ในที่สุด Apple ก็หาทางแก้เรื่อง Face ID ไม่ปลดล็อกเครื่องเวลาใส่หน้ากากอนามัยให้เราได้แล้วด้วยการใช้ Apple Watch ครับ แต่ผมขอบอกตั้งแต่ตอนต้นนี้เลยว่า Android ทำได้ก่อนนานแล้ว

คือหลังจากที่โลกเราเผชิญ Covid-19 มาได้ปีกว่า แทนที่แอปเปิ้ลจะใส่ Touch ID กลับมาใน iPhone 12 เพื่อให้ใช้นิ้วสแกนปลดล็อกได้ง่าย ๆ เวลาใส่หน้ากาก ตอนนี้หลังจาก iPhone 12 ขายมา 3 เดือน ในที่สุด Apple ก็คิดออกแล้วว่าทำไมเราไม่ใช้ Apple Watch มาช่วยยืนยันตัวผู้ใช้ล่ะ เหมือนกับที่ Android 5 ที่ออกมาเมื่อ 6 ปีก่อนทำได้ไง

วิธีการใช้งานก็ง่ายมากครับ แค่คุณต้องอัปเดต iOS 14.5 และมี Apple Watch ที่อัปเดตเป็น WatchOS 7.4 แล้ว ซึ่งในช่วงที่เราถ่ายคลิปนี้ทั้ง iOS 14.5 และ WatchOS 7.4 ยังเป็นเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาครับ เราก็แนะนำให้รอเวอร์ชันสมบูรณ์ที่จะเปิดให้คนทั่วไปใช้เร็ว ๆ นี้ก่อน ถึงจะใช้กันนะครับ

วิธีการเปิดใช้ฟังก์ชันช่วยปลดล็อกเครื่องด้วย Apple Watch แค่ไปที่การตั้งค่า > Face ID และรหัส > เปิดใช้งาน Unlock with Apple Watch

แล้วจากนี้ ถ้าคุณใส่ Apple Watch และปลดล็อกนาฬิกาเรียบร้อย เมื่อ iPhone สแกนเจอหน้าของเรา แม้จะใส่หน้ากากอยู่ ก็จะปลดล็อกเครื่องให้ ซึ่งเงื่อนไขคือ เราต้องสวม Apple Watch อยู่บนข้อมือนะครับ iPhone ถึงจะปลดล็อกให้ และ Apple Watch จะต้องมีการตั้งค่าล็อกหน้าจอเอาไว้ด้วยนะ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราทำการปลดล็อกโดยใช้ Apple Watch ของเราเรียบร้อยแล้ว จะมีการแจ้งเตือนขึ้นบน Apple Watch พร้อมการสั่นเล็กน้อยเพื่อให้เรารู้ว่ามีการปลดล็อก iPhone โดยใช้ Apple Watch นะ แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นคนปลดล็อก คนอื่นแอบเอาไปปลดล็อก เราจะสามารถสั่งล็อก iPhone จาก Apple Watch ได้เลย และครั้งต่อไปที่จะปลดล็อกจะโดนบังคับใส่รหัสผ่านนะ เพื่อป้องกันหากมีคนอื่นเอา iPhone ไปปลดล็อกเล่น ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยอีกระดับนึงเลยล่ะ

อย่างไรก็ตามฟีเจอร์นี้ ไม่ได้หมายถึงการลืม Face ID ไปเลย เพราะฟีเจอร์นี้ในตอนนี้จะใช้ได้กับการปลดล็อก iPhone เท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ Apple Watch เพื่อปลดล็อกแอปธนาคารหรือแอปรหัสผ่านได้ เราก็ยังคงต้องใส่รหัสหรือแอบเลื่อนหน้ากากเพื่อสแกนใบหน้าเหมือนเดิมอยู่ดี

แม้จะเป็นฟีเจอร์ที่ตามมาทีหลัง จะว่าลอก Android มาปรับปรุงก็ว่าได้ แต่ก็น่าจะทำให้ Apple Watch ขายดิบขายดีขึ้นมาทันที เรียกว่าแอปเปิ้ลพลิกวิกฤตของคนใช้ให้ทำเงินเพิ่มได้ด้วย

เราพูดไปหลายรอบแล้วว่า Android มีฟีเจอร์ลักษณะนี้มา 6 ปีตั้งแต่ Android 5 แล้ว มันใช้ยังไงมาดูกัน!

ฟีเจอร์นี้ของ Android เรียกว่า Smart Lock ครับ เราต้องจำชื่อฟีเจอร์นี้ไว้ให้ดีๆ เพราะเมนูของ Android แต่ละเครื่องจะไม่ค่อยเหมือนกัน วิธีการเปิดใช้คือเข้าไปในแอป Settings ของเครื่อง แล้วค้นว่า Smart Lock ก็จะเจอเมนูที่อยู่ลึกเข้าไปในเมนูล็อกเครื่อง ซึ่งจะเข้าหน้านี้ก็ต้องป้อนรหัสปลดล็อกเครื่องด้วยนะ เมื่อเข้าไปเราจะเจอเมนูของ Smart Lock 3 อย่างคือ

On-body Detection ถ้าเปิดตัวเลือกนี้ เครื่องจะปลดล็อกให้เรา ถ้าเครื่องยังอยู่กับตัว หรือมีการเคลื่อนไหว คือถึงจอจะดับไป แต่ถ้าเครื่องยังรู้สึกว่าอยู่กับตัวเรา มีการเคลื่อนไหว มันก็จะไม่ถามรหัส ซึ่งถ้าเราวางเครื่องไว้นิ่ง ๆ สักพัก มันก็จะล็อกและถามรหัสครับ เพราะฉะนั้นช่องโหว่ของวิธีนี้คือ ถ้าคนอื่นเอาเครื่องจากมือหรือจากกระเป๋าเราไป มันก็อาจจะไม่ได้ล็อกก็ได้

Trusted Places เครื่องจะปลดล็อกให้เราถ้าเครื่องจับตำแหน่งว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด เช่นกำหนดให้บ้านหรือที่ทำงานไม่ต้องล็อกเครื่อง เครื่องก็จะตรวจจับตำแหน่งและไม่ล็อกเครื่อง อันนี้ดูอันตราย เพราะถ้าเครื่องตรวจจับตำแหน่งผิด อาจจะปลดล็อกได้ หรือถ้าเราวางเครื่องในบ้าน ในสถานที่ที่ปลดล็อกไว้ คนอื่นก็ใช้ได้เลย เพราะงั้นต้องคิดดี ๆ ก่อนใช้

Trusted Device อันนี้แหละที่ Apple เลียนแบบมา คือจำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Bluetooth ของเรา ถ้าเราเชื่อมต่อกับ Smart Watch ของเราอยู่ ก็จะไม่ล็อกเครื่อง หรือจะให้จำกับลำโพงหรือหูฟังก็ได้นะ ถ้าเครื่องเชื่อมต่อลำโพงหรือหูฟังนี้อยู่จะไม่ล็อกเครื่อง สะดวกดีแท้

ก็ต้องยอมรับว่า Apple ลอกการบ้านและปรับปรุงให้ดีกว่า คือสามารถล็อกกลับจากนาฬิกาได้ แถมสั่นเตือนผู้ใช้ให้รู้อีก ส่วนของ Android ก็ไม่มีการแจ้งเตือนกลับมาที่อุปกรณ์ที่ผูกด้วยทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริง คนใช้ Android ไม่ค่อยใช้กันหรอกครับ Smart Lock เค้ามีทั้งสแกนนิ้วและสแกนหน้าในเครื่องเดียวกัน ถ้าสแกนหน้าไม่ได้ก็สแกนนิ้ว ถ้าสแกนนิ้วไม่ได้ก็สแกนหน้า โอกาสต้องใช้ Smart Lock ก็น้อยลงแล้ว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส