ผมทำคลิปแรกสัมผัส Samsung Galaxy Z Fold 3 5G และ Galaxy Z Filp3 5G ไปเรียบร้อยนะครับ และวันนี้ก็ถึงเวลาของรีวิวฉบับเต็มแล้ว ก็นับตั้งแต่ Samsung Galaxy Fold รุ่นแรกออกสู่ท้องตลาดในปี 2019 ก็นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วนะครับที่ซัมซุงขายมือถือพับได้ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ยืนหนึ่งด้านนวัตกรรมมือถือพับมาตลอด

ซึ่งผมบอกได้เลยว่า Samsung Galaxy Z Fold3 และ Galaxy Z Flip3 เป็นจุดลงตัวที่สุดแล้วของการใช้มือถือจอพับ เมื่อ Samsung Galaxy Z Fold3 ใช้ปากกา S-Pen ได้ และ Galaxy Z Flip3 มีการปรับกลยุทธ์ด้านราคาให้ลงมาเริ่มต้นไม่ถึง 35,000 บาท ถูกกว่ารุ่นที่แล้วเป็นหมื่น วันนี้เรามาแบไต๋อย่างละเอียดให้ดูกัน

เอาส่วนที่สมาร์ตโฟนทั้ง 2 รุ่นปรับปรุงไปพร้อมกันก่อน คือความทนทานครับ ทั้ง Samsung Galaxy Z Fold3 5G และ Galaxy Z Flip3 5G ปรับปรุงไปอีกขั้น ด้วยกระจกภายนอกเครื่องเป็น Corning Gorilla Glass Victus รุ่นล่าสุด ทนทานรอยขีดข่วนและแรงตกกระแทกมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตกแล้วไม่แตกเลยนะ

พร้อมใช้โลหะ Armor Aluminum มาเป็นเฟรมเครื่อง ทำให้ภายนอกเครื่องทนทานขึ้น ส่วนจอพับด้านในก็ปรับปรุงฟิล์มหน้าจอด้านในและ Ultra Thin Glass ให้ทนทานมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ทำให้หน้าจอของ Samsung Galaxy Z Fold3 5G ทนทานพอที่จะใช้กับปากกา S-Pen Fold Edition ที่หัวปากกาที่สามารถยุบลงไปได้ โดยไม่เป็นรอย และซัมซุงการันตีมาว่าจอพับของทั้งคู่สามารถพับได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ครั้งตลอดอายุการใช้งานครับ ถ้าพับวันละ 100 ครั้งก็ใช้งานได้ 5 ปีกว่าเลยนะ

นอกจากนี้ทั้ง 2 รุ่นยังปรับการทนน้ำเพิ่มเป็น IPX8 ให้ตกน้ำแล้วเครื่องมีโอกาสรอดมากขึ้น เช่น ในชีวิตจริงเราออกไปนอกบ้านแล้วเกิดฝนตก ตัวเปียกชุ่มทั้งตัว แต่โทรศัพท์ก็รอด หรือแม้แต่อยู่บ้านแล้วเผลอเอามือปัดทำแก้วน้ำหกใส่ก็ไม่เป็นอะไร แล้วก็ต้องระวังฝุ่นนิดหนึ่งนะครับ

หน้าจอพับได้ขนาดใหญ่ถึง 7.6 นิ้วของ Samsung Galaxy Z Fold3 5G ก็เอาไปใช้งานได้หลากหลายครับ โดยเฉพาะการเปิดแอปพร้อมกันสูงสุด 3 แอป เช่นผมเปิดแอปท่องเว็บ Samsung Internet คู่กับ Samsung Notes ซ้าย-ขวาแบบนี้ ผมก็สามารถลากภาพหรือข้อความจากหน้าเว็บไปแปะไว้ในโน้ตได้ง่ายๆ แบบนี้เลย แต่ความสามารถลากข้ามไปข้ามมานี้ ไม่ได้ใช้งานได้กับทุกแอปนะครับ เช่นผมลองใช้ Chrome ลากไป Samsung Notes ก็ไม่ได้ หรือใช้ Samsung Internet ลากไป Google Docs ก็ไม่ได้ สรุปคือถ้าชัวร์ก็ใช้แอปตระกูลซัมซุง จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเครื่องครับ

แล้วผมสามารถเปิดแอปที่ 3 ได้ ก็ลากแผงเมนูทางด้านขวาออกมา แล้วหาแอปที่ต้องการใช้ เช่น Spotify แล้วลากออกมาเป็นหน้าต่างเล็กเพื่อควบคุมการเล่นเพลงก็ได้

ซึ่งเราสามารถแตะค้างที่ “ขีด” ที่อยู่ด้านบนตรงกลางของแต่ละแอปเพื่อลากตำแหน่งหน้าต่างไปมาได้ หรือจะแตะที่ “ขีด” ตัวเดิมเพื่อเลือกให้แอปนั้นขยายเต็มหน้า หรือปิดทิ้งไปเลยก็ได้ ถ้าจัดจนพอใจแล้วก็กดปุ่ม … ที่อยู่ตรงเส้นแบ่งจอเพื่อเซฟการจัดหน้าต่างของเราก็ได้ครับ เวลาเรียกมาใหม่จะได้เรียกง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาจัดใหม่

นอกจากเปิดได้ 3 หน้าต่างพร้อมกันในเบื้องหลังแล้ว เรายังเปิดแอปอื่นๆ ให้เป็นหน้าต่างลอยทับได้อีกด้วย ก็เลือกปรับใช้ให้เหมาะกับการใช้งานครับ

ผมลองจัดหน้าต่างแบบแปลกๆ ให้ดูบ้างครับ ลองเปิด Zoom พร้อมเกม Genshin Impact เล่นเกมไป เสนอหน้าในที่ประชุมไปก็ยังพอไหวนะ แต่เวลาต้องพูดในที่ประชุมอาจจะลำบากหน่อย ต้องปิดเสียงเกมให้ทัน

การแบ่งหน้าต่างบน-ล่างแบบนี้จะทำให้ใช้งานสะดวกขึ้นใน Flex Mode ครับ เราพับให้เครื่องตั้งแบบโน้ตบุ๊กได้ จอบนอาจจะเป็นซูม แล้วจอล่างเปิดเว็บหรือจดโน้ตระหว่างประชุมก็ทำได้ทั้งนั้นครับ

เราสามารถใช้ S-Pen Fold Edition เพื่อจดบันทึก ได้อารมณ์เหมือนจดลงสมุดโน้ตเลย ซึ่งผมพูดถึงตัว S-Pen รุ่นพิเศษที่หัวปากกาหดลงได้ถ้ากดแรง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับจอไว้เต็มๆ ผมทดสอบปากกานี้ไว้ในคลิปแรกสัมผัส Samsung Galaxy Z Fold3 5G ย้อนกลับไปดูกันได้นะครับ

ส่วน Samsung Galaxy Z Flip3 5G ก็สามารถเปิดแอปพร้อมกันได้แบบ Galaxy Z Fold3 5G โดยสามารถลากวางเนื้อหาข้ามหน้าต่างได้ สามารถเซฟรูปแบบการจัดหน้าต่างได้เหมือนกัน เพียงแต่จะเปิดหน้าต่างได้พร้อมกัน 2 หน้าต่างบน-ล่างแบบนี้เท่านั้น เพราะพื้นที่หน้าจอนั้นเล็กกว่ารุ่นพี่ครับ และใช้ปากกา S-Pen ไม่ได้นะ
การกางเครื่องเหมือนโน้ตบุ๊กหรือที่เรียกว่า Flex Mode ก็เป็นความสามารถที่เราจะได้ใช้กันบ่อย ๆ บนทั้ง Galaxy Z Fold3 และ Galaxy Z Flip3 ครับ เพราะทำให้เราใช้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเอามือมาถือเครื่องได้ เช่นการคุย Video Call, เปิดแอปนาฬิกามากางที่หน้าจอนอก ให้ดูเป็นนาฬิกาจับเวลาก็ได้ หรือใช้คู่กับแอปกล้องเพื่อแทนขาตั้งตอนถ่ายรูปรวม หรือใช้ตั้งกล้องถ่ายรูปในที่แสงน้อย หรือถ่าย Time lapse ก็ทำได้ทั้งนั้น ใช้สนุกตรงนี้แหละ

กล้อง

มาดูเรื่องกล้องกันบ้าง Samsung Galaxy Z Fold3 และ Galaxy Z Flip3 มีกล้องหลังที่ใกล้เคียงกันอยู่ 2 ตัว คือเลนส์มุมกว้างมาก 0.5 เท่า f/2.2 และเลนส์หลัก 1 เท่า f/1.8 ซึ่งมีความละเอียด 12 ล้านพิกเซลทั้ง 2 รุ่น 2 เลนส์ แล้วคุณภาพภาพเป็นยังไง ไปดูตัวอย่างจากแพนกันครับ

ภาพจากกล้องหลังของสมาร์ตโฟน 2 รุ่นนี้ให้ภาพออกมาใกล้เคียงกันครับ ให้สีสันได้ดี มีระบบ AI ช่วยจูนภาพตามวัตถุที่ถ่าย จะถ่ายต้นไม้ ดอกไม้ อาหาร ท้องฟ้าก็ให้สีสันได้สวยงามทั้งนั้น ระบบ HDR ก็ทำงานได้ดี ถ่ายย้อนแสงหนักๆ ยังเห็นรายละเอียดในภาพที่ย้อนแสงอยู่ครบ เพียงแต่ว่าเลนส์มุมกว้างมาก อาจจะเห็นภาพที่ยืดออกบ้างบริเวณขอบภาพ ตามความกว้างของเลนส์ และอาจเจอปัญหาขอบวัตถุม่วงบ้าง

ส่วนการถ่ายภาพบุคคล ก็สามารถถ่ายให้สีผิวได้สวยงาม และสามารถเบลอฉากหลังได้สวยงามดีเป็นธรรมชาติ ซึ่งเรื่องการถ่ายภาพ Portrait นี่เรือธงของ Samsung Galaxy เก่งมายาวนานครับ เชื่อใจได้เลย

และการถ่ายภาพในยามค่ำคืน ก็ทำได้ดีทั้ง 2 รุ่นครับ คือปกติเลนส์มุมกว้างจะถ่ายกลางคืนแล้วภาพมืดกว่าเลนส์หลักอยู่แล้ว แต่สมาร์ตโฟนจอพับของซัมซุงทั้ง 2 รุ่นนี้ก็สามารถใช้ Night Mode ขุดภาพมุมกว้างให้สว่างไม่น้อยหน้าเลนส์หลักได้ ถือว่าเยี่ยมครับ

ความแตกต่างของกล้องหลังในสมาร์ตโฟน 2 รุ่นนี้อยู่ที่เลนส์ซูม ซึ่ง Samsung Galaxy Z Fold3 5G มีเลนส์ซูม 2 เท่า ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล f/2.4 แยกมาให้ ส่วน Galaxy Z Filp3 5G ใช้เลนส์หลักมาซูมภาพแทน
ซึ่งผลการซูมก็ตามคาด แม้ว่า Galaxy Z Flip3 5G จะยังให้ภาพซูม 2 เท่าที่คุณภาพดีอยู่ แต่ช่วงซูมที่มากกว่านั้นก็เป็นรอง Galaxy Z Fold3 5G ที่มีเลนส์ซูมโดยเฉพาะแบบชัดเจน เทียบภาพซูม 10 เท่าก็จะเห็นว่ามีริ้วรอยในภาพมากกว่า ซึ่งถ้าซัมซุงใส่เซนเซอร์ที่มีความละเอียดมากกว่านี้เช่น 48 ล้านหรือ 64 ล้านพิกเซลให้กล้องหลักของ Galaxy Z Flip3 ก็น่าจะซูมได้เก่งกว่าเซนเซอร์ 12 ล้านพิกเซลครับ

แน่นอนว่าพอเป็นสมาร์ตโฟนพับได้ การถ่ายรูปก็ต้องมีลูกเล่นหน่อยครับ ใน Galaxy Z Fold3 เราสามารถใช้กล้องหลังเป็นกล้อง Selfie ได้ด้วยการกางเอาจอด้านหน้าออกมาแบบนี้ ก็จะให้ภาพ Selfie ที่คุณภาพดีที่สุดครับ หรือจะถ่ายรูปปกติ แล้วเปิดหน้าจอด้านนอกให้ผู้ถูกถ่ายเห็นภาพตัวเองระหว่างถ่ายก็ได้ ก็ทำให้ถ่ายรูปง่ายขึ้นอีกเยอะ

หรือ Galaxy Z Flip3 ก็สามารถกดปุ่มล็อกหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อให้จอภาพขนาด 1.9 นิ้วนี้ติดขึ้นมา แล้วแตะที่หน้าจอเพื่อถ่ายรูป Selfie ด่วน ๆ ได้เลยเก๋มาก

ส่วนการถ่ายวิดีโอเป็นยังไง ไปดูคลิปจากแพนกันครับ นี่คือภาพและเสียงจาก Galaxy Z Fold3 นะครับ การถ่ายวิดีโอทั้ง 2 รุ่นทำได้สูงสุดที่ 4K 60 fps ครับ แต่การถ่ายแบบนี้จะใช้ได้เพียงเลนส์หลักเท่านั้น ไม่สามารถสลับไปใช้เลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ซูมได้ แถมระบบป้องกันภาพสั่นไหวยังทำงานได้น้อย ภาพจะสั่นไหวมากหน่อย เราจึงแนะนำให้ถ่ายวิดีโอในโหมด 4K 30 fps จะดีกว่า ถ่ายวิดีโอได้ทุกเลนส์ แถมภาพสั่นไหวน้อยด้วย

นอกจากนี้ในสมาร์ตโฟนพับได้ทั้ง 2 รุ่นนี้ยังมีโหมด “Pro Video” โหมดถ่ายวิดีโอที่ควบคุมทุกอย่างได้ ทั้งระยะโฟกัส, อุณหภูมิสี, Contrast, Highlight, Shadow, Tint และทีเด็ดสุด ยังสามารถเลือกว่าจะเก็บเสียงเน้นด้านหน้า ด้านหลัง รอบตัว หรือเก็บเสียงจากไมค์ USB หรือ Bluetooth ก็ได้ สร้างงานระดับโปรดักชันได้สะดวกเลย
(แพน) กล้องหน้าตัวนอกของ Galaxy Z fold3 และ Galaxy Z filp3 นั้นมีความละเอียด 10 ล้านพิกเซลเท่ากันครับ คุณภาพภาพ Selfie จึงออกมาใกล้เคียงกันแบบภาพตัวอย่างที่เราถ่ายมา

และวิดีโอตัวนี้แพนก็ถ่ายด้วยกล้องหน้าของ Galaxy Z Fold3 ด้วยความละเอียด 4K 60fps ซึ่งก็น่าทึ่งไม่น้อยที่กล้องหน้าสามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดระดับนี้ ดูภาพและเสียงที่เราถ่ายมานี้แล้วคิดว่าเป็นยังไงบ้าง
แต่กล้องที่เราว้าวที่สุดคือกล้องหน้าด้านในครับ เพราะเป็นครั้งแรกของซัมซุงที่ใช้เทคโนโลยีกล้องซ่อนใต้หน้าจอ ทำให้ดูเผินๆ หน้าจอนี้เหมือนจะไม่มีรูกล้องเลย แล้วเวลาที่ใช้กล้อง หน้าจอบริเวณก็จะมืดลงเพื่อให้กล้องทำงานได้ แต่เอาจริงๆ แล้วเวลาอยู่ในหน้าจอขาวเราก็จะดูออกทันทีนะว่าตรงนี้คือกล้อง เพราะพิกเซลของจอในส่วนนี้จะหนาแน่นน้อยกว่าส่วนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งกล้องตัวนี้มีความละเอียดแค่ 4 ล้านพิกเซลเท่านั้น คุณภาพภาพนิ่งจะได้ประมาณที่เห็นนี้ แล้วกล้องหน้าตัวนี้ยังถ่ายหน้าชัดหลังเบลอไม่ได้ด้วย แนะนำว่าถ้าจะถ่าย Selfie ก็ใช้กล้องหน้าด้านนอกจะดีกว่า และนี่คือคุณภาพวิดีโอจากกล้องหน้าใต้จอตัวนี้ ก็ให้คุณภาพได้สูงสุดแค่ Full HD 60 fps เท่านั้น ซึ่งก็เป็นคุณภาพที่ดีพอสำหรับการใช้งานในลักษณะ Video Call ซึ่งน่าจะเป็นงานหลักของกล้องตัวนี้แล้ว

โดยรวมแล้วกล้องของ Samsung Galaxy Z Fold3 5G และ Galaxy Z Flip3 5G นั้นจัดเป็นกล้องเกรดพรีเมี่ยมสมราคาครับ ถ่ายง่ายทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง แต่ก็ต้องเข้าใจว่านี่ยังไม่ใช่กล้องในสมาร์ตโฟนที่ดีที่สุดของซัมซุง ถ้าเรื่องกล้อง Samsung Galaxy S21 Ultra ยังยืนหนึ่ง เป็นนัมเบอร์วันของค่ายอยู่ดี สมาร์ตโฟนทั้ง 2 รุ่นนี้ใช้ชิปตัวเดียวกันคือ Snapdragon 888 โดยรุ่นใหญ่ Galaxy Z Fold3 มาพร้อมแรม 12 GB ส่วนน้องเล็ก Galaxy Z Flip3 มาพร้อมแรม 8 GB

การทดสอบประสิทธิภาพ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพด้วย Geekbench 5 ก็ให้คะแนน Multicore ออกมาราวๆ 3200 คะแนนพอ ๆ กัน ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกด้วย 3Dmark ชุด Wildlife Stress Test ให้คะแนนสูงสุดต่างกันพอสมควร คือในรอบการทดสอบแรก Galaxy Z Fold3 ทำคะแนนไปได้ 5390 คะแนน ส่วน Galaxy Z Flip3 ทำคะแนนไป 4738 คะแนน ก่อนที่ทั้งคู่จะเจอความร้อนจนต้องลดประสิทธิภาพลงไปเหลือราว 3460 คะแนนทั้งคู่

ส่วนการทดสอบกับเกม Genshin Impact ที่ปรับคุณภาพกราฟิกสูงสุดและเปิด 60 fps ก็สามารถเล่นได้ลื่นในระดับหนึ่ง โดย Galaxy Z Fold3 จะมีความร้อนในฝาพับฝั่งกล้องขึ้นมาบ้าง เช่นเดียวกับ Galaxy Z Flip3 ที่มีความร้อนเกิดขึ้นในฝั่งของกล้องเช่นกัน ซึ่งความร้อนสูงกว่า Fold3 อยู่บ้าง ทั้ง 2 รุ่นเป็นลำโพงสเตอริโอครับ ให้เสียงได้ดังและแยกมิติได้ดีทั้งคู่ ไม่เสียชื่อสมาร์ตโฟนระดับพรีเมี่ยมเลย นอกจากนี่เมื่อเปิดระบบ Dolby Atmos ในโทรศัพท์ก็จะให้เสียงที่กังวาลมากขึ้น

ส่วนเรื่องของการชาร์จ ก็แทบเป็นเรื่องปกติแล้วที่สมาร์ตโฟนจะไม่แถมที่ชาร์จมาให้ ก็ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ในกล่องเลยมีแต่สาย USB-C เท่านั้น ใครที่ยังไม่มีก็สามารถซื้อหัวชาร์จ USB-C 25W ของซัมซุงมาใช้ก็ได้ ขายแค่ 490 บาท หรือจะเป็นหัวชาร์จ USB-C ค่ายใดก็ได้ ใช้ชาร์จได้หมดครับ

ปิดท้ายด้วยการเจาะลึกความเฉพาะตัวของแต่ละรุ่นสักนิดครับ เริ่มด้วยพี่ใหญ่ Samsung Galaxy Z Fold3 5G กันสักนิด เทียบรูปร่างหน้าตากับ Galaxy Z Fold2 ที่ออกมาก่อน จะเห็นว่าใกล้เคียงกันมาก

หน้าจอ

หน้าจอด้านนอกนี้มีขนาด 6.2 นิ้วเท่าเดิม แต่ Galaxy Z Fold 3 จะอัปเกรดเป็นจอนุ่ม 120 Hz แบบ Adaptive
ขนาดตัวเครื่องเมื่อพับแล้วก็ใกล้เคียงกันมาก แต่ด้านสันของ Galaxy Z Fold 3 จะบางลงเหลือ 16 mm จากเดิม 16.7 mm ซึ่งถ้าไม่ได้จับมาเทียบกันก็ไม่รู้สึกแตกต่างเท่าไหร่

จอพับด้านในก็ขนาด 7.6 นิ้วเท่ากัน ความละเอียดเท่ากัน และเป็นแบบ 120 Hz แบบ Adaptive เหมือนกันด้วย และตรงกลางก็ยังมีรอยพับเหมือนเดิม มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ที่ปุ่ม Power เหมือนเดิม ให้สแกนได้ทั้งเวลาพับจอและกางจอ ใส่ซิม 5G ได้ 2 ซิม แต่ไม่รองรับ MicroSD นะ

น้ำหนักเครื่อง Galaxy Z Fold 3 รีดลงมาได้ 11 กรัมจากรุ่นที่แล้ว เหลือ 271 กรัม ก็หนักกว่าสมาร์ตโฟนตัวใหญ่ๆ ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งนะครับ แต่เบาสบายกว่าแท็บเล็ตเยอะ

ส่วน Samsung Galaxy Z Flip3 5G จุดเด่นที่แตกต่างจาก Galaxy Z Flip รุ่นแรกคือหน้าจอด้านนอกที่ขยายขนาดจาก 1.1 นิ้วเป็น 1.9 นิ้ว ทำให้ใน Flip3 เราสามารถใช้จอด้านนอกแสดงข้อมูลอื่น ๆ นอกจากการแจ้งเตือนได้ แค่แตะ ๆ จอด้านนอก 2 ครั้งแบบนี้ก็จะเลื่อนดู Widget ต่าง ๆ ที่เราตั้งเอาไว้ได้ จะเลื่อนดูโนติ ควบคุมเพลง ดูสภาพอากาศ จับเวลา ก็ทำได้ แล้วรวมถึงใช้เป็นจอเล็ก ๆ สำหรับเวลาใช้กล้องก็ได้ครับ

และหน้าจอพับภายในขนาด 6.7 นิ้วนั้นให้สัดส่วนภาพที่ยาวมากๆ ถ้าเอาไปดูหนังสัดส่วนที่ฉายในโรงภาพยนตร์ก็จะได้ความฟินมาก ๆ แบบนี้ครับ

แต่จุดที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Galaxy Z Flip3 5G คือมันใส่ได้แค่ซิมเดียวนะครับ ถ้าต้องการใช้ 2 ซิมก็ต้องเพิ่มผ่าน eSim เข้าไป

จุดสังเกต

Galaxy Z Fold3 5G และ Galaxy Z Flip3 5G เราว่าอยู่ที่ความร้อนครับ ด้วยความที่เป็น Snapdragon 888 ตัวร้อนแรงทั้งคู่ ถ้าเอาไปใช้เล่นเกมจะรู้สึกถึงความร้อนมากหน่อย และประสิทธิภาพจะลดลงไปเกือบครึ่งถ้าความร้อนขึ้น

และเราว่าเลนส์ซูมของ Galaxy Z Fold 3 ยังน้อยไปนิดครับ เพราะซูม 2 เท่า ถ้าเอาเลนส์หลักมาขยาย ก็ยังให้ภาพที่โอเคอยู่แบบ Flip3 เพราะฉะนั้นเลนส์ซูมจริง ๆ น่าจะใส่ซูมสัก 3 เท่าขึ้นไป ให้สมความพรีเมี่ยมของเครื่อง

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

Samsung Galaxy Z Fold3 5G วางจำหน่ายในราคา 57,900 บาท สำหรับความจุ 256GB และ 61,900 บาท สำหรับความจุ 512GB โดยมีให้เลือก 3 สีที่เป็นผิวด้านทั้งหมดคือ สีดำ Phantom Black, สีเขียว Phantom Green และ สีเงิน Phantom Silver ครับ

ส่วน Galaxy Z Flip3 5G ตั้งราคาเริ่มต้นไว้ 34,900 บาท สำหรับความจุ 128GB และ 36,900 บาท สำหรับความจุ 256GB โดยมี 4 สีให้เลือก คือ สีครีม, สีเขียว, สีม่วงลาเวนเดอร์ และ สีดำ Phantom Black ที่เป็นผิวด้าน นอกจากนี้ยังมีสีพิเศษคือ เทา, ขาว, ชมพูให้เลือกได้ถ้าสั่งจากเว็บ Samsung.com ครับ

แต่ถ้าอยากได้ราคาดีกว่านี้ ลองดูโปรจากค่ายมือถือครับ ลดเพิ่มได้เป็นหมื่น อย่าง Galaxy Z Flip3 5G นี่อาจเหลือแค่หมื่นกลาง ๆ เท่านั้นเอง