[รีวิว] แต่งงานกับผี : พล็อตซ้ำ ขำง่าย แต่ไม่มั่วซั่วและทำออกมา ดี๊ดี
Our score
7.6

กำกับ

เฉิงเว่ยหาว

ประเภท

ดราม่า คอมเมดี้ สืบสวนสอบสวน

ความยาว

2 ชั่วโมง 10 นาที

ช่องทางรับชม

NETFLIX

[รีวิว] แต่งงานกับผี : พล็อตซ้ำ ขำง่าย แต่ไม่มั่วซั่วและทำออกมา ดี๊ดี
Our score
7.6

[รีวิว] แต่งงานกับผี : พล็อตซ้ำ ขำง่าย แต่ไม่มั่วซั่วและทำออกมา ดี๊ดี

จุดเด่น

  1. การใช้มุกง่าย ๆ และพล็อตซ้ำที่ไม่ทำให้ช้ำได้อย่างมืออาชีพ คนเขียนบทเก่งเลยแหละที่ทำได้แบบนี้
  2. หนังไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไร ไม่ได้ถึงกับว้าวจนต้องอวยยศ แต่เป็นหนังที่จะสร้างความบันเทิงและแง่คิดดี ๆ ให้ได้อย่างไม่เสียเวลาดู

จุดสังเกต

  1. โปรดักชันในบางจุดโดยเฉพาะคิวบู๊ทำได้ไม่เนียนตาสักเท่าไหร่ แต่ช่างมันเถอะค่ะ เพราะนี่มันคือหนังดราม่าคอมเมดี้ที่ดีเรื่องหนึ่งแล้ว
  • บท

    8.0

  • การแสดง

    8.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การดำเนินเรื่อง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.0

หนังผีสายฮาที่หน้าฉากคล้ายหนังวาย แต่ไม่ใช่เลยสักนิด ถึงแม้จะมีวับ ๆ แวม ๆ มาบ้างก็เถอะ เพราะ เต็มไปด้วยความฮาที่ต่อให้ผีจะหน้าเละเลือดกระฉูดขนาดไหน ก็ยังกระตุกต่อมฮาของเราได้อยู่ดี ทำให้คอมเมดี้เรื่องนี้ ‘แต่งงานกับผี Marry My Dead Body’ ไม่ได้มีแค่ความฮามาเสิร์ฟเท่านั้น แต่ยังอัดแน่นไปด้วยดราม่าแบบเต็มเหนี่ยว ซาบซึ้ง กินใจจนใครบางคนอาจน้ำตาไหล และมีเซอร์ไพรซ์ให้คนดู

เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ  ‘อู๋หมิงฮั่น’ (เกร็ก ซู) นายตำรวจหนุ่มที่เป็นโฮโมโฟเบียแถมยังกลัวผี บังเอิญไปหยิบซองแดงขึ้นมาจากพื้นขณะกำลังเก็บหลักฐานที่ทิ้งลงมาจากรถของคนร้าย แต่ทว่าซองแดงซองนั้นคือซองแดงงานแต่ง ที่ทำให้เขาต้องแต่งงานกับ ‘เหมาเหมา’ (ออสติน หลิน) หนุ่มน้อย LGBTQ สายรุกที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนตาย ก็คือแต่งงานกับผีนั่นแหละจ้ะ

เพื่อให้เขาไม่ต้องพบเจอกับเรื่องซวย ๆ ที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด เขาจำเป็นต้องยอมแต่งงานกับผีเกย์และทั้ง ๆ ที่ใจช่างกระอักกระอ่วน และการที่เขาจะหลุดพ้นจากการตามติดของวิญญาณเหมาเหมาได้ เขาต้องทำให้ความปรารถนาก่อนตายและเรื่องที่ติดค้างภายในใจของเหมาเหมาให้คลี่คลายเสียก่อน เหมาเหมาจึงจะไปเกิดและเป็นอิสระต่อกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ หนึ่งคนหนึ่งผีต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจเพื่อการหลุดพ้น จนนำไปสู่การไขคดีที่ตามสืบมานานและเปิดกล่องดวงใจของใครบางคนในที่สุด

ฮาแบบไม่ต้องพยายาม ด้วยพล็อตเดิม ๆ ที่เล่นง่ายแต่ได้ว่ะ

เรื่องนี้เป็นพล็อตเดิม ๆ ที่เรามักจะเห็นอยู่ในหนังและละครจนชินแล้วชินอีก เมื่อตัวเอกสองตัวต้องมาแต่งงานกันด้วยความจำยอม ไม่ชอบขี้หน้ากันตั้งแต่แรกและต้องทำภารกิจร่วมกันเพื่อจะแยกจากกันในที่สุด แต่จนแล้วจนรอดเขาก็รักกันซะงั้นน่ะ เรื่องนี้ก็เริ่มต้นด้วยพล็อตแบบนี้แหละค่ะ เพียงแต่ตัวเอกสองฝั่งไม่ใช่หญิงกับชาย ฝั่งหนึ่งเป็นตำรวจที่เกลียดเกย์เข้าไส้และกระทืบเกย์จนถูกสั่งย้ายมาแล้ว ส่วนผีหรือก็ดันเป็นผีรักโลก ผีรักสัตว์ ใจบุญสุนทานเป็นผีแสนดีไม่มีอะไรเทียบ นี่มันคาแรกเตอร์ละครรักที่เน่าสนิทเลยชัด ๆ

ซึ่งเป็นพล็อตเดิม ๆ เซ็ตติ้งเดิม ๆ แต่กลับทำออกมาได้อย่างลงตัวจนเราเมินความเก่าของพล็อตไปได้เลย จุดนี้ถือเป็นการหยิบพล็อตเก่าที่เราคุ้นเคยออกมาขายได้อย่างมืออาชีพ เพราะทำได้เนียนจนเราก็รู้แหละว่ามันเชยแต่ก็ยินดีที่จะเฉยและชื่นชมมัน บวกกับการปล่อยมุกต่าง ๆ ที่ถูกจังหวะจะโคนแบบไม่ต้องพยายาม เป็นมุกที่โผล่มาในแบบที่เราไม่ต้องตั้งตัว ไม่ทันคิดว่าตรงนี้ จุดนี้จะทำให้เราขำออกมาได้ แต่ก็ขำออกมาแล้วในแบบที่ลืมกลั้น เพราะสามารถขำได้เลย ขำได้ทันทีอย่างเป็นธรรมชาติและไม่คาดคิดว่าหนังจะเล่นง่ายขนาดนี้ ฝีมือจริง ๆ

และถ้าใครยังนึกความง่ายของการใช้มุกในเรื่องไม่ออก ก็ขอให้นึกถึงสามน้าแห่งจำอวดหน้าม่าน น้าโย่ง น้าพวง น้านงค์เอาไว้ค่ะ แกเล่นง่ายแบบไหนแล้วเราขำ หนังเรื่องนี้ก็เล่นง่ายในระดับนั้นแหละ ไม่ค่อยต่าง

ลูกผสมความเชื่อกับการยอมรับแบบสมัยใหม่

เรื่องนี้มีการผสมผสานความเชื่อของไต้หวันแบบเดิม ๆ กับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของคนรุ่นเก่าได้อย่างลงตัวเลยละค่ะ ตั้งแต่การหยิบเอาความเชื่อเรื่องแต่งงานกับผีในแบบไต้หวันมาใช้ ด้วยความเชื่อที่ว่า หากมีสาวโสดเสียชีวิตทางครอบครัวก็จะนำสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องประดับ เงินสด เส้นผม รูปถ่ายและเล็บของผู้ตายมาใส่ในซองแดงและวางทิ้งเอาไว้ตามทางเดิน ครอบครัวจะเฝ้ารอจนกว่าจะมีผู้ชายเดินมาหยิบมันขึ้นมา และเมื่อผู้ชายคนไหนมาหยิบซองแดงขึ้นมาเป็นคนแรก ก็จะถูกเลือกให้เป็นเจ้าบ่าวของผู้ตาย

ความเชื่อนี้ยังเชื่อกันอีกว่า หากผู้ชายคนที่หยิบซองแดงได้ยอมแต่งงานก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลต่อทุกฝ่าย ครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข วิญญาณผู้ตายจะสงบสุข แต่ถ้าหากชายคนนั้นปฏิเสธไม่ยอมเป็นเจ้าบ่าวของผู้ตายก็จะพบกับความโชคร้าย ซวยซ้ำซวยซ้อน หาความสงบสุขในชีวิตไม่ได้ ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ก็ถูกนำไปเป็นพล็อตเริ่มต้นแบบเน้น ๆ กันเลย ผสมกับการสร้างให้อาม่าของเหมาเหมา ผีหนุ่มที่เป็นเกย์เป็นคนที่โลกกว้างและมีหัวคิดสมัยใหม่

เป็นคนแก่ที่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการจัดงานแต่งงานนี้ให้หลานชายสุดที่รัก ในขณะเดียวกันก็ใส่ดราม่าเรื่องความหัวเก่าของพ่อเหมาเหมาเข้าไปด้วย ด้วยการชูให้ผู้ชมเห็นว่า ในขณะที่อาม่ายอมรับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศและเห็นเป็นเรื่องธรรมดา พ่อซึ่งเป็นลูกชายของอาม่ากลับต่อต้านเรื่องนี้อย่างสุดตัว จุดนี้ทำให้เราเห็นถึงความต่างในมุมมองของผู้หญิงกับผู้ชายที่มีต่อลูกหลานได้ชัดมาก แบบไม่ต้องยัดเยียดบทพูดอะไรลงไป แต่สามารถเข้าใจได้ในทันทีกับฉากสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง

และหนังยังไม่หยุดความดราม่าเพียงเท่านี้ เพราะหนังจะใส่เรื่องราวของความรักเข้าไปอีก ว่าแท้จริงแล้วความรักที่เราตามหา มันไม่ได้หายไปอยู่ที่ไหนไกลตาเลย แต่มันอยู่ข้าง ๆ เรามาตลอด เพียงแต่เรามองข้ามมันไปเท่านั้นเอง

จิกกัดซะหัวทิ่มกับเรื่องเพศ และการเลือกปฏิบัติ

2 ชม. 10 นาที จัดว่าเป็นเวลาที่กำลังดีของหนังเรื่องหนึ่ง ที่จะทำให้เราติดตามไปได้แบบไม่รู้สึกว่ามากไปหรือน้อยไป โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่เวลาและเนื้อหาถูกจัดวางเวลาเอาไว้อย่างลงตัว เรียกได้ว่าเป็นการใส่เนื้อหามาแบบเข้มข้นโดยที่ไม่ใช่การจับยัด และเล่าเรื่องราวที่อยากใส่ อยากเสนอในแบบเบาสบาย ขำขัน แต่ถ้าใครจะคิดมากก็หน้าม้านกันได้ง่าย ๆ เพราะหนังสามารถจิกกัดเรื่องราวต่าง ๆ ระบบต่าง ๆ ในสังคมได้เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องความยุติธรรม การฉ้อฉลและแอบจิกกัดเรื่องการเลือกปฏิบัติกับความหัวงูของผู้ชายบางกลุ่มได้แบบไม่ทันตั้งตัว

ด้วยการใส่บทของ ‘หลินซี่ชิง’ (กงลี่ หวัง) ตำรวจหญิงคู่หูของอู๋หมิงฮั่นมาเป็นตัวแปรในเรื่อง ที่สามารถเป็นได้ทั้งตัวแทนความรักของหนุ่มสาวที่อาจมีเรื่องพลิกผัน และเป็นตัวแทนของการจิกกัดชนิดที่ถ้าแปลเป็นคำด่า ก็สามารถเป็นคำด่าที่แรงระดับน้ำเดือด จนสามารถทำให้บรรดากระทาชายที่มีฝาหม้ออยู่บนหัว และมีพฤติกรรมตรงตามที่หนังสร้างนัยเอาไว้สามารถหน้าชากันได้เลย เรียกว่าเป็นการเยาะเย้ยผู้ชายที่มีพฤติกรรมไปในทางนั้นแบบหัวทิ่มกันเลยเชียว

ซึ่งถึงแม้ว่าพล็อตจะเป็นพล็อตที่จำเจ แต่การร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวกับทำได้ดีจนดูเพลิน และขำเรื่อย ๆ อย่างเบาสมอง (หากว่าไม่คิดอะไรให้ลึกไปกว่านั้น) โดยเฉพาะในส่วนของความสยองที่จัดออกมาให้ตกใจได้แบบน่ารักน่าขำจากการดูแลงานสร้างของ ‘เฉิงเว่ยห่าว’ ผู้กำกับ ‘The Tag-Along’ แฟรนไชส์หนังผีไต้หวัน ที่มาในโหมดเบา ๆ แต่ทำให้เราตกใจได้ จนกลายเป็นหนังตลกที่คลุกเคล้าความน่ากลัวเล็ก ๆ อย่างพอดิบพอดี

บวกกับงานโปรดักชันเบา ๆ ที่น้อยแต่ครบ ทั้งฉาก แสง สีและการดีไซน์คาแรกเตอร์ของผีในพาร์ตสยอง ที่ถึงจะออกมาน้อยมากแต่ก็เป็นความน้อยที่ครบและจบในช็อตสั้น ๆ จนทำให้หนังเรื่องนี้จัดได้ว่าเป็นดราม่า-คอมเมดี้ ที่ครบรส จนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงเป็นหนังที่ทำเงินอันดับ 1 ในไต้หวันมาได้ เพราะการเล่นง่ายที่ผูกประเด็นดราม่ากับความหลากหลายทางเพศที่สังคมกำลังให้ความใส่ใจได้ลงตัวดีนี่แหละ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส