จากกรณีข่าว ‘น้าติ่ง สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล’ นักพากย์ระดับตำนานของไทยที่เพิ่งโดนพิษเสียง AI เลียนเสียงทำคลิปล้อคนอื่น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเคยเห็นประเด็นนี้ ใครเลื่อนอ่านข่าวช่วงนี้น่าจะเจอข่าวในลักษณะนี้บ่อย ทั้งข่าว AI เจนภาพเลียนแบบคนดังหลอกลวงชาวโซเชียล AI ทำคลิปล้อเลียนให้เสียหาย หรืออย่าง กรณีล่าสุด ที่ใช้ AI เลียนเสียงที่กำลังเป็นประเด็น

ว่าด้วยเรื่อง AI เลียนเสียง หลายบริษัทมักจะนำประโยชน์จาก AI ฟีเจอร์นี้ไปใช้อย่าง Virtual voice assistant และ Interactive Voice Response (IVR) หรือระบบโทรศัพท์อัตโนมัติที่ช่วยให้ผู้โทรสามารถโต้ตอบกับระบบโดยใช้เสียงหรือการกดปุ่มบนโทรศัพท์เพื่อเลือกตัวเลือกต่าง ๆ แต่กรณีนำเสียงไปหลอกลวงเป็นสแกมเมอร์ หรือการเลียนเสียง AI ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหามากกว่าประโยชน์

คำถามคือเมื่อเกิดประเด็นการใช้ AI ที่ ‘อิสระ’ จนสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นแบบนี้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ? มีกฎหมายไหนคุ้มครองบ้างหรือยัง ? ในบทความนี้ เราจะแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1. ระบบการทำงานเบื้องหลัง AI เลียนเสียง และ 2. กฎหมายหรือนโยบายคุ้มครองเกี่ยวกับ AI ณ ปัจจุบัน

เบื้องหลังการทำงานของ AI กับการเลียนแบบเสียง

ปกติรูปแบบของการออกเสียง AI คือ TTS (Text-to-speech) ที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ตามห้างสรรพสินค้า เสียงที่พูดเป็น Voiceover ในโฆษณา หรือ Virtual assistants อย่าง Siri หลายบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Google ก็มีบริการ AI voice / Chatbot Service แบบนี้ด้วยเหมือนกัน

แต่ลักษณะการทำงานของการเลียนเสียง AI จะเลียนแบบรูปแบบการพูดและการใช้คำของมนุษย์โดยการอิงเสียงของคนใดคนหนึ่ง ทีนี้ขั้นตอนการเทรนเสียง ขอยกตัวอย่างกฎหมายของสกอตแลนด์ ปกติการเทรนเสียงเลียนแบบต้องมีการขออนุญาตก่อนเสมอ และสิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาประเด็นด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการระบุว่าการบันทึกเสียงเหล่านั้นถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ตอบคำถามว่าแล้วกรณีที่นำเสียงเลียนแบบเหล่านี้ไปพูดใส่ร้ายคนอื่น หรือหลอกลวงคนอื่น เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่อยู่ดี ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่ 2 คือเรื่องกฎหมายคุ้มครอง 

กฎหมาย AI ยังมีช่องโหว่ : เสียง AI ไม่ได้ผิด 100% ? กฎหมายครอบคลุมถึงตรงไหน ? 

ผลกระทบจากพิษเสียง AI ค่อนข้างน่ากลัว ถ้าเทียบกับภาพที่สร้างโดย AI อย่างน้อยก็สามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่า และมีข้อสังเกตุที่สามารถเห็นได้เลย แต่เสียงนั้นไม่สามารถจับต้องหรือเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน ซึ่งมนุษย์เราก็แทบจะแยกไม่ออกว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงคนจริงหรือเสียงปลอมจาก AI 

ปัญหาที่เกิดจากพิษเสียง AI 

  • ละเมิดความเป็นส่วนตัว : ใช้เสียงของผู้อื่นโดยไม่ยินยอม ทั้งเพื่อการค้า แกล้ง หรือทำลายชื่อเสียง อาจถูกฟ้องร้อง
  • หมิ่นประมาท/บิดเบือนข้อมูล : สร้างคำพูดเท็จ หรือเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ทำลายชื่อเสียง อาจถูกดำเนินคดี
  • ละเมิดสิทธิเผยแพร่ : ใช้เสียงคนดังรับรองสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจมีผลทางกฎหมายร้ายแรง
  • ฉ้อโกง/โจรกรรมข้อมูล : แอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกลวง อาจถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงหรือโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว

ในตอนนี้ประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการปลอมแปลงในลักษณะดังกล่าวที่ชัดเจน แต่ National Security Law Firm จากสหรัฐฯ ก็มีนโยบายในการป้องกันกรณีที่โดนล้อเลียนเสียงด้วย AI โดยพิจารณาดังต่อไปนี้

1. ลบเนื้อหา : จัดการลบเสียงโคลนที่ไม่ได้รับอนุญาตออกจากออนไลน์

2. ดำเนินคดี : ฟ้องร้องผู้กระทำผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว หมิ่นประมาท หรือสิทธิ์เผยแพร่

3. ส่งหนังสือเตือน : ออกจดหมายยุติการกระทำและเรียกค่าเสียหาย และช่วยกอบกู้ชื่อเสียงให้ 

นอกจากนี้ในส่วนของ EU Artificial Intelligence Act (EU AI Act) กฎหมายปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรกของโลกก็มีแนวทางสำหรับผู้ผลิต AI ที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีข้อกำหนดสำคัญที่ต้องปฏิบัติ คือต้องจัดตั้งระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อให้ชุดข้อมูลมีความเกี่ยวข้องถูกต้องและสมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดทำเอกสารทางเทคนิคและการบันทึกข้อมูลเพื่อการประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนด นอกจากนี้ ยังต้องจัดเตรียมคู่มือการใช้งานและออกแบบระบบให้ผู้ใช้สามารถกำกับดูแลโดยมนุษย์ได้ รวมถึงต้องมั่นใจว่าระบบมีความแม่นยำ ทนทาน และปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับที่เหมาะสม และมีระบบบริหารจัดการคุณภาพเพื่อยืนยันการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งหมด 

แม้ว่า AI จะเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างประโยชน์และความเสียหายได้ แต่หลักการสำคัญที่พิจารณในกฎหมาย AI คือ การยืนยันว่าการกระทำใด ๆ ที่สร้างโดย AI จะต้องสามารถระบุผู้รับผิดชอบที่เป็นมนุษย์ได้เสมอ และผู้พัฒนาหรือผู้ใช้งานไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยอ้างว่า AI คาดเดาไม่ได้เพียงอย่างเดียว