ถ้าหากพูดถึง แมดส์ มิกเกลเซน (Mads Mikkelsen) นักแสดงชาวเดนมาร์กวัย 58 ปี ที่แม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาเองมีผลงานการแสดงที่มากมายและหลากหลาย แต่ร้อยทั้งร้อยย่อมนึกถึงป๋าแมดส์ในบทร้าย ๆ เพราะเขามักจะได้รับบทเป็นวายร้ายอยู่เป็นประจำ แถมไปรับบทวายร้ายในหลาย ๆ แฟรนไชส์มาแล้วด้วย และในทุกบทร้ายที่มิกเกลเซนไปปรากฏตัว ก็มักจะได้รับคำชมว่าสามารถถ่ายทอดรังสีความร้ายออกมาได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เสมอ

ถ้าเอาตัวอย่างผลงานการร้ายของมิกเกลเซนที่เด่น ๆ ก็ยกตัวอย่างเช่น รับบทเป็น เลอชิฟ (Le Chiffre) วายร้ายนักเกาไข่ในตำนาน ในหนัง เจมส์ บอนด์ ภาค ‘Casino Royale’ (2006), ไคซีเลียส (Kaecilius) วายร้ายของหมอแปลกใน ‘Doctor Strange’ (2016), รับบท เกเลน เออร์โซ (Galen Erso) พ่อผู้แปรพักตร์ใน ‘Rogue One’ (2016)

รับบทเป็น ฮันนิบาล เล็กเตอร์ (Hannibal Lecter) ฆาตกรมาดหรูในซีรีส์ ‘Hannibal’ (2013–2015) บทบาท เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ (Gellert Grindelwald) ศัตรูที่รักของ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ ใน ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore’ (2022) และล่าสุด รับบทเป็น เยอร์เกน วอลเลอร์ (Jürgen Voller) นักโบราณคดีของกองทัพนาซี ใน ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny’

หลายคนที่ติดตามผลงานของเขาคงสงสัยว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้มิกเกลเซนมักจะได้รับบทบาทร้าย ๆ มาโดยตลอด ล่าสุด ป๋าแมดส์ได้มีโอกาสแชร์มุมมองของเขาต่อการรับบทร้าย ในการสนทนา Master Class ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาร์ราคิช (Marrakech International Film Festival) ประเทศโมร็อกโก (ผ่านเว็บไซต์ Deadline) ที่มิกเกลเซนได้เป็นผู้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ Etoile d’Or และผลงานหนังเดนมาร์กเรื่องล่าสุดของเขา ‘The Promised Land’ ที่ได้เข้าฉายในรอบกาลาในเทศกาลนี้

Mads Mikkelsen

ซึ่งเหตุผลที่ป๋าแมดส์วิเคราะห์ถึงการที่ทำให้ตัวเขาเองได้รับบทร้ายบ่อย ๆ ก็คือเรื่องง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับด้านภาษาและสำเนียงการพูด ที่ทำให้เขามักจะได้รับบทร้าย หรือไม่ก็แอนตีฮีโรที่เป็นชาวยุโรปอยู่เป็นประจำ ซึ่งในฮอลลีวูดยุคสมัยหนึ่ง วายร้ายที่เป็นที่จดจำของคนก็มักจะมีที่มาและสำเนียงต่างออกไปจากตัวละครเอก

“มันเป็นอะไรที่ง่ายมากครับ เพราะว่าสำเนียงมันตลกดี ง่าย ๆ แบบนั้นเลย ผมเคยได้เป็นชาวเยอรมัน แล้วจากนั้นผมก็ได้เป็นชาวอังกฤษ แล้วจากนั้นผมก็ได้เป็นคนรัสเซีย และด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ที่ทำให้พวกเขาตกหลุมรักสำเนียงเดนมาร์ก ผมว่ามันเป็นเพราะเหตุผลพวกนี้แหละ”

“แล้วถ้าคนอเมริกันมาเห็นสิ่งที่พวกเขาชอบ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะพยายามเลียนแบบ ใช่ไหมล่ะครับ แต่ผมโชคดีพอที่ได้แสดงเป็นตัวร้ายในหลาย ๆ จักรวาลที่แตกต่างกันมาก ระหว่างจักรวาล Marvel และ James Bond แต่ผมมักจะไม่พยายามคิดกับมันมากจนเกินไป ในเดนมาร์ก เราไม่ได้แบ่งว่าคนไหนเป็นคนเลวหรือคนดี เรามักจะพิจารณาตัวละครที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น”

และด้วยความที่มิกเกลเซนต้องรับบทเป็นคนยุโรปหลากหลายเชื้อชาติ และต้องเรียนรู้การพูดหลายสำเนียง ผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่ง ถามเขาถึงการแสดงเป็นตัวละครคนละเชื้อชาติของตัวเอง ซึ่งวายร้ายเจ้าเสน่ห์ของฮอลลีวูดก็ได้ให้คำแนะนำว่า

“ผมเคยแสดงหนังในภาษาที่ต่างกันมา 2-3 เรื่องแล้วครับ ไม่มีเรื่องไหนที่ผมพูดภาษานั้นได้หรอก หรือพูดได้ก็ไม่คล่อง เคล็ดลับในครั้งแรกที่ผมแสดงอะไรก็ตามที่เป็นภาษาอังกฤษก็คือ ต้องซ้อมและซ้อม และจากนั้นเมื่อคุณถ่ายทำก็คือจบ อย่าไปคิดถึง (ว่าจะทำได้หรือไม่ได้) อีกต่อไป ถ้ามีข้อผิดพลาด หรือถ้าคนข้างนอกนั่นพูดว่า ‘โอ้พระเจ้า นี่มันสำเนียงอะไรเนี่ย’ ก็ปล่อยให้เป็นแบบนั้นแหละ นี่คือทั้งหมดที่ผมสามารถทำได้แล้ว”

“พอคุณเริ่มแสดงตรงนั้น คุณจงลืมมันไปได้เลย แล้วมุ่งความสนใจไปที่ฉากนั้นซะ คุณไม่สามารถอยู่บนเวที หรือหน้ากล้องได้ด้วยการเน้นไปที่ภาษา (ให้ได้สำเนียงเหมือนเป๊ะ) หรอก สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ คุณยังพอจะแก้ไขตอนทำขั้นตอน ADR (Automated Aialogue Replacement – การพากย์เสียงซ่อมหลังถ่ายทำ) ได้ทีหลัง ถ้าพวกเขา (ผู้กำกับ) คาดหวังว่าอยากจะได้ภาษาที่สมบูรณ์แบบโดยที่ไม่มีสำเนียงแปลก ๆ คุณควรบอกให้พวกเขาไปหานักแสดงคนอื่นแทน”

Mads Mikkelsen

กว่า 20 ปีในวงการ มิกเกลเซนมีผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ ทั้งในเดนมาร์กและฮอลลีวูดรวมมากกว่า 60 เรื่อง ผู้เข้าฟังการบรรยายอีกคนได้ถามเขาว่า มีผลงานไหนที่เขารู้สึกผูกพันเป็นพิเศษ ซึ่งคำตอบของเขาก็คือไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบกันได้ว่างานไหนดีกว่า เพราะว่าเขาชอบผลงานการแสดงของเขาเองทุกเรื่อง

“ผมพยายามทำให้งานทั้งหมดมีความสำคัญเท่าเทียมกันครับ ทุกงานที่ผมทำคือสิ่งที่สำคัญที่สุด งานต่อไปที่ผมทำก็คือสิ่งที่สำคัญที่สุด มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือเป้าหมายของผม ความโชคดีคือ ผมไม่เคยรู้สึกว่างานไหนดีที่สุด มันทำให้ผมได้โอกาสอีกครั้งอยู่เรื่อย ๆ “

“ผมไม่อยากจะเปรียบเทียบลูกแพร์กับแอปเปิล ทุกงานได้เปลี่ยนอาชีพของผม หรือเป็นก้าวสำคัญที่พาไปสู่สิ่งอื่น ๆ ทุกงานล้วนเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ไม่มีอะไรไม่สำคัญไปมากกว่ากัน ผมรักงานของผมในทุก ๆ งาน”


ที่มา: Deadline, CBR

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส