รางวัลอันทรงเกียรติและยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการเพลงโลกเวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับงานประกาศรางวัลแกรมมี่อวอร์ด ครั้งที่ 66 ประจำปี 2024 (Grammy Awards 2024) ที่ดำเนินการจัดขึ้นโดย สถาบันศิลปะวิทยาการการบันทึกเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา (The Recording Academy) เพื่อมอบรางวัลให้กับศิลปินและอัลบั้มที่ดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดพิธีมอบรางวัลขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ตามเวลาสหรัฐอเมริกา (หรือเวลาเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย)

โดยในปีนี้ งานยังคงจัดขึ้น ณ คริปโตดอตคอมอารีนา (Crypto.com Arena) ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกาและถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ CBS และถ่ายทอดสัญญาณคู่ขนานผ่านแพลตฟอร์ม Paramount+ โดยมี เทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) นักแสดงตลก พิธีกร และนักวิจารณ์การเมือง ซึ่งโนอาห์ ได้เป็นผู้ดำเนินรายการติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว

ในค่ำคืนนี้ยังคงมีรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่าง ๆ อย่างคับคั่งใน 11 หมวดหมู่ (Field) รวมทั้งหมดกว่า 94 สาขา โดยในปีนี้ มีการเพิ่มรางวัลในสาขาใหม่ ๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่ สาขาบันทึกเสียงเพลงป๊อปแดนซ์ยอดเยี่ยม (Best Pop Dance Recording), สาขาอัลเทอร์เนทีฟแจ๊สยอดเยี่ยม (Alternative Jazz Album) และ สาขาการแสดงเพลงแอฟริกันยอดเยี่ยม (Best African Music Performance) เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการมอบรางวัลให้กับแนวเพลงที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ได้มีการย้ายสาขานักแต่งเพลงที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิกแห่งปี (Grammy Award for Songwriter of the Year, Non-Classical) และสาขาโปรดิวเซอร์ที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิกแห่งปี (Grammy Award for Producer of the Year, Non-Classical) ไปไว้ในหมวดหมู่สาขาทั่วไป (General Field) เพื่อให้ผู้ลงคะแนนทั้งหมดได้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วย และรวมไปถึงการยังคงยึดตามมติของสมาชิก The Recording Academy ที่มีมติร่วมกันในเดือนมิถุนายน ปี 2023 ว่า ผลงานใด ๆ ที่มีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการเรียบเรียง บันทึกเสียง แต่งเนื้อเพลง ฯลฯ จะไม่มีคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัลในทุกสาขา

SZA 66th Grammy Awards

ไฮไลต์สำคัญที่สุดบนเวทีรางวัลในปีนี้ คงหนีไม่พ้นการเข้าชิงรางวัลของศิลปินหญิง โดยเฉพาะผู้เข้าชิงใน 4 สาขาใหญ่ หรือ Big 4 ที่ประกอบไปด้วยสาขาบันทึกเสียงแห่งปี (Record Of The Year), สาขาเพลงแห่งปี (Song of the Year), สาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of the Year) และ สาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Artist) ซึ่งปีนี้ได้มีการลดจำนวนผู้เข้าชิงลง จาก 10 รายชื่อ เหลือเพียง 8 รายชื่อเท่านั้น โดยในปีนี้เป็นปีที่สาขา Big 4 มีศิลปินหญิงเข้าชิงเกือบทั้งหมด มีเพียง จอน บาติส (Jon Batiste) ศิลปินผู้ชายเพียงคนเดียวที่ได้เข้าชิงใน Big 4

แม้ในปีนี้ ซิสซา (SZA) ศิลปินแนวอาร์แอนด์บี ป๊อป และฮิปฮอป จะเป็นศิลปินที่มีรายชื่อเข้าชิงมากที่สุดถึง 9 สาขา แต่น่าเสียดายที่ปีนี้กลับไม่ได้คว้ารางวัลใน Big 4 แต่ก็ถือว่ายังสามารถคว้ารางวัลเด่น ๆ มาได้ ตั้งแต่สาขาอัลบั้มเพลงอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม (Best Progressive R&B Album) จากอัลบั้ม ‘SOS’ และ สาขาการแสดงเพลงป๊อปคู่ / กลุ่มยอดเยี่ยม (Best Pop Duo/Group Performance) จากเพลง “Ghost in the Machine” โดย ซิสซา (SZA) Feat. ฟีบี บริดเจอร์ส (Phoebe Bridgers) ทำให้เธอสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่อวอร์ดในอาชีพศิลปินไปได้ทั้งหมด 4 ตัว

Taylor Swift 66th Grammy Awards

ในขณะที่ศิลปินระดับโลกอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ยังคงนำพาอัลบั้มล่าสุดของเธออย่าง ‘Midnights’ ไปสร้างปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถคว้า 2 รางวัลมาครองได้แบบไม่ผิดหวัง ทั้งรางวัลใหญ่อย่าง สาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of the Year) และสาขาอัลบั้มเพลงป๊อปยอดเยี่ยม (Best Pop Vocal Album) ทำให้สวิฟต์ทำสถิติเป็นเจ้าของรางวัล Album of the Year จากเวทีแกรมมี่ได้เป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่เคยได้รางวัลนี้มาแล้วจากอัลบั้ม ‘Folklore’

Miley Cyrus 66th Grammy Awards

ศิลปินอีกคนที่น่าจับตามองก็คือ ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) ที่สามารถนำพาเพลงฮิต “Flowers” ที่เป็นปรากฏการณ์บนโซเชียลมีเดีย จนสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่ได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ตั้งแต่สาขาการแสดงเพลงป๊อปเดี่ยวยอดเยี่ยม (Best Pop Solo Performance) รวมทั้งยังไปไกลด้วยการคว้ารางวัลสาขาบันทึกเสียงแห่งปี (Record Of The Year) 1 ใน Big 4 จากอัลบั้ม ‘Flowers’

ศิลปินที่น่าจับตามองไม่แพ้กันก็คือ พารามอร์ (Paramore) วงป๊อปพังก์-อัลเทอร์เนทีฟมาแรงแห่งยุค ที่โดดเด่นมาก ๆ ในสาขาเพลงร็อก เพราะสามารถคว้าทั้งสาขาอัลบั้มเพลงร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Album) จากอัลบั้ม ‘This Is Why’ รวมทั้งไตเติลแทร็กอย่าง “This Is Why” ก็สามารถคว้ารางวัลสาขาเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม (Best Alternative Music Performance) ไปครองได้เช่นกัน

Billie Eilish 66th Grammy Awards

ในฝั่งของสาขาเพลงประกอบ กระแสสีชมพูจากภาพยนตร์ ‘Barbie’ (2023) ยังไม่หมดฤทธิ์ง่าย ๆ เพราะในปีนี้สามารถกวาดรางวัลแบบเน้น ๆ ตั้งแต่สาขาเพลงแห่งปี (Song of the Year) และสาขาเนื้อเพลงประกอบวิชวล มีเดีย ยอดเยี่ยม (Best Song Written for Visual Media) จากเพลง “What Was I Made For ? ” โดย บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) และตัวอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ยังซิวสาขาเพลงรวมซาวด์แทร็กยอดเยี่ยม (Best Compilation Soundtrack for Visual Media) ไปครอง

ส่วน ลุดวิก เยอรันซัน (Ludwig Göransson) คอมโพสเซอร์มือฉมัง ก็สามารถคว้ารางวัลในสาขาเพลงบรรเลงซาวด์แทร็กประกอบวิชวลมีเดียยอดเยี่ยมแห่งปี (ในภาพยนตร์และโทรทัศน์) (Best Score Soundtrack for Visual Media (Includes Film and Television) จากการประพันธ์เพลงสกอร์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ‘Oppenheimer’

ส่วนสาขามิวสิกวิดีโอขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Best Music Video) ตกเป็นของ “I’m Only Sleeping” เพลงจากอัลบั้ม ‘Revolver’ ของ ‘The Beatles’ ที่เป็นการทำขึ้นใหม่โดยใช้เทคนิคโมชันกราฟิกภาพวาดสีน้ำมัน


รายชื่อผู้ได้รับรางวัลแกรมมี่อวอร์ด ครั้งที่ 66

  • สาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of the Year)

‘Midnights’ โดย เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)

  • สาขาบันทึกเสียงแห่งปี (Record Of The Year)

‘Flowers’ โดย ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus)

  • สาขาเพลงแห่งปี (Song of the Year)

“What Was I Made For?” โดย บิลลี ไอลิช (Billie Eilish)

  • สาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Artist)

วิกตอเรีย โมเนต์ (Victoria Monét)

  • สาขาการแสดงเพลงป๊อปเดี่ยวยอดเยี่ยม (Best Pop Solo Performance)

“Flowers” โดย ไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus)

  • สาขาอัลบั้มเพลงป๊อปยอดเยี่ยม (Best Pop Vocal Album)

‘Midnights’ โดย เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)

  • สาขาบันทึกเสียงเพลงป๊อปแดนซ์ยอดเยี่ยม (Best Pop Dance Recording)

‘Padam Padam’ โดย ไคลี มิโนก (Kylie Minogue)

  • สาขาการแสดงเพลงป๊อปคู่ / กลุ่มยอดเยี่ยม (Best Pop Duo/Group Performance)

“Ghost in the Machine” โดย ซิสซา (SZA) Feat. ฟีบี บริดเจอร์ส (Phoebe Bridgers)

  • สาขาอัลบั้มเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Music Album)

‘Fred Again.. – Actual Life 3 (January 1 – September 9 2022)’ โดย เฟรด อะเกน (Fred Again)

  • สาขาบันทึกเสียงเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Dance/Electronic Recording)

“Rumble” โดย สกริลเลกซ์ (Skrillex), เฟรด อะเกน (Fred Again) และ โฟลว์แดน (Flowdan)

  • สาขาอัลบั้มเพลงร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Album)

‘This Is Why’ โดย พารามอร์ (Paramore)

  • สาขาเพลงร็อกยอดเยี่ยม (Best Rock Song)

“Not Strong Enough” โดย บอยจีเนียส (boygenius)

  • สาขาเพลงเมทัลยอดเยี่ยม (Best Metal Performance)

“72 Seasons”โดย เมทัลลิกา (Metallica)

  • สาขาเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม (Best Alternative Music Performance)

“This Is Why” โดย พารามอร์ (Paramore)

  • สาขาอัลบั้มเพลงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม (Best Alternative Music Album)

‘The Record’ โดย บอยจีเนียส (boygenius)

  • สาขาเพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม (Best R&B Performance)

“ICU” โดย โคโค โจนส์ (Coco Jones)

  • สาขาอัลบั้มเพลงอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม (Best Progressive R&B Album)

‘SOS’ โดย ซิสซา (SZA)

  • สาขาอัลบั้มเพลงแร็ปยอดเยี่ยม (Best Rap Album)

‘Michael’ โดย คิลเลอร์ ไมก์ (Killer Mike)

  • สาขาการแสดงเพลงแร็ปยอดเยี่ยม (Best Rap Performance)

“Scientists and Engineers” โดย คิลเลอร์ ไมก์ (Killer Mike) Feat. อังเดร 3000 (André 3000), ฟิวเจอร์ และ เอิร์น อัลเลน เคน (Eryn Allen Kane)

  • สาขาเนื้อเพลงประกอบวิชวลมีเดีย ยอดเยี่ยม (Best Song Written for Visual Media)

“What Was I Made For?” โดย บิลลี ไอลิช (Billie Eilish)

  • สาขาเพลงบรรเลงซาวด์แทร็กประกอบวิชวลมีเดียยอดเยี่ยมแห่งปี (ในภาพยนตร์และโทรทัศน์) (Best Score Soundtrack for Visual Media (Includes Film and Television)

‘Oppenheimer’ โดย ลุดวิก เยอรันซัน (Ludwig Göransson)

  • สาขาอัลบั้มเพลงพูด (กลอน, หนังสือเสียง, เล่านิทาน) ยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Audio Book, Narration & Storytelling Recording)

‘The Light We Carry: Overcoming In Uncertain Times’ โดย มิเชล โอบามา (Michelle Obama)

  • สาขาเพลงรวมซาวด์แทร็กยอดเยี่ยม (Best Compilation Soundtrack for Visual Media)

‘Barbie the Album’ โดย หลายศิลปิน

  • สาขามิวสิกวิดีโอขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Best Music Video)

“I’m Only Sleeping” โดย ‘The Beatles’

  • สาขามิวสิควิดีโอประเภทยาวยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Music Film)

‘Moonage Daydream’


ติดตามรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดได้ทาง grammy.com


ที่มา: GrammyRolling Stone

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส