ช่วงนี้หากใครเปิดยูทูบอาจจะเคยเห็นเพลงแมชอัป (Mashup) ที่เป็นการนำเอาเพลงลูกทุ่งมาผสมกับเพลงร่วมสมัยซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงจากฝั่งอเมริกามายำขยำให้เข้ากันอย่างสนุกสนานและลงตัว หลายเพลงสนุกและฟังเพลินเกินห้ามใจเลยทีเดียว ซึ่งวัฒนธรรมการแมชอัปนี้ก็มีมานานแล้วและพบเห็นได้มากมายหลากหลายสไตล์บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจและได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว

แมชอัป (Mashup) คืออะไร

แมชอัป (บางครั้งเรียก bastard pop หรือ bootleg) เป็นงานสร้างสรรค์ชนิดหนึ่งซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของเพลงที่สร้างขึ้นโดยการผสมเพลงต้นฉบับ 2 เพลง โดยทั่วไปมักเป็นการเอาแทร็กร้องของเพลงหนึ่งมาผสมกับแทร็กบรรเลง (instrumental) ของอีกเพลงอย่างแนบเนียนจนราวกับเป็นเพลงต้นฉบับอีกเพลงหนึ่งเลยซึ่งบางครั้งอาจต้องมีการเปลี่ยนความเร็วเพลง จังหวะ และคีย์เพลงเพื่อให้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น และด้วยการที่งานแมชอัปเป็นการ “แปลงร่าง” (Transformation) เนื้อหาของต้นฉบับให้กลายเป็นงานในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากงานเดิม งานแมชอัปจึงได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องลิขสิทธิ์ภายใต้หลัก “การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use)” ของกฎหมายลิขสิทธิ์

ซึ่งการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) เป็นหลักข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright Act) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับการรักษาประโยชน์ของสาธารณชนที่จะได้รับจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำหนดให้บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้วัสดุหรือเนื้อหาของงานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ หากการใช้งานดังกล่าวเป็นการใช้งานอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม ใช้ในขอบเขตอันสมควรและสมเหตุสมผล ไม่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ไม่ทำให้กระทบกระเทือนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ การรักษาสมดุลของกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

ประวัติความเป็นมาของการแมชอัป

ตัวอย่างของการแมชอัปที่มีมากว่า 50 ปีแล้วนั้นอาจย้อนกลับไปที่อัลบั้ม ‘Pandemonium Shadow Show’ ในปี 1967 ของแฮรี นิลส์สัน (Harry Nilsson) ที่คัฟเวอร์เพลง “You Can’t Do That” ของเดอะบีเทิลส์ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการนำเอาเทคนิค “แมชอัป” มาใช้ในการบันทึกเสียงในสตูดิโอ การบันทึกเพลง “You Can’t Do That” ในเวอร์ชันของนิลส์สันเป็นผสมผสานเสียงร้องของเขาในบทเพลงฮิตของเดอะบีเทิลส์มากกว่าหนึ่งโหลและซ้อนทับกันลงไปในทำนองของเพลง “You Can’t Do That” ที่ก็ทำออกมาในรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน นิลส์สันได้ไอเดียการผสมผสานเพลงที่ซ้อนทับหลายเพลงเข้าด้วยกันเป็นเพลงเดียว ในตอนที่เขาเล่นคอร์ดบนกีตาร์ของเขาและรู้สึกสงสัยขึ้นมาว่าเพลงของเดอะบีเทิลส์กี่เพลงที่สามารถนำมาเล่นบนชุดคอร์ดเดียวกันนี้ได้ซึ่งเขาก็พบว่ามันมีจำนวนมากเลยทีเดียว และผลงานชิ้นนี้ก็ทำให้แฮรี นิลส์สันได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการแมชอัป

การแมชอัปได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เช่น อัลบั้ม ‘As Heard on Radio Soulwax Pt. 2’ ของ 2 ดีเจพี่น้อง Soulwax ที่เอาเพลงมากกว่า 45 เพลงมาผสมรวมกัน หรือบทเพลง “A Stroke of Genie-us” ของ Freelance Hellraiser ที่เอาเสียงร้องจากเพลง “Genie in a Bottle” ของ คริสตินา อากีเลรา (Christina Aguilera) มารวมกับเสียงกีตาร์จากเพลง “Hard to Explain” ของวง The Strokes

ในช่วงกลางปี ​​​​2000 กระแสการแมชอัปยิ่งได้รับความนิยมเมื่อมีซิงเกิลแมชอัปฮิตติดชาร์ตในชาร์ตเพลงกระแสหลักจำนวนมาก เช่น “Numb/Encore” ของ Linkin park และ Jay Z, “Boulevard of Broken Songs” ของ Party Ben, “Destination Calabria” ของ Alex Gaudino และ “Doctor Pressure” ของ Mylo รวมไปถึง ‘The Grey Album’ ของ  Danger Mouse ซึ่งเอาเสียงร้องจากเพลงของ Jay Z  ในอัลบั้ม ‘The Black Album’ มารวมกับแซมเปิลจากเพลงของเดอะบีทเทิลส์ในอัลบั้มชุด ‘The White Album’ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก

https://www.youtube.com/watch?v=yNPECkESPbU

สำหรับในไทยนั้นวัฒนธรรมการแมชอัปที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงนี้ก็คือการนำเอาเพลงลูกทุ่งคลาสสิกของไทยที่ได้รับความนิยมในอดีตและปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักของมิตรรักนักฟังเพลง เช่น “เป็นโสดทำไม”ของสุรพล สมบัติเจริญ “เงินน่ะมีไหม” พุ่มพวง ดวงจันทร์ “ขันหมากมาแล้ว” ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น มายำรวมกันกับเพลงอเมริกันร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่น “Uptown Funk” – Mark Ronson ft. Bruno Mars, “Bad Guy” – Billie Eilish, “Leave the Door Open” – Silk Sonic (Bruno Mars, Anderson .Paak) ซึ่งมักจะทำออกมาในรูปแบบที่นำเอาเสียงร้องของต้นฉบับเพลงลูกทุ่งไทยมาผสมกับท่วงทำนองและบีทของเพลงอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเข้ากันได้อย่างน่าทึ่ง โดยมีช่องที่ได้รับความนิยมและผู้คนติดตามเป็นจำนวนนวนมาก เช่น แชนเนลของ Jixsore , Ton Nutkit เป็นต้น

แมชอัปไทยลูกทุ่ง x อเมริกันร่วมสมัย

ต่อไปนี้คือตัวอย่างเพลงแมชอัปลูกทุ่งไทย x อเมริกันร่วมสมัย

ขันหมากมาแล้ว ( Uptown Funk ) – Mark Ronson ft. Bruno Mars x ไวพจน์ เพชรสุพรรณ

https://www.youtube.com/watch?v=61MYxJPj8Ws

ขันหมากมาแล้ว เวอร์ชัน Uptwon Funk เมื่อเอาเพลงแห่ขันหมากจาก ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ จากต้นฉบับที่มาพร้อมความเฮฮาสนุกสนานแบบไทย ๆ ถูกหลอมรวมเข้ากับจังหวะสนุก ๆ จากเพลงฟังก์ของมาร์ก รอนสันที่ฟีเจอริ่งกับบรูโน่ มาร์ ที่มิกซ์ใหม่ให้มีบีทแดนซ์เร้าใจขึ้น เสียงร้องขันหมากมาแล้วของไวพจน์และเสียงโห่ฮิ้วที่ล้อไปกับไลน์เบสแบบเด้ง ๆ กีตาร์ฟังก์สับ ๆ และเสียงเครื่องเป่าเร้าอารมณ์มันช่างเข้ากันดีจริง ๆ

เป็นโสดทำไม ( Peaches ) – Justin Bieber x สุรพล สมบัติเจริญ [Official Video]

https://www.youtube.com/watch?v=NGWU59JaiAo

แมชอัปคลิปยอดนิยมที่วันนี้ยอดวิวเฉียด 2 ล้านแล้ว กับการนำเอาเพลงลูกทุ่งยอดนิยม “เป็นโสดทำไม” ของราชาเพลงลูกทุ่ง ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ มาผสานกับบีทชิล ๆ ในสไตล์ lo-fi ฮิปฮอป จากเพลง “Peaches” ของจัสติน บีเบอร์ ชิลขั้นสุดจนทำให้ผู้ฟังบางคนถึงกับคอมเมนต์ว่าชิลฟังเพลินจนอยากเสียตัวเลยทีเดียว

นาคสั่งสีกา – ( Mask off ) – Future x ไวพจน์ / ทศพล

https://www.youtube.com/watch?v=Detm7AD5Vh4

เมื่อเพลงแห่นาคมาผสมกับบีทหน่วง ๆ ของดนตรี trap นี่คือความมันส์ขั้นสุด ที่จะมาเขย่าทุกผับให้สะเทือนเลือนลั่น (และไม่รู้ว่าจะมีใครเอาเวอร์ชันนี้ไปเปิดในงานบวชรึเปล่าเห็นภาพนาคใส่ชุดขาวสวมแว่นดำและเดินสโลว์โมชันมาแบบหนังแก๊งสเตอร์เลย)

ใจจะขาด  x Leave the Door Open Inst. – ศรเพชร ศรสุพรรณ, Bruno Mars, Anderson .Paak, Silk Sonic

https://www.youtube.com/watch?v=Br8qh1IwZsc

ไม่รู้มาแมชอัปกันได้ไง แต่ก็ต้องบอกว่าเข้ากันได้ดีอย่างน่าทึ่งและหวานเยิ้มแบบสุด ๆ เมื่อเพลงเจ็บโอดโอยในจังหวะสนุกของศรเพชร ศรสุพรรณ มาเจอกับท่วงทำนองเรโทรโซลที่นุ่มนวลสุด ๆ ของ Silk Sonic กลายเป็นบทเพลงคร่ำครวญใจจะขาดอันนุ่มนวลสุดสมูทฉ่ำ ๆ ฟังเพลินสุด ๆ ไปเลย

เงินน่ะมีไหม x bad guy – Billie Eilish x พุ่มพวง ดวงจันทร์

https://www.youtube.com/watch?v=L6NaUCaFcJk

เมื่อหนึ่งในเพลงฮิตของราชินีลูกทุ่งไทย ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ อันสนุกสนาน “เงินน่ะมีไหม” มารวมกับท่วงทำนองสุดแนวในเพลง “Bad Guy” ของบิลลี อายลิช เสียงร้องของพุ่มพวงบนบีทแบบมินิมอลและไลน์เบสอันหนึบเด้งและเสียงซินธ์อันมีสีสันเป็นอะไรที่เข้ากันดีเลยทีเดียวออกมาแล้วเท่ ๆ คูล ๆ ดาร์ก ๆ ดี

“แมชอัป” วัฒนธรรมแห่งการ “ข้ามพ้น”

ในมุมหนึ่งการทำเพลงแมชอัปด้วยการนำเอาเพลงลูกทุ่งคลาสสิกมาผสมผสานกับเพลงอเมริกันร่วมสมัย ก็คล้ายจะแสดงให้เห็นถึงตัวตนของวัฒนธรรมแมชอัป (mashup culture) และ การให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าเล็ก ๆ (micronarratives) อันเป็นลักษณะเด่นของโลกยุคโพสต์-โมเดิร์นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ วัฒนธรรมการ แมชอัปนั้นถูกมองว่าเป็นตอบโต้ต่อภาพใหญ่ของบริบททางวัฒนธรรม สถาบันและเทคโนโลยี หรือเรื่องเล่าหลัก / เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ (grand narrative) อันเป็นเรื่องเล่าจากส่วนกลาง กลุ่มทุน หรือความเชื่อหลักในสังคม ด้วยการสร้างวัฒนธรรมย่อยและวัฒนธรรมผสมผสานออกมาเพื่อต่อรองความหมาย เช่นเพลงลูกทุ่งไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีของสังคมไทย บวกด้วยตัวเลือกเพลงที่นำมาแมชอัปซึ่งเจาะจงที่ลูกทุ่งคลาสสิกอันเป็นบทเพลงในอดีตจึงเพิ่มมิติของการเป็นสิ่งที่อยู่ในบริบทของอดีตด้วย แต่เมื่อถูกนำมา แมชอัปกับเพลงอเมริกันร่วมสมัยอันมีแนวดนตรีฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ฟังก์ โซลซึ่งเป็นแนวที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในปัจจุบัน (ซึ่งก็เป็นแนวดนตรีที่มีมานานแล้วแต่กลับมาได้รับความนิยมอย่างยิ่งในปัจจุบันด้วยการปรับมาสู่ความร่วมสมัย) ได้ทำให้งานแมชอัปที่เกิดขึ้นข้ามผ่านขอบเขตของการเป็นวัฒนธรรมในอดีตและวัฒนธรรมย่อยในประเทศไทยให้เกิดความเป็นสากลใหม่ที่ข้ามพรมแดนทางกาลเวลาและวัฒนธรรม ทำให้เรื่องราวเล็ก ๆ ถูกเล่าขานออกไปในบริบทใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

ในช่วงเวลาปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษที่ 21 โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “โพสต์โมเดิร์น” (Postmodern) อันเป็นยุคที่ถูกเรียกว่า “ยุคแห่งการข้ามพ้น” (Trans-ism) โลกในยุคโพสต์โมเดิร์นเชื่อในเรื่องความหลากหลาย และการผสมผสาน อันหมายถึงการผสมกันระหว่างของ 2 สิ่ง หรือคุณลักษณะบางอย่างของสิ่งหนึ่งมาผสมอยู่ในคุณลักษณะของอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งในโลกทุกวันนี้อาจมองได้ว่าเรากำลังพัฒนาไปอีกขั้นในบางแนวคิดก็เรียกว่าเป็นยุค “โพสต์-โพสต์โมเดิร์น” ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแอดวานซ์ไปอีกขั้นหนึ่งจากแนวคิดยุคโพสต์โมเดิร์น (และกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าสามารถกำหนดเป็นความเป็นยุคได้อย่างแน่นอนหรือไม่) สำหรับการ “ผสม” ที่กล่าวมานั้นยุคนี้มองว่า การผสมกันนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการผสมกันระหว่างของ 2 สิ่งเท่านั้น แต่สามารถ “ก้าวข้าม” ออกจากปริมณฑลเดิมของตนเองไปปะทะสังสรรค์กับสิ่งที่อยู่ในปริมณฑลอื่น ๆ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง “การข้ามพ้นท้องถิ่น” (translocal) “การข้ามพ้นวัฒนธรรม” (transculturalism) หรือ “การข้ามพ้นสื่อ” (transmedia) ซึ่งการแมชอัปในรูปแบบที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ได้สะท้อนลักษณะเด่นของยุคแห่งการ “ข้ามพ้น” แห่งความเป็น “โพสต์โมเดิร์น” และ “โพสต์-โพสต์โมเดิร์น” ได้เป็นอย่างดี

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การ “ผสมผสาน” หรือการ “แมชอัป” นี้เกิดขึ้นจนเป็นวัฒนธรรมการ “ข้ามพ้น” ได้นั้นวัฒนธรรมดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตนับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดการมองวัฒนธรรมในลักษณะกว้างขวางและไร้พรมแดน ทั้งพรมแดนทางวัฒนธรรมและพรมแดนทางยุคสมัย เหมือนดังเช่นการที่คนรุ่นใหม่หันกลับไปมองบทเพลงลูกทุ่งในยุคเก่าด้วยมุมมองใหม่และเล็งเห็นว่าหลายบทเพลงที่เข้าขั้นคลาสสิกนั้น มี ’อารมณ์ร่วม’ บางประการที่สามารถผสานไปกับบทเพลง ‘ร่วมสมัย’ อีกทั้งยังเป็นความร่วมสมัยจากต่างแดนต่างวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งเมื่อจับมาผสมผสานกันแล้วกลับได้สิ่งใหม่ที่มีความลงตัวและถูกใจทั้งคนสมัยเก่าและคนสมัยใหม่เป็นการเลือนเส้นแบ่งของพรมแดนที่เคยมีมา สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพ การเห็นคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเส้นแบ่งที่กล่าวมานั้นยังถูกเลือนไปในมิติของการเป็นผู้สร้าง-ผู้เสพ ผู้ส่ง-ผู้รับอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงบทบาทของการเป็นผู้ใช้สื่อ-ผู้สร้างสื่อ

แต่เดิมแล้วเรามักอยู่ในบทบาทของการเป็น ผู้รับ-ผู้เสพที่เปิดรับผลงานจากผู้สร้างเพียงฝ่ายเดียว มิอาจต่อรองความหมายหรือไปร่วมสร้างสิ่งใดได้ เมื่อสารถูกกำหนดมาอย่างไรก็ต้องรับไปอย่างนั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันผู้รับสามารถตีความงานต้นฉบับในทิศทางใหม่และสร้าง ‘ตัวบท’ ชิ้นใหม่ขึ้นมาจากมุมมองของตนเอง และเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับกลายเป็นผู้ส่ง ผู้เสพกลายเป็นผู้สร้างและเผยแพร่ตัวผลงานชิ้นใหม่ออกไป เพื่อรับฟีดแบ็กกลับมาจากผู้รับในชุดที่ 2 (หมายถึงผู้ที่เข้ามาฟังงานแมชอัป) ที่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างตัวบทต่อไปด้วยการแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก กำหนดค่าความหมาย หรือการกำหนดทิศทางของตัวเนื้อหาในชิ้นต่อไปของผู้สร้าง เช่น การแสดงความคิดเห็นว่าควรเอาเพลงไหนมาแมชอัปกับเพลงไหนต่อไปซึ่งเราสามารถวัดความเห็นพ้องได้ว่าความคิดเห็นนี้มีผู้เห็นด้วยและต้องการเป็นจำนวนมากแค่ไหนจากยอดไลก์ที่เกิดขึ้นในคอมเมนต์นั้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถมองปรากฏการณ์นี้ได้ว่า การเป็นสินค้าหรือผลงานทางวัฒนธรรมในยุคแบบโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคลนั้นนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทำให้โลกของโพสต์-โพสต์โมเดิร์นนั้นเป็นโลกของเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้สื่อ (User-generated content) ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดความรู้สึกของการได้ควบคุม จัดการ สร้างความเกี่ยวโยงเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดอำนาจในการกำหนดความหมายและคุณค่ารวมไปถึงการมีส่วนร่วมทั้งในมิติของการสร้าง-เสพผลงานทางวัฒนธรรมเหล่านั้นได้อย่างมีมิติที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าในโลกแห่งวัฒนธรรมดิจิทัลอันมีอินเทอร์เน็ตเป็นดั่งสะพานเชื่อมหรือซูปเปอร์ไฮเวย์อันแข็งแรงนี้จะมีสิ่งน่าสนใจใดเกิดขึ้นอีกอันจะนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในอัตลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ไร้พรมแดน

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส