Play video

สิ่งที่ดูจะเป็นจุดขายแบบไม่ตั้งใจจนเกินหน้าเกินตาตัวหนังเห็นจะเป็นการแก้ปัญหาแบบสุดโต่งของผู้สร้าง All The Money In The World ที่ตัดสินใจควักเงินถึง 10 ล้านเหรียญถ่ายซ่อมทุกฉากของ เควิน สเปซีย์ ในบท จอห์น พอล เก็ตตี้ หลังเกิดข่าวล่วงละเมิดทางเพศอันฉาวโฉ่ โดยเลือก คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ มาแสดงแทนทั้งที่มีเวลาถ่ายทำเพียง 8 วันจนได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงแทบทุกสถาบัน เหลืออย่างเดียวที่หนังต้องพิสูจน์นั่นคือการหยิบเรื่องราวการลักพาตัวหลานของมหาเศรษฐีที่รวยล้นฟ้าแต่ตีราคากับของทุกสิ่งจนแม่แท้ๆต้องพยายามอ้อนวอนขอเงินปู่มาไถ่ชีวิตลูกตัวเองจะทำออกมาอีท่าไหนกันแน่


ภาพเทียบ เควิน สเปซีย์ (ซ้าย) กับ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (ขวา) ในบท จอห์น พอล เก็ตตี้


โดยเรื่องราวที่ว่าเกิดขึ้นในปี 1973 เมื่อ จอห์น พอล เก็ตตี้ที่สาม (ชาร์ลี พลัมเมอร์) ถูกจับไปเรียกค่าไถ่กลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี และด้วยเป็นหน่อเนื้อสกุลเก็ตตี้ทำให้ เกล (มิเชลล์ วิลเลียมส์) แม่ของพอลพยายามทำทุกทางเพื่อหวังให้ จอห์น พอล เก็ตตี้ ซีเนียร์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) คุณปู่มหาเศรษฐีสุดเย็นชา ยอมเจียดเงินมาจ่ายค่าไถ่ให้โจรแต่การจะเปลี่ยนใจคนใจหินที่เห็นเงินดีกว่าหลานนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายโดยงานนี้เกลหวังพี่งพาได้เพียงเฟลตเชอร์ เชส (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) อดีตซีไอเอผู้ช่วยที่เก็ตตี้คนปู่หวังให้ไปเจรจาลดค่าไถ่จากโจร



แน่นอนล่ะว่าการได้เรื่องราวเรียกค่าไถ่สะเทือนประวัติศาสตร์มาทำเป็นหนังย่อมมีความน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผู้กำกับอย่างริดลีย์ สก็อตต์ ปรุงแต่งให้เรื่องราวมีความแตกต่างจากหนังเรียกค่าไถ่อื่นๆก็ตรงที่การใส่รายละเอียดและสร้างมิติให้ตัวละครทุกตัวด้วยภาษาภาพยนตร์จนเรื่องราวดูสมจริงและแทบไม่มีใครเป็นฮีโร่หรือผู้ร้ายที่แท้จริงในเหตุการณ์นี้ได้เลยสักคนโดยเฉพาะออกแบบสภาวะแวดล้อมตัวละครตัวละครอย่าง จอห์น พอล เกตตี้ ซีเนียร์ ที่มีทั้งความเย็นชาและว้าเหว่ ภายใต้บ้านหลังใหญ่โตเต็มไปด้วยสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลแต่กลับมีแสงเพียงเล็กน้อยพอสาดส่องให้เขาเห็นเพียงมูลค่าน้ำมันบนกระดาษเพื่อสะท้อนความเป็นเศรษฐีที่หมดความเชื่อใจและไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์ ทำให้ทั้งเรื่องนอกจากจะต้องมานั่งลุ้นว่าเกลและเฟลตเชอร์จะช่วยพอลได้ไหม เรายังต้องมาลุ้นให้คุณปู่ขี้ตืดยอมใจอ่อนและมีมนุษยธรรมซักทีซึ่งนับว่าเป็นการสร้างตัวละครที่ชาญฉลาดมาก ไม่เพียงเท่านั้นตัวละครฝั่งโจรอย่างซินควอนต้า (โรแมง ดูริส) ที่แม้ใบหน้าจะดูโหดเหี้ยมแต่กลับเปี่ยมน้ำใจจนเป็นเพียงทางรอดเดียวของพอลท่ามกลางคนโฉดที่ลักพาตัวเขามาก็ยังสร้างทั้งความขบขันและไม่น่าไว้วางใจให้กับเรื่องราวได้ลุ้นระทึกกันไปอีกขั้นอีกด้วย



ไม่เพียงเท่านั้น ริดลีย์ สก็อตต์ ยังสามารถควบคุมจังหวะจะโคนในแต่ละฉากให้คนดูได้ลุ้นระทึกกันตลอดแถมยังล่อหลอกคนดูกันไม่เว้นแต่ละซีน ทั้งการใช้โมทีฟหรือวัตถุกระตุ้นเรื่องอย่างรูปสลักที่ถูกวางให้กลายเป็นของมีค่าในต้นเรื่องก่อนความจริงจะเปิดเผยซึ่งนอกจากจะช่วยก่อร่างสร้างความระทึกให้กับเรื่องราวแล้วมันยังส่งเสริมกับธีมหลักของเรื่องอันว่าด้วยคุณค่าที่มนุษย์ปั้นแต่งให้สิ่งต่างๆและช่วยเปิดปมตัวละครในตระกูลเก็ตตี้ที่แทบไม่ได้ผูกพันธ์กันด้วยสิ่งใดนอกจากทรัพย์สินเงินทองเพียงเท่านั้น แถมหนังยังมีจุดชวนหัวอย่างความโง่เขลาเบาปัญญาของโจรหรือแม้กระทั่งจุดที่ล่อหลอกคนดูให้เชื่อว่า พอล ปลอดภัยแล้ว ก่อนจะตลบหลังคนดูจนเราไม่อาจคาดเดาทิศทางของเรื่องราวได้อีก ซึ่งส่วนนี้คงต้องชื่นชม เดวิด สการ์ปา มือเขียนบท The Last Castle (2001) ที่สามารถสรุปเรื่องราวจากหนังสือบันทึกความทรงจำสู่บทหนังระทึกขวัญครบรสทั้งความบันเทิงและไม่ด้อยด่าในแง่การส่งเสริมให้คนเกิดพุทธิปัญญา



ท้ายสุด แน่นอนล่ะว่าใครก็คงต้องชื่นชม คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ที่สามารถสวม จอห์น พอล เก็ตตี้ ซีเนียร์ ได้อย่างลุ่มลึกและสามารถขโมยซีนได้ทุกฉากที่ปรากฎตัว โดยแทบจะกลืนกินและกลายเป็นตัวละครมหาเศรษฐีใจหินได้อย่างแทบไม่ต้องพยายาม แต่กระนั้นเราก็ยังไม่อาจมองข้าม มิเชลล์ วิลเลียมส์ ในบท เกล แม่ผู้พยายามทำทุกทางให้ได้ลูกกลับมา ทั้งสีหน้าแววตาและการแสดงที่นำพาอารมณ์ตัวละครให้คนดูได้รู้สึกพังทลายตามเธอทุกครั้งที่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ได้จริงๆ จนบางทีสาเหตุที่มาร์ค วอห์ลเบิร์ก ยอมบริจาคส่วนต่างจากการถ่ายซ่อมถึงหนึ่งล้านห้าแสนเหรียญเข้ากองทุนต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในนามมิเชลล์ วิลเลี่ยมส์ น่าจะเพื่อชดเชยกับความอยุติธรรมของค่าจ้างที่เขาได้มากกว่ามิเชลล์เป็นร้อยเท่านั่นเอง

สรุปแล้ว All The Money In The World นับเป็นหนังระทึกขวัญที่มีการแสดงระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ของคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ เป็นไฮไลต์สำคัญในหนังที่ล่อหลอกคนดูจนเดาทางไม่ถูก และยังสอนสัจธรรมเรื่องทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของนอกกายตายไปก็เอาไปไม่ได้อย่างเห็นภาพที่สุด