[รีวิว] No One Will Save You: ระทึกขวัญวันเอเลียนล่า ยอดเยี่ยมโดยไร้บทสนทนา แต่จบแอบยากไปนิด
Our score
6.5

Release Date

22/09/2023

ความยาว

92 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ ไบรอัน ดัฟฟิลด์

เขียนบท The Divergent Series: Insurgent (2015) The Babysitter (2017) Underwater (2020) Love and Monsters (2020)

[รีวิว] No One Will Save You: ระทึกขวัญวันเอเลียนล่า ยอดเยี่ยมโดยไร้บทสนทนา แต่จบแอบยากไปนิด
Our score
6.5

No One Will Save You

จุดเด่น

  1. บทหนังที่เล่าเรื่องที่ซับซ้อนมีความอุปมาอุปมัยได้อย่างฉลาดแม้ไม่ต้องใช้บทสนทนา ด้านความบันเทิงก็ไม่ได้ถดถอยสามารถพยุงอารมณืผู้ชมให้ตื่นเต้นลุ้นจิกเบาะไปได้ด้วยดี ความมีเสน่ห์และการแสดงของเคตลิน ดีเวอร์ที่น่าจับตามองตลอดทั้งเรื่องแบบแบกหนังอยู่

จุดสังเกต

  1. ในช่วงท้ายหนังมีความเป็นดราม่าจิตวิทยาและปรัชญาที่ทำให้บางฉากผู้ชมต้องทำความเข้าใจเอาเอง แต่ก็ไม่ได้ยากจนทำให้หนังดูไม่รู้เรื่อง ทว่ามันก็อาจจะเสียอารมณ์คนที่หวังมาดูหนังไซไฟระทึกขวัญเอามันอย่างเดียว
  • บท

    7.5

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

เรื่องย่อ: บรินน์ เด็กสาวที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง เพราะอดีตบางอย่างของเธอทำให้ไม่มีใครในเมืองเลยที่อยากเข้าใกล้เธอ แต่แล้วคืนหนึ่งบางสิ่งจากฟากฟ้าก็พุ่งความสนใจมาที่เธอและออกไล่ล่าเธออย่างไม่ลดละ

‘No One Will Save You’ เป็นหนังไซไฟระทึกขวัญเรื่องล่าสุดที่ออกฉายทาง Disney+ Hotstar ทั้งนี้ตัวหนังมีความน่าสนใจหลายอย่างที่ทำให้เราไม่อาจมองข้ามเรื่องนี้ไปได้

ประการแรกนี่เป็นผลงานเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับ ไบรอัน ดัฟฟิลด์ (Brian Duffield) แม้ในมุมงานกำกับจะยังขาดผลงานให้แฟนหนังชาวไทยจดจำชื่อ ทว่าเขาก็เป็นคนมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ทั้งในหนังไซไฟก้าวพ้นวัยเรื่องแรกของเขา ‘Spontaneous’ (2020) ที่ว่าด้วยเด็กมัธยมโรงเรียนหนึ่งเกิดร่างกายระเบิดขึ้นเองอย่างไร้สาเหตุ และทำให้พวกเขาทุกคนต้องถูกกักตัวหาวิธีรักษาและมีพื้นที่บาง ๆ ให้สองตัวละครหลักได้ผูกสัมพันธ์กัน ซึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยความว้าวุ่นและปัญหาชีวิตของพวกวัยรุ่นที่กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ

และในบทบาทมือเขียนบทนั้นยิ่งน่าสนใจ เขาคือผู้เขียนบท ‘Love and Monsters’ (2020) ที่ผสานแฟนตาซีและโรแมนติกได้ลงตัวกลายเป็นหนังม้ามืดที่ครองใจใครไปหลายคน ซึ่งพอดัฟฟิลด์ที่ห่างหายไปนานกว่า 3 ปีกลับมาพร้อมหนังไซไฟระทึกขวัญมันจึงทำให้ดูน่าสนใจไม่น้อยว่าเขาจะเล่าอะไร

ตัวหนังจะพาเราไปมองเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กสาวชื่อ บรินน์ ที่อยู่ในบ้านเพียงลำพัง ก่อนที่เราจะเริ่มผิดสังเกตว่าเธอไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนเลย หรือมองอีกมุมคนในชุมชนของเธอก็ไม่ยินดีที่จะทักทายกับเธอเช่นกัน นอกจากความประหลาดของตัวบรินน์ที่ทำได้เพียงนั่งคุยกับหลุมฝังศพแม่ตัวเองและเขียนจดหมายถึงเพื่อนในวัยเด็กที่ชื่อ ม้อด ซึ่งไม่เคยปรากฏให้เราทราบว่าเธอเป็นใครเลย

No One Will Save You

ตัวหนังก็เริ่มใส่สัญญาณถึงความผิดปกตินอกตัวบรินน์มาเพิ่ม เมื่อเธอสังเกตเห็นสนามหญ้าหน้าบ้านเธอมีหญ้าตายเป็นรูปวงกลม และเมื่อภาพมุมสูงฉายไปรอบ ๆ เราก็จะพบว่ามีรอยวงกลมแปลก ๆ นี้อยู่ในหลายบ้านทั่วเมืองเลย

นี่คือความน่าสนใจประการต่อมา หากสังเกตที่เราได้ดูมาถึงจุดเกริ่นเรื่องราวนี้ หนังเล่าด้วยภาษาภาพแทบทั้งหมด นั่นคือดัฟฟิลด์ตั้งใจเล่าหนังเรื่องนี้โดยแทบไม่มีบทสนทนาเกิดขึ้นเลย ทั้งเป็นความท้าทายในฐานะนักเล่าเรื่อง และยังเป็นเจตนาที่จะสะท้อนความไร้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนของบรินน์อย่างสิ้นเชิง ตอกย้ำไปที่ชื่อเรื่องอีกว่า ‘ไม่มีใครช่วยคุณได้หรอก’ นั้นไม่เกินเลยเลยสำหรับบรินน์

หนังทำให้เรานึกถึงหนังมนุษย์ต่างดาวที่ค่อย ๆ ใส่คำใบ้และบรรยากาศชวนเสียวสันหลังอย่าง ‘Signs’ (2002) ของ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) ก่อนจะจู่โจมด้วยฉากการเล่นซ่อนหาระหว่างเด็กสาวกับสิ่งมีชีวิตที่ยากคาดเดาด้วยทักษะการตัดต่อที่มีชั้นเชิง ไม่โจ่งแจ้ง และค่อย ๆ ให้เราได้เห็นร่างกายทีละส่วนของบางอย่าง เพื่อเล่นกับจินตนาการของผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ และกดดันให้เราลุ้นไปกับตัวละครจนอยากจะกลั้นหายใจช่วยไม่ให้มนุษย์ต่างดาวนั้นรู้ที่ซ่อนของบรินน์ไปด้วยเลย ตรงนี้ทำให้นึกถึงงานอย่าง ‘A Quiet Place’ (2018) ในบางแง่มุมด้วยเช่นกัน

และโจทย์ของการที่ตัวละครไม่พูด หรือพูดอีกอย่างคือเปล่าประโยชน์ที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น มันก็ยิ่งทำให้ปมปัญหาของบรินน์ที่เป็นปริศนาสำหรับผู้ชมยิ่งน่าสนใจ ว่าเธอเคยทำอะไรมา โดยฉากที่ทำได้ดีมากคือเมื่อเธอพยายามไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรายิ่งอยากรู้อดีตของเธอพอ ๆ กับว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในเมืองนี้เช่นกัน

ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบส่วนใหญ่ให้กับนักแสดงสาวเจ้าของรางวัลนักแสดงฮอลลีวูดรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองของสื่อหลายสำนัก อย่าง เคตลิน ดีเวอร์ (Kaitlyn Dever) ที่รับบทบรินน์ ด้วยใบหน้าที่สะสวยและการแสดงที่สื่ออารมณ์โดยไม่ต้องใช้คำพูดที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ว่ากันแล้วเธอเป็นตัวเลือกที่ลงตัวมาก ๆ ทีเดียว (ใครสนใจติดตามเธอต่อ ก็ขออนุญาตแบ่งปันไอจีกันตรงนี้เลย ที่ @kaitlyndever ซึ่งเธอก็สวยจัดว่าดีเวอร์จริง ๆ)

สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือความจงใจเชย ดีไซน์ของมนุษย์ต่างดาวแบบยอดนิยมที่เรียกว่า Grey Alien เป็นรูปลักษณ์ที่แม้อิงจากคำให้การผู้พบเห็นที่มากที่สุด แต่มันก็ไม่ได้ดึงดูดความสนใจคอหนังได้มากแล้ว เพราะถูกใช้ซ้ำเยอะมาก เราได้เห็นผิวสีเทาไร้ขน หัวโต ตาดำโต ตัวเล็กและแขนขายาวในสื่อนับครั้งไม่ถ้วน แต่ดัฟฟิลด์กับทีมก็ทำให้มันมีรายละเอียดบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าแตกต่าง เริ่มจากนิ้วเท้าที่เคลื่อนไหวคล้ายนิ้วมือ และมีพลังจิตบังคับสิ่งของได้

No One Will Save You

นอกจากนี้การไล่ล่าที่ผสานพลังจากจานบินซึ่งฉายแสงตรึงการเคลื่อนไหวได้ก็ทำให้ความกดดันมันหนักหน่วงขึ้นอีก และที่สำคัญคือเอเลียนไม่ได้มีดีไซน์เดียว ตรงนี้ทำให้มันดูน่าสนใจขึ้นเมื่อเอเลียนตัวอื่น ๆ เริ่มปรากฏกายและทำให้การเอาชีวิตรอดต้องเปลี่ยนวิธีไปด้วย อันนี้ทำได้ดีมาก

จุดนี้ทำให้ระหว่างดูชวนคิดเหมือนกันว่าบางทีการนำเสนอผีเปรตของไทยในเชิงเอเลียนนี้ก็อาจทำให้เข้าถึงความเป็นสากลได้เหมือนกัน มันอยู่ที่วิธีคิดและการออกแบบจริง ๆ

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับหนังเรื่องนี้ แม้โดยส่วนตัวจะค่อนข้างชอบคือ แม้หนังมันจะมีไอเดียที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่มันไม่ใช่หนังไซไฟระทึกขวัญแบบที่ผู้ชมทั่วไปจะคาดหวังได้ชม เพราะเช่นเดียวกับหนังก่อนหน้าของดัฟฟิลด์อย่าง ‘Spontaneous’ คือ เอเลียนหรือความห่างเหินต่อผู้คนของยรินน์เป็นหนึ่งอุปมาที่สำคัญของตัวละคร ที่จะต้องก้าวผ่านปมปัญหาในจิตใจไปให้ได้ มันทำให้ช่วงหลังของหนังที่เริ่มเฉลยปมอดีตไปพร้อมกับภาวะการไถ่บาปของตัวละครนั้นต้องใช้การตีความของผู้ชมพอสมควร

โดยเฉพาะบทพูดประโยคเดียวที่เกิดขึ้นของบรินน์ และท่าทีหลังจากนั้นของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวบรินน์ที่ผู้ชมต้องประเมินเองว่าบทสรุปของเรื่องราวที่เกือบจะปลายเปิดนั้นคืออะไร แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่พอช่วยให้เรามองตอนจบได้ใกล้เคียงกับความตั้งใจของผู้กำกับก็คือ บทสัมภาษณ์ที่ดัฟฟิลด์ได้ให้คำใบ้ไว้ว่า ฉากจบของเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพหลอนของบรินน์ และธีมสำคัญของเรื่องนี้คือความสามารถของมนุษย์ในการที่จะเผชิญความเลวร้ายและก้าวต่อไปอีกครั้ง

นั่นทำให้มองได้ว่าชื่อเรื่องที่ว่า ‘ไม่มีใครช่วยคุณได้หรอก’ นั้นอาจจะหมายถึงว่า ‘ปมในใจของเรา คนที่จะช่วยเราได้ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้น’ ก็เป็นได้

No One Will Save You

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส