ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นเดิมละนะคะ สำหรับวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อันตรายมากกว่าที่ใครคาดคิดอย่าง PM2.5

ที่แม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ปี 2020 แล้ว แต่ทะเลหมอกปลอม ๆ นี้ ก็ยังคงอยู่ในกรุงเทพ และอีกมากมายหลายพื้นที่เช่นเดิม “แถมเพิ่มเติมอาจมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีถัด ๆ ไป” แต่ก็ไม่ใช่แค่ที่ไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่เจอนะคะ เพราะในอีกหลากหลายประเทศทั่วโลก ก็ต้องเจอกับวิกฤตดังกล่าวเช่นเดียวกัน และพวกเขาก็มีวิธีการรับมือกับปัญหานี้ค่ะ วันนี้ผึ้งจะพาไปดูกันว่าในแต่ละประเทศเขาจัดการกับ PM2.5 กันยังไง เริ่มต้นกันด้วยแดนน้ำหอมอย่างปารีสค่ะ ที่นี่เขารับมือกับ PM2.5 ด้วยการ “สั่งห้ามเลยล่ะค่ะ”  รถยนต์วิ่งในย่านใจกลางเมืองหรือแหล่งประวัติศาสตร์ทั้งหลายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีการให้ใช้รถสาธารณะฟรี

พร้อมส่งเสริมให้ผู้คนที่รู้จักติดรถหรือมอเตอร์ไซค์หากต้องเดินทางไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้โดยสาร 3 คนขึ้นไป ก็จะได้รับสิทธิพิเศษที่จะไม่ต้องทำตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรถทะเบียนเลขคู่วิ่งสลับกับบนถนน

และยังมีข้อแม้อีกว่า “พาหนะเหล่านั้นต้องใช้น้ำมันที่ได้รับมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ค่ะ”

ถัดมาในประเทศอินเดียที่เฉพาะเจาะจงในกรุงนิวเดลีค่ะ ที่นี่ต้องบอกเลยว่าน่ากลัวใช้ได้! และวิธีการคือ การสั่งห้ามเช่นเดียวกัน

โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา กรุงนิวเดลีได้มีค่า PM2.5 ทะลุเพดานถึง 810 ไมโครกรัม มากขนาดไหนน่ะหรอ? ง่าย ๆ เลยค่ะ นึกภาพ Silent Hill เลย หยึยยย! ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของที่นี่นั้น เขาใช้การ “สั่งแบน” รถขนาดใหญ่และแท็กซี่กว่า 10,000 คันที่ใช้น้ำมันดีเซลและรถ SUV ที่ใช้เครื่องยนต์ 2,000 CC ขึ้นไป และที่เกี่ยวกับการป้องกันผู้คน ทางภาครัฐเนี้ยได้แจกหน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นทั่วกรุง และสั่งปิดโรงเรียนและกิจกรรมก่อสร้างทั้งหมดภายในเมืองค่ะ

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในกรุงบังกาลอร์เองก็เจอปัญหาฝุ่นเช่นเดียวกัน และใช้วิธีการปัญหาด้วยการเปลี่ยนรถบัสโดยสารจำนวน 6,000 คัน และออกกฎให้ผู้คนใช้รถสาธาณะมากขึ้นค่ะ ถัดมาคือแดนโสมที่ก็กำลังโดนบรรยากาศมาคุปกคลุมเช่นเดียว และที่นี่เน้นไปที่ตัวแปรใหญ่ ๆ ในระดับโรงงาน วิธีการแก้ปัญหาคือการลดชั่วโมงการผลิตของโรงงานลงจำนวนกว่า 100 แห่ง และจำกัดความร้อนของโรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานพลังงานความร้อน และถ่านหินให้อยู่ที่ 80% เพื่อลดการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมห้ามไม่ให้รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนปี 2005 เข้ามาวิ่งในกรุงโซลและสั่งปิดพื้นที่สำหรับจอดรถในหน่วยงานของรัฐจำนวน 400 กว่าแห่ง เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประชาชนมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น หรือถ้าต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัวจริง ๆ ก็ต้องขับด้วยกรณีสำคัญ ๆ เท่านั้น เช่นการขับไปยังโรงพยาบาล อะไรทำนองนี้ค่ะ

อีกทั้งทางรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้แนะนำให้ประชาชนอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ต้องสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งนั่นเอง มากันที่บ้านใกล้เรือนเคียงกันต่ออย่างญี่ปุ่น ที่ดูจะโดนผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นเขา เพราะมีความร่วมมือพร้อมใจในชาติมาเนิ่นนานแล้วค่ะ จริง ๆ แล้วประเทศญี่ปุ่นได้พบเจอปัญหาฝุ่นหรือมลภาวะต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 1970 แล้วล่ะค่ะ เพราะเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าระดับโลกมากมาย แต่ “ทั้งประเทศ” ย้ำนะคะว่า ทั้งประเทศ ช่วยเหลือกันทำตามกฎของทางภาครัฐมากว่า 30 ปี และทำให้บ้านเมืองมีค่าคุณภาพอากาศเชิงดัชนีหรือ AQI: Air Quality Index โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 60 ในปัจจุบันค่ะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางจังหวัดที่พุ่งสูงถึง 160 โดยประมาณเหมือนกัน

เข้าเรื่องกันดีกว่า วิธีจัดการปัญหาฝุ่นของประเทศญี่ปุ่นที่ทำมาร่วมกว่า 30 ปีนั้น คือ การควบคุมรถเสียที่หากคันไหนปล่อยก๊าสเสียหรือคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาเยอะ ก็ต้องจ่ายภาษีเยอะกว่าชาวบ้านเขาชนิดที่ว่าซื้อรถใหม่ยังถูกกว่าเลยล่ะ นอกจากนี้ทางภาครัฐยังใช้การควบคุมเกี่ยวกับการใช้รถต่าง ๆ ให้มีค่าใช้จ่ายอยู่ในราคาที่ผู้ครอบครองต้องอยู่ในสภาวะพร้อมจริง ๆ ถึงจะมีได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ และก็ค่าภาษีรายปี เป็นต้น

กลับกัน เราจะเห็นได้ว่าค่าเดินหรือการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะของประเทศญี่ปุ่นจะสะดวกและครอบคลุมตั้งแต่โตเกียวไปจนถึงชานเมือง นั่นก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ญี่ปุ่นวางรากฐานมาตั้งแต่แรก ๆ เช่นกัน นั่นก็เพื่อให้ก๊าซเสียต่าง ๆ ที่ออกมาจากรถยนต์หายไปโดยปริยาย

ปิดท้ายและท้ายสุดกับประเทศเยอรมันนีที่มีวิธีแก้ปัญหาน่าสนใจและแปลกกว่าชาวบ้านเล็กน้อยค่ะ โดยในเมืองดังกล่าวนั้นเนี้ย จะสนับสนุนให้ประชาชนขับขี่จักรยานยนต์เป็นหลักค่ะ โดยมีเลนของจักรยานยนต์โดยเฉพาะที่มีความยาวกว่า 500 กิโลเมตรเลยล่ะ และเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ หากไม่ใช้จักรยานยนต์ การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะก็เป็นอะไรที่มีค่าใช้ถูกและมีสถานีกระจายหลายหัวเมืองค่ะ และในเขตชานเมืองบาราจ วูบอง (Vauban) ก็จะปรับประชาชนเป็นจำนวนกว่า 18,000 ยูโร หรือกว่า 606,552 บาท! หากพบว่าใครจอดรถไว้ใกล้บ้านตัวเองหรือในบริเวณชานเมืองแห่งนี้ แต่ถ้าถามว่าไม่มีรถแล้วฉันจะเดินได้อย่างไรกัน? วิธีแก้ของที่แห่งนี้ คือ ทางตัวเมืองเองมีราคาของค่าพักอาศัยที่ถูก มีการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบฟรี และพื้นที่ในการจอดหรือปั่นจักรยานค่ะ

และนี่ก็คือตัวอย่างของการแก้ปัญหาวิกฤต PM2.5 ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป แต่จะเห็นได้ว่าโดยส่วนมากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเลยค่ะ ก็หวังว่าประเทศไทยของเราจะมีมาตรการที่พร้อมรับมือมากขึ้นนะคะ เพราะ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซึ่งทุกคนก็ต้องให้ความร่วมมือกันด้วยนะ และก็อย่าลืมถ้าหากรู้สึกว่าคลิปนี้มีประโยชน์! ชอบ! ช่วย! แชร์! ค่ะ!

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส