แบไต๋บุก! บุกสำนักงานใหญ่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนี่ก็คือวอลล์กระจกขนาดใหญ่ยักษ์ ที่จับเอาภาพจากกล้องกว่า 500 ตัว ตลอดเส้นทาง 224.6 กิโลเมตร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ได้คอยสอดส่อง ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนน แล้วประโยชน์ของจอนี้คืออะไร และมันจะช่วยผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างไร วันนี้ผมหนุ่ย พงศ์สุข พาไปแบไต๋เทคโนโลยีความปลอดภัยบนทางด่วนกันครับ

โดยวอลล์กระจกนี้ก็อยู่ในห้องที่เรียกว่า ศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ ซึ่งเป็นห้องควบคุมหลักที่จะคอยสอดส่องดูแลโครงข่ายทางพิเศษทั้ง 8 ประกอบไปด้วย เฉลิมมหานคร / ศรีรัช / ฉลองรัช / บูรพาวิถี / อุดรรัถยา / บางนา – อาจณรงค์ / บางพลี – สุขสวัสดิ์ / ศรีรัช – วงแหวนรอบนอก

ที่ผ่านมาการมอนิเตอร์โครงข่ายทางพิเศษก็จะทำผ่านศูนย์ควบคุมย่อยที่ดูแลแนวสายทางนั้น ๆ แน่นอนในการเผชิญเหตุ ถ้าเป็นอุบัติเหตุทั่วไป ศูนย์ย่อยเอาอยู่ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากเป็นเหตุใหญ่ ๆ ที่จำเป็นจะต้องมีระดับผู้บริหารมาตัดสินใจ การมอนิเตอร์เพื่อให้เห็นภาพใหญ่มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแต่ละศูนย์ก็จะเห็นได้แค่ในพื้นที่ตัวเอง

ดังนั้นเพื่อให้การตัดสินใจ รวมไปถึงความปลอดภัยนั้นแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ การทางทางพิเศษแห่งประเทศไทยเลยใช้เวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 62 สร้างห้องนี้ขึ้นมา เพื่อรวมเอาภาพทั้งหมดจากกล้องกว่า 500 ตัว 224.6 กิโลเมตร มาแสดงผลที่นี่!

และในอนาคตระบบนี้สามารถจะรองรับภาพจากกล้องได้ถึง 1,600 ตัวเลยครับ วอลล์กระจกขนาดใหญ่ยักษ์นี้ประกอบไปด้วยจอขนาด 55 นิ้ว จำนวน 125 จอ มาร้อยเรียงต่อกัน และด้วยความเป็นวอลล์กระจกเราก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบเลยว่าจะแสดงผลเป็นภาพใหญ่ชัด ๆ หรือจะเป็นภาพเล็ก ๆ 1 จอ ต่อ 1 กล้อง

แต่หลัก ๆ แล้วการทางพิเศษจะแสดงผลเป็น 4 จอใหญ่นะครับ ก็คือ

  1. จอสำหรับกล้อง
  2. จอสำหรับรถสายตรวจ
  3. จอสำหรับการควบคุม
  4. จอสำหรับความหนาแน่นของจราจร

จอสำหรับกล้อง ก็จะแสดงผลภาพจากกล้องที่เจ้าหน้าที่ต้องการ โดยกล้องแต่ละตัวจะห่างกัน 2 กิโลเมตร และมีกำลังซูมสูงสุด 1 กิโลเมตร นั่นหมายความว่ามุมภาพก็จะร้อยต่อกันพอดี ซึ่งเราก็สามารถที่จะซูมได้ หมุนกล้องได้

ปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็มักจะมอนิเตอร์ในจุดที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ เช่นทางแยก ทางเชื่อม หรือจุดที่มีรถติดบ่อย ๆ ส่วนทางตรงที่ปกติก็จะไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรก็อาจจะดูน้อยหน่อย ส่วนอันนี้คือจอสำหรับรถสายตรวจนะครับ ก็จะเป็นรถยนต์สายตรวจที่เราเคยเห็นกันบนทางด่วน ซึ่งที่รถก็จะมี GPS ติดอยู่นะครับ

จอนี้ก็จะคอยมอนิเตอร์ว่ารถสายตรวจอยู่ที่ไหน ใครใกล้ที่ไหนบ้าง เพื่อให้การสั่งการเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำครับ และนี่ก็คือหน้าจอสำหรับควบคุมนะครับ เป็นการควบคุมแบบ Single Command ก็คือควบคุมเบ็ดเสร็จได้เลย ก็จะมีฟังก์ชัน MS สำหรับป้ายควบคุมความเร็ว, เปิด-ปิดช่องทาง, เลข 80 – 90 ที่กะพริบอยู่ รวมไปถึงเครื่องหมายลูกศร หรือตัว T ต่าง ๆ ก็จะพิมพ์จากที่นี่เลยครับ

VMS ก็เป็นป้ายสำหรับเขียนข้อความเช่น ฝนตกถนนลื่น กรุณาขับรถด้วยความระมัดระวัง ก็จะพิมพ์จากที่นี่เช่นกัน Telephone ก็จะบอกละติจูด ลองจิจูด ของที่ตั้งตู้โทรศัพท์ที่เราเห็นอยู่บนทางด่วน รวมไปถึงสถานะของโทรศัพท์ว่าเสียหรือไม่ ถ้าเสียเจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งหน่วยซ่อมบำรุงให้ออกไปซ่อม

Traffic Sensor เป็นกล้องอินฟราเรดที่จะคอยตรวจจับความเร็ว รวมไปถึงวัดความหนาแน่นของรถ และสุดท้ายคือจอที่จะบอกความหนาแน่นของจราจรนะครับ โดยจะครอบคลุมโครงข่ายทางพิเศษทั้ง 8 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนะครับ

โดยเทคโนโลยีที่จะใช้ในการตรวจสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วนครับ ส่วนแรกคือ Google Map ครับ ส่วนที่ 2 คือกล้อง Traffic Sensor ของการทางเอง โดยเอาทั้ง 2 ส่วนนี้มาคำนวณร่วมกันเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุดครับ

ส่วนสีก็ตามที่พวกเราคุ้นเคยกันเลยครับ สีเขียวคือโล่ง สีเหลืองคือชะลอตัว สีน้ำตาลคือติดขัด ส่วนสีแดงคือหนาแน่น และเพื่อทดสอบความแม่นยำและรวดเร็วในการช่วยเหลือนะครับ ผมได้ให้ทีมงานไปอยู่ทางด่วนแห่งหนึ่งไว้แล้ว เดี๋ยวผมจะลองให้ทีมงานกดปุ่ม SOS จากแอปพลิเคชัน EXAT Portal ซึ่งเป็นแอปของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แน่นอนแบไต๋ก็ได้คลิปรีวิวแอปนี้ไปแล้วนะครับ และนอกเหนือจากแอป EXAT Portal เราสามารถใช้สายด่วน 1543 รวมไปถึงโทรศัพท์ที่อยู่บนทางด่วนในการโทรเข้ามาได้ด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความปลอดภัย ทุกคนมีสมาร์ตโฟนอยู่แล้ว โหลดแอป นั่งอยู่บนรถ แล้วกดปุ่มเถอะครับ อย่าลงมาจากรถเลย มันอันตรายมาก ๆ หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถชนคนที่ออกมาอยู่นอกรถบนทางด่วน เพราะรถตัวเองเสีย หรือซ้ำร้าย โดนชนขณะใช้ตู้โทรศัพท์บนทางด่วน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นห่วงทุกคน เลยพัฒนาแอปนี้ขึ้นมา ดังนั้นโหลด EXAT Portal ติดเครื่องไว้เถอะครับ

ซึ่งตัวแอปก็จะระบุพิกัดของเราผ่าน GPS นะครับ ทำให้หาตำแหน่งกันได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ทางศูนย์ควบคุมได้รับแจ้งแล้ว ก็จะประสานไปยังศูนย์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อเข้าไปช่วยเหลือนะครับ ถ้าหากเป็นเหตุเล็ก ๆ ที่ศูนย์ย่อยเอาอยู่ก็จะจัดการช่วยเหลือกันไป แต่ถ้าหากเหตุมันใหญ่เกินควบคุม ก็จะมีการประสานเข้ามาที่ศูนย์บริหารแห่งนี้ เพื่อจัดการให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติครับ

ซึ่งจาก KPI เดิมก่อนมีศูนย์นี้คือต้องถึงที่เกิดเหตุภายใน 15 นาที แต่หลังจากมีห้องนี้แล้วการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ตั้งเป้าว่าอยากจะให้เร็วกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่กำลังทดสอบหาค่า KPI กันอยู่นะครับ

ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเลย ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้รับการช่วยเหลือที่เร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะในภาวะวิกฤติทุกนาทีมันหมายถึงชีวิตจริง ๆ

นี่ถือเป็นครั้งแรกขององค์กรเลยนะครับที่มีห้องนี้ เมื่อก่อนนี่ข้อมูลต้องส่งผ่านกระดาษ แล้วเอาคนมานั่งรวบรวม คำนวณกัน กว่าจะได้ตัวเลขที่แน่นอนล่าช้ากันไปเป็นเดือน แต่ตอนนี้มันเรียลไทม์แล้วครับ เพราะข้อมูลจะรีเฟรชได้ทุก 5 นาที และเก็บย้อนหลังได้ 2 ปี!

ประโยชน์ของห้องนี้นะครับคือการเป็น Big Data ที่รวดเร็วและแม่นยำ เป็นเหมือนฐานข้อมูลที่ช่วยให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการให้บริการให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

รวมไปถึงช่วยในการตรวจสอบความแม่นยำของการเก็บค่าผ่านทาง เช่นด่านนี้ มีรถผ่าน 100 คัน แบ่งเป็นรถ 4 ล้อ 70 คัน รถมากกว่า 4 ล้อ 30 คน ค่าผ่านทางที่เก็บมาถูกต้อง ครบถ้วนไหม ซึ่งก็สามารถที่จะตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วเลยครับ เพราะมันรีเฟรชทุก 5 นาที

ซึ่งห้องนี้ก็เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ M-FLOW หรือด่านที่เราไม่ต้องชะลอ แค่ขับผ่านไปมันก็เก็บค่าผ่านทางของเราโดยอัตโนมัติเลยครับ ปัจจุบัน เรามี Easy Pass แต่บางคนก็ยังไม่ใช้ เพราะเราก็ยังต้องจอด ต้องชะลอรถอยู่ดี แม้มันจะเร็วกว่าช่องจ่ายเงินสดเกือบ 3 เท่า อ้างอิงจากสถิติ Easy Pass 1 ชั่วโมงมีรถผ่าน 1200 คัน ส่วนเงินสด 1 ชั่วโมงมีรถผ่าน 450 คัน ดังนั้นอนาคตอันใกล้นี้ถ้า M-FLOW เสร็จสมบูรณ์ ก็น่าจะทำให้คนหันมาใช้ระบบเติมเงินบนทางด่วนกันมากขึ้นเลยละครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือเทคโนโลยีความปลอดภัยบนทางด่วนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนนะครับ พูดตามตรงก็ต้องบอกว่าผมทึ่งที่หลังบ้านทางด่วนเขามีการพัฒนาไปมากจริง ๆ โดยเฉพาะวอลล์กระจกขนาดใหญ่ และแอป EXAT Portal

ย้ำอีกครั้งนะครับ! โหลดไว้ใช้เถอะ มันช่วยให้เราปลอดภัยจริง ๆ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคุณจะไม่ต้องลงมาเสี่ยงยืนตัวเปล่าบนถนนทางด่วนเลย

แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าขนาดไหน คนหลังพวงมาลัยสำคัญที่สุด จะขับขี่ต้องมีสตินะครับ อย่ามึนเมา อย่าคึกคะนอง เคารพกฎจราจร เพื่อชีวิตของคุณ และคนที่คุณรักครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส