“วิกฤตขาดแคลนพลังงาน” ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของปีนี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นในภูมิภาคยุโรปที่พยายามจะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ เร่งให้มีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว เทรนด์ของพลังงานสะอาดยังแพร่สะพัดไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงจีนและสหรัฐฯ ครับ ในเมื่อกระแสของพลังงานสะอาดมาแรงขนาดนี้ เรามาดูกันว่าโลกนวัตกรรมจะบรรจบกับโลกการลงทุนอย่างไร คุณเอม มทินา วัชรวราทร CFA®, Head of Investment Strategy จาก BBLAM มีคำตอบมาฝากครับ

แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด ผมอยากให้คุณเอมช่วยอัปเดตสถานการณ์การลงทุนในช่วงเวลานี้หน่อยครับ เพราะว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่าทีของเฟดยังคงแข็งกร้าวมาก ๆ เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครับ

ที่ผ่านมา ท่าทีของเฟดก็ทำให้ตลาดปรับตัวลง นอกจากนี้ เอมคิดว่า ตลาดยังสามารถปรับตัวลงได้อีก จากผลประกอบการที่กำลังจะประกาศออกมา เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย

เอมคิดว่า เราต้องจับตามองสองอย่าง คือ (1) ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี หรือว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง Real Yield ยังปรับตัวขึ้นต่อ และยังดูเหมือนจะไม่พีค หุ้นก็ปรับตัวขึ้นลำบาก และ (2) คือค่าเงินดอลลาร์ ถ้าค่าเงินดอลลาร์ยังปรับตัวขึ้นต่อ แปลว่า Sentiment ของนักลงทุนยังคง Risk Off ยังคงต้องการลดความเสี่ยง และดูจากที่ราคาสินทรัพย์ทุกตลาดยังคงผันผวนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหุ้น fx, bond, credit ตลาดหุ้นก็กลับตัวเป็นขาขึ้นค่อนข้างยากค่ะ

แล้วแบบนี้ นักลงทุนควรปรับตัวอย่างไรครับ

ในมุมมองของ BBLAM เรามองว่า นักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนไม่ยาวมากนัก คือ 6-12 เดือน คิดว่ารอก่อนได้ค่ะ จนกระทั่งเห็นว่ามี Sector ไหนที่มีมูลค่าน่าสนใจ ค่อยทยอยเข้าไปซื้อแบบไม่รีบร้อน แต่ถ้าอยากจะซื้อจริง ๆ ก็มี 3 อย่างที่เรามองคือ

  1. หุ้นต้องถูก
  2. เฟดต้องเปลี่ยนท่าที
  3. เราเริ่มมองเห็นก้นเหวของเศรษฐกิจถดถอยจริง ๆ เราถึงจะเริ่มเข้าไปซื้อได้

ซึ่งตอนนี้เริ่มมีข่าวด้าน credit ออกมา เช่น ธนาคารต่างประเทศที่อาจจะต้องเพิ่มทุน ข่าวพวกนี้ คือ ผลพวงที่มาจากสภาพคล่องที่ลดลงไป และเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในราคาทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทีม Investment Strategy ของ BBLAM พยายามสื่อสารกับนักลงทุนมาตลอดว่า ในตลาดหมีแบบนี้ เราไม่ต้องรีบร้อนค่ะ

ก่อนหน้านี้ เราพูดคุยกันหลายครั้งว่า “ในตลาดหมี มีโอกาสเสมอ” แล้วในตอนนี้มีโอกาสอะไรบ้างครับ และมี Sector ไหนบ้างที่ยังมีโอกาสในการลงทุน

โอกาสยังมีอยู่เสมอในตลาดหมีค่ะ แต่เราต้องเลือกให้ถูกเท่านั้นเอง อย่างตอนนี้หุ้นหลายกลุ่มที่เคยมีราคาแพง ก็กำลังกลับมามีราคาที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสในการทยอยเข้าเก็บสะสม เช่น พลังงานสะอาด, เทคโนโลยี, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์

ยกตัวอย่าง หุ้นที่อยู่ในหมวดหมู่ของพลังงานสะอาด ค่อนข้างแข็งมากเมื่อเทียบกับตลาดในปีนี้ บริษัทในหมวดหมู่พลังงานสะอาดปรับตัวลงเพียง 8% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ SPX ที่ปรับลงเกิน 20% นี่ยังไม่ได้นับว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพลังงานสะอาดก็ปรับตัวขึ้นมากกว่า S&P เกือบ 3 เท่าตัว

เอมคิดว่า เรื่องพลังงานสะอาด สิ่งแวดล้อม และพลังงานทดแทน ถือว่าเป็นเทรนด์ระดับโลก สิ่งที่เราแนะนำ คือ ให้เข้าทยอยสะสมอย่างต่อเนื่อง และเป็นการลงทุนระยะยาว หลีกเลี่ยงการลงทุนแบบไม้ใหญ่ ๆ ไม้เดียว ตอนที่ราคาขึ้นไปมาก ๆ แล้ว หรือช่วงที่ดูร้อนแรง เพราะมีโอกาสที่มูลค่าจะถูกปรับขึ้นไปสูงแล้ว

จากที่คุณเอมยกตัวอย่างมา มีธุรกิจพลังงานสะอาดรวมอยู่ด้วย แต่ในตอนนี้กำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในยุโรปอยู่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ และแทบจะทำให้ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลยทีเดียวครับ

โดยวิกฤตนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การที่ยุโรปพยายามลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และความตึงเครียดทางรัฐศาสตร์ ส่งผลให้มีการปิดท่อก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 1 เป็นระยะ ๆ จนท้ายที่สุด การส่งก๊าซจากรัสเซียมาที่ยุโรปก็เหลือน้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วครับ

เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ ยุโรปก็ต้องออกกฎลดการใช้พลังงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน โดยกำหนดเวลาเปิด-ปิดพลังงาน แต่ฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ ผลักดันให้ยุโรปจำเป็นต้องเร่งหาพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ซึ่งขัดกับความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวแล้ว “พลังงานสะอาด” จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของยุโรปครับ แล้วในตอนนี้มีการใช้พลังงานสะอาดในยุโรป มากน้อยแค่ไหนแล้วครับ

ถ้าไม่มีเรื่องการขาดแคลนพลังงานในยุโรป การใช้พลังงานสะอาดก็ถือว่ายังน้อยอยู่ แต่ว่าพอเกิดวิกฤตพลังงาน เราเห็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวในปี 2021 เรียกได้ว่ายุโรปตื่นตัวกันมากในการหาสถานที่เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ค่ะ

ในตอนนี้ ถ้าเราขับรถออกไปนอกเมือง บางทีจะเห็นแต่พื้นที่ทำ Solar Farm และ Wind Farm แต่ในตอนนี้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมากกว่าการใช้พลังงานลมแล้ว เพราะว่ามันติดตั้งง่ายกว่า แม้จะเสียเงินมากหน่อยตอนติดตั้ง แต่หลังจากนั้นมันคือพลังงานฟรี ดังนั้น นับจากนี้ไปการใช้พลังงานทดแทนมีแต่จะเพิ่มขึ้นในยุโรปค่ะ

เอาจริง ๆ แล้ว ยุโรปก็ไม่ใช่ภูมิภาคเดียวที่ตื่นตัวกับเรื่องพลังงานสะอาด จีนเองก็เป็นผู้นำในเรื่องพลังงานสะอาดเช่นกันค่ะ เพราะว่าจีนเป็นผู้ส่งออกแผงโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคาดว่าในปี 2023 จะมีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีก 30%

ทางด้านสหรัฐฯ เอง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามรับรองกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยเน้นที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหนึ่งในกฎหมายนี้ คือ การให้ “เครดิตภาษี” กับบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด รวมถึงการให้เงิน Tax Credit กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน รวมไปถึงการเปลี่ยนมาใช้ฮีตปั๊มรุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นค่ะ

กฏหมายนี้อาจทำให้สหรัฐฯ ที่เคยต้องนำเข้าแผงโซลาร์ กลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกได้เลย เพราะว่ามีเม็ดเงินลงทุนสร้างฐานการผลิต และได้รับแรงจูงใจด้านเครดิตภาษีค่ะ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะทำให้มีการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หมายความว่า นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานสะอาดจะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ธุรกิจแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของพลังงานสะอาดก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยถูกต้องไหมครับ แล้วมีบริษัทใดบ้างครับ ที่ตอนนี้นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้

ถ้าให้ยกตัวอย่างบริษัทที่ได้ประโยชน์ตรง ๆ จากการที่ประเทศในฝั่งตะวันตกหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น คือ บริษัท Enphase Energy ของสหรัฐฯ และบริษัท SolarEdge ของอิสราเอลค่ะ โดยทั้งสองบริษัทนี้ เป็นบริษัทที่พัฒนาและจำหน่ายอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับแผงโซลาร์ ที่ใช้ติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนทั่วไป และอาคารสำนักงานค่ะ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถทำให้ผู้ใช้งานควบคุมการเปิด-ปิด และตรวจสอบปริมาณการใช้พลังงานได้ผ่านสมาร์ตโฟนค่ะ

สำหรับฝั่งเอเชีย ประเทศจีนถือว่าน่าจับตามองอย่างมาก เพราะว่าจีนคือผู้ส่งออกแผงโซลาร์และส่วนประกอบรายใหญ่ โดยมากกว่า 80% ของแผงโซลาร์ที่ใช้งานกันทั่วโลกมาจากประเทศจีนนี่เองค่ะ ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาค่ะ

แม้ว่าบริษัทที่กล่าวมาจะอยู่ในต่างประเทศซะเป็นส่วนใหญ่ แต่นักลงทุนไทยก็สามารถลงทุนในพลังงานสะอาดได้ ผ่าน กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน หรือ กองทุน B-SIP ที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุน Pictet – Clean Energy ซึ่งลงทุนในพลังงานสะอาด และกองทุน Pictet – Global Environmental Opportunities ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้การลงทุนกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจครับ

โดยนอกเหนือจากธุรกิจพลังงานสะอาดโดยตรง อย่างที่คุณเอมยกตัวอย่างไปแล้ว ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงาน, การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่ธุรกิจบำบัดน้ำจากโรงงาน เป็นต้น

ใช่ค่ะ ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะมากับธุรกิจพลังงานสะอาดมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ BBLAM ก็แนะนำอยู่เสมอว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดยังมีความผันผวนอยู่ เราไม่ต้องรีบ แต่ใช้จังหวะนี้หาที่มีพื้นฐานดี ที่ปรับตัวลงมามาก เพื่อเข้าสะสมลงทุนค่ะ

นักลงทุนที่สนใจ กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน หรือกองทุน B-SIP สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร 0 2674 6488 กด 8 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bblam.co.th ครับ

หากนักลงทุนต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี BBLAM ก็มีกองทุน B-SIPSSF และกองทุน B-SIPRMF เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจครับ โดยสามารถลงทุนได้ง่าย ๆ ผ่าน BF Fund Trading แอปพลิเคชันเพื่อการลงทุนในกองทุนของ BBLAM ครับ

คำเตือน : กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน