ชีวิตของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับ ฉลาดเกมส์โกง และ ‘One for the Road’ ก็ไม่ต่างกับม้วนฟิล์มที่วิ่งผ่านหนามเตย และถูกบันทึกไว้เป็นภาพและเรื่องราวที่น่าสนใจ บาสเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับภาพสำคัญ ๆ ในชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพของม้วนเทปหนังมาเฟียในวัยเด็ก ที่ทำให้เขาอยากกลายมาเป็นผู้กำกับ ภาพของการโบกมือลาชีวิตในบ้านเกิด เพื่อเดินทางตามหาฝันที่นิวยอร์ก หรือภาพที่เขาฝันว่า วันหนึ่งจะได้หยุดพักจากการกำกับภาพยนตร์ หันมาชงเหล้าหลากหลายชนิดในฐานะบาร์เทนเดอร์อย่างจริงจัง

ภาพทั้งหมดคือเรื่องราวจากความทรงจำในชีวิตของบาส ที่วันนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสตัวตนที่ลึกขึ้น และเป็นแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยเห็นเกี่ยวกับผู้ชายคนนี้

‘หนัง’ ในวัยเด็ก

นัฐวุฒิ: เรื่อง ‘Goodfellas’ ของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เป็นหนังมาเฟียปี 1990 ซึ่งเราดู ตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 11 ขวบ ถ้าจำไม่ผิด แล้วก็มันเป็นที่มีเสน่ห์จนทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีจากหนัง ทำให้อยากประกอบอาชีพผู้กำกับหนังตั้งแต่ตอนนั้น อีกเรื่องคือ ‘The Godfather’ แต่ว่าอย่าง ‘The Godfather’ สำหรับเรามันคือตำราของการทำหนังที่มันครอบคลุมศาสตร์ทุกสิ่งอย่าง ส่วน ‘Goodfellas’ อย่างที่บอกว่ามันไปโดนเส้นบางอย่างบนตัว ก็เลยค่อนข้างประทับใจ 2 เรืิ่องนี้เป็นพิเศษ ถ้ามีโอกาส ถ้ามี story หรือตัวละครที่น่าสนใจ ก็ไม่ปฏิเสธที่จะลองทำหนังมาเฟียแบบนี้ น่าลองเหมือนกัน

การทิ้งทุกอย่างเพื่อไปตามหา ฝัน

นัฐวุฒิ: จริง ๆ ตอนเราไป ตอนนั้นอายุ 25 ไม่รู้จะยังเรียกตัวเองว่าวัยรุ่นได้หรือป่าว แต่ว่ามันก็ผ่านการทำงานในเมืองมาประมาณหนึ่ง ตอนที่เราอยู่เมืองไทยเราทำงานวงการโฆษณา มันมาถึงจุดที่เริ่มถามตัวเองว่า “มันคือสิ่งที่เราอยากทำไปตลอดชีวิตหรือยัง” หมายถึงการทำโฆษณา เราตั้งคำถามกับความฝันที่มีมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ที่บอกว่า “อยากเป็นผู้กำกบหนัง” ทำไมเราไม่ลองพยายามจะค้นหาความฝันการเป็นผู้กำกับหนังอีกครั้งหนึ่ง มันเลยนำไปสู่การตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในไทย หน้าที่การงานที่เหมือนจะโอเคในช่วงเวลานั้น ชีวิตที่นี่ แล้วก็ตัดสินใจขายทุกอย่าง

ชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตาม ฝัน

นัฐวุฒิ: มันก็มีช่วงเฟลนะ มันเป็นเรื่องปกติของการวิ่งบนเส้นทางอะไรพวกนี้ มันก็มีช่วงที่อยากจะยอมแพ้ เหมือนกัน คือมันมาเจอกับเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เราไม่ได้คาดหวัง เช่น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว พอไปอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็เริ่มถามตัวเองว่า “คุมแล้วจริงหรอวะ” แต่สุดท้ายสิ่งที่ยังทำให้เรายังอยู่ได้ แล้วไม่ยอมแพ้ ทุกสิ่งอย่างมันคือความรักในภาพยนตร์ ที่มันเข้มข้นสะจนคิดกับตัวเองว่า ถ้าไม่ทำสิ่งนี้ ก็ไม่อยากทำสิ่งอื่นแล้ว ความรู้สึกนี้มันทำให้อยากเรียนรู้ต่อไป

การใช้ชีวิตใน วันนี้ ยากกว่าในวันนั้นหรือเปล่า

นัฐวุฒิ: ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้การแข่งขันมันสูง มันสูงกว่าสมัยเราเป็นวัยรุ่นเยอะมากเหมือนกัน ความสามารถของเด็ก ๆ เองก็แล้วแต่ มันทำให้ผู้เล่นมันเยอะ ไม่พอยังมาเจอกับความยากในการใช้ชีวิตหลาย ๆ อย่าง ในสังคมแบบไทย ๆ สุดท้ายแล้วเราจะบอกทุกคนว่า บางทีชีวิตไม่ได้เหมือนวิ่งแข่งขนาดนั้น สำหรับเราชีวิตมันเหมือนวิ่งออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ หมายถึงว่าวิ่งด้วยก้าวที่ไม่ทำให้เราเหนื่อยจนเกินไป เรายังมีเวลาชื่นชมสิ่งรอบข้าง เรายังมีเวลาที่จะหายใจ พักดื่มน้ำ มีแรงแล้วเราก็วิ่งใหม่ แต่ว่าอย่างน้อยในระหว่างทำสิ่งเหล่านั้นต้องไม่ลืมว่าจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ในใจมันคืออะไร เราว่าเรื่องนั้นสำคัญกว่า

กรุงเทพฯ VS นิวยอร์ก

นัฐวุฒิ: มันก็มีความคล้ายและความต่างเยอะเหมือนกันนะ กรุงเทพฯ กับนิวยอร์ก แต่เราว่ากรุงเทพฯ มีชีวิตกว่า นิวยอร์กมันก็มีความกระจุกในแบบของมัน แต่ถ้าเราออกไปนอกเมืองในตอนกลางคืน ไปควีนส์ ไปบรุกลิน ความมีชีวิตชีวาหรือไลฟ์สไตล์มันไม่ได้จัดจ้านเหมือนกรุงเทพฯ อันนี้จากประสบการณ์ที่เราเจอมา ที่สำคัญอีกอย่างคือกรุงเทพฯ มันมีคนที่เรารัก นิวยอร์กมันก็โอเคแหละกับการไปใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าให้ค่ากับอะไร อย่างเราในวัยนี้ต้องการใช้ชีวิตกับครอบครัว ใช้ชีวิตกับเพื่อนฝูงคนสนิทที่เรารัก ที่เราให้ค่าเขา เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ ตอบโจทย์มากกว่า

ตอนสมัยวัยรุ่นเคยคิดนะ เคยแพลนว่า หาทางให้ชีวิตในนิวยอร์กมันเวิร์ก แล้วก็ใช้ชีวิตไปเลยยาว ๆ ดีไหม? แต่ถ้าถามตอนนี้ เราอยู่ที่ไหนก็ได้ว่ะ ขอให้ได้ทำสิ่งที่รักอยู่ นั่นคือ ‘การทำภาพยนตร์’ เพราะฉะนั้นสถานที่ไม่ได้สำคัญกับเราขนาดนั้น

ค้นพบ แพสชัน’ ในทุกวันนี้ได้อย่างไร

นัฐวุฒิ: มันคือการพยายามหาที่ทางให้ตัวเองในการทำสิ่งเหล่านี้ หมายถึงว่านอกเหนือจากอาชีพการกำกับภาพยนตร์ ทำโฆษณา หรืออะไรก็แล้วแต่ เรามักจะใช้คำว่า ‘ธุรกิจเสริม’ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ บาร์ หรือจะเป็นร้านขายโปสเตอร์หนังเองก็ตาม แต่ทุกสิ่งอย่างมันยังคงวนกลับไปเรื่องเดิม คือเรื่องความรักที่มีต่อศาสตร์ของภาพยนตร์ มันเลยรู้สึกว่าไม่ทรมาน รู้สึกว่าการทำงานนี้มันทำให้เรามีความสุข แล้วมันเป็นงานอดิเรกของเราด้วยในเวลาเดียวกันถ้าทุกสิ่งอย่างมีจุดเริ่มต้นจากความชอบของเรา จะทำให้การตื่นเช้าวันจันทร์มันไม่ทรมานเกินไป

ประสบการณ์ ‘หว่อง ที่ได้รับจากการร่วมงานกับ หว่องกาไว’

นัฐวุฒิ: จริง ๆ มันมีความต่อสู้ค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้ไปตบตีกับเขานะ มันคือการงัดกันทางด้านความคิด ความเชื่อ สิ่งที่เราเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดในฐานะผู้กำกับ กับสิ่งที่เขาเรียนรู้ในฐานะคนทำหนัง แล้วพอมันต้องมาทำงานด้วยกัน ในช่วงแรก ๆ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ‘ไม่ลงรอย’ กันสูง แต่ว่าเราในฐานะนักเรียนในคลาสของเขา เขาคืออาจารย์ที่ให้โจทย์เรา ตัวเราเองก็ต้องพร้อมที่จะปรับ ประสบการณ์ตรงนี้โดยที่ต้องพยายามตีมือตัวเองและบอกตัวเองตลอดเวลาว่า ยังไงก็ได้ มึงห้ามสูญเสียตัวเองในฐานะคนทำหนัง ช่วงแรก ๆ มันมีความขุรขระค่อนข้างเยอะ แต่พอผ่านช่วงนั้นมาได้ เริ่มเข้าใจกัน เริ่มรู้จักกันเยอะขึ้น จับจังหวะกันได้มากขึ้น ก็ดีขึ้น และสุดท้ายเขาคืออาจารย์ประจำชั้นที่อาจไม่ได้ใจดีเหมือนที่เคยเจอมา แต่ว่าสิ่งที่เขาพยายามสอนแลกมากับช่วงเวลาที่เราใช้ในการต่อสู เราว่ามันก็คุ่มค่า จนถึงวันนี้นะ มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกไม่เสียดายด้วยซ้ำ

เมื่อนึกถึง ‘หว่องกาไว’ นึกถึงอะไร

นัฐวุฒิ: ‘สัญชาตญาณ’ พอพูดถึงหว่องกาไวเรามักจะนึกถึงคำว่าสัญชาตญาณค่อนข้างเยอะ หมายถึงว่ากรอบความคิด หลักสูตรการทำหนัง ในทุกตำราเรียนที่แม่งมีอยู่ในโลกนี้ใช้กับเขาไม่ได้ เขาใช้ความรู้สึกล้วน ๆ เป็นหลักในการทำงาน ดูได้จากงานที่เขาทำ ดูได้จากสิ่งที่ฟังคนเล่ามาไม่ว่าจากคนรอบตัวเขา หรือคนที่เคยทำงานกับเขา หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและทำลายทุกอย่างที่แพลนมา จริง ๆ การทำหนังคือการแพลน มันเป็นการแพลน ที่ผ่านการวางแผนด้วยกันระหว่างผู้ช่วยผู้กำกับ ทีมงาน ฝ่ายต่าง ๆ แต่เขาแม่งเป็นคนที่ถ้าเขารู้สึกอะไร ในช่วงเวลาไหน เขาพร้อมที่จะทำลายแพลนเหล่านั้น เพื่อวิ่งตามสัญชาตญาณตัวเอง เราไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี อันนี้ไม่ตัดสิน พูดยาก แต่มันสอนให้เราเชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากขึ้น แล้วก็มันทำให้การถ่ายหนังเรื่อง ‘One for the Road’ มันมีอะไรบางอย่างที่เราหยิบมาจากเขา แล้วก็ทดลองใช้ แม้อาจจะไม่ 100% ทั้งหมด

ลายเซ็นของ ‘บาส นัฐวุฒิ’ ในวันนี้

นัฐวุฒิ: การนิยามตัวเองแม่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่เคยหยุดเพื่อตั้งคำถามให้กับตัวเองเหมือนกัน และเรารู้สึกว่าสิ่งนี้อาจจะต้องเป็นการตัดสินจากคนอื่นน่าจะดีกว่าตัวเอง เรามีความเข้าข้างตัวเอง หรือไม่เข้าข้างตัวเองอยู่เยอะ อย่างหว่องเราเชื่อว่าเขาก็คงไม่คิดหรอกว่าเขาทำหนังแบบ ‘หว่อง ๆ’ นึกออกไหม เขาคงทำในสิ่งที่เขาเชื่อ และสัญชาตญาณของเขา ในเวลาเดียวกัน ก็คล้าย ๆ กันเราก็ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อเหมือนกันก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราอาจจะทำงานเยอะ จนมีคนสามารถเอางานเราไปศึกษาและนิยามแทนได้ หวังว่านะ

‘หนัง’ ที่แทบไม่มีเวลาดู

นัฐวุฒิ: หลัง ๆ ต้องสารภาพว่าทำงานเยอะจนไม่ค่อยได้ดูหนัง แต่ถ้ามีโอกาสก็จะหาทางกลับไปดูหนังในโรง เราเป็นคนยุคเก่าและยังเชื่อว่าการไปดูหนังในโรง มันเป็นการให้ค่างานมากขึ้นเพราะเราต้องลงทุนออกจากบ้าน จ่ายเงินค่าตั๋ว จ่ายเงินค่าป๊อปคอร์น เสียเวลาเข้าไปนั่งโดยที่ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ไม่ได้ตอบรายงาน นั้นหมายความเราพร้อมที่จะเทใจให้กับประสบการณ์รับชมหนังเรื่องนี้ ซึึ่งถ้าหนังเรื่องนั้นให้อะไรเรามาเหมือนกันมันคือการแลกเปลี่ยนที่โครตคุ้มค่า และมันดีกว่าการนั่งดูสตรีมมิงที่บ้าน

ส่วนหนังที่รู้สึกว่าส่งผลกับเรามากจริง ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่อง ‘The Florida Project’ ซึ่งจริง ๆ มันนานแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าให้คิดเร็ว ๆ แล้วตอบเร็ว ๆ มันคือเรื่องนี้เลย ตอนนั้นก็ดูในโรงหนัง แล้วเรารู้สึกว่าช่วงเวลา 2 ชั่วโมง ที่เราหลุดไปอยู่ในโลกของหนังเรื่องนี้ ในความมืดของโรงหนัง ในสภาวะและโฟกัสแบบนั้น มันคือสิ่งที่ตอกย้ำว่า เวทมนตร์ของภาพยนตร์มันมีจริงว่ะ

ม้วนเทป’ และ ‘โรงหนัง’ ดูเหมือนสิ่งที่คุณชอบกำลังจะหายไปจากโลก

นัฐวุฒิ: ที่บ้านเราก็จะมี DVD แบบเรียงเป็นตับ แต่ตัวเราเองก็อยู่ในจุดที่เราขี้เกียจหยิบ DVD แล้วยัดใส่เครื่องแล้วดู แต่ในเวลาเดียวกันไม่ว่าจะเป็น DVD ไม่ว่าจะเป็นม้วน VHS ที่มันตั้งโชว์อยู่ เราว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนความทรงจำ ในวันที่เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำ ต่ออาชีพนี้ ต่อการเป็นคนทำหนังในวัย 40 กว่าปี ที่แม่ง “เหนื่อยชิบหายเลยว่ะ ไปทำอาชีพอื่นที่มันดีกว่านี้ ได้เงินเยอะกว่านี้ ดีไหมวะ” แต่การได้กวาดสายตาไปเจอม้วนเทปเหล่านั้น หรือ DVD แผ่นนั้น มันช่วยดึงความทรงจำ ณ ช่วงเวลาที่เราดูหนังเรื่องนั้นครั้งแรก แล้วมันทำอะไรกับเรา และมันทำให้เราอยากทำอะไรต่อไป เราว่านาน ๆ ทีได้ถูกกระตุ้นความทรงจำด้วยสิ่งเหล่านี้ มันดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสำหรับเราพวกฮาร์ดแวร์เหล่านี้มันเลยยังมีความหมายอยู่

เสน่ห์ของมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพวิดีโอ ต้องเข้าใจว่าในยุคนั้นการได้ดูหนังสักเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นมันคือการแชร์ช่วงเวลาและความทรงจำร่วมกันระหว่างคนในบ้าน หนังเรื่องไหนที่เราแล้วเราชอบมาก ๆ แล้วเราก็อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ อยากให้พี่น้องเราได้ดูและมีความสุขกับมันด้วยเหมือนกัน มันเป็นความทรงจำเหล่านั้นมากกว่า

จากวันนั้นสู่วันนี้ คุณยังเดินทางอยู่บน ถนนชีวิตเส้นเดิมหรือเปล่า

นัฐวุฒิ: เราว่ายังอยู่บนถนนเส้นเดิมเลย แค่เปลี่ยนยานพาหนะหมายถึงว่าก่อนหน้านี้อาจจะขับรถแข่ง ขับรถซิ่ง เน้นเครื่องแรง แต่การทำหนังเรื่องล่าสุด มันเหมือนเราปั่นจักรยาน เราได้มีเวลา slowdown ได้มีสติในการคิดทบทวนอะไรหลาย ๆ อย่าง ชื่นชมรอบข้าง ชื่นชมผู้คนที่เขาเดินบนถนนเส้นนี้กับเรา สำหรับเรามันจึงเป็นถนนเส้นเดิม แต่แค่เปลี่ยนวิธีการ

ฝัน วันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมไหม

นัฐวุฒิ: ไม่เปลี่ยน หรือแม้แต่การไปนั่งดู Copy A ของ ‘One for the Road’ เราก็ยังเห็นแต่บาดแผล เห็นแต่การตัดสินใจในฐานะผู้กำกับของเรา แต่ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพลังในการที่ทำให้เราอยากที่จะลงทุนเวลาชีวิตไปกับการทำหนังเรื่องต่อไป เพื่อทำให้เราเป็นผู้กำกับที่ค่อย ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่งั้นมันไม่มีความหมายเลยถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองเพอร์เฟกต์แล้ว มันจะไม่รู้ว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ไปต่อเพื่ออะไร

รับมือ ความเห็นที่แตกต่างของคนดูอย่างไร

นัฐวุฒิ: เราว่ามันคือศาสตร์แห่งการฟิลเตอร์ พอหนังฉายไปแล้ว มันไม่ใช่หนังของเราแล้ว เป็นหนังของคนดู การจ่ายเงินค่าตั๋ว หรือการใช้เวลา 2 ชั่วโมงในชีวิตมันคือการลงทุนของเขาที่มีต่อหนังเรื่องนั้นทั้งหมด เพราะฉะนั้นความคิดเห็นที่เขามีต่อหนังหรืองานที่เราทำ มันเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ แต่ในเวลาเดียวกันในฐานะผู้กำกับเราก็อยากจะรับรู้ทุกความคิดเห็น ถ้าเราเรียนรู้แล้วพัฒนาสิ่งที่เขาด่าเราในงานชุดนี้ได้ งานต่อไปในอนาคตเราอาจจะทำงานที่มันโอเคขึ้นกว่าเดิม แต่ว่าหัวใจสำคัญคือการไม่ได้ฟังมันทั้งหมดจนเราสูญเสียตัวตน สำหรับเราแล้วสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้อาชีพผู้กำกับเราแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต

ถ้าไม่ได้เป็นผู้กำกับ จะเป็นอะไร?

นัฐวุฒิ: เป็น ‘บาร์เทนเดอร์’ จริง ๆ ตอนที่จะเปิดบาร์เคยคุยกับพาร์ตเนอร์ คุยกับโปรดิวเซอร์ ว่า “เห้ย พี่ผมขอหยุดอาชีพผู้กำกับสัก 3 เดือน ได้ไหม ขอไปเรียนบาร์เทนเดอร์” ซึ่งเปิดมา 2 บาร์ แล้วก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำเลย คือถ้าวันหนึ่งมีโอกาสหรืองานน้อยลง หรือเรานิ่งขึ้น การลองทำบาร์เทนเดอร์อย่างจริงจัง ก็น่าจะเป็นอาชีพที่ดี

เราว่าหัวใจของบาร์เทนเดอร์ หรือการทำเครื่องดื่ม มันเหมือนการทำหนัง คือสุดท้ายแล้วอย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเราเอง เราทำให้ลูกค้า แล้วเราก็คาดหวังว่าเครื่องดื่มในมือเขาแก้วนั้น จะทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่าง ชอบ-ไม่ชอบ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องทำให้เวลาที่เขาใช้กับเรามันมีความหมาย

One for the Roadเปรียบใดดั่ง ค็อกเทลแบบไหน

นัฐวุฒิ: เราว่ามันเปรียบเป็นแก้วเดียวไม่ได้เหมือนกัน ด้วยความที่ว่าหนังเรื่องนี้มีเรื่องราวหลากหลาย แล้วก็มีตัวละครที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละเรื่องราวมันมีรสชาติที่ไม่เหมือนกัน เราเปรียบว่ามันเป็น ‘ค่ำคืนในบาร์’ มากกว่า ซึ่งคืนนั้นเราอาจจะจัดเครื่องดื่มมา 2 แก้ว แล้วประมาณนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส