ก่อนจะจบปี 2020 อันหนักหน่วงนี้ก็มีข่าวให้เศร้ากันอีกแล้วกับการสูญเสียผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ‘คิม คี-ด็อค’ (Kim Ki-duk) ผู้ที่เป็นเสมือน “แกะดำ” ของวงการหนังเกาหลีที่เสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างทำเรื่องขอพำนักอาศัยเป็นพลเมืองถาวร และเตรียมถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ที่ประเทศลัตเวีย

คิม คี-ด็อค ไม่เคยได้รับการศึกษาด้านภาพยนตร์มาก่อน ไม่ได้เรียนทำหนังในระบบ ไม่เคยทำงานในกองถ่ายหรือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของใคร และไม่เคยสนใจในภาพยนตร์มาก่อนแต่ว่าเป็นคนที่ชอบงานศิลปะและรักที่จะทำงานวาดภาพ จนถึงขนาดที่ทำงานเก็บเงินเพื่อเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีสและวาดภาพขายตามท้องถนน จนในวันหนึ่งได้ดูหนังเรื่อง Silence of the Lambs และหนังฝรั่งเศสเรื่อง The Lover on the Bridges ของ Leos Carax ในโรงภาพยนตร์จนเกิดแรงบันดาลใจกลับมาบ้านเกิดและเขียนบทภาพยนตร์ส่งประกวดจนได้ทำหนังเรื่องแรกที่มีชื่อว่า Crocodile ในปี ค.ศ.1996 และทำหนังเรื่อยมาจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้กำกับคนสำคัญของโลกใบนี้ในที่สุด

คิม คี-ด็อค

ด้วยความที่หนังของ คิม คี-ด็อค มีทั้งความรุนแรง เรื่องราวทางเพศ ความดำมืด ความแปลก เพี้ยน พิลึกพิลั่น แตกต่างจากหนังเกาหลีทั่วไปจึงทำให้หนังของเขานั้นไม่ประสบความสำเร็จในประเทศของตัวเองเลย แต่กลับได้เสียงตอบรับที่ดีจากต่างแดนจนได้รับรางวัลการันตีมามากมายจากเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ด้วยงานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเรื่องราวที่สะท้อนแง่มุมแปลกใหม่ของสังคมเกาหลีใต้ที่หาดูไม่ได้จากงานของผู้กำกับท่านอื่นจึงทำให้ชื่อเสียงของเขาดังกระฉ่อนในหมู่นักดูหนังอาร์ตทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่น่าชื่นใจว่ามีแผ่นหนังของคิม คี-ด็อคทำออกมาขายแบบถูกลิขสิทธิ์มากมายหลายเรื่องและกลายเป็น rare item ไปแล้วในทุกวันนี้

เสน่ห์ในหนังของคี-ด็อคนั้นมีอยู่หลายประการ อย่างแรกคือ ตัวละครของคิม คี-ด็อค มักเป็นคนชายชอบของสังคม คนไร้บ้าน แมงดา โสเภณี คนที่โดนกดขี่ และตลอดทั้งเรื่องตัวละครเหล่านี้ไม่พูดกันเลย หากพูดกันก็น้อยมาก ทุกอย่างถ่ายทอดผ่านการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางของตัวละคร รวมไปถึงการกระทำที่เพี้ยน แปลก แหวกตรรกะของมนุษย์มนา ประการต่อมาตัวละครนำส่วนใหญ่ในหนังของคิม คี-ด็อคนั้นเป็นผู้หญิงแต่เป็นผู้หญิงที่ให้ภาพที่แตกต่างจากสาวเกาหลีที่เราเห็นในสื่อทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในหนังรักโรแมนติกหรือศิลปินสาว K-POP ก็ตาม ผู้หญิงในหนังของคี-ด็อคคือผู้หญิงที่ทนทุกข์และตกอยู่ในวังวนของความรุนแรงและการกระทำทางเพศจากผู้ชายที่ ดุ ดิบ เถื่อน โหดร้าย ซึ่งจะแตกต่างจากภาพลักษณ์ของโอปป้ารูปหล่อที่เราเห็นอยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องราวในหนังของคิม คี-ด็อคนั้นก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายแต่กลับแฝงไว้ด้วยองค์ประกอบของความพิสดาร มหัศจรรย์พันลึก ซึ่งหากใครได้ชมสักเรื่องแล้วก็อดไม่ได้ที่จะไปตามหาเรื่องอื่น ๆ มาดูด้วยอย่างแน่นอน

คิม คี-ด็อค สร้างหนังเรื่องแรกในชีวิตคือ Crocodile ในปี 1996 และจากนั้นก็ทำหนังมาเรื่อย ๆ ในอัตราที่น่าทึ่งเฉลี่ยปีละเรื่อง บางปีก็มีถึงสองเรื่องด้วยกัน และล้วนแล้วแต่เป็นหนังดีมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคิม คี-ด็อค ผู้กำกับที่ได้ฝากผลงานภาพยนตร์อันเปี่ยมไปด้วยคุณค่า เราจึงขอคัดเลือกหนังดี ๆ ของเขามา 11 เรื่องเพื่อแนะนำคอหนังให้ได้รู้จักกับงานดี ๆ ของ คิม คี-ด็อคกันครับ

Birdcage Inn (1998)

Birdcage Inn เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของคิม คี-ด็อค เป็นเรื่องราวของ ‘จิน-อา’ เด็กสาวในวัยนักศึกษาซึ่งแทนที่จะได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ แต่กลับต้องระหกระเหเร่ร่อนมาทำงานขายบริการในโรงแรมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ถูกขนานนามว่า ‘โรงแรมกรงนก’  ณ ที่แห่งนี้เธอได้พบกับ ‘เฮ-มี’ เด็กสาวในวัยเดียวกันซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของโรงแรม ชีวิตของทั้งคู่นั้นช่างแตกต่างกัน คนหนึ่งคือสาวบริการ อีกคนคือนักศึกษาอนาคตไกล แต่ในความต่างนั้นหนังได้นำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นถึงสาระสำคัญอันแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของคนและความเข้าอกเข้าใจในมนุษยธรรมได้อย่างลึกซึ้ง โดยใช้การดำเนินเรื่องแบบ Female Twin Narrative ซึ่งก็คือการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครนำหญิง 2 คนซึ่งตัวละครทั้งสองต่างมีความสัมพันธ์และเป็นดังกระจกเงาสะท้อนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในหนังยังได้มีงานศิลปะของเอกอน ชีเลอ (Egon Schiele) จิตรกรชาวออสเตรียซึ่งเป็นศิลปินคนโปรดของคิม คี-ด็อค เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นสัญญะสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและใจความของหนังได้เป็นอย่างดี หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเทศกาล AFI Fest ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

ภาพวาดของเอกอน ชีเลอในหนังเรื่อง Birdcage Inn

The Isle (2000) – รักเจ็บลึก

หนังเรื่องที่ 4 ของคิม คี-ด็อค เล่าเรื่องราวของ ‘ฮี-จิน’ หญิงสาวผู้ดูแลบ้านพักกลางน้ำที่ให้บริการตกปลาแก่แขกผู้มาเที่ยว (รวมไปถึงบริการทางเพศด้วย) เธอได้ตกหลุมรัก ‘ฮุน-ชิก’ ชายหนุ่มที่หนีคดีมา จนมีความสัมพันธ์กันแบบซาโดมาโซคิสม์และลุ่มหลงเขาเสียจนต้องเอาเบ็ดเกี่ยวอวัยวะเพศเพื่อเรียกร้องให้เขากลับมาหาเธอ เป็นหนังรักเจ็บลึกชวนเหวอในแบบฉบับของคิม คี-ด็อคอย่างแท้จริง (ชื่อไทยเข้ากับหนังมากเพราะพอได้ดูฉากนั้นแล้วก็คิดเลยว่าคงจะเจ็บลึกจริง ๆ  )

The Isle เป็นตัวอย่างที่ดีของเอกลักษณ์ประการหนึ่งในหนังของ คิม คี-ด็อค นั่นคือการที่เรื่องราวมักจะดำเนินเรื่องในสถานที่ที่เดียว และมักเป็นสถานที่ที่ห่างไกลร้างไร้ผู้คนเสมือนเป็นการสร้างโลกชายขอบของตัวละครขึ้นมา อย่างในเรื่องนี้ก็คือแพกลางทะเลสาบซึ่งให้บรรยากาศที่ทั้งงดงามและลึกลับในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ The Isle ยังเป็นหนังเรื่องแรกที่มีตัวละครนำหญิงแบบเดี่ยว ๆ ที่โดดเด่นและถูกสร้างให้เป็นตัวละครใบ้ที่ไม่พูดอะไรเลยตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งการสร้างตัวละครที่ไม่พูดนี้คิม คี-ด็อคได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่ได้ดูหนังพูดฝรั่งเศสของ Leos Carax ที่ปารีสและพบว่าตัวเองสามารถเข้าถึงและเข้าใจในตัวหนังได้เป็นอย่างดีทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศสเลย ทำให้เขาเชื่อว่าหนังนั้นมีภาษาของตัวเองและพัฒนาแนวคิดนี้จนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในที่สุด

The Isle ได้รับรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเทศกาลหนังแฟนตาซี บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้ถูกคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ ประเทศอิตาลี (ซึ่งในเวลาต่อมาภาพยนตร์เรื่อง Pietà (2012) ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสิงโตทองคำจากเวทีนี้ในที่สุด) ว่ากันว่าในวันที่ฉายหนังเรื่องนี้ที่เวนิซมีผู้ชมบางคนถึงขนาดเป็นลมหรือไม่ก็อ้วกพุ่งกลางโรงหนังกันเลย

Bad Guy (2001) – โคตรเลวในดวงใจ

‘ฮัน-กิ’ แมงดาหนุ่มที่ตกหลุมรัก ‘ซุน-วา’ นักศึกษาสาวจนตัดสินใจล่อลวงเธอมาเพื่อเป็นโสเภณีเพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น (นี่มันพล็อตอะไรกันเนี่ย!) หนังมีฉากเปิดสุดประทับใจ เปิดมาด้วยพระเอกที่แต่งชุดดำทะมึนแล้วเดินกินไส้กรอก (ที่หน้าตาเหมือนไส้กรอกอีสานบ้านเรา) ก่อนที่จะไปนั่งข้าง ๆ นักศึกษาสาวและตัดสินใจจูบเธออย่างดุเดือดโดยไร้ซึ่งสัญญาณใด ๆ แต่แล้วก็โดนสาวเจ้าตบหน้าและถ่มถุยไปหนึ่งที (คาดว่าเธอคงโกรธและเหม็นไส้กรอกที่ชายหนุ่มเพิ่งทานไป)

Bad Guy นำแสดงโดย โช แจ-ฮย็อน ที่มาพร้อมมาด โหด ดุ ดิบ เป็นคนที่ดูไม่เป็นมิตรและไม่น่าเข้าไปคบหาสมาคมด้วยประการทั้งปวง แต่เวลาที่เขาได้เฝ้ามองหญิงสาวที่เขาหลงรักแล้ว แววตาของเขากลับบริสุทธิ์และอ่อนโยน หนังเรื่องนี้ใช้เอกลักษณ์เดิมด้วยการให้ตัวละครตัวนี้ไม่พูด (จริง ๆ แล้วพูดได้แต่มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ตัวละครเลือกที่จะไม่พูดซึ่งเกี่ยวข้องกับรอยแผลเป็นรอยใหญ่ที่ลำคอของเขาซึ่งผู้ชมจะได้รู้สาเหตุในตอนท้าย ๆ ของเรื่อง) การที่ตัวละครไม่พูดนั้นได้ช่วยขับเน้นการกระทำ สีหน้าและท่าทางของตัวละครให้โดดเด่นและมีพลังมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ใน Bad Guy ก็ยังมีการใช้ภาพวาดของเอกอน ชีเลอมาเป็นแรงบันดาลใจในการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อความหมายอีกด้วย

การจัดองค์ประกอบภาพจากแรงบันดาลใจในภาพวาดของเอกอน ชีเลอ

นอกจากนี้ ซอ วอน (Seo Won) นักแสดงนำหญิงจากหนังเรื่องนี้ยังได้รับรางวัล Grand Bell Awards ของเกาหลีใต้ อีกทั้งหนังยังถูกคัดเลือกให้ไปฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินประเทศเยอรมนีอีกด้วย

Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) – วงจรชีวิต กิเลสมนุษย์

หนังที่สงบและลุ่มลึกที่สุดของคิม คี-ด็อค เรื่องราวของเณรน้อยที่อาศัยอยู่กับพระชรา ณ กุฏิกลางน้ำท่ามกลางขุนเขา ชีวิตของทั้งคู่หมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายไปตามฤดูกาล ก่อกำเนิด ซุกซน ลุ่มหลงในตัณหาราคะ เรียนรู้สัจธรรมแห่งวัฏฏะแลฤดูกาลผ่านรสชาติของชีวิต

ความดีงามของหนังเรื่องนี้คือ ปรัชญาอันลุ่มลึกที่หนังได้ฝากเอาไว้บนการดำเนินเรื่องที่เรียบง่ายผ่านแต่ละฤดูกาลของธรรมชาติและฤดูกาลของชีวิต ฤดูใบไม้ผลิเป็นตัวแทนของวัยเยาว์ที่ยังเขลาและซุกซน ฤดูร้อนแทนความร้อนรุ่มในตัณหาราคะของหนุ่มสาว ฤดูใบ้ไม้ร่วงแทนความโรยรา ผิดหวัง และการจากลา ส่วนฤดูหนาวคือช่วงเวลาแห่งการทบทวนความเป็นมาของชีวิตเพื่อแตกยอดอ่อนแห่งความรู้ในฤดูใบไม้ผลิของวงรอบถัดไป เพื่อพบกับการก่อกำเนิดใหม่อีกครั้ง และทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองที่งดงามและองค์ประกอบทางภาพยนตร์ที่สอดประสานเรียงร้อยอย่างกลมกล่อมลงตัวราวกับบทกวีชั้นดี

Samaritan Girl (2004) – บาปรัก บาดลึก

Samaritan Girl เล่าถึง 2 สาวเพื่อนซี้ ‘ยอ-จิน’ และ ‘แจ-ยอง’ ที่ต้องการรวบรวมเงินเพื่อไปเที่ยวยุโรปด้วยกัน แจ-ยองคือเด็กสาวที่มาพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มเปี่ยมความบริสุทธิ์ผู้มีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการมีเซ็กส์นั้นคือการมอบความสุขให้กับผู้อื่น ดั่งเช่น ‘วสุมิตรา’ โสเภณีอินเดียที่หากชายใดได้ร่วมรักกับเธอแล้วนั้นจะสามารถเข้าถึงและบรรลุซึ่งธรรมอันล้ำเลิศได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจใช้ร่างกายของเธอมอบความสุขให้กับชายหนุ่มเพื่อแลกกับเงินที่จะได้ใช้ท่องเที่ยวด้วยกันกับยอ-จิน ลูกสาวตำรวจเพื่อนรักของเธอที่ทำหน้าที่ในการดูต้นทาง แต่แล้ววันหนึ่งความผิดพลาดก็ได้เกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้แจ-ยองต้องถึงกับเสียชีวิต ยอ-จินจึงตัดสินใจไถ่บาปในครั้งนี้ด้วยการไปมีเซ็กส์กับลูกค้าทุกคนของเพื่อนรักของเธอ จนพ่อผู้เป็นตำรวจเริ่มสงสัยถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกสาวอันนำไปสู่การคลี่คลายในความสัมพันธ์อันมีช่องว่างระหว่างทั้งคู่ในที่สุด

หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดปัญหาเรื่องโสเภณีเด็กได้เป็นอย่างดีและสะท้อนภาพของปัญหาออกมาให้คนเป็นผู้ปกครองได้ใคร่ครวญครุ่นคิดว่าจะดูแลและเป็นที่พึ่งพิงทางกายและใจให้กับลูกของตัวเองได้อย่างไรเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ นานาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนได้

และ Samaritan Girl ได้ทำให้คิม คี-ด็อคได้รับรางวัลครั้งสำคัญในเส้นทางการเป็นผู้กำกับนั่นคือ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินประเทศเยอรมนี

3-Iron (2004) – ชู้รัก พิษลึก

‘เท-ซุก’ ชายหนุ่มไร้บ้านที่ขี่มอเตอร์ไซต์ตามหาบ้านที่ไม่มีใครอยู่ด้วยการใช้โบรชัวร์ติดไว้ที่ประตูบ้าน หากโบรชัวร์นั้นมันยังอยู่เหมือนเดิมแสดงว่าบ้านนั้นไม่มีคนอยู่ (อย่างน้อยก็สักพักนึง) และเขาก็จะเข้าไปอยู่อย่างเงียบ ๆจัดการซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายในบ้านหลังนั้น ซักผ้าซักผ่อนให้ และเซลฟี่คู่กับรูปภาพเจ้าของบ้าน วันหนึ่งเท-ซุกได้เข้าไปอยู่ในบ้านหลังโตแห่งหนึ่งที่เขาคิดว่าไม่มีคนอยู่ แต่แท้ที่จริงแล้วมี ‘ซุน-วา’ หญิงสาวผู้บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจจากการมีสามีที่ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่และไร้ซึ่งความอ่อนโยนกับเธอ ซุน-วาได้ตัดสินใจเดินทางไปกับเท-ซุกผ่านพบรายละเอียดในแต่ละบ้านที่ได้ทำให้ผู้ชมอย่างเราครุ่นคิดถึงความหมายของคำว่าครอบครัว ในตอนกลางเรื่องหนังฉีกไปในทางที่ชวนเหวอและทำให้คนดูต้องอุทานในใจว่าเรื่องมันมาถึงจุดนี้ได้ไงวะเนี่ย !! ไม่อยากสปอยล์อยากรู้ต้องดูเองครับ

3-Iron เป็นหนังที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวออกมาได้อย่างมีเสน่ห์และแปลกใหม่ หนังเรื่องนี้มีชื่อเกาหลีว่า ‘Bin-Jip’ แปลว่า บ้านที่ไร้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อถึงหัวใจของหนังที่ว่าด้วยเรื่องความหมายของคำว่าบ้านและครอบครัว ส่วน 3-Iron ซึ่งเป็นชื่อสากลของหนังนั้นคือชื่อของไม้กอล์ฟเบอร์สามซึ่งเป็นไม้ที่ถูกลืมและไม่ค่อยจะถูกนำมาใช้เท่าไหร่ในการเล่น เปรียบกับตัวละครเท-ซุกและซุน-วาที่มีความสำคัญแต่ไม่มีความหมายในสายตาของผู้อื่น  

หนังเรื่องนี้แค่เห็นโปสเตอร์เชื่อว่าทุกคนก็คงอยากดูแล้วเพราะมันช่างล้ำลึกเหลือร้าย และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่คิม คี-ด็อคได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมแต่เปลี่ยนเวทีมาได้ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซประเทศอิตาลี

The Bow (2005) – ปรารถนา เปิดหัวใจ

ชายชราที่เลี้ยงต้อยเด็กสาวไว้เพื่อหวังจะแต่งงานกับเธอเมื่อเธออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันบนเรือเล็ก ๆ กลางทะเลที่ให้บริการล่องเรือและตกปลาแก่นักท่องเที่ยวโดยมีบริการพิเศษคือ การยิงธนูเพื่อทำนายอนาคตจากเด็กสาว ทั้งคู่ใช้ชีวิตด้วยกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลานานจนเกือบจะถึงวันวิวาห์ แต่แล้วไอ้หนุ่มหล่อจากเมืองกรุงก็เข้ามาทำให้ฝันหวาน ๆ ของชายชราเป็นอันต้องพังทลาย

The Bow เป็นหนังอีกเรื่องที่เรื่องราวเกิดขึ้นบนสถานที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ก็คือบนเรือลำเล็ก ๆ กลางนาวากว้างใหญ่มีตัวละครไร้ชื่อที่เราเรียกว่า ชายชรา เด็กสาว และเด็กหนุ่มเป็นผู้ดำเนินเรื่อง หนังสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันระหว่างการเป็นคนรัก-การเป็นพ่อ การใช้อำนาจ-และการให้อิสระ หนังให้แง่คิดของการเป็นคนรักที่ดีและในขณะเดียวกันก็ให้แง่คิดของการเป็นผู้ปกครองที่ดีด้วยเช่นกัน ความเรียบง่ายของหนังได้เปิดพื้นที่ให้เราเข้าไปตั้งคำถามลึกซึ้งของชีวิต นอกจากนี้ในหนังเรื่องนี้เรายังจะได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งงานของเกาหลีที่มีการแต่งกายด้วยชุดฟัลอด (Hwarot) อันเป็นชุดแต่งงานตามธรรมเนียมดั้งเดิมของเกาหลีที่ใส่กันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โกรยอและโชซอนอีกด้วย

Time (2006) – เวลา ความรัก และเราสอง

ถ้าพูดถึงเกาหลีใต้แล้วก็ย่อมนึกถึงการทำศัลยกรรม คิม คี-ด็อคผู้ทำหนังสะท้อนสังคมไหนเลยจะละเลยเรื่องประเด็นการทำศัลยกรรมไปได้ Time เป็นหนังที่พูดถึงเรื่องศัลยกรรมในสไตล์ชวนเหวอแบบคิม คี-ด็อค โดยเล่าเรื่องของ ‘เซ-ฮี’ หญิงสาวที่กำลังประสบปัญหาความรักจืดจางกับแฟนหนุ่มของเธอที่คบหากันมานานวันแล้ว เธอเริ่มรู้สึกว่าความสวยของเธอไม่อาจมัดใจชายหนุ่มได้เธอจึงตัดสินใจไปทำศัลยกรรมใบหน้าโดยไม่บอกชายคนรักของเธอ และแล้วเมื่อเธอกลับมาเขาก็จำเธอไม่ได้และตกหลุมรักเธอคนใหม่แทน การกลับกลายเป็นว่าเธอยิ่งเจ็บปวดมากกว่าเดิมเพราะเธอรู้สึกอิจฉาตัวเองและรู้สึกว่ากำลังถูกนอกใจจากชายคนรักและตัวเองที่มีใบหน้าใหม่ เพราะเธอไม่รู้แล้วว่าคนที่แฟนหนุ่มของเธอชอบนั้นคือตัวของเธอเองรึเปล่า

Time ได้สะท้อนถึงความย้อนแย้งของอัตตาและตัวตนได้อย่างลึกซึ้ง สิ่งใดกันแน่ที่บ่งบอกความเป็นตัวเรา ที่ใบหน้าหรือว่าสิ่งใดกันแน่ นอกจากนี้ ‘เวลา’ อันเป็นชื่อของหนังยังสะท้อนให้เราได้เห็นถึงสัจธรรมสำคัญของชีวิตที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผันตามกาลเวลาที่สิ่งต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์นั้นไม่อาจดำรงอยู่ได้ดังเดิม มนุษย์อย่างเราจึงควรที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับเวลาอย่างมีความสุข

Breath (2007)

Breath เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่มีชื่อว่า ยอน ซึ่งจับได้ว่าสามีของเธอกำลังนอกใจ เธอผิดหวังเสียใจและไม่รู้จะทำอะไรแล้ว จนได้พบกับข่าวของนักโทษคนหนึ่งที่พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เธอจึงตัดสินใจที่จะไปพบกับเขาที่เรือนจำ ยอนรู้สึกว่าการได้พบกับ ‘จางจิน’ นักโทษหนุ่มเป็นการเยียวยาบาดแผลในจิตใจของเธอ สำหรับนักโทษหนุ่มแล้วยอนเป็นเสมือนแสงสว่างที่เข้ามาในห้องหับอันมืดมิดในชีวิตของเขา สำหรับยอนแล้วนักโทษหนุ่มก็เป็นเสมือนกับภาพในอดีตของชายคนรักที่ช่วยเยียวยาบาดแผลในจิตใจจากการถูกนอกใจของเธอได้ นักโทษหนุ่มรับบทโดย ‘จางเจิ้น’ นักแสดงชื่อดังชาวไต้หวัน ซึ่งจางเจิ้นนั้นไม่สามารถพูดภาษาเกาหลีได้แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะว่าคิม คี-ด็อคได้สร้างตัวละครตัวนี้ให้เงียบงันไม่พูดอะไรตามสไตล์ของเขาอยู่แล้ว

Dream (2008)

ใน Dream คิม คี-ด็อคได้นักแสดงหนุ่มชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ‘โจ โอดางิริ’ มารับบทนำคู่กับ ‘อี นา-ยอง’ นักแสดงสาวชาวเกาหลี ในหนังเรื่องนี้ได้มีประเด็นร้อนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีฉากหนึ่งที่สร้างอันตรายต่ออี นา-ยองจนเกือบถึงแก่ชีวิต ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความรู้สึกผิดเป็นปมในใจของคิม คี-ด็อคจนมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Arirang’ ของเขาในเวลาต่อมา

Dream เป็นเรื่องราวของความผูกพันและการเชื่อมโยงกันอย่างมหัศจรรย์ระหว่างหนุ่มญี่ปุ่นและสาวเกาหลีที่ความฝันของฝ่ายหนึ่งนั้นจะส่งผลให้เกิดเป็นเรื่องจริงในชีวิตของอีกฝ่ายจนเป็นเรื่องเป็นราวในที่สุด ปรัชญาเรื่องของทวิลักษณ์ได้ถูกนำมาใช้ในหนังเรื่องนี้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น หยิน – หยาง ดำ-ขาว ความฝัน-ความจริง รวมไปถึง ญี่ปุ่น-เกาหลี  ทำให้หนังเรื่องนี้สามารถตีความได้ในหลายมิติ และทำให้เราให้อภัยกับความเซอร์ของหนังอย่างการที่โจ โอดางิริพูดภาษาญี่ปุ่นคุยกับตัวละครอื่น ๆ ที่พูดภาษาเกาหลีได้อย่างรู้เรื่อง เพราะนี่คงเป็นความตั้งใจของคิม คี-ด็อค ที่ชี้ชวนให้เราตีความควาหมายที่ซ่อนเอาไว้ในหนัง และหนังเองก็ได้ซุกซ่อนสัญญะเอาไว้มากมายให้คนรักหนังได้แกะได้แงะกันอย่างสนุก

Pietà (2012)

หนังรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสิงโตทองคำจาก เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ ว่าด้วยเรื่องของ ‘ลี คัง-โด’หนุ่มทวงหนี้นอกระบบสุดเถื่อนที่ไร้หัวใจที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวเพียงลำพังเพราะแม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตและบอกเขาว่าเธอคือแม่ที่ทอดทิ้งเขาไป ตอนแรกชายหนุ่มไม่เชื่อและทำเลวร้ายกับเธอต่าง ๆ นานาแต่ต่อมาหัวใจของเขาก็เริ่มอ่อนโยนลงและเปิดรับผู้หญิงคนนี้เข้ามาในชีวิตของเขา แต่ดูเหมือนว่ามีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของชายหนุ่มไปตลอดกาลตัวหนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานประติมากรรม ‘ปิเอตา’ ของมีเกลันเจโลที่เป็นรูปพระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขนซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่วล้อกับความสัมพันธ์ของตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้

Pietà ยังเป็นหนังที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของ คิม คี-ด็อค ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าหลายคนน่าจะชอบใจหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขามากกว่า แต่ดูเหมือนว่า Pietà  ได้มาในช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของคิม คี-ด็อคนั้นอยู่ในระยะสุกงอมอีกทั้งตัวหนังยังตั้งคำถามเชิงศีลธรรมได้อย่างลุ่มลึก มันจึงสมควรที่จะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซซึ่งถือว่าเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยได้รับมา

หนังของคิม คี-ด็อค ถึงแม้จะมีรสชาติแปลกแปร่งจากหนังเกาหลีโดยทั่วไปและมีความรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ชมหลายคนรู้สึกยี้ได้ในหลาย ๆ ครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเราใส่ใจดูหนังของเขาเราจะพบว่าความรุนแรง เรื่องราวทางเพศ และความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในหนังของคิม คี-ด็อคนั้นมีสาระสำคัญบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งมันได้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เรามองความจริงในมุมมองที่แตกต่าง ก่อนที่จะพบว่ามีความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ในหลืบมุมที่เราละเลยไปและเมื่อสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นความมืดมนในหนังของเขากลับกลายเป็นแสงสว่างที่ส่องให้เราได้เข้าใจในเพื่อนมนุษย์และได้ขบคิดถึงสัจธรรมของชีวิตนี้ได้เป็นอย่างดี

หากใครสนใจเรื่องราวของคิม คี-ด็อคและหนังของเขาสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ‘คิม คี-ด็อค แกะดำของหนังเกาหลี’ โดย คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง และ วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ภาพสะท้อนของสตรีเกาหลีจากการสร้างตัวละครนำหญิงในภาพยนตร์ของ คิม คี-ด็อค’ โดย ธีรพงศ์ เสรีสำราญ สามารถเข้าไปโหลดมาอ่านได้จากฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ

R.I.P. ‘KIM – KI-DUK’ (1960-2020)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส