หนุ่ยทอล์กหนุ่ยโทร สรุปเรื่องราวว่า ปัจจุบันภาครัฐฯ ได้เยียวยาอะไรเราแล้วบ้างในช่วง COVID-19 นี้

  • เงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือนจากเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งปัจจุบันได้แจ้งว่ามีการเยียวยาแล้วกว่า 9 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เป็นการเยียวยากลุ่มลูกจ้างนอกประกันสังคม แต่ในกระแสโซเชียลคือมีกลุ่มผู้ที่ต้องการการเยียวยาจำนวนมากที่ไม่ได้สิทธิ์นี้ และกลุ่มที่ได้ไปแต่ไม่ได้มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะมีมาตรการตามเก็บเงินคืน และอาจจะมีโทษด้วย
  • ประกันการใช้ไฟฟ้าจาก กฟน. และ กฟผ. จะมีการเยียวยาในส่วนนี้
  • เยียวยากลุ่มลูกจ้างในระบบประกันสังคม โดยจะลดลง 1 เปอร์เซ็นต์จาก 5% ที่หักออกจากรายได้ สูงสุด 750 บาท ซึ่งเมื่อคิดเต็มอัตราแล้ว จะถูกลดได้ทั้งสิ้น 150 บาทถ้วนต่อเดือน
  • มีมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตสำหรับ Work From Home
    • อินเทอร์เน็ตบ้านทุกค่ายแบบ Fiber Optic จะเพิ่มความเร็วอีก 100 Mbps โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    • อินเทอร์เน็ตแบบสายอื่น ๆ ก็จะถูกอัปความเร็วให้แบบเต็มสปีดของสายนั้น ๆ โดยไม่ต้องลงทะเบียน
    • อินเทอร์เน็ตสาย docsis ก็จะอัปความเร็วให้อีกระดับหนึ่ง
    • สนับสนุนอินเทอร์เน็ตมือถือ 10 GB ทุกเครือข่าย โดยกด *170* ตามด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก โดยหลังจากรับสิทธิ์จะใช้งานได้ 30 วัน (แต่จะไม่ครอบคลุมไปถึงคนที่เปิดแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตเกิน 10 GB ต่อเดือน ซึ่งหนุ่ย พงศ์สุข ได้ทดสอบแล้วพบว่า ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างช้า ประมาณ 1 วันเต็ม ๆ และมีคนไม่ได้ค่อนข้างเยอะ คาดว่าเนื่องจากทาง กสทช. อยากทำการตรวจสอบก่อน จึงเกิดคอขวดขึ้นมาตรงนี้

และหนุ่ย พงศ์สุข ได้ต่อยอดพูดคุยกับ รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน IMC เป็นผู้ดูแลด้าน Big Data หรือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ รวมไปถึง AI และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเขาได้พูดถึงเรื่องของระบบการคัดกรองของเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com

ซึ่ง รศ.ดร. ธนชาติ ก็ได้มองว่า เรื่องระบบ AI จริง ๆ ต้องมองในเรื่องของ Big Data หรือข้อมูลในอดีตเช่น ข้อมูลการเสียภาษี ข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟในอดีต หรือการส่งประกันสังคมเป็นต้น เอามาคำนวณเพื่อใช้วิเคราะห์ว่า ใครควรจะได้รับสิทธิ์เงินช่วยเหลือเยียวยาตรงนี้ และใช้ Model ในการคำณวนนี้มาตัดสินใจว่าเขาควรจะได้หรือไม่ได้

แต่ รศ.ดร. ธนชาติ ก็สังเกตว่า ระบบของเว็บไซต์นี้จะใช้ระบบ AI ที่แท้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นระบบ Rule base คล้าย ๆ If else ซึ่งใครกรอกแบบไหนถึงได้ กรอกแบบไหนจะไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่โฆษกกระทรวงการคลังได้ออกมาแถลงว่า แม้จะทำอาชีพเดียวกัน แต่บางคนกรอกถูกต้อง บางคนกรอกผิด จึงมีทั้งได้และไม่ได้ต่างกัน และอาจจะมีการค้นข้อมูลบางส่วนเช่น ไม่ควรเป็นนักเรียน นักศึกษา และอื่น ๆ ตามข้อกำหนดไว้ข้างต้นและทั้งนี้ได้มองว่า ข้อมูล Big Data ของบ้านเราอาจยังไม่มี 100% และทั้งนี้ต่อให้เป็นระบบ AI ก็เชื่อว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100% แต่จะมีความถูกต้องแม่นยำซัก 95%

เพราะคำว่า AI ฟังดูไพเราะจึงนำมาใช้

ถ้ามีข้อมูลมากขึ้น AI จะช่วยในการคาดการณ์ต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น ซึ่งปัจจุบันบ้านเรามีข้อมูลมากขึ้นแล้ว แต่ภาครัฐจะต้องนำข้อมูลต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน และทำการสร้าง Model ที่ใช้ในการจัดการ Big Data ได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งเขาก็อยากฝากไว้ 2 เรื่องคือ ให้ภาครัฐทำการรวบรวม Big Data ที่แท้จริง และอีกเรื่องคือการใช้คนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกันสร้างระบบ AI โดยการสร้าง Model บนพื้นฐาน Data ที่มีอยู่ และอย่างไรก็ตามต่อให้มีระบบ AI แท้จริง เชื่อว่ายังไงก็มีความผิดพลาดได้ ซึ่งต้องมีคนมาช่วยในการคัดกรองอีกชั้นอยู่ดี

ต่อด้วยการพูดคุยกับคุณ จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทาง MEA มี 6 มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงนี้แล้ว และเชื่อว่าทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์ตรงนี้ โดยระบบที่ทำออกมาได้ค่อนข้างตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ซึ่ง ณ วันที่ 10 เมษายนมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.9 ล้านคนจากผู้ใช้งานทั้งหมด 3.8 ล้านราย ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบ จึงอาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จไปกว่า 1 ล้านราย

แต่หลังจากตรวจสอบก็พบว่า มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งกว่า 600,000 รายเป็นลูกค้าของ กฝภ. หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาลงทะเบียนด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะ กฟน. นั้นรับเพียง 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งถ้าใครลงทะเบียนผิด อย่าเสียเวลารอ ให้ลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง อีก 300,000 รายอาจเป็นลูกค้าที่ลงทะเบียนด้วยชื่อ นามสกุล ที่ไม่ตรง หรือบัญชีไม่ตรงกับที่เคยลงทะเบียนไว้ จึงไม่สามารถที่จะโอนเงินไปให้ได้

และถ้าใช้พร้อมเพย์ ต้องเป็นบัญชีที่ผูกกับบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่สามารถใช้บัญชีที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือได้ เพราะระบบต้องการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลการโอนเงินนั่นเอง

ซึ่งสิทธิ์ในการรับเงินประกันคืนนั้น จะได้เฉพาะคนที่เคยวางเงินในหลักประกันเท่านั้น เช่นถ้าใครซื้อบ้านต่อมา แล้วไม่ได้ทำการโอนสิทธิ์ทั้งหมดผ่าน กฟน. ดังนั้นสิ่งที่การไฟฟ้าให้คืน จะให้เฉพาะคนที่วางหลักประกันเท่านั้น แม้จะเป็นลูก ๆ ที่ปัจจุบันอาจจะจ่ายค่าไฟแทนคุณพ่อคุณแม่มานานแล้ว ก็ไม่อาจรับสิทธิ์ตรงนี้แทนกันได้

และอีกมาตรการคือ การเรียกเก็บเงินอัตรา minimum charge ในกรณีที่ปิดกิจการชั่วคราวก็จะไม่ต้องเสียเงินภายใน 3 เดือนนี้ โดยมีผู้ได้สิทธิ์ประมาณ 30,000 ราย รวมมูลค่าประมาณ 167 ล้านบาท และส่วนใครที่ใช้ไฟน้อย ต่ำกว่า 90 หน่วย ไม่ต้องเสียเงินเลย 3 เดือนติดต่อกันเฉพาะผู้ที่มีมิเตอร์ 5(15 A) แต่ถ้าใครใช้ไฟเกิน ก็ยืดหยุ่นให้ผลัดชำระไปอีก 6 เดือน 3 รอบบิล

และอยากแนะนำให้ประชาชนอย่าเดินทางมาชำระค่าไฟฟ้าด้วยตัวเองในช่วงนี้ เพราะปัจจุบันสามารถชำระค่าไฟได้หลายช่องทางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอป MEA Smart Life ผ่านตู้ ATM ผ่าน Mobile Banking หักบัญชีบัตรเครดิตก็ได้ ไม่เสียค่าธรรมเนียมแม้แต่บาทเดียว หรือถ้าใช้ไม่เป็น ไม่สะดวก ก็สามารถชำระผ่านเซเว่น บิ๊กซี โลตัสก็ได้ฟรีค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกัน

หนุ่ย พงศ์สุข ก็อยากฝากให้มีการปลูกฝังทางสังคมว่า เวลาทำสิ่งเหล่านี้เช่น การซื้อขายบ้าน ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งความรู้เหล่านี้ควรจะอยู่ในแบบเรียนปัจจุบัน อย่างเช่นระบบการชำระเงินออนไลน์ที่ออกมาแล้วหลายปี ก็ยังคงมีคนไม่ทราบในเรื่องนี้ ต้องคอยประกาศอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะช่วยให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส