ถ้าหากพูดถึงภาพยนตร์แอนิเมชันที่ได้รับคำชมมากที่สุดในปีนี้ คงหนีไม่พ้น ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ (2023) ภาคต่อของแอนิเมชันสไปเดอร์-แมนของ Sony ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามในแง่ของงานภาพและเรื่องราวที่ก้าวกระโดดไปอีกขั้น โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องราวของ Spider-Society ที่อลังการตื่นตามากที่สุด เพราะแทบไม่เคยมีหนังหรือสื่อไหนที่มีสไปเดอร์-แมนจากต่างจักรวาลมารวมตัวกันมากมายมหาศาลขนาดนี้มาก่อน

และหนึ่งในสไปเดอร์-แมนที่มาปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในหนังก็คือ สไปเดอร์แมนเวอร์ชัน LEGO ที่ปรากฏมาให้เห็นแบบเต็ม ๆ ในฉากที่วายร้าย The Spot เดินทะลุรูมิติของตัวเอง ก่อนจะโผล่ไปในมิติที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ Daily Bugle จนกระทั่ง ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ สไปเดอร์แมนจาก Earth-13122 (จักรวาล LEGO Spider-Man) ได้พบเห็น และได้แจ้งให้ มิเกล โอฮารา (Spider-Man 2099) หัวหน้าของ Spider-Society ได้รับทราบ

อย่างที่ทราบกันดีว่า เบื้องหลังของฉากนี้นั้นมีที่มาไม่ธรรมดา แต่เป็นฝีมือของน้อง เพรสตัน มูทันกา (Preston Mutanga) แอนิเมเตอร์มือสมัครเล่น (แต่ฝีไม้ลายมือระดับโปร) เด็กชายชาวแคนาดาเชื้อสายแคเมอรูน วัย 14 ปี ที่ ฟิล ลอร์ด (Phil Lord), คริส มิลเลอร์ (Chris Miller) มือเขียนบท โปรดิวเซอร์ (และผู้กำกับ ‘The Lego Movie’ (2014)) ได้ไปเจอผลงานของน้องใน YouTube และประทับใจมากจนต้องเรียกตัวมาสร้างซีนนี้ และขอเปลี่ยนจากฉากที่แต่เดิมจะเป็น ‘เอเลียนผู้บ้าคลั่ง’ (Crazy Aliens) และอื่น ๆ เป็นฉาก LEGO Spider-Man แทน

Preston Mutanga Spider-Man Across the Spider-Verse Lego Spider-Man

เคมป์ พาวเวอร์ส (Kemp Powers), โยอาคิม โดส ซานโตส (Joaquim Dos Santos) และ จัสติน เค ทอมป์สัน (Justin K. Thompson) ผู้กำกับแอนิเมชันเรื่องนี้ ได้เผยความรู้สึกแรกในการร่วมงานกับน้องมูทันกา ในบทสัมภาษณ์ Exclusive ของเว็บไซต์ Total Film ที่โด่งดังจนกลายเป็นไวรัลไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

ซานโตสกล่าวถึงช่วงเวลาที่โปรดิวเซอร์ทั้ง 2 บอกพวกเขาว่า จะมีฉากหนึ่งที่สร้างโดยแอนิเมเตอร์รุ่นจิ๋ว สิ่งที่พวกเขาสงสัยเป็นครั้งแรกก็คือ “ตอนที่ฟิลกับคริสมาบอกกับพวกเราว่า ‘เราควรจะให้เด็กคนนี้มาทำฉากนั้นนะ’ ปฏิกิริยาของพวกเราก็คือ ‘นั่นมันถูกกฏหมายใช่ไหมน่ะ ? ‘ “

ซานโตสอธิบายต่อว่า “หลังจากนั้น เราก็ตัดสินใจให้โปรดิวเซอร์ของเราเป็นคนตามหาเขาครับ แต่ทีแรกเขาไม่เชื่อนะว่าสตูดิโอจะเป็นคนติดต่อไปเองจริง ๆ หลังจากนั้นเราก็มอบหมายงานให้เขา และให้คริส และมิลเลอร์คอยทำงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิด”

มูทันกาเกิดและเติบโตในรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชายของ ธีโอดอร์ (Theodore Mutanga) และ จิเซล (Gisele Mutanga) ครอบครัวผู้อพยพชาวแคเมอรูน ที่มีความสนใจในด้านการทำแอนิเมชัน หลังจากที่ได้ชม ‘The Lego Movie’ ผลงานกำกับของลอร์ดและมิลเลอร์เมื่อตอนอายุ 7 ขวบ เขาจึงเริ่มศึกษาการทำแอนิเมชันด้วยการลองหัดใช้โปรแกรม Blender จากคอมพิวเตอร์เก่า ๆ ที่พ่อของเขาใช้สำหรับทำงานเป็นนักฟิสิกส์การแพทย์ และค่อย ๆ เรียนรู้จากการดูคลิปใน YouTube ก่อนจะเริ่มลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

จนกระทั่งอายุ 9 ขวบ เขาสามารถทำแอนิเมชันสั้น ๆ ความยาว 5-10 วินาทีได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนจะเริ่มหันมาหยิบเอา LEGO มาเป็นไอเดียในการสร้างผลงานชิ้นต่าง ๆ จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มูทันกาได้ทำคลิปวิดีโอแอนิเมชันทีเซอร์ ‘Across the Spider-Verse’ ฉบับแฟนเมดในจักรวาล LEGO ขึ้นมา ซึ่งคนที่ได้เห็นและถูกใจสิ่งนี้ก็คือโปรดิวเซอร์อย่างลอร์ดนั่นเอง จนกระทั่งโปรดิวเซอร์อีกคนอย่าง คริสตินา สไตน์เบิร์ก (Christina Steinberg) ได้ติดต่อให้เขามาลงสนามใหญ่ด้วยกัน

มูทันกากล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาได้รับข้อความทาง Twitter ว่า “มันเหนือจริงมากครับ พวกเขาส่งข้อความมาถึงผม ตอนผมเห็นทีแรกก็ตกใจ ไม่มีทางเลยที่เขาจะติดต่อผมจริง ๆ พ่อของผมตอนแรกก็ไม่เชื่อ จนผมได้ติดต่อกับ แพตทริก โอคีฟ (Patrick O’Keefe) ผู้ออกแบบงานสร้าง ผมตื่นเต้นมาก ๆ งานของผมกำลังจะไปฉายในโรงหนัง หลังจากคุย Zoom กับทีมงาน พวกเขาก็โชว์สตอรีบอร์ดฉากที่พวกเขาอยากให้ผมทำ”

แม้ในทีแรกทั้งมูทันกา และพ่อแม่จะไม่เชื่อว่าสตูดิโอจะติดต่อให้เขาไปร่วมงาน แต่สุดท้าย ด้วยความชื่นชอบของมูทันกาในผลงานของลอร์ดและมิลเลอร์ เขาเองก็ตอบตกลง ส่วนพ่อของเขาก็ตัดสินใจทุ่มทุนซื้อคอมพิวเตอร์และการ์ดจอชุดใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เขาทำงานแอนิเมเตอร์ได้สะดวกขึ้น

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาจะลงมือสร้างฉากแอนิเมชันสุดเทพด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกแต่อย่างเดียว เพราะเขายังลงลึกไปถึงขั้นหา LEGO จริง ๆ มาศึกษาเพื่อให้ออกมาดูสมจริง ทั้งการศึกษาวิธีการเคลื่อนไหว ทดสอบความโปร่งแสงเมื่อเอาไปส่องกับไฟ และคิดหาวิธีการแอนิเมตการแกว่งแขนของตัวต่อให้ออกมาดูไหลลื่นมากที่สุดอีกด้วย

Preston Mutanga Spider-Man Across the Spider-Verse Lego Spider-Man

มูทันกาเขาเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เขาจึงต้องแบ่งเวลาด้วยการเริ่มต้นทำโปรเจกต์หลังจากทำการบ้านเสร็จในช่วงเย็นของแต่ละวัน และยังอุทิศเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมทั้งช่วงปิดเทอมในเดือนมีนาคมเพื่อทำงานนี้โดยเฉพาะ และต้องคุยวิดีโอคอลกับมิลเลอร์ เพื่อคอยสอบถามความคืบหน้าและรับคำแนะนำ หลังจากผ่านศึกแก้ไขมาแล้ว 15 ดราฟต์ เขาก็ส่งตัวไฟนอลได้สำเร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน

ด้วยความที่มูทันกาเองก็ยังอยู่ในวัยเด็ก ทาง Sony Pictures Animation เองก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจ้างงานอย่างรัดกุมและถูกต้องตามกฎหมาย และทีมงานเองก็ต้องคอยดูแลในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่างานเสร็จทันตามกำหนด และระวังไม่ให้งานเบียดเบียนเวลาส่วนตัวมากเกินไปจนเสียการเรียน

ทอมป์สันเล่าว่า “ผมจำได้ว่า พ่อแม่ของพวกเขาอยากให้มั่นใจว่าน้องจะมีเวลาทำการบ้านด้วยน่ะครับ ดังนั้น เขาจึงเริ่มทำฉากนั้นให้เสร็จในช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ และทำงานต่อหลังจากทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว มันคือความมหัศจรรย์ที่หนังได้ทำให้เกิดขึ้นมา ที่ทำแบบนี้ได้ นี่แค่เด็กอายุ 14 เองนะ เขานี่แหละ สไปเดอร์-แมนตัวจริง”

ปัจจุบัน มูทันกาเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายของเขาก็คือการเป็นแอนิเมเตอร์ เขามีเป้าหมายว่าจะศึกษาต่อด้านแอนิเมชันในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อทำตามความฝันสูงสุดในการเป็นแอนิเมเตอร์ และผู้กำกับหนังแอนิเมชันใน Spider-Verse เพื่อสานต่อเรื่องราวของ ไมลล์ โมราเลส (Miles Morales) ต่อไปในอนาคต “ผมชื่นชอบภาคแรก และตื่นเต้นมาก ๆ กับภาค 2 ดังนั้น การได้ร่วมงานกับคนที่สร้างผลงานชิ้นเอกนี้จริง ๆ มันเป็นอะไรที่เหมือนอยู่ในฝันเลย”

แต่สิ่งที่เขาได้เป็นทันที หลังจากที่ข่าวกลายเป็นไวรัลก็คือ มีคนรู้จักเขาเพิ่มขึ้นเยอะมาก “เพื่อน (ที่โรงเรียน) ของผม พวกเขาเอาแต่พูดกันว่าตอนนี้ผมดังแล้ว บางครั้งก็มีคนเดินมาทักผมแล้วพูดว่า ‘เฮ้ นายคือคนทำแอนิเมชันฉากนั้นใน Spider-Verse หรือเปล่า’ ผมเองพยายามจะไม่ยึดติดกับมันมาก ผมไม่อยากให้มันเปลี่ยนตัวตนผม”


ที่มา: Total Film, The New York Times, Toronto Life

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส