงานเวอร์ชวล โปรดักชันของ ‘The Mandalorean’

และก็มาถึงยุคที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถสร้างฉากหลังเป็นสถานที่ต่าง ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมดซึ่งจะมีบริษัทไหนเหมาะไปกว่าบริษัทเกมอย่าง Epic Games และ Unity Technologies ผู้อยู่เบื้องหลังเกมดัง ๆ ทั้ง Fortnite และ Pokemon Go ที่พัฒนาโปรแกรม ‘Unreal Engine’ จนกลายเป็นมือปืนรับจ้างให้กับ Disney และ Netflix เพื่อเนรมิตรฉากด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกสุดล้ำสำหรับหนังและซีรีส์ แทนที่กรีนสกรีนเดิมที่เคยเสียต้นทุนด้าน “เวลา” อย่างที่กล่าวไป

โดยต่อไปภาพยนตร์จะถ่ายในสตูดิโอที่ติดจอ LED ขนาดยักษ์ความละเอียด 4K (หรือสูงกว่านั้น) ที่จะกินพื้นที่ตั้งแต่พื้นจรดเพดานแล้วภาพฉากหลังที่เหล่าบริษัทด้านวิชวลเอฟเฟกต์รังสรรค์มาก็จะปรากฎบนจอ ทีนี้ฉากในหนังจะพิสดารแค่ไหนก็ไม่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทะเลทรายหรือสถานีอวกาศก็ทำได้หายห่วง โดยมี ‘The Mandalorean’ ซีรีส์ที่ถ่ายระบบเวอร์ชวล โปรดักชัน 100% มาเป็นต้นแบบที่ช่วยให้หลายสตูดิโอตัดสินใจง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีงานที่น่าสนใจทั้ง ‘The Batman’ ที่เลือกเวอร์ชวล โปรดักชันเป็นคำตอบสำหรับฉากหลังที่ต้องการแสงแบบเมจิกอาว (Magic Hour -ช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์สวยที่สุดราว 17.00 นก่อนพลบค่ำ) ที่แนบเนียนจนตากล้องหลายคนมองไม่ออก และ ‘1899’ ซีรีส์สุดพิศวงของ Netflix ที่เลือกเวอร์ชวล โปรดักชันเป็นคำตอบของการถ่ายทำ

ภาพเบื้องหลังของ ‘The Batman’ ในส่วนของการใช้ Virtual Production
ตัวอย่างงาน Virtual Production ของซีรีส์ 1899

กระนั้นแล้วคุณปวีณ ก็ยังกล่าวว่าการทำงานเวอร์ชวล โปรดักชัน ยังคงเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายให้คนทำงานโปรดักชันต้องปรับตัวอยู่ดี ตัวอย่างเช่นหากงานดังกล่าวไม่มี สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) พวกกราฟิกที่จะใช้เป็นฉากหลัง นั่นหมายถึงกระบวนการทำงานก่อนถ่ายทำคือการเคลียร์เรื่องฉากหลังหรือแบ็กกราวด์ให้ละเอียดรวมถึงการทำงานในส่วนกลไก (Mechanic) ที่ฉากหลังจะทำงานกับกล้องผ่านโปรแกรม Unreal Engine ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่

และในฐานะผู้กำกับ คุณปวีณยังกล่าวอีกว่าผู้กำกับจะต้องสื่อสารความต้องการในงานภาพออกมาให้ละเอียดที่สุดก่อนเริ่มการถ่ายทำดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบภาพอย่างวิชวลไลเซอร์ (Visualiser) ที่มีหน้าที่ในการจัดทำสตอรีบอร์ดจะจำเป็นอย่างมาก และตำแหน่งผู้กำกับภาพเองจะต้องมีองค์ความรู้เรื่องการใช้เลนส์และต้องทำงานกับฉากหลังที่เป็นจอ LED ซึ่งอาจเกิดภาพสะท้อน (Reflection) และคุณภาพผลงานยังเกี่ยวข้องกับจำนวนเงินทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มและการสื่อสารระหว่างผู้กำกับและนักแสดงที่ต้องทำความเข้าใจกับการทำงานในฉากที่เป็นจอ LED ขนาดยักษ์อีกด้วย

องค์ประกอบของ Virtual Production

ก่อนจะไปดูองค์ประกอบว่าหากจะทำงานเวอร์ชวล โปรดักชัน ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง อยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้เรียนรู้ประเภทของ เวอร์ชวล โปรดักชันเสียก่อนโดยทาง คุณอโรชา กิตติวิทยากุผล ตำแหน่ง Entertain Lighting Manager ของบริษัท แอลแอนด์อี บียอนด์ จำกัดที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้บริการด้านเวอร์ชวล โปรดักชันได้กล่าวว่าเวอร์ชวล โปรดักชันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทได้แก่

  1. Virtual Production ตัวย่อ VP
  2. Extended Reality ตัวย่อ XR

Virtual Production

โดยขอเริ่มที่ Virtual Production ที่วัตถุประสงค์คือการรองรับการถ่ายทำในสตูดิโอเป็นหลัก ซึ่งหลักการทำงานเบื้องต้นของเวอร์ชวลโปรดักชันคือจะมีการทำงานร่วมกัน 3 ส่วนได้แก่

จอ LED ที่เดิมทีก่อนจะมีการตั้งสตูดิโอ เวอร์ช่วล โปรดักชัน ทางทีมงานจะประกอบจอในสตูดิโอที่ทางผู้สร้างงานกำหนด โดยสามารถปรับเปลี่ยนลักษณะการต่อจอได้ตามความต้องการของงานจะเป็นจอตั้งในฉากหลังธรรมดาหรือตั้งล้อมรอบเป็นเซตที่มีความยืดหยุ่นในการถ่ายทำก็ได้

ระบบกล้อง ระบบกล้องถือเป็นกุญแจสำคัญในการถ่ายทำโดยบนหัวกล้องจะมีเซนเซอร์เฉพาะสำหรับงานเวอร์ชวลสตูดิโอ อย่างที่เวอร์ชวล โปรดักชัน สตูดิโอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะใช้เป็นอุปกรณ์ HTC Vive Mars ที่เซนเซอร์จะตอบสนอง (Synchronize) กับภาพบนจอ LED แบบกึ่งเรียลไทม์ ตากล้องและผู้กำกับจะสามารถเห็นภาพที่ปรากฎได้ทันทีบนจอมอนิเตอร์

ระบบของโปรแกรม ‘Unreal Engine’ บนคอมพิวเตอร์ หากจอ LED และ กล้องทำหน้าที่เหมือนตาและร่างกายของงานเวอร์ช่วล โปรดักชันแล้วล่ะก็ ในส่วนของโปรแกรม ‘Unreal Engine’ ก็ไม่ต่างจากสมองที่ช่วยในการประมวลผลภาพพื้นหลัง (Background) กับสิ่งที่กล้องเห็นให้ทำงานสอดประสานกัน (Synchronize) ทางผู้กำกับภาพจึงสามารถเคลื่อนไหวกล้องได้อย่างอิสระโดยภาพพื้นหลังจะเปลี่ยนความลึกและมุมมองทำให้เกิดภาพเสมือนว่านักแสดงตรงหน้าอยู่ในโลกใบเดียวกับฉากหลังจริง ๆ

Extended Reality

ต่อมาเป็นในส่วนของการนำเวอร์ชวล โปรดักชันมาใช้ในการผลิตอีเวนต์ ออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด – 19 ในประเทศไทย โดยหลักการของการทำงานจะไม่ได้ต่างจากเวอร์ชวล โปรดักชันมากนักแต่เนื่องจากงานอีเวนต์ ออนไลน์ต้องการเพิ่มความตื่นตาตื่นใจเพราะหลักการแรกคือ ตาที่หนึ่งจะเป็นตาของกล้องก่อนจะนำภาพมาตาสุดท้ายคือผู้ชมดังนั้นหลักการคือเวอร์ชวล โปรดักชันแบบเอ็กซ์เทนเด็ด เรียลลิตี้ (Extended Reality) หรือ XR คือการดึงผู้ชมเข้าสู่โลกเสมือนให้ได้ โดยทางคุณ อโรชาและทีมงานได้อธิบายโดยละเอียดไว้ในวิดีโอด้านล่างนี้แล้ว

นอกจากนี้ทางคุณอโรชายังได้ยกตัวอย่างการใช้งาน XR จากการรับผิดชอบในการจัด XR ในสตูดิโอเพื่อโชว์ของ แจ็กสัน หวัง (Jackson Wang) ในรายการ ‘The Voice All Star’ ในปีที่ผ่านมาโดยอาศัยฉากที่ฉายบนจอ LED ทั้ง 4 ด้านและสลับมุมมองเสมือนพา แจ็กสัน หวัง ที่กำลังโชว์อยู่บนเวทีเดอะวอยซ์แล้วสลับไปยังโลกทะเลทรายร้อนแรงดังคลิปวิดีโอด้านล่าง

นอกจากนี้คุณอโรชายังเสริมอีกว่าการมีสตูดิโอ เวอร์ชวล โปรดักชัน ในประเทศไทยจะสามารถเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจการผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยยกตัวอย่างจากโชว์ของ แจ็กสัน หวัง ที่ได้มือวิชวล เอฟเฟกต์คนไทยในประเทศอังกฤษมาออกแบบกราฟิกในโปรแกรม ‘Unreal Engine’ ให้ รวมถึงงานหลาย ๆ งานที่คุณอโรชาสามารถจัดการให้เกิดโปรดักชันทางไกล (Remote Production) ที่ผู้กำกับงานอยู่อีกประเทศแต่สามารถสั่งการมายังสตูดิโอที่ประเทศไทยเพื่อผลิตผลงานส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้ ซึ่งต่อไปวงการเวอร์ชวล โปรดักชันของประเทศไทยจะต้องการบุคลากรอีกมาก

นอกจากนี้คุณ เชาว์ คณาวุฒิกานต์ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาจากเพลย์เยอร์ทูโปรดักชันส์ (Player 2 Productions) ได้แบ่งปันประสบการณ์การถ่ายภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘Undefeated’ ของเกม ‘Free Fire’ ที่ได้ ญาญ่า-อุรัสยา สเปอร์บันด์ มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ และ ลุค อิชิคาว่า มาแสดงนำในภาพยนตร์สั้นความยาว 17 นาที

ซึ่งคุณเชาว์เปิดเผยว่าเป็นโปรเจกต์แรกของประเทศไทยที่ใช้เวอร์ชวล โปรดักชัน 100 % โดยในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่มีสตูดิโอเวอร์ชวล โปรดักชันอย่างทุกวันนี้ ทางทีมงานต้องติดตั้งจอ LED เพื่อถ่ายทำเป็นรายครั้งทำให้ต้นทุนในการผลิตงานสูงมากและการทำงานโปรดักชันที่กล้องต้องหันถ่ายเข้าหาจอ LED ก็ทำให้ผู้กำกับภาพต้องเรียนรู้ในการทำงานใหม่และข้อจำกัดสำคัญคือการตั้งปรับค่าเฟรมเรตของกล้องที่ถูกจำกัดไว้แค่ 60 เฟรมต่อ 1 วินาทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกะพริบของภาพ (Flicker)

ส่วนวิธีการที่คุณเชาว์เลือกใช้เพื่อทำให้ผู้ชมเชื่อในภาพที่ปรากฎออกมาคือการออกแบบการใช้ โฟร์กราวด์ (Foreground) ที่พยายามเซตของจริงหน้าจอ LED รวมถึงใช้พรอบจริงให้นักแสดงถือเพื่อดึงสายตาผู้ชมอยู่กับจุดสนใจหลักของภาพมากกว่าจะไปสนใจภาพฉากหลังที่อาจมีบางเฟรมที่เกิดการสะท้อน แสง(Reflection) อยู่บ้าง และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นขอให้ชมวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำด้านล่างนี้ครับ

และขออนุญาตประชาสัมพันธ์สำหรับนักเรียน นักศึกษาและผู้ทำธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์หรือให้บริการด้านโปรดักชันการถ่ายทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มีแผนเปิด CEA Virtual Media Lab ที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เพื่อส่งเสริมงานสร้างสรรค์ของนักเรียน นักศึกษาและภาคธุรกิจ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ทาง [email protected] หรือโทร (+66)2 105 7400 ต่อ 112, 165

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส