แม้วันนี้สหรัฐอเมริกาจะเคยมีประธานาธิบดีผิวดำมาแล้ว แต่ปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว คนผิวดำในสหรัฐฯ ยังถูกมองเป็นประชากรอีกชนชั้นอยู่ดี คนผิวขาวอีกมากยังมีทัศนคติในด้านลบต่อคนผิวดำเสมอมา ฉะนั้นเมื่อมีเหตุอาชญากรรม แล้วในคดีนั้นมีผู้ต้องสงสัยทั้งผิวขาวและผิวดำ แน่นอนว่าคนผิวดำจะถูกตัดสินไปก่อนแล้วว่าเป็นคนผิด ซึ่งหลาย ๆ คดี คนผิวดำก็ถูกตัดสินจำคุกโดยไม่มีความผิด อย่างกรณีที่เกิดกับ จาเร็ตต์ อดัมส์ (Jarrett Adams) เขาต้องโทษจำคุกไป 8 ปีในคดีที่เขาไม่ได้ก่อ แต่เป็นแรงบันดาลใจให้อดัมส์มุ่งมั่นศึกษาวิชากฎหมายจากห้องสมุดในเรือนจำ และสามารถแก้ต่างให้ตัวเองพ้นโทษออกมาได้ ตั้งแต่นั้นเขาก็กลายมาเป็นทนายที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือนักโทษที่ติดคุกทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นที่เขาเคยต้องรับชะตากรรมมาแล้ว

เรื่องราวของ จาเร็ตต์ อดัมส์ เริ่มต้นเมื่อ

จาเร็ตต์ อดัมส์ ในวัย 17 ปี

จาเร็ตต์ อดัมส์ เกิดและเติบโตทางตอนใต้ของรัฐชิคาโก้ เขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาเมื่อปี 1998 ในวันนั้นอดัมส์อายุได้เพียง 17 ปี เขาก็ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่นทั่วไป ตกค่ำก็สังสรรค์ปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ คืนหนึ่งในฤดูร้อน อดัมส์กับเพื่อนอีก 2 คนชวนกันไปปาร์ตี้ที่มหาวิทยาลัย วิสคอนซิน-ไวต์วอเทอร์ แล้วคืนนี้ล่ะ ที่อดัมส์จะต้องจดจำไปชั่วชีวิต เพราะเป็นคืนสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

อดัมส์คิดว่าปาร์ตี้คืนนั้นก็เหมือนกับปาร์ตี้ในคืนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรสำคัญเป็นพิเศษ จนเมื่อผ่านพ้นปาร์ตี้คืนนั้นมาแล้วถึง 3 สัปดาห์ อดัมส์ก็พบนามบัตรของตำรวจนายหนึ่งสอดผ่านประตูบ้านเขาเข้ามา จุดประสงค์ของตำรวจผู้นั้นก็คือ ต้องการสอบปากคำอดัมส์ เพราะมีหญิงวัยรุ่นรายหนึ่งแจ้งความว่า อดัมส์และเพื่อนอีก 2 คนร่วมกันข่มขืนเธอ แน่นอนว่าอดัมส์ต้องโต้แย้งข้อกล่าวหาที่เขาไม่ได้กระทำนี้ แถมยังมีพยานแวดล้อมให้การสนับสนุนอดัมส์ แย้งข้อกล่าวหาของหญิงเจ้าทุกข์ แต่ถึงอย่างนั้นอดัมส์ก็ยังโดนควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

“พวกเราเป็นผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ข้อกล่าวหานั้นมันเป็นการใส่ความทั้งเพ พอผมโดนจับผมก็รู้ได้ทันทีเลยว่าคดีนี้มันไม่ได้สืบหาข้อเท็จจริงใด ๆ เลย มันเป็นเรื่องการเหยียดผิวเท่านั้น ประเด็นมันอยู่แค่ว่าใครเป็นผู้เสียหาย ส่วนผู้ต้องหานั้นภาพลักษณ์เป็นยังไงแค่นั้น ก็เพราะพวกเราผิวดำไง แล้วหญิงที่กล่าวหาเรานั้นผิวขาว ฉะนั้นมันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะแก้ต่างว่าอย่างไรบ้าง พูดอะไรไปก็ไม่มีใครเชื่อเรา และจะไม่มี”

อดัมส์ถูกดำเนินคดีในฐานะจำเลยผู้บรรลุนิติภาวะ

กฎหมายในแต่ละรัฐของเมริกาไม่เหมือนกัน อย่างในวิสคอนซินที่เกิดคดีนี้ จะกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปจะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง เมื่อตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ทางรอดก็คือต้องมีทนายมาช่วยแก้ต่างให้ แต่ครอบครัวอดัมส์และเพื่อนอีกคนหนึ่งไม่มีปัญญาว่าจ้างทนายฝีมือดีมาช่วย พวกเขาจึงต้องใช้ทนายที่รัฐจัดหาให้ ส่วนเพื่อนอีกคนที่โดนคดีนี้ร่วมกันนั้น ที่บ้านพอมีสตางค์เลยสามารถว่าจ้างทนายส่วนตัวได้

“พวกเราไปขึ้นศาลพร้อมกันทั้งหมด แต่วันนั้นการพิจารณาก็จบลงที่ว่า ‘หาข้อสรุปไม่ได้’ ที่ลงเอยมาแบบนี้ก็เพราะผู้เสียหายนั้นเปลี่ยนคำให้การอย่างกะทันหัน”
ศาลจึงนัดวันพิจารณาคดีใหม่

แผนการแก้ต่างของทนายผิดพลาด

เป็นอีกวันที่อดัมส์และเพื่อนอึ้งไปตาม ๆ กันกับแผนการของทนายของเขา เมื่อทนายส่วนตัวที่เพื่อนว่าจ้างมายื่นคำร้องต่อศาลให้ ‘ยกฟ้อง’ ลูกความของเขา ด้วยเหตุผลว่านี่คือการ ‘ฟ้องซ้ำในคดีเดิม’ อ้างตัวบทกฎหมายว่า ศาลไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องคดีเดียวกันกับจำเลยคนเดิมซ้ำสองได้อีก ซึ่งก็ได้ผลจริง ศาลพิจารณายกฟ้องคดีของเพื่อนอดัมส์คนนี้

ถึงตรงนี้อดัมส์พอจะยิ้มออกได้ว่าทนายสาธารณะของเขาน่าจะใช้แผนการเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นว่าทนายของเขาและของเพื่อนกลับยอมรับผิด ‘ไม่ขอแก้ต่าง’ แต่อย่างใด พอมาแผนการนี้ ทำให้คำให้การของพยานฝั่งอดัมส์จะไม่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาในคดีนี้ได้อีก

“พวกเขาใช้แผนการที่มันฟังดูไม่มีเหตุไม่มีผลเอาซะเลย ผลลัพธ์มันก็กลายเป็นว่าผมมีความผิดจริงและต้องโทษจำคุกยาวนานถึง 20 ปี ในเรือนจำที่มีระบบคุมขังเข้มงวดที่สุด”
นั่นหมายความอดัมส์ต้องเดินเข้าคุกในวัย 17 ปี แต่จะพ้นโทษในวัยเกือบ 50 ปีเลย
“ผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่งเองนะ ใครต่อใครก็เรียกผมว่า ‘ไอ้หนู’ มาตลอด แต่พวกเขากลับดำเนินคดีกับผมเฉกเช่นผู้ชายคนหนึ่ง และตัดสินลงโทษผมเหมือนว่าผมทำผิดจริงไปแล้ว”

อดัมส์โดนตัดสินให้ต้องโทษจำคุกยาวนานถึง 28 ปีในเรือนจำ

“นั่นก็เพราะการตัดสินใจของทนายผม ที่ไม่ใช้กลยุทธ์เดียวกันกับทนายของเพื่อน แล้วมันก็ต้องแลกด้วยชีวิตเกือบ 10 ปีของผม ทั้งที่เรื่องนี้มันก็คดีเดียวกันแท้ ๆ แล้วก็มีเจ้าทุกข์คนเดียวกันด้วย ที่ต่างกันก็คือทนายของผมเป็นทนายที่รัฐจัดหาให้ ถ้าคุณอยากหาตัวอย่างว่าระบบสถิตยุติธรรมมันมีข้อบกพร่อง มีความผิดพลาดตรงไหน นี่ล่ะตัวอย่างที่ชัดเจนเลย”

ในวันพิจารณาคดีนั้น อดัมส์และเพื่อนอีกคนที่ใช้ทนายที่รัฐจัดหาให้ ต่างก็โดนให้จำคุก 20 ปีเท่ากัน ต่างกันตรงที่ว่าโทษของอดัมส์ยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะในช่วงท้ายของการพิจารณาคดีนั้น ผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะได้พูดกับผู้พิพากษาด้วยตัวเอง

“ผมก็ลุกขึ้นยืน แล้วบอกกับผู้พิพากษาว่า ‘ คืองี้ครับ ผมอยากจะขอโทษพ่อแม่ผม แล้วผมก็ยังอยากขอโทษกับพ่อแม่ของผู้เสียหายด้วย แต่ผมจะไม่ขอโทษในเรื่องข่มขืนนะ เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น’ ถึงตรงนี้ผู้พิพากษามองว่าผมยังไม่รู้สำนึก ท่านก็เลยเพิ่มโทษจำคุกมาให้ผมอีก 8 ปี”

“ถึงตรงนี้ ผมเริ่มกลัวจริง ๆ แล้วล่ะ ผมจำบรรยากาศตอนนั้นได้เลย ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กอายุน้อยที่สุดในคุกคุมเข้มสูงสุด รอบ ๆ ตัวผมมีแต่ผู้ชายตัวใหญ่ ๆ ทั้งนั้น มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตผม นับตั้งแต่วินาทีที่ผู้พิพากษากล่าวว่า ‘มีความผิดจริง’ “

จากบทสนทนาธรรมดา ๆ กลายเป็นการปลุกจิตสำนึก

ตัดข้ามมา 1 ปีครึ่ง หลังจากที่อดัมส์ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ มันมีอยู่วันหนึ่งที่เขาได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมห้องขัง และบทสนทนานี้ล่ะได้เปลี่ยนชีวิตของอดัมส์อีกครั้ง

“ผมมีเพื่อนร่วมห้องขังเป็นคนผิวขาว เค้าแก่กว่าผม แต่เค้าถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 2 รอบเลย วันนั้นเค้าบอกกับผมว่า… ‘ฟังน่ะ ทุกวันนี้ที่เอ็งตื่นขึ้นมาแล้วก็ออกไปจากห้องนี้ ไปเล่นหมากรุกมั่ง ไปเล่นบาสเก็ตบอลมั่ง เอ็งทำตัวเหมือนว่าเอ็งเป็นคนบริสุทธิ์จริง ๆ อย่างนั้นง่ะ แต่รู้มั้ย คนบริสุทธิ์จริง ๆ น่ะเค้าอยู่ในห้องสมุดกฎหมายต่างหากล่ะ’ “

“คำนั้นน่ะ มันเหมือนกับการปลุกจิตสำนึกของผมเลย ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มศึกษากฎหมายอย่างจริงจัง”

อดัมส์เริ่มอ่านหนังสือกฎหมายทุกเล่ม ที่อยู่ในห้องสมุด และศึกษาว่าทนายแก้ต่างของเขาพลาดตรงไหนอย่างไร

อดัมส์อ่านหนังสือกฎหมายทุกเล่ม เพื่อหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

อดัมส์ทุ่มเทพลังกายพลังใจของเขาทั้งหมดเพื่อหาทางพิสูจน์ว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์ จากการศึกษากฎหมายอย่างขมักเขม้น อดัมส์ก็พบว่าการที่ทนายของเขาทำงานผิดพลาด จนเสียสิทธิ์ในการอ้างอิงหลักฐานจากพยานทางฝั่งเขา นั่นเท่ากับว่าเขาถูกละเมิดสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
“ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์อันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับทนายความที่มีประสิทธิภาพ ผมรู้สึกได้ว่าผมถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญกับการที่ได้ทนายที่ทำงานไม่ได้เรื่องแบบนี้”

ในระหว่างนี้อดัมส์ก็ยังอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน เขามองหาทนายความในข่าวต่าง ๆ ที่เกิดคดีขึ้นในวิสคอนซิน เผื่อว่าจะเจอทนายความที่น่าจะช่วยเหลือคดีของเขาได้ พอเจอแล้ว อดัมส์ก็เขียนจดหมายไปหาทนายเหล่านี้ เล่าเรื่องราวคดีความของเขา แล้วเฝ้ารอว่าจะได้การตอบรับจากทนายสักราย

แล้วในที่สุด อดัมส์ก็ได้รับจดหมายตอบกลับอย่างที่รอคอย เป็นจดหมายจากทนายรายหนึ่งจากมิลวอกี อดัมส์และทนายผู้นี้ก็ใช้เวลาร่วมกันถึง 6 เดือนไปกับการร่างจดหมายอุทธรณ์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากคดีต่าง ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จหลังจากยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 7 ของสหรัฐฯ มาประกอบในการเขียน

องค์กรการกุศล The Innocence Project ตอบรับทำคดีของอดัมส์

The Innocence Project เป็นองค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร มีบทบาทในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ สามารถช่วยเหลือนักโทษมากกว่า 300 คนทั่วประเทศพ้นข้อกล่าวหาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
“คนของทางองค์กรมาพบผม หลังจากพูดคุยกันแล้วเขาก็ยินดีรับดำเนินการคดีของผม แล้วตอนนั้นเขาก็บอกกับผมว่า ‘เราดูคดีของคุณแล้ว ไม่พบหลักฐานใด ๆ เลยที่สามารถส่งคุณเข้ามาอยู่ในคุกนี้ด้วยข้อหาข่มขืนกระทำชำเราโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ยิ่งถ้าดูจากคำให้การของผู้เสียหายแล้วยิ่งไม่เข้าใจใหญ่เลย ว่ามันเป็นไปได้ยังไง ที่คุณต้องโทษได้ถึง 28 ปีเลยเนี่ย”

ในปี 2006 หลังจากที่อดัมส์อยู่ในคุกมาแล้ว 8 ปี The Innocence Project ก็สามารถผลักดันคดีของอดัมส์ให้ไปถึงศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในชิคาโก้ได้สำเร็จ ศาลอุทธรณ์ยินดีรับพิจารณาคดีความของอดัมส์ใหม่อีกครั้ง โดยยอมรับเหตุผลในข้อที่ว่า ผู้ต้องขังได้รับทนายความแก้ต่างที่ไม่มีประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีครั้งแรก

เดือนกุมภาพันธ์ 2007 คดีของ จาเรตต์ อดัมส์ ก็ถูกส่งกลับมายังห้องพิจารณาคดีในวิสคอนซินอีกครั้ง ที่เดิมที่เขาถูกตัดสินให้ต้องโทษถึง 28 ปี แต่รอบนี้ศาลได้มีคำตัดสินยกฟ้องทุกข้อกล่าวหาที่มีต่อ จาเรตต์ อดัมส์

ในที่สุด อดัมส์ก็ได้รับอิสรภาพ

จาเร็ตต์ อดัมส์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญยาตรีในสาขานิติศาสตร์


“หลังจากเอกสารคำร้องไปถึงผู้พิพากษาได้ไม่ถึง 10 นาที ผู้พิพากษาก็ทุบค้อนโป้ง ผมได้รับอิสรภาพทันที แล้วถูกนำตัวออกจากศาล”

“ผมจำได้เลยนาทีนั้น ผู้พิพากษาไม่แม้แต่จะสบตาผม ขณะที่ผมกำลังก้าวพ้นศาล ผมหันไปพูดกับผู้พิพากษาว่า ‘ท่านอาจจะไม่มองผมในตอนนี้ แต่ผมจะทำให้ท่านต้องเห็นผมอีกไปตลอดชีวิต’ “
ต้องยอมรับเลยว่า อดัมส์นี่ปากดีจริง แล้วปากก็เคยพาตัวเองซวยไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เข็ด แต่รอบนี้อดัมส์มีความมุ่งหวังจะทำอย่างที่กล่าวไว้อย่างจริงจัง

หลังจากเขาได้รับอิสรภาพแล้ว สิ่งแรกที่อดัมส์ทำก็คือ ไปสมัครเข้าเรียนต่อในเดือนพฤษภาคมปีนั้น แล้วอดัมส์ก็เรียนจบได้ประกาศณียบัตรอนุปริญญาจากวิทยาลัยท้องถิ่น นั่นยังไม่ใช่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ อดัมส์เรียนต่อทันที เขาไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยรูสเวลต์ในชิคาโก้ อาจจะด้วยพื้นฐานที่ศึกษากฎหมายมาตั้งแต่ในคุก บวกกับความคับแค้นใจส่วนตัวที่สูญเสียอิสรภาพในชีวิตไป 8 ปี ทำให้อดัมส์มุมานะศึกษาตั้งใจเรียนอย่างมาก เขาจบปริญญาตรีสาขาอาชญวิทยา ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยมสูงสุด

ยัง ยังไม่พอใจแค่นั้น อดัมส์ยังเรียนต่ออีก เขาสมัครเข้าเรียนต่อใน มหาวิทยาลัยกฎหมายโลโยยา ในชิคาโก้ และสำเร็จการศึกษาในเดือนพฤษภาคม ปี 2015
“ผมอาจจะเป็นบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโลโยยา แต่ผมเริ่มศึกษากฎหมายในห้องสมุดเรือนจำ”
หลังเรียนจบได้ไม่นาน มูลนิธิ the Innocence Project ที่ได้ช่วยให้เขาพบกับอิสรภาพ ก็ว่าจ้างเขาเข้าทำงานเป็นทนายประจำองค์กรทันที

วันนี้อดัมส์เป็นทนายความมืออาชีพ คอยช่วยเหลือผู้ต้องหาคนที่ประสบชะตากรรมเช่นเขา

จาเร็ตต์ อดัมส์ กับลูกความของเขา

“สิ่งที่ผมต้องการก็คือ ได้กลับไปในห้องพิจารณาคดีเดิมที่เคยตัดสินคดีความกับผมแบบผิด ๆ ในวันนี้เขาได้เห็นผมอีกครั้งในฐานะทนายความแล้ว ผมแค่อยากจะสื่อกับเขาว่า ‘ผมก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง ให้ความเคารพผมบ้างก็ยังดี”
ถึงตอนนี้อดัมส์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในฐานะทนายความช่วยเหลือลูกความของเขาให้ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นที่เขาเคยต้องประสบมาแล้ว

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีประชากรเป็นคนผิวดำประมาณ 13% จากสถิติของกระทรวงยุติธรรม ผู้ต้องขังที่โดนตัดสินดำเนินคดีแบบผิด ๆ แล้วสามารถพ้นผิดมาได้นั้น ครึ่งหนึ่งเป็นคนผิวดำ คนผิวดำมีโอกาสที่จะถูกตัดสินดำเนินคดีในข้อหากระทำชำเราทางเพศมากกว่าคนผิวขาวถึง 3.5 เท่า นั่นคือสิ่งที่อดัมส์มุ่งหวังจะตีแผ่ให้สาธารนชนได้รับรู้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ


“ผมเชื่อมั่นอย่างเหลือเกินว่าปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของเรานั้นจะดีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนผิวดำเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบ อธิบายชัด ๆ ก็คือ เราจะต้องมีผู้พิพากษา อัยการ และทนายที่เป็นคนผิวดำให้มากขึ้น พลังของคนผิวดำรุ่นใหม่ ๆ จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบเก่าคร่ำครึที่เราต้องเผชิญร่วมกันมาแล้วอย่างยาวนาน นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ ผมก็ได้แต่หวังว่าเรื่องราวของผมจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง”

อ้างอิง