[รีวิวซีรีส์] Mask Girl: ตลกร้ายจากเว็บตูนที่เหลาได้คมกว่าเดิม เรื่องราวเหล่าคุณแม่ดายฮาร์ดผู้เสียดสีสังคม
Our score
8.0

Release Date

18/08/2023

ความยาว

7 ตอน ตอนละประมาณ 60 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับคิม ยอนฮุน

Beasts Clawing At Straws (2020)

[รีวิวซีรีส์] Mask Girl: ตลกร้ายจากเว็บตูนที่เหลาได้คมกว่าเดิม เรื่องราวเหล่าคุณแม่ดายฮาร์ดผู้เสียดสีสังคม
Our score
8.0

Mask Girl

จุดเด่น

  1. บทที่ดี เดินเรื่องฉลาดและมีกลวิธีที่หลอกล่อผู้ชมได้สนุก การแสดงที่เปลี่ยนโทนหนังผ่านการเปลี่ยนนักแสดงทำได้ดี

จุดสังเกต

  1. ตัวซีรีส์เป็นแนวตลกร้ายที่ดูดาร์กจิต ๆ ใช้ปมปัญหาสังคมมาเสียดสี อาจรู้สึกแปลก ๆ ในช่วงแรกว่าจะเป็นตลกเบาสมองหรือจะซีเรียสจริงจัง แต่ถ้าจูนติดไปถึงครึ่งทางได้จะหยุดดูไม่ได้
  • บท

    8.5

  • โปรดักชัน

    7.5

  • การแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

เรื่องย่อ: คิมโมมี ฝันที่จะเป็นดาราคนดัง เธอจึงฝึกทักษะให้เป็นที่ชื่นชอบตั้งแต่เด็ก ติดอยู่เพียงว่าเธอไม่มีใบหน้าที่สวย จึงต้องสวมหน้ากากเป็นสาวนิรนามฉายา มาสก์เกิร์ล ให้ความบันเทิงกับผู้ชมขาหื่นในโลกออนไลน์ แต่ชะตาชีวิตเธอก็เล่นตลกให้ต้องไปเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมเปื้อนเลือดจนได้

จากหน้าหนังในตอนแรกเราจะรู้สึกว่าซีรีส์เรื่องนี้อารมณ์คล้าย ‘The Naked Director’ (2019) แต่เข้าจริงแล้วหากลองได้ชมจนจบจะรู้เลยว่ามันมีความพิเศษแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

ก็เป็นอีกซีรีส์ที่ช่วยย้ำชัดไปเรื่อย ๆ ว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีมันต้องแข็งแรงตั้งแต่รากฐานวรรณกรรม จะนิยาย มังงะ หรือเว็บตูนตามสมัยนิยมก็ตามที สนับสนุนงานเหล่านี้ใช้เงินไม่มากเท่ากับหนังหนึ่งเรื่อง แล้วพอสิ่งเหล่านี้แข็งแรงก็เหมือนมีงานพรีโปรดักชันที่ดีไปขั้นหนึ่งแล้ว เอาไปต่อยอดทำหนังทำซีรีส์ที่ต้องใช้ทุนสูงตามมามันก็จะได้เห็นโมเดลธุรกิจหรือกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น

ผู้กำกับ คิม ยองฮุน (Kim Young-Hoon) ถือว่าเป็นชื่อค่อนข้างใหม่สำหรับคอหนังคอซีรีส์แม้แต่ที่ติดตามงานของเกาหลีเองก็ตาม เขามีผลงานกำกับเท่าที่เจอเพียง 2 เรื่อง คือหนัง ‘Beasts Clawing At Straws’ (2020) ที่ไปพึ่งพิงต้นธารจากพี่ใหญ่ด้านวัฒนธรรมคอนเทนต์อย่างญี่ปุ่น ด้วยการนำนิยายแนวอาชญากรรมหลากเส้นเรื่องหลายตัวละครที่ชวนอลวนอลหม่านของอาจารย์ โซเนะ เคสุเกะ มาดัดแปลงเป็นหนังเปิดตัว ซึ่งก็เห็นเส้นสายลายมือในฐานะนักเล่าเรื่องที่สั่งสมประสบการณ์จากการเป็นนักพัฒนาคอนเทนต์ในค่ายใหญ่อย่าง CJ มาก่อนได้อย่างดี

จากผลงานเรื่องแรก เลยไม่แปลกใจที่ถ้าจะหาใครสักคนมาดัดแปลงงานต้นธารจากเว็บตูนของเกาหลีเองของอาจารย์ Mae Mi อย่างเรื่อง ‘Mask Girl’ ในช่วงปี 2015-2018 ที่มีความดาร์กคอมเมดี้หลากตัวละครหลายมุมมองคล้ายกันให้ออกมาได้อย่างเด็ดดวง ผู้กำกับคิม ยองฮุน จึงควรได้สิทธิ์นั้นเป็นคนแรก ๆ

Mask Girl

ตัวซีรีส์มีทั้งหมด 7 ตอน ในช่วงแรกเป็นการเล่าผ่านสายตาของตัวละครหนึ่งตัวต่อหนึ่งตอน เริ่มจากตัวเอกคิมโมมีที่อยากเป็นไอดอลแต่หน้าตาไม่สะสวย ดีว่าเธอหุ่นแซ่บ จึงใช้หน้ากากปิดบังใบหน้าและไลฟ์โชว์ออนไลน์เรียกเงินและความนิยมได้มหาศาล ว่ากันตามจริงเธอมีทักษะทั้งการเต้นและการร้องเพลงตลอดจนให้ความบันเทิงผู้ชมของเธออย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว ติดแค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น ซึ่งก็เสียดสีความหมายของคนบันเทิงได้น่าสนใจ การซ่อนความลับในโลกหลังหน้ากากและโลกที่ไร้หน้ากากซึ่งเธอเป็นเพียงสาวออฟฟิศสุดจืดจาง จึงเป็นที่มาที่ทำให้เธอไปพัวพันกับการฆาตกรรมชวนขำขื่นในที่สุด

จากนั้นเราก็จะได้เห็นเรื่องราวเดียวกันจากอีกตัวละครที่ในสายตาของคิมโมมีจากตอนแรกไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน ทำให้ผู้ชมจึงเพิ่งได้รู้ว่าเหตุการณ์หลายอย่างมีตัวละครอื่นขับดันอยู่เบื้องหลังด้วยก็ตอนนี้เอง เป็นกลวิธีการเปลี่ยนมุมเล่าเรื่องที่ฉลาด เรื่องราวจะถูกเล่าผ่านสายตาตัวละครอื่นผลัดกันไปอีกประมาณ 2-3 ตอน ก่อนจะเริ่มมีการเล่าแบบใช้เส้นเรื่องเหลื่อมเวลามาเล่าขมวดในช่วงครึ่งหลังได้อย่างเข้มข้น

ว่ากันถึงตอนนี้ต้องบอกว่าตัวซีรีส์มีการดัดแปลงที่ดีพอสมควร สามารถกลบจุดอ่อนเดิมจากตัวเว็บตูนที่บุคลิกตัวละครคิมมีโมจะไม่ค่อยน่าเอาใจช่วยนัก ให้มาดูน่าสงสารและดูชะตาเล่นตลกกับเธอมากกว่าจะกระทำตัวเอง และด้วยการปูเรื่องช่วงต้นของซีรีส์ก็ต้องบอกว่าคนที่ไม่ค่อยชินกับหนังแนวนี้อาจจะงง ๆ สักนิดว่ามันจะอารมณ์ไหน ดูจิต ๆ ดาร์ก ๆ แต่ก็มีความโบ๊ะบ๊ะขำพอประมาณ แต่ถ้าใครชินกับแนวตลกร้ายหน้าตาย นี่คืออะไรที่บันเทิงมาก ๆ

ถ้าจะให้พูดโดยรวมว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นหนังแนวไหนก็ต้องบอกว่าเป็นแนวดาร์กคอมเมดี้เสียดสีสังคมร่วมสมัย ที่มีพลอตประชดประชันความหมายของแม่ลูกซ้อนหลังอยู่ในที แต่ละตัวละครนำเสนอปมแม่และลูกได้อย่างน่าสนใจว่าเด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหนจากทัศนคติของแม่ที่ต่างกัน ซึ่งเราอาจจะแบ่งย่อยแนวของซีรีส์ลงไปอีกตามใบหน้าของคิมโมมีที่เปลี่ยนไปตามท้องเรื่องจากทั้งการศัลยกรรมและการแก่ชราได้อีกที

Mask Girl

ในตอนต้นที่เป็นการแสดงของ อี ฮันบยอล (Lee Han-Byul) นักแสดงหน้าใหม่ที่เล่นได้ตลกหน้าตาย ก่อนจะได้โชว์ระเบิดพลังความน่ารัดทดในช่วงปลายจนเรารู้สึกเห็นใจเธอ มันคือเรื่องราวแบบดาร์กคอมเมดี้สนุก ๆ ปนเปด้วยมนุษย์ที่มีความป่วยทางจิตหลายรูปแบบที่อยู่ปะปนกัน

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนักแสดงเป็น นานะ (Nana) อดีตไอดอลวง After School เธอก็เป็นคิมโมมีที่ดูจิตกว่าเดิม แต่ก็เท่และน่าเอาใจช่วย ซีรีส์เปลี่ยนโทนเป็นหนังแบบแอนตี้ฮีโรไปเลย เพราะได้เล่าช่วงของการชดใช้บาปของตัวละครและได้เห็นความอยุติธรรมในสังคมที่เรียกว่าคุกซ้อนเข้าไปอีกชั้นจนเราเอาใจช่วยคิมโมมี ในขณะเดียวกันก็เสียดสีสังคมที่ยกย่องฆาตกรต่อเนื่องที่หน้าตาดีให้เป็นไอดอลไปพร้อมกัน

ในขณะเดียวกันมันก็มีความเป็นตลกร้ายอยู่จากการแสดงของ ยุมฮเยรัน (Yum Hye-Ran) ในบท คิมคยุงจา คุณแม่ดายฮาร์ดยอดนักสู้ที่ทำทุกได้เพื่อลูกชายอย่างโคตรเจ๋ง กลายเป็นตัวละครฝั่งตรงข้ามตัวเอกที่เราทั้งรักทั้งชังตลอดเวลาและพูดไม่ได้ว่าเป็นตัวร้ายของเรื่อง ใครเคยอ่านมังงะ ‘My Home Hero’ น่าจะรู้สึกกลิ่นความมันในระดับเดียวกันได้เลย

และสุดท้ายซีรีส์ได้ข้ามเวลามาสู่การรับบทคิมโมมีของ โก ฮยอนจอง (Ko Hyun-Jung) ดาราใหญ่ที่เคยคว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมแห่งปีมาแล้วจากซีรีส์ ‘ซอนต็อก มหาราชินีสามแผ่นดิน’ ตัวซีรีส์ก็เปลี่ยนแนวมาเป็นดราม่าธริลเลอร์เข้มข้นจนนึกว่าเป็นภาคต่อของหนังตระกูลล้างแค้นของผู้กำกับดัง ปาร์ก ชานวุก (Park Chan-Wook) อย่างไรอย่างนั้นเลย ใครชอบอะไรแบบนี้จะรู้สึกสะใจมาก ๆ

Mask Girl

นี่เลยเป็นซีรีส์ที่ดูได้หลากหลายโหมด และน่าชื่นชมในกลวิธีการเล่าเรื่องที่ฉลาดดัดแปลงแก้จุดอ่อนจากซีรีส์ได้ดี รวมถึงคุมธีมอารมณ์ไปได้อย่างกลมกล่อมชวนติดตาม มีการแสดงที่น่าสนใจผ่านพัฒนาการตัวละครคิมโมมีที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่ประทับใจมาก ๆ ก็คงเป็นความตรึงตาตรึงใจแต่จิต ๆ ร้าย ๆ ของ นานะ ที่สวยเท่สะกดจริง ๆ และการแสดงกับตัวละครที่ช่วยให้หนังมีรสซาบซ่าอย่าง คิมคยุงจา คุณแม่ดายฮาร์ดที่ออกมาแต่ละทีมีเรื่องได้ตลอด รวมถึงการเฉลยความจริงยอกย้อนหักมุมหลอกคนดูและตัวละครได้มันเอามาก ๆ แถมได้ข้อคิดอะไรติดตามให้ไปถกกับคนอื่นได้สนุกไม่น้อยเลย

Mask Girl

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส