ถ้าเราได้ยินคำว่า “ลักพาตัว” หรือ Kidnapping ร้อยทั้งร้อยเราก็ต้องคิดไว้ก่อนเลยว่าต้องเป็นเรื่องร้าย คนที่ทำการลักพาตัวนี่ต้องมีเจตนาร้ายเป็นแน่ ส่วนคนที่ถูกลักพาตัวไปนี่ก็ต้องซวยแล้ว ต้องโดนกักขัง มีสิทธิ์ถูกทำร้าย ถูกทรมานแน่ ๆ เลย แต่ก็มีนะ กรณีลักพาตัวสุดประหลาดที่เกิดขึ้นกับนาย แฟตส์ วอลเลอร์ (Fats Waller) นักดนตรีแจ๊สชื่อดังในอดีตผู้นี้แหละ ที่ถูกลักพาตัว แต่ไม่บาดเจ็บอะไรเลย แถมกลับมาด้วยเงินในประเป๋าอีกเป็นฟ่อนเลย

แฟตส์ วอลเลอร์

เรื่องราวที่เราหยิบมาเล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ปี 1926 เป็นช่วงที่เมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพ่ออัล คาโปน (Al Capone) ผู้ยิ่งใหญ่ในตำนาน ในวันนั้นอัล คาโปน เป็นเจ้าของโรงกลั่นเหล้า, ซ่องโสเภณี, บ่อนการพนัน และร้านเหล้าเถื่อน หลังจากคาโปนสร้างสงครามชิงพื้นที่ปกครอง สังหารเจ้าพ่อรายอื่น ได้สำเร็จเขาก็ขยายอำนาจได้อย่างมหาศาล นักการเมือง, นักข่าว และตำรวจ ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเขาหมดสิ้น แม้ว่าในวันนั้นอัล คาโปน จะอายุเพียงแค่ 27 ปีเท่านั้น แต่เขาก็สามารถสร้างบารมีความหวาดกลัวแผดปกคลุมไปทั่วอาณาเขตแล้ว

โฉมหน้าของ อัล คาโปน

ในวันที่อำนาจของอัล คาโปน แผ่ขยายถึงขีดสุด บรรดาลูกน้องก็อยากจะเอาใจนาย เมื่อนายเกิดจัดปาร์ตี้ขึ้นมา ซึ่งปาร์ตี้ระดับอัล คาโปน นี่ต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เหล้าต้องดีสุด อาหารต้องชั้นดีสุด แม้กระทั่งดนตรีก็ต้องเล่นโดยนักดนตรีระดับยอดฝีมือในยุคนั้น ตรงจุดนี้ล่ะ ที่เหมือนว่าความซวยจะมาเยือนนาย แฟตส์ วอลเลอร์ ต้องขออธิบายตัวตนของนายแฟตส์ให้รู้จักกันซะหน่อยก่อน นายแฟตส์ วอลเลอร์ เป็นศิลปินเพลงแจ๊สผิวดำ เขาเชี่ยวชาญการเล่นเปียโนอย่างมาก แต่ก็ยังถนัดเล่นออแกน, ไวโอลิน, ร้องเพลง และเป็นนักพูดตลกอีกด้วย วอลเลอร์ มีชื่อเสียงอย่างมากในช่วงปี 1918 – 1943 ตลอดชีวิตของเขาเขียนเพลงไว้มากถึง 400 เพลง ในช่วงที่เกิดเหตุลักพาตัวนั้น วอลเลอร์อายุเพียง 21 ปีเท่านั้น แต่ชื่อเสียงเขากำลังโด่งดังอย่างมากเพราะเขาเพิ่งออกผลงานเพลง และออกเดินสายแสดงโชว์ทั่วอเมริกา ซึ่งในวันนั้นแฟตส์ วอลเลอร์ กำลังมาแสดงโชว์หลายรอบอยู่ที่โรงแรมเชอร์แมน ในชิคาโก้อยู่พอดี

Ain’t Misbehavin’ ผลงานเพลงดังของ แฟตส์ วอลเลอร์

ก็เป็นไอเดียของบรรดาลูกน้องของอัล คาโปน นี่แหละที่นึกอยากจะเอาใจนาย ก็เลยมาดักเฝ้าอยู่หน้าโรงแรม พอวอลเลอร์โชว์จบเขาก็เดินออกมาหน้าโรงแรม ไอ้ลูกน้องตัวดีก็ตรงเข้าไปประชิดตัวเอาปืนจิ้มเข้าสีข้างของวอลเลอร์ แล้วบอกให้เขาก้าวขึ้นรถลิมูซีนไปซะดี ๆ พอขึ้นไปแล้ว วายร้ายสองคนนั้นก็บอกคนขับให้มุ่งหน้าไปย่านซิเซโร ตะวันออก ชานเมืองของชิคาโก้ พอไปถึงจุดหมายปลายทาง วอลเลอร์ก็พบว่าที่นี่เป็นคลับหรูหราขนาดใหญ่โต พอเขาเข้าไปด้านใน ก็พบว่าผู้คนในคลับกำลังสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ตอนนั้นล่ะที่เขาเพิ่งเข้าใจจุดประสงค์ที่เขาถูกพาตัวมา เพื่อให้เล่นเปียโนขับกล่อมคนในงานนี้ ขณะที่วอลเลอร์กำลังเล่นเปียโนตามที่ถูกบังคับอยู่นั้น เขาก็กวาดสายตาไปเห็น เจ้าภาพของงานนี้ นั่นก็คือ อัล คาโปน ทำให้เขารู้แล้วว่านี่คืองานปาร์ตี้วันเกิดของอัล คาโปน นั่นเอง

และเขากลายเป็นของขวัญที่ลูกน้องจัดมาเซอร์ไพรส์นายใหญ่อย่าง อัล คาโปน จากที่ต้องเล่นเพราะถูกบังคับ บรรยากาศก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป กลายเป็นการเล่นด้วยความสนุกสนานบันเทิง เพราะสถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียดอย่างที่คิด และที่สำคัญ วอลเลอร์ได้เงินติ๊บค่าเล่นถึงเพลงละ 100 เหรียญ มูลค่าเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วจะมหาศาลขนาดไหน คิดกันดู นอกจากนั้นวอลเลอร์ยังได้ดื่มแชมเปญราคาแพงหูฉี่ ที่มีให้กินแบบไม่จำกัด และที่บ้าบอเกินคาดก็คือปาร์ตี้นี้กินเวลายาวนานถึง 3 วันติด วอลเลอร์เล่นเปียโนจนสลบเหมือดไปบนเปียโนที่เขาเล่นนั่นแหละ พอจบปาร์ตี้ ลูกน้องอัล คาโปน ก็พาวอลเลอร์กลับขึ้นรถลิมูซีนแล้วไปส่งกลับที่โรงแรมเชอร์แมนที่เดิม

หน้าปกอัลบั้มของ แฟตส์ วอลเลอร์

นี่มันคือการลักพาตัวประเภทไหนกัน วอลเลอร์ไม่ถูกทำร้ายข่มเหงเลยแม้แต่น้อย และหนำซ้ำในกระเป๋าเขายังมีเงินสดอีกหลายพันดอลลาร์กลับมาด้วย ปาร์ตี้ของอัล คาโปน น่าจะเป็นประสบการณ์ที่วอลเลอร์จดจำไปจนชั่วชีวิตเขา เพราะส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ก็มาจากคำบอกเล่าของลูกชายของแฟตส์ วอลเลอร์เอง โดยส่วนตัวของแฟตส์ วอลเลอร์แล้ว เขาก็เป็นคนรักปาร์ตี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม และรักการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ เอ็ดดี้ แบร์ฟิลด์ เพื่อนสนิทของแฟตส์ วอลเลอร์ บอกว่าภาพที่เขาเห็นเป็นประจำคือเวลาที่แฟตส์ วอลเลอร์ เล่นเปียโนเขาจะมีเหล้าหนึ่งแกลลอนวางไว้ข้างเปียโน แล้วเขาก็ดื่มจนเกลี้ยงภายในคืนนั้น โดยไม่มีผลต่อการเล่นเปียโนแต่อย่างใด แฟตส์ วอลเลอร์ สามารถเล่นเปียโนไปด้วยและดื่มไปด้วยติดต่อกันได้ยาวนานถึง 48 ชั่วโมง จากนั้นเขาก็จะสลบเหมือดไป 2 วันเต็ม ๆ

บางคนที่ได้ฟังเรื่องราวของ แฟตส์ วอลเลอร์ กับ อัล คาโปน ก็ตั้งข้อสงสัยว่าเหลือเชื่ออย่างกับเรื่องแต่ง แต่ก็มีหลักฐานส่วนหนึ่งยืนยันว่าด้วยรสนิยมส่วนตัวของอัล คาโปนเองก็เป็นคนที่พิสมัยดนตรีแจ๊สเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คาโปนมักจะคบหา และไปไหนมาไหนกับนักดนตรีแจ๊สผิวดำหลายคน เรื่องที่เกิดขึ้นกับแฟตส์ วอลเลอร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามีชื่อ อัล คาโปน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง