หลังงานเปิดตัว iPhone 13 ของ Apple เพียงสัปดาห์เดียว อียูก็ได้ยื่นเสนอข้อบังคับห้ามจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้ใช้พอร์ตชาร์จแบบ USB-C แน่นอนว่างานนี้ “Apple ไม่แฮปปี้” 

Apple Lightning

เรารู้กันเรียบร้อยนะครับว่าแอปเปิ้ลเลือกที่จะอยู่กับ Lightning พอร์ตชาร์จที่ตอนนี้มีแต่คนชิงชังอย่างน้อยอีก 1 ปี เมื่อ iPhone 13 เปิดตัวมาแบบไร้เงาของพอร์ต USB-C แล้วทำไมแอปเปิ้ลต้องขวางกระแส ยอมให้คนทั้งโลกต่อว่า เพราะสาย Lightning เส้นเดียว 

Lightning เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเฉพาะตัวของแอปเปิ้ล เริ่มใช้ครั้งแรกใน iPhone 5 ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2012 หรือเมื่อ 9 ปีก่อน เมื่อแรกเปิดตัว Lightning ได้เสียงตอบรับที่ดีมาก เพราะเล็กกว่าหัวแบบ 30-pin เดิมของแอปเปิ้ลเยอะ แถมยังพิเศษกว่าพอร์ตอื่น ๆ ในยุคนั้นตรงที่มันเสียบด้านไหนก็ได้ ไม่ต้องเล็งเพื่อเสียบถูกด้านเหมือน MicroUSB ที่ Android ในตอนนั้นใช้กัน

แต่จาก Lightning แสนคูลในวันวาน สู่เทคโนโลยีแสนโบราณในปัจจุบันเมื่อ USB-C เริ่มใช้กันแพร่หลาย โดยฝั่ง Android นั้นเริ่มใช้ USB-C ตั้งแต่ปี 2015 ใน Le 1 สมาร์ตโฟนจากแบรนด์ LeTV ก่อนที่ในปี 2016 จะถึงคิวของแบรนด์หลักอย่าง Samsung และ Huawei ได้เริ่มต้นใช้ USB-C ใน Samsung Galaxy Note 7 และ Huawei P9

เราอาจพูดได้ว่า USB-C เหนือกว่า Lightning ทุกด้าน ทั้งความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูงกว่า โอนถ่ายข้อมูลเร็วกว่ากันมาก จ่ายกระแสไฟได้มากกว่าก็ทำให้ชาร์จอุปกรณ์ได้เร็วกว่า เพราะ USB-C มีพินสำหรับส่งข้อมูลและกระแสไฟภายในถึง 24 พิน เทียบกับ Lightning มีเพียง 8 พินเท่านั้นที่ใช้งานได้ในแต่ละครั้ง แล้วทำไมแอปเปิ้ลถึงไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้ USB-C สักที เรื่องนี้อาจไม่ใช่เหตุผลด้านเทคนิค แต่เป็นเหตุผลด้านรายได้ และการควบคุมครับ

ถ้าผู้ผลิตต้องการสร้างอุปกรณ์หรือสายที่จะมาใช้กับ Lightning ของแอปเปิ้ล ต้องผ่านมาตรฐาน MFi หรือ Made For iPhone เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ใช้งาน เพราะมาตรฐานของ Lightning กำหนดให้ในอุปกรณ์หรือในสายมีชิปควบคุมตัวเล็ก ๆ เพื่อให้การทำงานสมบูรณ์ ซึ่งการต้องผ่านการรับรองจากแอปเปิ้ล ทำให้แอปเปิ้ลสามารถทำเงินได้จากอุปกรณ์เสริมทุกตัวที่ต้องมาผ่านมาตรฐาน MFi พูดง่าย ๆ ก็เหมือนเป็นภาษีที่ต้องจ่ายให้แอปเปิ้ล ซึ่งข้อมูลที่เราหาได้เมื่อปี 2017 จะต้องเสียค่าใช้งาน Lightning $4 หรือราวๆ 130 บาทต่อการเชื่อมต่อ ทำให้อุปกรณ์เสริมที่เป็น Lightning ถึงแพงกว่าอุปกรณ์ที่เป็น USB-C

ถ้าแอปเปิ้ลยอมเปลี่ยน iPhone ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักตัวสุดท้ายของบริษัทเป็น USB-C มาตรฐานกลางที่เปิดกว้างจนมีอุปกรณ์หลากหลายมากในท้องตลาด ก็หมายถึงแอปเปิ้ลจะสูญเสียรายได้ในจุดนี้ และไม่สามารถควบคุมรุ่นของอุปกรณ์ที่จะเอามาใช้ร่วมกับ iPhone ได้ ก็พอเข้าใจว่าทำไมแอปเปิ้ลถึงออกลีลากับเรื่องนี้มากเหลือเกิน

EU Proposes Mandatory USB-C

เพราะเรารอให้แอปเปิ้ลทำไม่ไหว จึงต้องมีคนบังคับ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2021 หลัง iPhone 13 เปิดตัวไปเพียงสัปดาห์เดียว คณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบการออกกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปได้เสนอข้อบังคับที่จะให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งหมดที่จะขายในยุโรป ได้แก่ สมาร์ตโฟน แทบเล็ต กล้อง ลำโพงพกพา และวิดีโอเกมพกพา ต้องเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C และใช้มาตรฐานการชาร์จเร็วแบบเดียวกัน นอกจากนี้ยังบังคับให้เลิกแถมหัวชาร์จในทุกอุปกรณ์ เพราะเมื่อใช้พอร์ตเดียวกันแล้ว หัวชาร์จทั้งหมดก็ใช้ร่วมกันได้ ผู้ใช้จึงซื้อเท่าที่ต้องใช้ ไม่ต้องมีหัวชาร์จที่ผลิตเกินความต้องการอีก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกสบาย และที่สำคัญคือเพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีนัยสำคัญ

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้พยายามบังคับให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีใช้สายชาร์จมือถือแบบมาตรฐาน ซึ่งก็ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง จากพอร์ตชาร์จที่เคยมีมากถึง 30 แบบในท้องตลาด ลดเหลือเพียง 3 แบบในปัจจุบัน ได้แก่ USB micro-B USB-C และ Lightning ซึ่งจากผลการวิจัยก็พบว่า ยังมีสายชาร์จเหลือใช้ที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากกว่า 11,000 ตันต่อปี 

Green or Greed

แอปเปิ้ลพร่ำบอกและตอกย้ำเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด มีการทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้สินค้าของตัวเองส่งผลกระทบต่อโลกน้อยลง เริ่มจากการออกแบบแพ็กเกจที่ไม่ใช้โฟม แต่ออกแบบโครงสร้างวิศวกรรมกระดาษแทนการใช้โฟม แต่ถ้าจะมีพลาสติกหุ้มก็จะอ้างว่าเป็นพลาสติกจากขยะในทะเล อย่างแพ็กเกจของ iPhone 13 ก็จะไม่มีพลาสติกหุ้มแล้ว พร้อมตั้งเป้าจะเป็นกลางทางคาร์บอนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030 

แต่นโยบายรักษ์โลกของแอปเปิ้ลเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็ตอนที่แอปเปิ้ลเลิกแถมหัวชาร์จและหูฟังมากับไอโฟนทุกรุ่นนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 เพื่อกระตุ้นให้คนใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

นั่นหมายความว่าหากคุณไม่มีหัวชาร์จ USB-C หรือหูฟัง คุณจะต้องซื้อ Adapter USB-C ในราคา 690 บาท และหูฟัง EarPods อีก 690 บาท เบ็ดเสร็จคุณต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1,380 บาท 

และจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission คุณรู้ไหมครับว่าแอปเปิ้ลมีรายได้จากการจำหน่ายหัวชาร์จมากถึงปีละ 2,400 ล้านยูโร หรือประมาณ 94,000 ล้านบาท และในทางกลับกัน Apple ไม่เคยออกมาเปิดเผยตัวเลขว่า บริษัทประหยัดงบไปเท่าไหร่ กับการไม่แถมที่ชาร์จและหูฟัง ซึ่งคาดว่าไม่น้อยทีเดียวหากดูจำนวนไอโฟนที่ขายได้ในแต่ละปี แต่ประเด็นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ ‘แฟร์’ และยกผลประโยชน์ให้แอปเปิ้ลไป เพราะการยกเลิกแถมหัวชาร์จก็เป็นหนึ่งในข้อบังคับของ EU เช่นกัน

แต่ที่ ‘ไม่เแฟร์’ เห็นจะเป็นพอร์ต Lightning เจ้าปัญหา ที่หลายคนตั้งคำถามว่า “คุณไม่แถมหัวชาร์จและหูฟังเพราะรักษ์โลก แต่ iPhone นับพันล้านเครื่องทั่วโลก (อ้างจากคำพูดของแอปเปิ้ลเมื่อตอนต้นปี) รวมไปถึง iPad Gen 9 กลับต้องใช้สายพิเศษที่ใช้ร่วมกับเครื่องอื่นไม่ได้ นั่นเท่ากับเพิ่มขยะสายชาร์จอีกพันล้านเส้น โดยที่ใช้กับของที่มีอยู่เดิมไม่ได้

ทางแอปเปิ้ลออกมาให้ความเห็นว่า “การบังคับให้มีที่ชาร์จแบบเดียวกันทั้งหมดจะเป็นการขัดขวางนวัตกรรม ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหึมา และสร้างความรำคาญให้แก่ลูกค้า” ซึ่งเราขอเห็นต่างว่าแอปเปิ้ลเป็นผู้ขัดขวางนวัตกรรมเรื่องนี้มายาวนาน และเป็นผู้สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหีมา พร้อมสร้างความรำคาญให้ลูกค้าเสียเองต่างหาก

ข้อบังคับเรื่องพอร์ตชาร์จของยุโรปนี้ ยังต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีต่อไป ซึ่งหลังจากเริ่มบังคับใช้แล้ว ผู้ผลิตจะมีเวลาอีก 2 ปีในการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ได้ตามข้อกำหนด ก็หมายความว่าเราอาจต้องรอถึง iPhone 15 ถึงจะได้เห็น USB-C ซึ่งก็ไม่แน่ว่าแอปเปิ้ลอาจเลือกเวย์ฉีกในการเร่งพัฒนา iPhone ไร้พอร์ตขึ้นมาแทน เพื่อใช้งานกับแท่นชาร์จ MagSafe ของตัวเองอีก 1,490 บาท

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส