แฟนหนังญี่ปุ่นเป็นอันต้องกรี๊ดและควรทำตัวให้ว่างอย่ารอช้า เพราะว่าเจแปนฟาวน์เดชันได้จัดเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะทำให้คุณได้ชมภาพยนตร์จากพื้นที่ปลอดภัยที่สุดนั่นก็คือในบ้านของคุณเอง! ไม่ต้องห่วงโควิด รถติด หรือว่าเรื่องวุ่นวายใจอะไรทั้งนั้น โดยจะมีหนังญี่ปุ่นดี ๆ หลากหลายรูปแบบทั้งภาพยนตร์หลากแนว สารคดี แอนิเมชัน และภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อดัง เปิดให้ชมฟรีแบบออนไลน์เพียงแค่สมัครสมาชิกแล้วคลิกบนภาพยนตร์ที่คุณต้องการชมจากรายการ (สามารถชมภาพยนตร์ได้ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากที่คลิกปุ่มเล่น) แค่นั้นคุณก็จะสามารถรับชมภาพยนตร์ที่สนใจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายพร้อมคำบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ แต่ว่าต้องรีบหน่อยนะเพราะเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นออนไลน์นี้จะเปิดให้ชมเพียงแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น! คือตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2565 เพราะฉะนั้นวันนี้ไปส่องหนังทั้ง 16 เรื่องกับเราก่อนเสร็จแล้วก็ไปลุยชมหนังดี ๆ เหล่านี้กันได้เลย !  

สามารถสร้างบัญชีผู้ใช้ได้ฟรีและเข้าไปเลือกชมหนังญี่ปุ่นดี ๆ ได้ที่นี่เลย https://jff.jpf.go.jp/watch/jffonline2022

เรามาส่องดูกันก่อนดีกว่าว่าหนังทั้ง 16 เรื่องนี้มีเรื่องอะไรและเป็นแนวไหนบ้าง  

พอลองสำรวจคร่าว ๆ แล้วจะพบว่าหนังทั้งหมดจะแบ่งออกได้เป็นหมวดย่อย ๆ 5 หมวดด้วยกันคือ หนังคลาสสิกสุดพิเศษ หนังย้อนยุค หนังวัยเยาว์ หนังในโลกของการทำงาน แอนิเมชัน และสารคดี  

หนังคลาสสิกสุดพิเศษสำหรับเทศกาลนี้ !

Rashomon” (1950)

กำกับโดย อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa)

“มนุษย์ชอบโกหก ผู้คนเขาไม่พูดความจริงกันหรอก”

เรื่องราวชวนฉงนของพยานในเหตุฆาตกรรมที่แต่ละคนให้การไม่ตรงกัน นี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เราตั้งคำถามว่า “ความจริงนั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือไม่ ?”

เมื่อศพของซามูไรผู้หนึ่งถูกพบอยู่บนภูเขา ภรรยาซามูไร ชาวบ้าน โจรป่าและพยานคนอื่น ๆ ที่เห็นการตายของเขา ต่างร่วมให้ปากคำต่อหน้าทางการ ทว่าเรื่องของแต่ละคนกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 1950 จากผลงานการกำกับของอากิระ คุโรซาวะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับการยกย่องว่าจักรพรรดิแห่งโลกภาพยนตร์ผู้ที่ทำให้โลกหันมาจับตาภาพยนตร์จากญี่ปุ่น

หนังเรื่องนี้คือต้นฉบับของการเล่าเรื่องเดียวกันจากต่างมุมซึ่งทำให้เป็นที่มาของคำว่า ‘Rashomon Effect’ รวมทั้งยังส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์อีกมากมายในยุคต่อมา อาทิ ‘Hero’ ของจางอี้โหมว หรือว่าเวอร์ชันดัดแปลงในสไตล์ไทย ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ผลงานการกำกับของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล

หนังย้อนยุค สัมผัสเรื่องราวของญี่ปุ่นในยุคโบราณ

“The Floating Castle” (2012) สงครามปราสาทโนโบ

กำกับโดย อิสชิน อินุโดะ (Isshin Inudo),ชินจิ ฮิงุจิ (Shinji Higuchi)

แม้จะเสียเปรียบด้วยกำลังพลที่มีเพียง 500 นาย ผู้บัญชาการผู้เด็ดเดี่ยวก็ยังตัดสินใจต่อสู้กับกองกำลังจำนวน 20,000 นาย ในสงครามอันตราตรึงจากยุคสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่น

หากกรีกมีตำนาน ‘300’ ญี่ปุ่นก็มีตำนานนักรบ ‘500’ นายเหมือนกัน กับเรื่องราวเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ฮิเดะโยชิ โทโยโตมิ ได้ออกคำสั่งให้กองกำลังบุกโจมตีปราสาทขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มต่อต้านกลุ่มสุดท้าย ภายในปราสาทเองก็มีการถกเถียงกันว่าจะยอมจำนนหรือไม่ แต่ผู้ครองปราสาทวัยหนุ่มที่ดูจะเสียสติในบางครั้งกลับตัดสินใจที่จะต่อสู้ แล้วผู้ครองปราสาทคนนี้แท้จริงแล้วเด็ดเดี่ยวจนไร้สติหรือเป็นอัจฉริยะกันแน่

จากประวัติศาสตร์อันตราตรึงของเหล่านักรบซามูไรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี ปัญญา ความกล้าหาญ และความรักที่มีต่อประชาชน มังไซ โนมูระ นักแสดงนำหลักของเรื่องถ่ายทอดการแสดงออกมาได้อย่างน่าขบขัน เดิมทีเขาเป็นนักแสดงละครพื้นบ้านญี่ปุ่นเคียวเก็น ด้วยทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายและการเต้นของเขา เขาสามารถถ่ายทอดบทบาทผู้ครองปราสาทสติเฟื่องออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยเรื่องราวอันเข้มข้นและฉากต่อสู้อันดุเดือด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามหลังการออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น

“Mio’s Cook Book” (2020) สูตรสำรับตำรับมิโอะ

กำกับโดย ฮารุกิ คุโดคาวะ (Haruki Kadokawa)

ย้อนกลับไปยังยุคเอโดะ หญิงสาวนาม มิโอะ ได้สร้างชื่อให้ตัวเองจากการเป็นแม่ครัว ขณะเดียวกันก็หวังจะได้กลับไปพบเพื่อนรักในวัยเด็กอีกครั้ง นี่คือเรื่องราวชุบชูใจเกี่ยวกับมิตรภาพและศิลปะในการทำอาหาร

พบกับเรื่องราวชีวิตสุดประทับใจผ่านฉากย้อนยุคของญี่ปุ่นกว่า 200 ปีก่อน ถ่ายทอดสายสัมพันธ์ของตัวละคร มิโอะ หญิงสาวผู้ทุ่มเทพลังชีวิตในการทำอาหาร และโนเอะ นางคณิกาลำดับสูงสุดของหอนางโลมในย่านโยชิวาระ ย่านอโคจรแห่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ยุคเอโดะ (ที่มีระยะเวลากว่า 200 ปีตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึง 19) เป็นช่วงเวลาที่สงบสุขและมีการสร้างรากฐานทางด้านวัฒนธรรมในญี่ปุ่น ความละเอียดอ่อนในการเตรียมอาหารแต่ละจานที่ถ่ายทอดผ่านทางภาพยนตร์เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นจิตวิญญาณของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า “อิคิ”

หลากสีสันของชีวิตวัยเยาว์

It’s a Summer Film !” (2021) (เกือบจะไม่ได้)ฉายแล้วหน้าร้อนนี้

กำกับโดย ซูชิ มัตสึโมโตะ (Soushi Matsumoto)

“ทำหนังกันเถอะพวกเรา!” เด็กสาวผู้คลั่งไคล้หนังซามูไรกับเด็กหนุ่มลึกลับที่มาร่วมกันสร้างหนังย้อนยุคที่จะก้าวผ่านห้วงเวลาและอวกาศ

เรื่องราวของ ‘เท้าเปล่า’ (นามแฝง) เด็กสาวผู้คลั่งไคล้ในหนังซามูไรยุคเก่า และเด็กหนุ่มปริศนาที่ตัดสินใจสร้างหนังย้อนยุคและเหนือการเวลาไปด้วยกัน ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวการก้าวข้ามวัย (Coming-of-age) ที่หยิบเอาหนังไซไฟมาผสมรวมกับความสดใสของวัยรุ่น วัยซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง นำแสดงโดย มาริกะ อิโตะ อดีตเมมเบอร์วงไอดอลชื่อดังที่ยังคงอยู่ในวงการศิลปิน ครั้งนี้เธอจะปรากฏตัวในบท ‘เท้าเปล่า’ เจ้าของความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะทำหนังย้อนยุคที่ฝันไว้ให้สำเร็จ

“Until the Break of Dawn” (2012) ต่อให้เราได้กลับมาเจอกัน

กำกับโดย ยูอิจิโระ ฮิราคาวะ (Yuichiro Hirakawa)

ถ้ามีโอกาสพบกับคนที่จากไปแล้วชั่วนิรันดร์ได้อีกสักครั้ง คุณจะเลือกพบใคร ภาพยนตร์ดราม่าที่ตั้งคำถามกับโลกหลังความตายพร้อมกับบอกเล่าความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์

อายูมิ นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่สูญเสียพ่อกับแม่ไปตั้งแต่ยังเด็กและอาศัยอยู่กับคุณย่าที่รับสืบทอดพลัง “ผู้สื่อสาร” ซึ่งตกทอดกันต่อมาภายในครอบครัว ได้รับคำร้องขอจากเพื่อนร่วมขั้นที่ต้องการพบกับเพื่อนสนิทที่จากไปด้วยเหตุผลและสถานการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว

ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้ตั้งคำถามกับโลกหลังความตายพร้อมกับบอกเล่าความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ ความต้องการอยากพบกับคนสำคัญที่จากไปตลอดกาลอีกครั้งด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่นเดียวกับความจริงในเรื่องราวของแต่ละคนที่ค่อย ๆ เปิดเผยออกมา จนนำไปสู่ข้อเท็จจริงอันเรื่องคาดไม่ถึงภายในครอบครัวของตัวอายูมิเอง พบกับ “โทริ มัตสึซากะ” หนึ่งในนักแสดงหนุ่มแถวหน้าของประเทศญี่ปุ่น และ “คิริน กีกิ” นักแสดงหญิงมากฝีมือเจ้าของผลงานการแสดงสุดประทับใจในภาพยนตร์ชื่อดังมากมายผู้จากไปในปี 2018 ที่มารับบทบาทของคุณย่าผู้สื่อสาร

“ReLIFE” (2017)

กำกับโดย คาเคชิ ฟุรุซาวะ (Takeshi Furusawa)

หากย้อนเวลากลับไปเป็นนักเรียนม.ปลายได้อีกครั้ง ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไร ภาพยนตร์ coming-of-age แหวกแนวเล่าเรื่องความรักที่เกิดขึ้นระหว่างการกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งด้วยจุดหมายใหม่

อาราตะ ชายหนุ่มอายุ 27 ปี ไร้งาน ไร้จุดหมาย ได้กลับไปเป็นวัยรุ่นอายุ 17 อีกครั้งเมื่อเขาถูกชวนเข้ากระบวนการ “รีไลฟ์” ที่เสนอโอกาสให้เขากลับไปเริ่มต้นชีวิตม.ปลายใหม่อีกครั้ง อาราตะได้พบเพื่อนใหม่ และตกหลุมรัก แต่ดูเหมือนว่าฤดูกาลแห่งความสุขนั้นผ่านไปในชั่วแวบเดียว และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็ลดน้อยลงทุกที

เรื่องราวความรักชุ่มชื่นหัวใจ แบ่งปันมุมมองที่ว่า บางทีการใช้ช่วงเวลาวัยรุ่นให้เต็มที่อาจเป็นตัวกำหนดว่าชีวิตจะเดินไปในทิศทางไหนก็เป็นได้ เซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่รออยู่ที่ปลายทาง ถ่ายทอดโดยกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่น่าจับตามองจากญี่ปุ่น ที่มารวมตัวกันเพื่อโปรเจกต์นี้ อาทิ เช่น นาคากาวะ ไทชิ, ชิบะ ยูได, ไทระ ยูนะ , อิเคดะ เอไลซา และ ทาคาซูกิ มาฮิโระ

AWAKE” (2020) อะเวค สมองกล-คน-โชกิ

กำกับโดย ยามะดะ อัตสึฮิโระ (Yamada Atsuhiro)

ศึกกำหนดชะตา ในเกมการดวลโชกิ (หมากรุกญี่ปุ่น) ระหว่างผู้เล่นโชกิมือโปรและผู้พัฒนาสมองกลบนคอมพิวเตอร์

ในปี 2015 ได้มีการจัดการแข่งขันโชกิ (หมากรุกญี่ปุ่น) ระหว่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์และผู้เล่นโชกิมืออาชีพขึ้นเป็นครั้งแรก ริคุ ผู้เล่นโชกิมืออาชีพรุ่นเยาว์มากพรสวรรค์ ได้รับข้อเสนอให้ลงแข่งกับคอมพิวเตอร์และเขาเองก็ไม่เกรงกลัวที่จะพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่เจ้าตัวไม่รู้คือผู้ที่พัฒนาโปรแกรมโชกิตัวนี้ขึ้นมาคือ เออิจิ ผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกร่วมกันในสมาคมโชกิ ที่ที่เด็กหนุ่มจากหลากที่มามาร่วมกันฝึกฝนและไต่เต้าสู่การเป็นผู้เล่นโชกิมืออาชีพ แต่เพราะอะไรเออิจิถึงได้ทิ้งความฝันในการเป็นผู้เล่นโชกิมืออาชีพและหันไปสนใจการพัฒนาโปรแกรมโชกิแทน

ภาพยนตร์ชวนลุ้นบอกเล่าเรื่องราวการก้าวข้ามผ่านช่วงวัย (Coming-of-age) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ที่นอกจากจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างคอมพิวเตอร์และมนุษย์แล้ว ยังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคู่อริคู่หนึ่งที่ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตจนนำไปสู่ศึกกำหนดชะตาของทั้งสอง ตัวภาพยนตร์ดำเนินเรื่องราวด้วยความตื่นเต้นชวนลุ้นระทึกเหมือนกับการรับชมภาพยนตร์กีฬา เออิจิ รับบทโดย เรียว โยชิซาวะ หนึ่งในนักแสดงญี่ปุ่นชื่อดัง และริคุ รับบทโดย ริวยะ วาคาบะ นักแสดงหนุ่มมากพรสวรรค์ ที่มีผลงานการแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง

“Ito” (2021) อิโตะ บันทึกไว้บนสาย(ทางเดิน)

กำกับโดย โยโกฮามะ ซาโตโกะ (Yokohama Satoko)

เด็กหญิงขี้อายจากบ้านนอกตัดสินใจทำงานหารายได้พิเศษที่ร้านเมดคาเฟ่ ที่ที่เธอต้องแต่งตัวเป็นสาวสุดน่ารักคอยให้บริการลูกค้า เรื่องราวความสนุกว่าด้วยการเป็นวัยรุ่นที่แสนแปลกใหม่และน่าประทับใจ

อิโตะ นักเรียนชั้นมัธยมปลายผู้เก็บตัวและไม่ค่อยมีเพื่อน ภายหลังจากที่เธอได้สูญเสียแม่ไป เธอก็ไม่ได้แตะต้องชามิเซ็น เครื่องดนตรีที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัวเธออีกเลย โชคชะตาพาให้เธอไปสมัครงานพิเศษที่ร้านเมดคาเฟ่โดยไม่ตั้งใจและได้รับการตอบตกลง ที่นั่นเองเธอได้พบกับรุ่นพี่ที่ทำงานที่มีบุคลิกเฉพาะตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นสาวรุ่นใหญ่แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือหญิงสาวที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูน การทำงานในที่ที่ผู้คนที่แวะเวียนมามีลักษณะที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อย ๆ ทว่าน่ารัก ก็ได้ทำให้อิโตะค่อย ๆ เปิดใจมากขึ้น และในที่สุดโอกาสที่เธอจะได้แสดงฝีมือการเล่นชามิเซ็นที่เธอเก็บไว้มานานก็มาถึง…

ชมเรื่องราวความสดใสของเด็กสาวที่เติบโตผู้กำลังจะก้าวออกจากกรอบของตัวเอง ความซาบซึ้งใจของสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ วัฒนธรรมเมดคาเฟ่ที่ทันสมัยและไม่เหมือนใครของโตเกียวที่จะมาสอดประสานกับดนตรีชามิเซ็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของอาโอโมริที่จะพาคุณไปสัมผัสความลึกซึ้งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ใน ‘อิโตะ บันทึกไว้บนสาย(ทางเดิน)’

หลากรสชาติในโลกของการทำงาน

“Happy Flight” (2008)  เที่ยวบินมหาสนุก

กำกับโดย ชิโนบุ ยางุจิ (Shinobu Yaguchi)

เหตุขัดข้องระหว่างเที่ยวบินจากโตเกียวไปยังโฮโนลูลู ! รวมเรื่องราวของกราวนด์สตาฟ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไปจนถึงเหล่านักบินที่ต้องฟันฝ่าความซับซ้อนและอุปสรรคของเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เป็นบททดสอบให้แก่พวกเขา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของปฏิบัติการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และเล่าเรื่องความเติบโตของเหล่าพนักงานหน้าใหม่ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและความลุ้นระทึก เนื้อเรื่องถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นจริงผ่านการค้นคว้าอย่างละเอียดเกี่ยวกับการทำงานบนเครื่องบินและพนักงานภาคพื้น รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และนำแสดงโดยดาราชั้นนำโดย ฮารุกะ อายาเสะ หนึ่งในนักแสดงหญิงชื่อดังจากญี่ปุ่น ที่ช่วยพาให้ภาพยนตร์เรื่องนี้บินไปเหนือชั้นบรรยากาศ และหากใครเคยประทับใจกับ “Waterboys” “Swing Girls” หรือ “Dance With Me” แล้วล่ะก็ไม่ควรพลาดอีกหนึ่งหนังดีจากผู้กำกับฝีมือดี ‘ชิโนบุ ยางุจิ’ คนนี้

“OZLAND” (2018)  ออซแลนด์ ดินแดนต้องความสุข

กำกับโดย ทาคาฟุมิ ฮานาโตะ (Takafumi Hanato)

ใครกันที่จะทำให้เหล่าแขกผู้มาเยือนสวนสนุกต้องมนต์แห่งรอยยิ้มได้? เรื่องราวการล้มลุกคลุกคลานของพนักงานใหม่ในสวนสนุกที่เปี่ยมทั้งสุขและทุกข์

ทั้ง ๆ ที่อุตส่าห์ได้เข้าทำงานที่เครือโรงแรมชั้นนำ แต่คูรูมิกลับถูกส่งไปยังสวนสนุกที่อยู่ไกลถึงจังหวัดคูมาโมโตะ แม้ว่าจะมีหัวหน้าที่เก่งจนได้รับฉายา “พ่อมด” และเพื่อนร่วมงานที่คอยต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่วัน ๆ กลับถูกให้ทำแต่งานจิปาถะ แทนที่จะได้วางแผนจัดงานอย่างที่ตั้งใจไว้ จนนับวันรอกลับโตเกียวแทบไม่ไหว จนกระทั่ง เธอได้ยินว่าถ้าได้เป็นพนักงานดีเด่น จะมีโอกาสได้กลับโตเกียว ในที่สุดก็มีกำลังใจตั้งใจทำงานสักที แต่ทว่า… นี่คือเรื่องราวของการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ค่อย ๆ เรียนรู้ความสำคัญของงานที่ทำอยู่ ท่ามกลางคนทำงานไฟแรง เป็นงานภาพยนตร์ที่สื่อถึงความสนุกในการทำงานที่ดินแดนแห่งความฝัน ผ่านทางบรรยากาศสดใสของสวนสนุก ผู้ชมจะได้ร่วมสุขไปกับตัวเอก ฮารุ ผู้รับบทคูรูมิ เป็นนักแสดงยอดนิยมที่ปรากฏในหลายเรื่อง และนักแสดงร่วม นิชิจิมะ ฮิเดโทชิ ก็เป็นหนึ่งในนักแสดงชั้นนำของญี่ปุ่นที่คร่ำหวอดในภาพยนตร์หลากหลายแนว

“The Chef of South Polar” (2009) พ่อครัวขั้วโลกใต้

กำกับโดย  โอกิตะ ชูอิจิ (Okita Shuichi)

ภาพยนตร์คลาสสิกจากญี่ปุ่น ตามติดชีวิตประจำวันหวานอมขมกลืนแต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเขตขั้วโลกใต้ สถานที่ที่มีความสุขสำราญสิ่งเดียวคือการกิน

ลบ 54 องศาเซลเซียส จุดที่แม้แต่เพนกวินยังอาศัยอยู่ลำบาก ผู้ชายแปดคนอาศัยอยู่ร่วมกันในฐานสังเกตการณ์ ณ ขั้วโลกใต้ พวกเขาต้องห่างจากครอบครัวเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี ความพึงพอใจสูงสุดที่พอจะหาได้คือการทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งสามมื้อ นิชิมูระ ผู้รับหน้าที่เป็นพ่อครัว พยายามเติมเต็มกระเพาะและหัวใจที่หิวโหยของเพื่อนร่วมทีม ด้วยการผสมผสานอาหารญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และจีนเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกของกลุ่มที่ยังหนุ่มแน่น การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่ห่างกันนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก และสมาชิกที่มีครอบครัวแล้วกังวลว่าครอบครัวจะไม่พอใจ ความอาลัยในบ้านเกิดก็มีแต่จะก่อตัวขึ้นทุกวัน

“Bread of Happiness” (2012) กรุ่นความรู้สึกจากเตา

กำกับโดย มิชิมะ ยูกิโกะ (Mishima Yukiko)

ร้านคาเฟ่ท่ามกลางธรรมชาติที่มีขนมปังหอมกรุ่นและกาแฟแสนอร่อยไว้รอคอยต้อนรับใครก็ตามที่พาหัวใจไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ มา ภาพยนตร์ดราม่าอบอุ่นหัวใจที่จะพาไปรับรู้ถึงความรู้สึกในหัวใจคนอย่างอ่อนโยน

ณ จังหวัดฮอกไกโด ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศญี่ปุ่น คู่สามีภรรยาวัยหนุ่มสาวได้เปิดร้านคาเฟ่แห่งใหม่ที่ร้านเสิร์ฟอาหารตามฤดูกาล ฝ่ายชายเป็นผู้อบขนมปังและฝ่ายหญิงเป็นผู้ชงกาแฟ ผู้คนที่มีบาดแผลทางใจจากต่างที่มาต่างเรื่องราว ทั้งหญิงสาวที่อกหักจากความรัก เด็กหญิงที่โศกเศร้าจากการหย่าร้างของพ่อแม่ คู่สามีภรรยาวัยชราที่มีเรื่องราวบางอย่างอยู่เบื้องหลัง เจ้าของร้านทั้งคู่หันหน้าหาลูกค้าเหล่านี้อย่างอบอุ่นและเอื้อมมือไปหาพวกลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้านอย่างแผ่วเบา

ภาพยนตร์ดราม่าเยียวยาจิตใจผู้มีบาดแผล แสดงนำโดย โย โออิซูมิ นักแสดงชื่อดังเจ้าบทบาทตั้งแต่ภาพยนตร์แนวตลกไปจนถึงดราม่า และ โทโมโยะ ฮาราดะ ดาราสาวเจ้าเสน่ห์ที่เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ผลงานการแสดงครั้งแรกในช่วงปี 1980

Masked Ward” (2020) หอผู้ป่วยใต้เงาหน้ากาก

 กำกับโดย คิมุระ ฮิซาชิ (Kimura Hisashi)

แรงจูงใจที่แท้จริงของอาชญากรหน้ากากคืออะไรกันแน่? ภาพยนตร์ระทึกขวัญตีแผ่ความลับที่ซุกซ่อนภายใต้ตึกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

“ฮายามิ” หมอเวรดึกชั่วคราวเข้าเวรในโรงพยาบาลที่เขาไม่เคยทำงานมาก่อน จู่ ๆ อาชญากรปล้นร้านสะดวกซื้อที่กำลังหนีการจับกุมก็บุกเข้ามาในโรงพยาบาลพร้อมหญิงสาวที่ถูกยิงระหว่างการหลบหนี คนร้ายหลบซ่อนและแฝงตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในตึก ฮายามิพยายามที่จะหาจุดประสงค์ที่แท้จริงของคนร้าย แต่กลับกลายเป็นพบสิ่งน่าสงสัยเกี่ยวกับตัวโรงพยาบาลเสียเอง และทั้งผู้อำนวยการและนางพยาบาลต่างทำตัวมีพิรุธกันหมด ราวกับว่าทุกคนกำลังปฏิบัติการภายใต้หน้ากาก ระหว่างหลบซ่อนจากคนร้าย ฮายามิก็เริ่มสำรวจโรงพยาบาล เขาไปเจอเข้ากับรายชื่อผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกและห้องผ่าตัดที่ไม่ควรมีอยู่ ความลับที่ค่อยๆถูกเปิดเผยพาเขาไปสู่ความจริงอันน่าประหลาดใจ

โลกแห่งอนิเมะ

“Time of EVE the Movie” (2010) ไทม์ ออฟ อีฟ

กำกับโดย โยชิอุระ ยาสุฮิโระ (Yoshiura Yasuhiro)

แอนดรอยด์มีหัวใจหรือไม่? แอนิเมชั่นสุดซาบซึ้งที่สำรวจอารมณ์ความรู้สึกผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแอนดรอยด์ นี่คือภาพยนตร์ที่สะท้อนโลกอนาคตและอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเรา

ในยุคที่แอนดรอยด์ (หุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์) สามารถทำงานได้กว้างขวาง การใช้งานแอนดรอยด์และหุ่นยนต์ในบ้านเป็นที่แพร่หลาย แต่ส่วนมากถูกปฏิบัติอย่างสิ่งต้อยต่ำ นักเรียนมัธยมปลาย ริคุโอะ เองก็ปฏิบัติต่อแอนดรอย์หญิงที่บ้านอย่างเย็นชา จนกระทั่งเมื่อเขาพบว่าเธอไปที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีกฎห้ามแบ่งแยกระหว่างมนุษย์และแอนดรอยด์ ริคุโอะอดสงสัยไม่ได้ว่าเหล่าลูกค้ามาที่นี่เพื่อจุดประสงค์อะไร ผ่านเรื่องราวของมนุษย์และแอนดรอยด์ที่พบที่คาเฟ่นั้น เขาก็เริ่มเรียนรู้ว่า “หัวใจ” ที่แท้จริงนั้นคืออะไร แอนิเมชั่นน่าซาบซึ้งที่สำรวจความเจ็บปวดจากการเลือกปฏิบัติและอคติผ่านเรื่องราวของลูกค้าหลากหลาย ทั้งยังฉายภาพสภาพสังคมที่สมจริง ทั้งคณะกรรมการจริยธรรมที่ส่งเสียงเตือนถึงการพึ่งพาแอนดรอยด์เกินเหตุ ทั้งปัญหาการทิ้งหุ่นยนต์รุ่นเก่า เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การชมในทุกจุด

“Patema Inverted” (2013) โลกมุมกลับของพาเทมะ

กำกับโดย โยชิอุระ ยาสุฮิโระ (Yoshiura Yasuhiro)

เด็กสาวและเด็กหนุ่มจากโลกคนละด้านจะเป็นผู้เปลี่ยนชะตาของสองโลก ภาพยนตร์แอนิเมชันสุดล้ำที่จะพาคุณ “ลอยขึ้น” ไปใต้ผืนดิน และ “ร่วงลง” ไปบนฟากฟ้า

หลังจากเกิดอุบัติการณ์ครั้งใหญ่ สิ่งก่อสร้างมากมายถูกกลืนไปในท้องฟ้า หลายปีต่อมา “พาเทมะ เด็กสาวที่อาศัยอยู่ในฐานใต้ดิน ได้ออกสำรวจพื้นที่อันตรายภายในฐานและได้ตกลงไปในหลุม พาเทมะได้ “ร่วงลง” ไปยังเหนือพื้นดิน ที่นั่นแม้จะเกือบตกลงไปบนฟ้า แต่เธอก็ได้ยึดตัว เอจิ เด็กหนุ่มที่อาศัยในโลกเหนือพื้นดิน สองคนที่มีแรงโน้มถ่วงคนละด้านต่างต้องช่วยเหลือกันและกัน เรียนรู้เรื่องของโลกภายหลังอุบัติการณ์ และจะต้องเผชิญความจริงอันน่าสะพรึงกลัวที่ถูกซุกซ่อนไว้ ในโลกที่ทั้งคู่เดินทางไปนั้น หากพาเทมะและเอจิไม่ร่วมมือกันก็จะมีใครสักคนต้อง “ร่วง” ลงไป ชมผลงานแอนิเมชั่นแฟนตาซีไซไฟสุดล้ำที่จะพาให้คุณหลงใหลไปกับโลกกลับหัวกลับหาง พร้อมกับความงามของภาพความรัก มิตรภาพ และความกล้าหาญ

สารคดี (ดี ๆ)

“SUMODO~The Successors of Samurai~” (2020) ‘ซูโม่’ จอมพลังสายเลือดซามูไร

กำกับโดย ซากาตะ เออิจิ (Sakata Eiji)

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนักกีฬาซูโม่ – กีฬาประจำชาติของชาวญี่ปุ่น พร้อมกับเบื้องหลังที่หาดูยากของชีวิตนักกีฬาซูโม่ชื่อดัง

เชื่อกันว่ากีฬาซูโม่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วนับพันปี และในปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ‘ริกิชิ’ หรือ ‘นักกีฬาซูโม่’ เจ้าของร่างกายขนาดมหึมา ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ต่อสู้เพื่อเอาชนะกันในสังเวียน แต่พวกเขายังทำหน้าที่สืบสานพิธีกรรมชินโตจากอดีตกาล ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพาคุณไปสัมผัสกับชีวิตประจำวัน การฝึกฝน และความรู้สึกของเหล่านักซูโม่มืออาชีพ ก่อนที่พวกเขาจะก้าวขึ้นสู่สังเวียน ไม่มีกีฬาประเภทไหนในโลกอีกแล้วที่นักกีฬาน้ำหนักตัวกว่า 200 กิโลกรัม จะพุ่งเข้าปะทะกันโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ ชีวิตของนักซูโม่ล้วนเสี่ยงกับการบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเพียงใด พวกเขาก็จะไม่เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อหลบหลีก ‘วิถีแห่งซูโม่’ หรือ ‘วิถีแห่งซามูไร’ โดยเด็ดขาด ในสารคดีเรื่องนี้ นอกจากคุณจะได้สัมผัสถึงชีวิตของนักรบซามูไรที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ในโลกปัจจุบัน คุณจะยังได้สัมผัสความตื่นเต้นของสังเวียนซูโม่อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส