[รีวิว] Through the Darkness – ทำไมซีรีส์สืบสวนสอบสวนชั้นดีเรื่องนี้ถึงไม่แมส!
Our score
8.4

[รีวิว] Through the Darkness – ทำไมซีรีส์สืบสวนสอบสวนชั้นดีเรื่องนี้ถึงไม่แมส!

จุดเด่น

  1. เป็นซีรีส์ที่สมจริงมาก ๆ ในทุกมิติ ทั้งโปรดักชัน บท กระบวนการสืบสวน
  2. นักแสดงเล่นได้ดีมาก ทั้งตัวหลัก และสมทบ
  3. แต่ละคดีน่าสนใจ และคลี่คลายได้สมเหตุสมผล
  4. ถ่ายทอดความกดดัน, น่ากลัวของฆาตกร และบรรยากาศสังคมได้ดี
  5. กล้าที่จะจิกกัดการทำงานของตำรวจในยุคนั้น

จุดสังเกต

  1. บางช่วงเนื้อเรื่องอืดอาด วน ๆ ซ้ำ ๆ
  2. ใครชอบฉากแอคชันอาจไม่ถูกใจ เพราะมีน้อย เน้นสืบสวน
  • การแสดง

    9.8

  • โปรดักชัน

    8.0

  • บทซีรีส์

    8.5

  • ความบันเทิง

    7.5

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    8.0

อาจจะช้าไปสักหน่อยเพราะซีรีส์ออนแอร์ตอนสุดท้ายไปแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 และผมเพิ่งได้ดูเรื่องนี้เมื่อมกราคม 2566 คำถามเดียวที่ผมถามตัวเองคือทำไมเรื่องนี้ถึงไม่แมส!

เรื่องย่อ

Through the Darkness เป็นซีรีส์จากเกาหลีใต้ เรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวนคดีต่าง ๆ ของ ‘Profiler’ หรือ ‘นักวิเคราะห์จิตวิทยาอาชญากร’ ที่จะวิเคราะห์พฤติกรรม, ลักษณะ, และข้อมูลต่าง ๆ ในคดีเพื่อสรุปเป็นบทวิเคราะห์ คอยช่วยเหลือให้ตำรวจสามารถจับกุมอาชญากร, ฆาตกร หรือผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น โดยในเรื่องเซตอัปเรื่องราวเป็นช่วงปี 1990 – 2000 ต้น ๆ โดยเล่าย้อนไปตั้งแต่จุดกำเนิดโปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี รวมถึงพาไปชำแหละ สืบเสาะ ค้นวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการทำงานของอาชีพนี้ และตำรวจเกาหลีในยุคนั้น การดำเนินเรื่องก็จะเล่าผ่าน ‘ซงฮายอง’ รับบทโดย ‘คิมนัลอิล’ โปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี และ ‘กุกยอนซู’ รับบทโดย ‘จินซอนกยู’ หัวหน้าทีมวิเคราะห์พฤติการณ์อาชญากรรม ซึ่งทั้ง 2 จะจับคู่กันยกระดับการสืบสวนสอบสวนของเกาหลี เพื่อรับมือกับการฆาตกรรมที่ไร้แรงจูงใจ แต่เพื่อพึงพอใจ ซึ่งถึอเป็นเรื่องใหม่ของเกาหลีในยุคนั้น การเจาะจิตฆาตกรจะตื่นเต้น ดิ่งใจขนาดไหนสามารถรับชมได้แล้วที่ viu และ Netflix ปัจจุบันก็มี 1 ซีซัน 12 อีพี (ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง)

‘ซงฮายอง’ รับบทโดย ‘คิมนัลอิล’ โปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี

สารภาพว่าผู้เขียนไปเจอซีรีส์เรื่องนี้โดยบังเอิญจากการไถทวิตเตอร์ มีคนแคปภาพบางฉากบางตอนจากซีรีส์มาเล่าถึงความชาญฉลาดและน่าสนใจในเรื่อง ซึ่งมันตกเราได้เต็ม ๆ จนต้องรีบไปเสิร์ชหามาดู ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งออนแอร์ แต่ไม่ได้โปรโมต สรุปคือไม่ใช่ มันออนแอร์ไปเป็นปีแล้ว (หัวเราะ) แถมในทวิตนั้นก็มีคนอวยยศด้วยว่านักแสดงเรื่องนี้คว้ารางวัล 2022 SBS Drama Awards จากเรื่องนี้กันถ้วนหน้า

  • รางวัลแดซัง: คิมนัมกิล
  • รางวัลนักแสดงชายดีเด่น สาขามินิซีรีส์ แฟนตาซี: จินซอนกยู
  • รางวัลนักแสดงหน้าใหม่ชายยอดเยี่ยม: รยออุน
  • รางวัลนักแสดงหน้าใหม่หญิงยอดเยี่ยม: กงซองฮา

โดยเฉพาะแดซัง เรียกว่าเป็นรางวัลใหญ่มากของวงการบันเทิงเกาหลี นั่นยิ่งทำให้เราทวีความไฮป์ในเรื่องนี้ และเมื่อดูจนจบก็พบว่า ‘ไม่ผิดหวัง’

จากซ้าย: จินซอนกยู, คิมนัมกิล, รยออุน, กงซองฮา

การเล่าเรื่อง Through the Darkness เริ่มต้นด้วยการพาเราไปเห็น ‘ชีวิต’ ของ ‘ซงฮายอง’ ตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้ว่าทำไมคนคนนี้ถึงเข้าใจจิตใจของมนุษย์ได้มากเป็นพิเศษ และเมื่อเติบโตขึ้นมา เขาเองก็มีความช่างสังเกตที่เอกอุจนมองเห็นรายละเอียดทั่วไปที่น้อยคนนักจะมองเห็น จนทำให้การสืบสวนของเขาโดดเด่น แต่แน่นอนความเก่งที่ซื่อตรงของเขาย่อมไปขัดขาตำรวจบางกลุ่มที่ใช้วิธีการสืบสวนแบบเดิม ๆ เช่นจับผู้ต้องสงสัยที่ไม่แน่ใจว่าผิดจริงหรือไม่ มาซ้อมจนต้องยอมรับสารภาพ บางครั้งก็จับถูกคน บางครั้งก็จับแพะ จนคนไม่ทำความผิดต้องคิดคุกไปเสียอย่างนั้น

‘กุกยอนซู’ รับบทโดย ‘จินซอนกยู’ หัวหน้าทีมวิเคราะห์พฤติการณ์

คำถามคือจากตำรวจปกติที่มีการสืบสวนแบบทั่วไป กลายเป็นโปรไฟเลอร์ได้ยังไง ในช่วงเวลานั้น ‘กุกยอนซู’ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับโปรไฟเลอร์และฆาตกรต่อเนื่องจากต่างชาติ และเชื่อว่าวันหนึ่งเรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นที่เกาหลีแน่ ๆ ดังนั้นตำรวจควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการสืบสวน เพราะปกติมักจะสืบสวนจากแรงจูงใจ แต่หากเจอฆาตกรที่ไม่ได้ฆ่าเพราะแรงจูงใจ แต่ฆ่าเพราะความพอใจ ความสนุก ล้วน ๆ ตำรวจอาจจะหาหลักฐานเพื่อสืบต่อไม่เจอเลยก็เป็นได้

บรรยากาศการอธิบายผลวิเคราะห์พฤติกรรมฆาตกร

ดังนั้นการสืบสวนก็ต้องเปลี่ยนไป อาจต้องสังเกตจากพฤติกรรม ลักษณะ การกระทำ แล้วหาเหตุผลในเชิงจิตวิทยาว่าการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไม อย่างไร เช่น เช่น ฆาตกรหั่นศพได้ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่าฆาตกรทำอาชีพเกี่ยวกับร้านขายเนื้อสัตว์… หรือคนร้ายรู้ได้อย่างไรว่าบ้านแต่ละหลังมีคนอยู่กี่คน อาชีพอะไรบ้างที่จะรู้ข้อมูลตรงนี้ได้

หลังผ่านเหตุการณ์ในเรื่องบางอย่าง ในที่สุดกุกยอนซูก็ชักชวนซงฮายอนมาก็ก่อตั้งเป็นทีมวิเคราะห์พฤติการณ์อาชญากรรมได้สำเร็จ นอกจากช่วยตำรวจสืบคดีแล้ว หน้าที่อีกอย่างของทั้งคู่คือการเข้าเรือนจำไปสัมภาษณ์นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ เพื่อเจาะลงไปให้ถึงต้นตอของการกระทำนั้น และหาวิธีรับมือหรือเตรียมป้องกันไม่ให้เหตุร้ายต้องเกิดซ้ำสอง

การสัมภาษณ์นักโทษในเรือนจำ

ความสนุกนอกจากการสืบสวนแล้ว การต้องตามเอาใจช่วยให้ทั้งคู่ได้ทำงานอย่างราบรื่นก็น่าลุ้นไม่แพ้กัน ซึ่งอุปสรรคสำคัญไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นตำรวจเองด้วยกัน เพราะในสมัยนั้นการทำงานแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ หลายหน่วยงานไม่เข้าใจ และมองว่าทีมวิเคราะห์พฤติการณ์อาชญากรรมมาปั่นป่วนการสืบสวนเสียเปล่า ๆ ดังนั้นเวลาที่ทั้งคู่วิเคราะห์การสืบสวนได้ถูกต้อง ยอมรับว่าผู้เขียนสะใจมากครับ ฮา!

ในส่วนการแสดงข้อนี้คงไม่มีการตั้งคำถาม เพราะรางวัลมากมายที่กล่าวไปตอนต้นคงเป็นคำตอบได้ดี เราพูดได้เต็มปากว่าถ้าการแสดงของตัวละครไม่ถึง เรื่องนี้อาจดูไม่ ‘จริง’ ขนาดนี้ก็ได้ โดยเฉพาะนักแสดงที่รับบทบาทเป็นฆาตกร มันชวนน่ากลัวจริง ๆ หรือเพราะเซตอัปที่ดูเก่าช่วงปี 1990 – 2000 ก็ไม่รู้ บรรยากาศบางอย่างเลยขับให้ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอด ‘ออร่า’ ความน่ากลัวของฆาตกรออกมาได้สมจริงเหลือเกิน ลองจินตนาการว่าในวูบสุดท้ายของชีวิต เราเจอคนเหล่านี้ก้าวล้ำเข้ามาในอณูลมหายใจของเรา เพื่อมาฆ่าเรา มันคงน่ากลัว ตื่นตระหนกจนอาจทำอะไรไม่ถูก ที่สำคัญนักแสดงสมทบที่รับบทเหยื่อแต่ละคนก็แสดงได้สะเทือนใจราวกับนี่ไม่ใช่การแสดง และด้วยความรุนแรงระดับนี้ Through The Darkness เลยได้เรต 16+ ครับ

การสัมภาษณ์นักโทษในเรือนจำ

สืบเนื่องจากความสมจริงเรื่องการแสดงแล้ว ภาพรวมทั้งเรื่องไม่ว่าจะเป็นโปรดักชัน, กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงบทบาทของสื่อ และภาพรวมของสังคมวงกว้าง เรื่องนี้ก็ทำได้สมจริงจริง ๆ จนพูดได้เต็มปากว่าเราชอบเรื่องนี้มาก ๆ จากความสมจริงนี่แหละ ส่วนใหญ่ซีรีส์สืบสวนมักจะมีอะไรเวอร์วังอลังการใจ แต่เรื่องนี้กลับต่างออกไป ทุกอย่างดูเป็นเรื่องจริงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน จนแทบจะเอาตรรกะเหตุและผลบางอย่างมาใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย (หมายถึงเรื่องดี ๆ นะ) ซึ่งความสมจริงนี้ก็อาจเป็นเพราะว่า Through the Darkness ดัดแปลง จากหนังสือ ‘Those Who Read the Minds of Evil’ ของ ‘ควอนอิลยง’ โปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี ซึ่งนี่คือคนจริง ๆ ไม่ใช่ตัวละครสมมติแต่อย่างใด

ควอนอิลยง โปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีจุดสังเกต ด้วยความสมจริงที่มี ดังนั้นปฎิเสธไม่ได้ว่าบางจังหวะมันมีความอืดอยู่บ้าง หรือรู้สึกซ้ำ ๆ วน ๆ บ้าง (เพราะจากที่สังเกตงานสืบสวนมันก็ประมาณนี้ละเนอะ) ยกตัวอย่าง ยามที่ตัวเอกต้องการเข้าใจวิธีคิดของฆาตกร เลยพยายามสวมบทบาทและแทนตัวเองเป็นฆาตกร ทำแบบที่ฆาตกรทำ ไปในที่ที่ฆาตกรไปซ้ำ ๆ เพื่อให้มองเห็นบางอย่างที่ขาดไป ไม่แปลกที่คนดูจะรู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันดูไม่ไปไหน เพราะไปแต่ที่เดิม ๆ (ทั้งที่มันก็ไปแหละ ฮา)

สุดท้ายสิ่งที่ทำให้หลายคนมองข้ามเรื่องนี้ ในมุมมองส่วนตัว ขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ ว่า “ในมุมมองส่วนตัว” ผมว่าเป็นชื่อเรื่องนี่แหละครับ ‘Through the Darkness’ มันดูไม่สื่อสารว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร จะสืบสวน จะแอ็กชัน หรือจะการเมือง เพราะถ้าแปลชื่อตรง ๆ ‘ฝ่าความมืด’ หรือ ‘มืดจนถึงที่สุด’ ก็ยังไม่สื่อสารว่าซีรีส์เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร ถ้าโปรโมตไม่ดีก็มีโอกาสที่คนจะเลื่อนผ่านได้ และนี่อาจนำไปสู่เหตุผลว่าทำไมเมื่อราว ๆ เกือบ 1 ปีก่อน ผมถึงไม่เคยผ่านตาซีรีส์เรื่องนี้เลย ทั้งที่ชื่นชอบเรื่องราวทำนองนี้อยู่แล้ว แต่ในที่สุดผมก็ได้ดูสักที และพูดจากใจว่าไม่ผิดหวังครับ… ถ้าสนใจสามารถดูได้เลยที่ Netflix, viu, TrueID

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส