[รีวิว] Spaceman: หนังคนเหงาง่อนแง่นของผู้กำกับ Chernobyl ที่เราปล่อยผ่านได้

Release Date

01/03/2024

ความยาว

107 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Johan Renck

Chernobyl (2019), Breaking Bad (2009-2011), The Walking Dead (2010)

เรื่องย่อ

ยาคุบ นักบินอวกาศที่ต้องเดินทางกว่าครึ่งปีไปปลายระบบสุริยะเพื่อหาคำตอบปริศนาบนท้องฟ้าให้มนุษยชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องค้นหาคำตอบให้กับหัวใจตัวเอง เมื่ออยู่ ๆ มีมนุษย์ต่างดาวปรากฏตัวขึ้นมาในยาน

[รีวิว] Spaceman: หนังคนเหงาง่อนแง่นของผู้กำกับ Chernobyl ที่เราปล่อยผ่านได้
Our score
6.5

Spaceman

องค์ประกอบดีงามมากมาย แต่..

หนังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่ผู้กำกับ ทีมนักแสดง เทคนิคการถ่ายทำจำลองอวกาศสมจริง ดัดแปลงจากนิยายชื่อดัง แต่กลับรีดเค้นให้มันเป็นหนังที่น่าจดจำได้เบาบาง

จุดเด่น

  1. เป็นหนังคุณภาพที่น่าสนใจไปทุกด้าน ทั้งผู้กำกับที่มีฝีมือ นักแสดงที่ทำหน้าที่ได้ตามมอบหมายแม้มีความท้าทายที่ ซีจีและงานโปรดักชันที่ยอดเยี่ยมฉากการลอยตัวในยานมีความสมจริง การออกแบบตัวละครต่าง ๆ ที่น่าสนใจโดยเฉพาะรูปลักษณ์มนุษย์ต่างดาว

จุดสังเกต

  1. แม้จะมีองค์ประกอบที่น่าจะเป็นหนังที่น่าจดจำ แต่การเลือกดัดแปลงนิยายที่มีความนามธรรมและปรัชญามาเป็นหนังที่ดูน่าค้นหาหรือสร้างความบันเทิงกลับทำได้จืดจางอย่างที่สุด ไม่ว่าจะสำหรับคนดูทั่วไปหรือสายที่ชอบตีความก็ตาม
  • บท

    6.5

  • โปรดักชัน

    8.0

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    5.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    6.0

แม้ว่าหนังจะมีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมายให้เป็นหนังที่ห้ามพลาด ทว่าเอาเข้าจริงมันก็เป็นหนังคุณภาพที่ข้ามผ่านได้ด้วยหลายเหตุผล

เริ่มที่ว่าหนังมีชื่อทีมงานที่ทำให้อยากดูหลายชื่อ อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) ในฐานะดารานำของหนัง ต้องนับว่าตั้งแต่หนัง Uncut Gems (2019) มา ก็น่าจะมีเรื่องนี้ที่เขาได้รับบทที่ซีเรียสจริงจังลบภาพสายฮาของตัวเอง แม้ในเรื่องนี้จะมีฉากยั่วล้อเชิงตลกอยู่บ้างแต่ก็ดูไม่ใช่ความจงใจให้เป็นหนังตลกเสียทีเดียว และการแบกหนังด้วยการแสดงแบบเล่นคนเดียวเป็นนักบินอวกาศผู้ว้าเหว่ที่สุดในโลกก็ดูจะเป็นการแสดงที่ท้าทายมากครั้งหนึ่งของเขาเอง

ชื่อต่อมาคือ โยฮัน เรงก์ (Johan Renck) ผู้กำกับที่เปรี้ยงขึ้นมาจากการกำกับซีรีส์ ‘Chernobyl’ (2019) ให้ HBO จนกวาดรางวัลเวทีใหญ่ไปมากมาย ผลงานเรื่องถัดไปของเรงก์เลยน่าจับตาดูว่าเขาจะรักษาโมเมนตัมที่ดีของเขาได้แบบไหน เพราะเขาถึงขนาดปฏิเสธงานซีรีส์โทรทัศน์สำหรับ ‘Dune’ ไปแล้วด้วย

ดาราที่สมทบล้วนน่าสนใจ คาเรย์ มัลลิแกน (Carey Mulligan) ที่เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิงมา 3 รอบแล้ว นับตั้งแต่ ‘An Education’ (2009), ‘Promising Young Woman’ (2020) และปีล่าสุดกับ ‘Maestro’ (2023) ส่วนมนุษย์ต่างดาวก็ได้ พอล ดาโน (Paul Dano) มาให้เสียง และผู้ประสานงานนักบินฝั่งโลกก็ได้ คูนาล เนย์ยาร์ (Kunal Nayyar) จาก ‘The Big Bang Theory’ มารับบทอีก ก็ดูเป็นทีมนักแสดงที่น่าสนใจดีแม้แทบจะไม่ได้อยู่ร่วมเฟรมเดียวกันเลยตลอดเรื่อง อันนี้ก็เป็นความท้าทายในการเล่าเรื่องและการแสดงของแต่ละคน

หนังเป็นผลงานการดัดแปลงจากนิยายดังเรื่อง ‘Spaceman of Bohemia’ ของ ยาโรสลาฟ คาลฟาร์ (Jaroslav Kalfar) นักเขียนชาวเช็กที่ย้ายมาอยู่ในอเมริกา ทำให้พื้นหลังของเรื่องและตัวละคร รวมถึงปูมหลังเชิงการเมืองที่ถูกอ้างอิง ต่างเป็นเรื่องราวในเช็กแทบทั้งหมด

จากความเป็นนิยายที่เล่าเรื่องของนักบินอวกาศ ยาคุบ ที่ต้องเดินทางจากภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์เพื่อไปทำภารกิจหาคำตอบให้มนุษยชาติว่าปรากฏการณ์ท้องฟ้าสีชมพูซึ่งเกิดขึ้นปลายระบบสุริยจักรวาล ที่พวกเขาเรียกกันว่า โชปรา นั้นคืออะไรกันแน่ ซึ่งการอยู่เพียงลำพังนานกว่า 6 เดือน ทำให้เขาเริ่มมองเห็นมนุษย์ต่างดาวในรูปร่างคล้ายแมงมุมยักษ์ที่มีความสามารถในการอ่านความทรงจำของสิ่งต่าง ๆ โดยก่อนนี้แม้ยาคุบจะได้พูดคุยกับคนบนโลกมากมายผ่านช่องสัญญาณวิทยุพิเศษ แต่กลายเป็นว่ากับตัวภรรยาของเขาอย่าง เล็งกา ทั้งสองยิ่งห่างเหินกันขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เขาเริ่มเปิดใจผูกมิตรกับมนุษย์ต่างดาวที่เขาก็ไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือเพียงจินตนาการของเขาเอง โดยยาคุบตั้งชื่อเพื่อนใหม่ให้ว่า ฮานุช ตามเรื่องเล่าของนักประดิษฐ์นาฬิกาในตำนานที่ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่

การเป็นนิยายที่ปล่อยตัวละครให้พร่ำเพ้อจมในความคิดของตัวเอง อาจจะดูสมเหตุสมผลเมื่อผู้อ่านได้ไตร่ตรองความคิดของตัวเองไปพร้อมกัน ผ่านจังหวะการกรีดผ่านหรือหยุดพักอ่านที่เหมาะสมเพื่อตกตะกอนความคิด ทว่ากับหนังที่ โคลบี้ เดย์ (Colby Day) ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ มันไม่สามารถสร้างความพิเศษในแบบหนังของตัวเองได้นัก ยิ่งธีมหรือคำตอบที่มันนำพาไปว่า “หนีไปสุดขอบจักรวาลเพียงเพื่อรู้จักหัวใจตัวเอง” นั้น มันช่างไม่มีอะไรใหม่ให้ผู้ชมอีกแล้ว โดยเฉพาะสายนิยมดราม่าไซไฟยิ่งไม่น่าจะรู้สึกว่ามันมีอะไรให้น่าสนใจอีก มันเลยเป็นงานที่ไหลไปเรื่อย ๆ โดยผู้ชมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นหรือกลางเรื่องแล้ว เพียงอยากรอชมว่าตัวละครเอกจะมีชะตากรรมแบบดีหรือร้ายเท่านั้น

ส่วนที่ยากลำบากที่สุดของหนังสำหรับคนดูอย่างหนึ่งคือ มนุษย์ต่างดาวในรูปร่างแมงมุมยักษ์ มันช่างน่าขนลุกยิ่งสำหรับคนที่เป็นโรคกลัวแมงมุม แต่มันก็น่าทึ่งที่ทีมงานสามารถถ่ายทอดเชิงสัญลักษณ์ให้กับเพื่อนในจินตนาการตัวนี้ได้มีทั้งความน่าหวาดกลัวและน่าสงสารในเวลาเดียวกัน ดีไม่ดีการแสดงผ่านซีจีและน้ำเสียงของ พอล ดาโน อาจจะเป็นอะไรที่น่าจดจำกว่าการแสดงของแซนด์เลอร์และมัลลิแกนทั้งเรื่องเสียอีก

หนังเป็นงานที่พอดูได้และน่าจะเฉพาะกลุ่มพอควร คนที่ไม่ได้อยากดูหนังเพื่อความสนุก แต่เพื่อค้นหาใคร่ครวญ เพื่อคุยกับภายในของตัวเองระหว่างดู แน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้อยู่ในจุดที่ตัวละครรู้สึก เราก็แทบจะไม่สนใจชะตากรรมของตัวเอกนัก ออกแนวช่างมันเถอะว่าเขาจะเป็นยังไง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของหนังได้เหมือนกัน แต่ถ้าผู้ชมอยู่ในจุดความสัมพันธ์เหงาง่อนแง่นเช่นเดียวกัน ก็อาจจะอินขึ้นมาสักหน่อย