[รีวิว] The Equalizer 3: ปิดบัญชีโหดเชือดเลือดสาด (ครั้งสุดท้าย) ของมัจจุราชไร้เงา
Our score
6.8

Release Date

14/09/2023

แนว

แอ็กชัน/อาชญากรรม/ระทึกขวัญ

ความยาว

1.49 ช.ม. (109 นาที)

เรตผู้ชม

R

ผู้กำกับ

อองตวน ฟูคัว (Antoine Fuqua)

SCORE

6.8/10

[รีวิว] The Equalizer 3: ปิดบัญชีโหดเชือดเลือดสาด (ครั้งสุดท้าย) ของมัจจุราชไร้เงา
Our score
6.8

The Equalizer 3 | มัจจุราชไร้เงา 3

จุดเด่น

  1. ฉากแอ็กชันโหดดิบสยองจัดเต็มกว่าทุกภาค
  2. เดนเซล วอชิงตัน ยังไว้ลายงานบู๊แบบไม่ดูเนือยหรือหมดแรง
  3. ถ่ายฉากชนบทอิตาลีได้ออกมาสวยงามแปลกตาและโดดเด่น
  4. พยายามเติมหัวจิตหัวใจ อารมณ์ มุกตลกร้าย แอบโรแมนติกนิด ๆ เข้ามาในเรื่อง

จุดสังเกต

  1. เสียดายพล็อตรองที่น่าสนใจแต่ถูกเล่าอย่างหละหลวมและเบาบาง
  2. ตัวหนังยังเล่าแบบสูตรสำเร็จ เดาง่าย ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน
  3. ตัวละครสมทบ รวมทั้ง ดาโกตา แฟนนิง ดูมีบทบาทต่อเรื่องน้อยไปหน่อย
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.7

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.9

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    5.0

  • ความบันเทิง

    7.9

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.7


Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับชายชราหน้านิ่งที่มีชื่อว่า โรเบิร์ต แม็กคอล (Robert McCall) พนักงานขายร้ายอุปกรณ์ก่อสร้างที่อยู่ดี ๆ ก็ปลดล็อกอดีต กลายมาเป็นมัจจุราชไร้เงา ขจัดคนพาล อภิบาลคนดี ใน ‘The Equalizer’ (2014) กลายมาเป็นที่รู้จักในฉายา มัจจุราชไร้เงา (ส่วนคนไทยเรียกว่า ‘นักฆ่าโฮมโปร’ (555) อีก 4 ปีต่อมา แม็กคอลก็กลับมาสะสางปมอดีต เดินหน้าล้างแค้นคนทรยศใน ‘The Equalizer 2’ (2018)

และในปีนี้ การเดินทางของอดีตนาวิกโยธิน และเจ้าหน้าที่ CIA ปลดเกษียณ ศาลเตี้ยผู้ลึกลับก็มาถึงจุดสิ้นสุด ใน ‘The Equalizer 3’ ที่ยังคงได้ผู้กำกับคู่บุญ อองตวน ฟูคัว (Antoine Fuqua) และ ริชาร์ด เวงค์ (Richard Wenk) ผู้เขียนบทจาก 2 ภาคแรก กลับมาสานต่อความมันเป็นครั้งสุดท้าย และยังเป็นการสั่งลาแฟรนไชส์แรกในชีวิตของ เดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) นักแสดงเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ ที่ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ด้วย

The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

ในภาคนี้ แม็กคอล (เดนเซล วอชิงตัน – Denzel Washington) ตัดสินใจวางมือจากการเป็นมัจจุราชไร้เงา แล้วก็เดินทางออกไปใช้ชีวิตในอัลโตมอนเต (Altomonte) เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของอิตาลี แต่แทนที่จะได้พักผ่อนจากการเป็นนักสังหาร และเริ่มต้นชีวิตใหม่ท่ามกลางเพื่อนบ้านเจ้าถิ่นผู้โอบอ้อมอารี แต่สุดท้าย แม็กคอลหรือลุงโรแบร์โตในภาคนี้ เลือกที่จะเอาชีวิตเข้าไปพัวพันกับแก๊งมาเฟียอิตาลีผู้กว้างขวาง ควบคุมโดยสองพี่น้องควอรันตา

พวกเขารุ่งเรืองจากการค้ายาเสพติดข้ามชาติ และรีดไถค่าคุ้มครองจากชาวบ้านร้านตลาด โดยมีโรงงานผลิตไวน์บังหน้า เพื่อผดุงความยุติธรรมและสงบสุขให้กับชาวบ้าน แม็กคอลจึงตัดสินใจหันกลับมากดปุ่มจับเวลาสะสางอิทธิพลชั่วให้สิ้นซาก โดยมี เอ็มมา คอลลินส์ (ดาโกตา แฟนนิง – Dakota Fanning) เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ คอยสืบข้อมูลอยู่เบื้องหลัง

The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

อีกสิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนของภาคนี้ก็คือ การเดินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ตัวหนังจะเริ่มเรื่องได้เร็ว (เพราะไม่ต้องปูเรื่องอะไรมากมาย) แต่ Pacing รวม ๆ ถือว่าค่อนข้างช้านะครับ ในองก์แรกจะเห็นชัดเลยว่าตัวหนังพยายามจะเล่าเรื่องของแม็กคอลกับสังคมชาวบ้าน แม็กคอลในภาคนี้ก็ไม่ต่างกับพล็อตซามูไรพลัดถิ่นตกระกำลำบาก จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน และเมื่อชาวบ้านเดือดร้อน ด้วยความสำนึกในข้าวปลาและหยูกยา ก็เลยต้องแทนคุณด้วยการออกปราบคนชั่ว ผ่านพล็อตแบบสืบสวนสอบสวน และฉากแอ็กชันที่คั่นเอาไว้ระหว่างทาง

ตัวบทหนังค่อนข้างชัดเจนในการพยายามจะทำให้ตัวหนังมีหัวจิตหัวใจ มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น ด้วยการทุ่มเวลาในองก์แรกไปกับการบอกเล่าชีวิตในปัจจุบันของแม็กคอล ที่ต้องพบเจอกับทั้งสถานการณ์พลิกผันในองก์แรก ที่เป็นตัวบอกแบบกลาย ๆ ว่าเขาเองแก่เกินไปสำหรับการเป็นมัจจุราชไร้เงา ถืงเวลาที่จะต้องรีบ ๆ วางมือ มูฟออนจากอดีตอันโหดร้ายเสียที แต่นั่นก็ทำให้เขาเกิดความสับสนในจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องของความดีและความชั่วที่เขาได้กระทำลงไป แม้ที่ผ่านมาเราจะได้เห็น (และรู้สึกสะใจ) ไปกับการออกกำจัดคนชั่วจนตายอย่างทรมานของแม็กคอล

The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

ภาคนี้ก็ยังแอบหยอดคำถามให้คิดต่ออีกมุมว่า วิธีการศาลเตี้ยและออกกำจัดคนชั่วแบบเลือดเย็น (ไม่ง้อกฏหมาย) ก็อาจจะเป็นเพียงการฆาตกรรมในนามของความดีหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าประเด็นที่ตัวหนังทิ้งไว้จะน่าสนใจและกินใจและขนาดไหน แต่สุดท้ายตัวบทก็ทำให้เส้นเรื่องรองทั้งหมดที่ว่ามานี้ถูกเล่าผ่านพล็อตที่ถูกใส่เอาไว้เพียงบาง ๆ ก่อนจะถูกเขี่ยทิ้งไป เพราะมันเบาเกินกว่าจะถูกหยิบเอามาเล่าต่อได้เป็นชิ้นเป็นอัน และไม่ได้มีผลต่อบทสรุปไปมากกว่าความต้องการอยากเกษียณ เพราะอยากปลดความรู้สึกสับสนภายในใจ กลายเป็นเพียงประเด็นคม ๆ ที่ใส่เพื่อเติมแต่งพล็อตที่เดาง่าย ไม่ได้มีอะไรใหม่ซับซ้อน ให้ดูมีอะไรขึ้นมาบ้างก็เท่านั้นเอง

แม้ฉากแอ็กชันโหดติดเรต R ในภาคนี้จะไม่ได้เน้นรัว ๆ จัดเต็มเท่า 2 ภาคแรก แต่เรื่องความโหดนี่เรียกได้ว่า โหดสลัดกว่าทุกภาคเลยครับ เพราะภาคนี้ เราจะได้เห็นแม็กคอลกลายเป็นมัจจุราชที่สังหารแบบแล่เนื้อเถือหนัง เรียกว่าสยองน้อง ๆ หนังฆาตกรรมเลยแหละ ซึ่งก็ต้องชื่นชมคุณลุง เดนเซล วอชิงตัน วัย 68 ปี ที่ยังคงไว้ลายงานบู๊เดือด ๆ ด้วยคาแรกเตอร์นิ่งสุขุม เยือกเย็น ตลกร้าย แต่แอบซ่อนทักษะการสังหารระดับพระกาฬเอาไว้ได้อย่างรุนแรง รวดเร็ว จังหวะเน้น ๆ ที่แม่นยำ สะใจคอแอ็กชันสายโหด แบบไม่มีอาการเหนื่อยหรือเนือยให้เห็น

The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

แต่สุดท้าย ที่น่าเสียดายอีกอย่างก็คือ จะด้วยความเก่งขั้นเทพของแม็กคอล หรือความไม่รอบจัดของวายร้ายมาเฟียอิตาลีเอง แม้ตอนแรกจะวางคาแรกเตอร์ให้มีความโหด เถื่อน รังแกชาวบ้าน แต่สุดท้ายตัวหนังก็ไม่ได้วางพล็อตให้มาเฟียเหล่านี้ดูน่ากลัว หรือเก่งกาจในระดับที่แม็กคอลจะสู้ด้วยได้อย่างยากเย็น ไม่ได้มีแม้แต่กระทั่งอิทธิพลหรือมือที่มองไม่เห็นที่แม็กคอลจะต้องหวาดเกรงหรือดูเสียเปรียบ หรือมีเงื่อนปมที่ทำให้แม็กคอลเกิดความลังเลที่จะยุ่มย่ามกับมาเฟียพวกนี้แต่อย่างใด ขนาดว่าสู้กับ Last Boss แล้วแท้ ๆ พาให้จุดไคลแม็กซ์และบทสรุปของเรื่องดูราบรื่นจนราบเรียบไปหมด

อีกจุดที่แอบเสียดายก็คือ ในภาคนี้ก็ยังคงมีปัญหาแบบเดียวกับภาคก่อน ๆ ที่ยังคงหนีไม่พ้น นั่นก็คือการวางบทบาทให้กับบรรดานักแสดงร่วม และนักแสดงสมทบ ที่ไม่ได้มีน้ำหนักโดดเด่นหรือมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องหรือมีอิทธิพลต่อแม็กคอลมากเท่าที่ควร ตัวละครบางตัวจึงมีบทบาทแบบบาง ๆ บ้างสับสนในคาแรกเตอร์ บ้างถูกกลืนจมหายไปกับหนัง จนทำให้ไม่ได้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมหรือรู้สึกคล้อยตามเท่าไร

The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

อีกตัวละครสำคัญที่หลายคนคาดหวังก็คือ บทบาท เอ็มมา คอลลินส์ ของคุณแฟนนิง เอาจริง ๆ ถ้าใครที่ดูครบทั้ง 3 ภาค ตัวหนังจะเฉลยด้วยนะครับว่าเธอมีบทบาทและเกี่ยวข้องกับแม็กคอลอย่างไร ทำไมแม็กคอลต้องเจาะจงมาที่เธอคนเดียว (ผู้เขียนที่มารู้ทีหลังก็เล่นเอาเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะครับ) แต่ตัวหนังก็ไม่ได้ให้บทบาทกับเธอมากเท่าที่ควร แม้เธอเองจะรับบทนี้ได้น่าสนใจพอสมควรก็ตาม

แม้ตัวหนังจะมีจุดที่น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย ทั้งพล็อตที่เดาง่ายไม่ต่างจากภาคอื่น และพล็อตรองที่ยังทำได้ไม่ถึง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนหนังของ เดนเซล วอชิงตัน และไตรภาคชุดนี้ นี่คือหนังปิดฉากไตรภาคที่ทิ้งท้ายได้อย่างเหี้ยมโหดดุดันแบบไม่เกรงใจใคร ในขณะเดียวกันตัวหนังก็ยังสอดแทรกแง่มุมบางอย่างเอาไว้ได้อย่างท้าทาย เป็นหนังที่ยังคงให้ความบันเทิงแบบโหด ๆ ได้ไม่แพ้กับภาคก่อน ๆ แล้วยิ่งพอหนังดันมาฉายตอนที่มีข่าวเรื่องผู้มีอิทธิพลในบ้านเมืองเราก็ยิ่งชวนให้หดหู่เข้าไปใหญ่ เห็นแม็กคอลในหนังแล้วก็แอบสังหรณ์ใจว่า ถ้าบ้านเรามีแม็กคอลแบบนี้สักคนนะ กำนันก็กำนันเถอะ…


The Equalizer 3 มัจจุราชไร้เงา 3 Courtesy of Sony Pictures Columbia Pictures

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส