รู้ไหมว่าเมืองหลวงทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ไหน คำตอบไม่ใช่กรุงเทพนะคะ แต่เป็นที่เชียงใหม่ เพราะเป็นที่ตั้งของ 3 สถานที่สำคัญในเชิงดาราศาสตร์คือ

  • หอดูดาวแห่งชาติ อยู่บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในไทย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่ขนาดคนเข้าไปอยู่ในตัวกล้องได้
  • หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งแรกของไทย ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ซึ่งจะเปิดใช้งานเร็ว ๆ นี้
  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร หรือ Astro Park สำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT ที่เราจะพาไปตะลุยในวันนี้ค่ะ

ไฮไลต์แรกของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรคืออาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการค่ะ ซึ่งตัวท้องฟ้าจำลองนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร รองรับผู้ชมได้ 160 ที่นั่ง ใช้ระบบการฉายดาวแบบโพรเจกเตอร์ความละเอียดสูง 12 ตัวฉายภาพซ้อนกันจนเต็มโดม รองรับความละเอียดได้ถึง 8K

และเมื่อเป็นการฉายในระบบโพรเจกเตอร์แทนที่จะเป็นเครื่องฉายดาวในระบบกลไก จึงทำให้ท้องฟ้าจำลองของที่นี่สามารถแสดงท้องฟ้ายามค่ำคืนไปพร้อม ๆ กับการฉายเนื้อหาในรูปแบบ Full Dome ได้ ซึ่งประสบการณ์การชมเนื้อหาบนจอใหญ่ระดับทั้งโดมนี้ ตื่นตาตื่นใจมาก เราว่ามันตื่นเต้นกว่าดูหนังในโรงจอใหญ่ ๆ อีกนะ ที่ตัวอาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการยังมีส่วนจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับดาราศาสตร์อีก 19 โซนค่ะ ซึ่งการจัดแสดงที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นลูกตุ้มเพนดูลัมขนาดยักษ์ที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร เพื่อพิสูจน์การหมุนของโลกที่ลูกตุ้มจะค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางการแกว่งไปช้าๆ

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ อุกกาบาต ลูกตุ้ม ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เป็นต้น
ใครอยากไปชมแล้ว อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์นะคะ และใครที่อยากดูท้องฟ้าจำลอง ค่าบัตรก็ไม่แพง สำหรับนักเรียน นักศึกษา 30 บาท ส่วนประชาชนทั่วไปก็ 50 บาท จะมีรอบฉายดาวเวลา 11.00 น. และ 14.00 น. ส่วนวันเสาร์จะมีรอบพิเศษเวลา 17.00 น. ให้ชมด้วย ซึ่งเมื่อชมเสร็จแล้วก็สามารถร่วมกิจกรรมดูดาวบนท้องฟ้าของจริงต่อได้เลย ทุกๆ คืนวันเสาร์ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรยังมีกิจกรรมดูดาว ผ่านกล้องโทรทรรศน์ 6 ตัวที่ตั้งอยู่บนอาคารหอดูดาว

โดยพระเอกคือกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาด 0.7 เมตรที่สามารถเจาะลึกไปยังเทหวัตถุบนฟากฟ้าได้ไกลยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์ตามบ้านทั่วไป พร้อมบรรยายประกอบโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกิจกรรมดูดาวนี้ก็ยังจัดที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติที่โคราช, ฉะเชิงเทราและสงขลาอีกด้วย ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีช่วงเดือนที่ปิดให้บริการต่างกันนะคะ ลองเช็กที่แฟนเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เลยค่ะ

แต่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ Narit ก็ไม่ได้มีแค่ท้องฟ้าจำลองและการดูดาวอย่างเดียวนะคะ เมื่อแบไต๋ได้ไปบุกถึงสำนักงานใหญ่ที่เชียงใหม่ ได้เลยโอกาสตะลุยว่าที่นี้เค้าทำอะไรกันอีกบ้าง ซึ่งมันล้ำมากค่ะ สิ่งแรกที่น่าดูคือ เครื่องเคลือบกระจกแห่งแรกของไทย กระจกนั้นส่วนประกอบสำคัญของกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งประสิทธิภาพของกระจกในกล้องจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุการใช้งาน ผ่านไปสัก 2-3 ปีก็ต้องถอดกระจกออกมาเคลือบใหม่ ให้ประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงกลับมาเหมือนใหม่

แต่เราไม่ต้องส่งกระจกไปเคลือบที่ไหนไกลให้เสี่ยงกระจกแตก ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเรามีเครื่องเคลือบกระจกเครื่องแรกของไทยที่ร่วมพัฒนากับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งต้นทุนในการพัฒนาถูกกว่าซื้อเครื่องจากต่างประเทศเกินครึ่ง แถมเครื่องเคลือบกระจกของเรานั้นใช้เทคนิคการยิงอะตอมเข้าไปบนผิวกระจกเพื่อเคลือบ แทนที่การเคลือบแบบเก่าที่ใช้ไอระเหยมาเกาะกระจก ทำให้ได้ผลงานที่คงทน จนทำให้ไทยได้เข้าร่วมโครงการ Cherenkov Telescope Array หรือกลุ่มกล้องโทรทรรศน์เพื่อสืบหาพลังงานเริ่มต้นของจักรวาล โดยไทยจะพัฒนาเครื่องเคลือบรุ่นใหม่เพื่อเคลือบกระจกกว่า 6000 บาน ในโครงการนี้ที่ชิลี ทำให้เรามีสิทธิเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้

นอกจากนี้ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังมีห้องปฏิบัติการ CNC เพื่อสกัดขึ้นรูปอลูมิเนียมและโลหะอื่น ๆ ให้เหมาะสำหรับสำหรับการทำอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางดาราศาสตร์ เช่นเมาท์เลนส์พิเศษสำหรับต่อกล้องดิจิทัลกับกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์ฐานกล้องโทรทรรศน์ หรือตัวจับปริซึม อีกห้องปฏิบัติการที่น่าสนใจคือ ห้องแลบเมคาทรอนิกส์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์

โดยตอนนี้กำลังพัฒนาชุดควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์เพื่อติดตามวัตถุบนท้องฟ้าให้ยืดหยุ่นกว่าระบบเดิมที่ซื้อมาจากต่างประเทศด้วยงบประมาณการสร้างที่น้อยกว่าการซื้อระบบใหม่ ซึ่งระบบใหม่จะสามารถติดตามวัตถุใกล้โลกอย่างดาวเทียมได้ แถมทีมพัฒนาไทยยังได้สร้างองค์ความรู้ที่สำคัญทั้งการพัฒนาฮาร์ดแวร์เคลื่อนไหวที่ละเอียดและแข็งแรงสำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ พร้อมซอฟต์แวร์ควบคุมที่แม่นยำ

แล็บสุดท้ายที่เราได้ชมคือ Optic Labs หรือห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ เพื่อออกแบบและทดสอบเครื่องมือด้านแสงต่าง ๆ อย่างเครื่อง Spectrograph (สเปกโตกราฟ) ที่วิเคราะห์แสงเพื่อหาองค์ประกอบหรือลักษณะของแหล่งกำเนิดแสง โดยเฉพาะแสงจากดวงดาวอันไกลโพ้น ซึ่งห้องแลบนี้สร้างให้เป็น Clean Room เพื่อป้องกันฝุ่นละอองในอากาศเข้าไปสร้างความคลาดเคลื่อนให้กับเครื่องมือทดสอบความละเอียดสูงอีกด้วย บนโต๊ะทดลองเราจะเห็นทั้ง เลนส์, กระจก, ปริซึม หรือแหล่งกำเนิดแสงแบบต่างๆ เพื่อจำลองให้เหมือนแสงจากดวงดาวเพื่อทดสอบแนวคิดและปรับปรุงการทำงานของอุปกรณ์ ก่อนที่จะนำไปผลิตจริง

ก็น่าดีใจที่เรามีแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์กระจายสู่ภูมิภาคนะคะ เรามีหอดูดาวพร้อมอาคารนิทรรศการอยู่ทั้งที่เชียงใหม่, สงขลา, นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และเร็วๆ นี้ที่ขอนแก่น ซึ่งเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคืองานวิจัยด้านดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศให้นำไปสู่การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจได้อีกค่ะ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส