Work from home ทำได้อย่างไร รู้ไว้ก่อนธุรกิจเจ๊งครับ!

การทำงานที่บ้านถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายบริษัทเพิ่งเริ่มนำมาใช้ แต่ยังไม่แพร่หลายมากครับ เนื่องจากนายจ้างหลายคนมีข้อกังขาว่าการทำงานที่บ้านนั้นเต็มไปด้วยข้อเสีย คนจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพไหม จะแอบอู้ไปนอนหรือเปล่า ไหนอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารที่อาจจะไม่รวดเร็วทันใจเหมือนการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการตั้งกฎนะครับ เช่น ในเวลาทำงาน ถ้าสื่อสารไปแล้วไม่ตอบภายใน 10 นาทีจะโดนเพ่งเล็ง

แต่ปัจจุบันมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เราอาจไปทำงานไม่ได้ หรือทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก เช่น น้ำท่วม ไฟฟ้าดับ การชุมนุม การปรับปรุงสำนักงาน หรือแม้แต่โรคระบาดอย่างไวรัส COVID-19 ที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ หลายบริษัทจึงเริ่มพิจารณาการทำงานแบบ Work from home หรือการทำงานที่บ้าน เพื่อเป็นการพยุงให้ธุรกิจของตัวเองยังคงดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤต

#beartai ได้รวบรวมข้อมูลและวิธีการทำงานแบบ Work from home มาให้ เพื่อให้พนักงานและนายจ้าง ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ทำให้ธุรกิจของคุณอาจต้องหยุดชะงัก แต่ก่อนจะไปดูว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน เราแวะไปดูที่ต่างประเทศกันดีกว่าว่าเขาทำงานที่บ้านกันอย่างไรในสถานการณ์วิกฤตครับ

ท่ามกลางวิกฤตไวรัส COVID-19 ที่ระบาดในญี่ปุ่น นาย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศว่า จะสนับสนุนการทำงานที่บ้าน โดยเหตุผลหลักคือ เพื่อลดความแออัดในระบบขนส่งมวลชนและการชุมนุมของผู้คนโดยไม่จำเป็น

ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่ออกมาตอบรับประกาศนี้ โดยให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ เช่น Fujitsu (ฟูจิตสึ) Toshiba Sony ที่เดิมบริษัทให้ทำงานจากที่บ้านได้เดือนละ 10 วันอยู่แล้ว ส่วนพนักงานที่จำเป็นต้องมาทำงาน ให้เข้างานช่วงบ่ายและเลิกงานเวลา 21.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งมวลชนในช่วงเวลาเร่งด่วนครับ

หลายบริษัทในไทยก็มีการทำงานจากที่บ้านแล้ว โดยเฉพาะสตาร์ตอัปที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ การเขียนโปรแกรม ซึ่งสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ แค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแรง ๆ นอกจากนี้ยังมีเอเจนซี่โฆษณา นักเขียน กราฟิกดีไซเนอร์ นักแปล แม้แต่บริษัทนำเที่ยวก็เริ่มทำงานที่บ้านแล้ว เพราะตอนนี้ใคร ๆ ก็หาข้อมูลท่องเที่ยวด้วยตนเองได้ ซึ่งการจะทำงานที่บ้านได้ ก็มีเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนในองค์กรได้ และตอนนี้ก็มีให้เลือกหลากหลาย มีอะไรบ้างมาดูกันครับ

เริ่มที่การแชร์ไฟล์งานต่าง ๆ บางบริษัทจะมีสิ่งที่เรียกว่า NAS ย่อมาจาก Network-Attached Storage คือไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลบนเครือข่าย ซึ่งเป็นกล่องฮาร์ดดิสก์ที่เสียบเครือข่ายไว้ ให้เราเข้าใช้งานจากที่ไหนก็ได้บนโลก แค่มีไอดีและรหัสผ่าน ซึ่งทีมงาน #beartai ก็ใช้ NAS เหมือนกัน จัดว่าคล่องตัวและทำงานได้จากทุกที่ ซึ่งข้อดีคือให้พื้นที่เก็บข้อมูลมาก แถมลงทุนครั้งเดียวแบบไม่ต้องจ่ายรายเดือน และข้อมูลยังเก็บอยู่ในบริษัท ไม่ได้ไปฝากไว้กับบริการข้างนอก แต่ถ้าใครไม่มีตัวนี้ ก็ยังมีบริการคลาวด์ต่าง ๆ ที่ให้เก็บและแชร์ไฟล์ได้ เช่น Google Drive, OneDrive, DropBox, WeTranfer ส่วนราคาและความจุก็แตกต่างกันไปครับ

สิ่งถัดมาที่ต้องคำนึงถึงคือการประสานงานครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมือ Collaboration Tools ในสไตล์ Work Board ให้เราเลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Asana, Trello, Monday.com ที่สามารถใช้นัดหมาย กระจายงาน อัปเดตสถานะของงาน และเพิ่มไฟล์ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ ได้ สะดวกมากครับ สมาชิกทุกคนในทีมจะรู้สรุปงานของตัวเอง และเห็นภาพรวมงานของทีมด้วย เครื่องมือแบบนี้ไม่ต้องเป็น Work at Home แต่เป็น Work at Office ก็ควรใช้ครับ

การประชุมเดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในห้องเดียวกันแล้ว เราสามารถประชุมทางไกลกันได้ผ่านแอปต่าง ๆ เช่น ZOOM Cloud Meetings แอปพลิเคชันที่ให้เราเข้าร่วมการประชุมได้จากหลากหลายอุปกรณ์ ไม่ว่าจะ PC แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน

นอกจากนี้ยังสามารถแชร์คอนเทนต์ สไลด์ หรือหน้าจอของเราให้เพื่อนร่วมงานเห็นได้ด้วย จะส่งข้อความ ข้อความเสียง ไฟล์ หรือรูปภาพก็ทำได้ครับ ส่วนใครที่ต้องการส่งเอกสารหรือพัสดุ เดี๋ยวนี้ก็สามารถเรียก Messenger ได้จากหลากหลายแอปเลยครับ เช่น Grab Express, Line Man, Skootar, Lalamove, BananaBike, SCG Express โอ๊ยยยย!! เยอะครับ จะส่งอะไร จะส่งเท่าไร ก็กดเรียกผ่านแอปได้เลย

การทำงานที่บ้านก็อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับบางบริษัท เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการเกษตร หรือภาคบริการ ที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีการเข้ามาที่ออฟฟิศหรือโรงงานเพื่อทำงาน แต่หลายบริษัทก็เพิ่มมาตรการเพื่อรองรับวิกฤต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการทำงาน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันไวรัส COVID-19 ขั้นสูงสุด โดยการจำกัดทางเข้าออก และให้ทุกคนที่จะเข้าในตัวอาคารต้องเดินผ่านจุดคัดกรอง ซึ่งมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและติดสติกเกอร์เพื่อจำแนก มีการเพิ่มรอบการทำความสะอาดสำนักงาน และงดนัดหมายการประชุมทุกอย่าง เปลี่ยนมาเป็นการประชุมทางไกลทั้งหมดครับ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากแฟนเพจ ‘โอ้โห Beijing – สารพัดเรื่องในปักกิ่ง’ ที่กล่าวถึงมาตรการป้องกันไวรัส COVID-19 ของบริษัทแห่งหนึ่งในจีน ที่นอกเหนือจากการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้ว ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วยครับ เช่น

รณรงค์ให้เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสกับเชื้อโรค โดยหากเราจะใช้ลิฟต์ ภายในก็จะมีเส้นตารางที่พื้น แบ่งไว้ให้ยืนตามช่อง โดยเข้าได้ทีละ 6 คน และภายในลิฟต์จะมีกล่องทิชชู่ไว้ให้สำหรับหยิบใช้เวลากดลิฟต์

ส่วนการทานอาหารก็มีตารางเวลาสำหรับลงไปซื้ออาหารของพนักงานแต่ละชั้น เพื่อลดความแออัดของโรงอาหาร พื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารถูกปิดชั่วคราวและให้ทุกคนนั่งทานที่โต๊ะทำงานของตัวเอง โดยร้านอาหารจะขายอาหารแบบ take away จัดอาหารกล่องไว้ให้หยิบแล้วเดินไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ บนกล่องอาหารมีสติ๊กเกอร์แปะบอกข้อมูลด้วยว่า แม่ครัวชื่ออะไร, อุณหภูมิร่างกายปกติดี, ชื่อเมนูอาหาร, เวลาแพ็กอาหาร, และวันหมดอายุ เป็นต้น

การทำงานที่บ้าน นอกเหนือจากการช่วยให้ธุรกิจผ่านวิกฤตไปได้แล้วนั้น ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ศึกษาเรื่องการทำงานที่บ้านของบริษัท Ctrip (ซีทริป) บริษัทเอเจนซี่ชั้นนำในเซี่ยงไฮ้ โดยงานวิจัยพบว่า บริษัทสามารถทำกำไรจากกลุ่มที่ทำงานจากบ้านได้ 1,900 เหรียญสหรัฐ หรือ 65,700 บาท ต่อรายบุคคลในแต่ละปี โดยกำไรส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทสามารถประหยัดงบประมาณการเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ และพนักงาน Productive มากกว่าปกติถึง 13% โดยพนักงานที่ทำงานที่บ้าน พักเบรกน้อยกว่า ทำงานตั้งแต่เช้า กินข้าวกลางวันเพียง 30 นาที และมีรายงานว่าพวกเขาจดจ่อกับงานที่ทำได้ดีกว่าจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

จะเห็นได้ว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส และการทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ส่งผลเสียอย่างที่หลายคนเข้าใจกันครับ แต่กลับกลายเป็นผลดีที่ทำให้บริษัทได้งานที่ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุน และทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตครับ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส