คุณผู้ชมรู้ไหมครับว่าปัญหาใหญ่ที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญเกี่ยวกับเทคโนโลยีคืออะไร คำตอบคือโปรแกรมเมอร์หรือผู้สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์มีไม่เคยพอครับ และงานที่ต้องให้โปรแกรมเมอร์ทำก็มีไม่รู้จักหมดสิ้น ตอนนี้ทุกองค์กรจึงต้องแย่งชิงโปรแกรมเมอร์ไว้ให้ได้ เพื่อเติบโตให้ได้ในโลกที่ขับเคลื่อนบนระบบคอมพิวเตอร์

แต่โลกนี้ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาโดยไม่มีทางแก้ใหม่ ๆ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Low-Code” ขึ้นมาเพื่อช่วยให้โปรแกรมเมอร์ทำงานได้เร็วขึ้น เขียนโค้ดน้อยลง งานหนักน้อยลง คนเขียนโปรแกรมคุยกับผู้ใช้รู้เรื่องมากขึ้น และธุรกิจก็สามารถเผชิญหน้ากับ Technology Disruption ได้ดีขึ้น ซึ่งบริษัทวิเคราะห์อย่าง McKinsey หรือสื่ออย่าง Forbes ก็มองว่า Low-Code เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อจากนี้

บางคนอาจเพิ่งเคยได้ยิน Low-Code เป็นครั้งแรก แต่วงการนี้เติบโตมากนะครับ มีงาน Mendix World รวมพลคนใช้ Low Code ที่จัดกันเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2021 นี้ก็เพิ่งจัดในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 7-9 กันยายนนี่เอง มีผู้ร่วมงานมากกว่า 13,000 คนจาก 45 ประเทศทั่วโลก

เมื่อ Low-Code กำลังได้รับความสนใจขนาดนี้ วันนี้ผมจะเจาะลึกให้ฟังกัน แบบดูคลิปเดียวจบแล้วรู้เรื่อง เอาไปประยุกต์ใช้ได้ แถมโชว์เขียนโปรแกรมแบบ Low-Code สด ๆ รวดเร็วขนาดต้มไข่ ไข่แดงยังไม่ทันแข็ง โปรแกรมก็เขียนเสร็จแล้ว!

Low-Code คืออะไร

ก่อนจะเข้าใจคำนี้ไปรู้จักคำว่า High-Code กันก่อนครับ High-Code คือรูปแบบการเขียนโปรแกรมที่เราคุ้นเคยกันมานาน คือใช้ภาษาเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนเช่น Java, .Net หรือภาษา C++ แล้วเขียนออกมาหลาย ๆ บรรทัดเพื่อสร้างโปรแกรมขึ้นมาสักตัวหนึ่ง คำว่า High-Code จึงหมายถึงมีโค้ดจำนวนมาก เขียนบรรทัดติดกันเป็นพรืดนั่นเอง

เพราะฉะนั้น Low-Code จึงหมายถึงการเขียนโปรแกรมที่มีโค้ดน้อยลง ไม่ต้องเขียนกันเป็น หมื่น ๆ แสน ๆ ล้าน ๆ บรรทัดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยแทน ผมเล่ากระบวนการเขียนโปรแกรม Low-Code ทั่วไปคร่าว ๆ ดังนี้นะครับ

ขั้นแรกให้กำหนด โครงสร้างฐานข้อมูล หรือ Domain Model ต่าง ๆ แล้ว Mendix มาสร้าง Database เพื่อเก็บข้อมูลก่อน

จากนั้นสร้างกระบวนการคิดของโปรแกรมหรือ logic ในรูปแบบ Flowchart หรือที่เราเรียกกันว่า Microflow ซึ่งปกติโปรแกรมเมอร์จะเข้าใจการวาด Flow เพื่อเรียบเรียง Logic กันดีอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะเขียน Flow แล้วไปนั่งถอดเป็นโค้ดโปรแกรมเอง ในระบบ Low-Code แค่เอาโมดูลที่ต้องใช้เข้าไปเรียงใน Flow แล้วสร้างลำดับวิธีคิด และทางเลือกต่าง ๆ เชื่อมระหว่างโมดูล จึงทำให้ต้องเขียนโค้ดน้อยลงมาก เหลือเพียงการเขียนในจุดที่ต้องเจาะจงพิเศษให้เข้ากับงานของเราเท่านั้นเอง

อีกส่วนที่ต้องสร้างคือหน้าตาหรือ User Interface ที่จะติดต่อกับผู้ใช้ ที่จะเชื่อมกับ Table เพื่อนำตัวแปรต่าง ๆ มาแสดงผลหรือรับคำสั่งกลับเข้าไปทำงานต่อได้ครับ

จะว่าไป Low-Code ก็เหมือนการต่อเลโก้เหมือนกันนะครับ มีบล็อกคำสั่งสำเร็จรูปมาแล้ว ที่เหลือก็แค่เอามาเรียงกันให้เป็นรูปร่างขึ้นมาก็จะได้ Logic ของโปรแกรมเพื่อเอาไปผูกกับหน้าบ้านหรือ User Interface เพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานได้ต่อไป

เมื่อการเขียนโปรแกรมซึ่งเต็มไปด้วยโค้ดที่โปรแกรมเมอร์อ่านเข้าใจอยู่คนเดียวในแบบ High-Code กลายเป็นแบบ Low-Code ที่โปรแกรมที่ลำดับงานด้วย Flow เป็นหลัก แถมมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ดูเข้าใจง่ายมาตั้งแต่ช่วงพัฒนาโปรแกรม นอกจากจะลดเวลาที่โปรแกรมเมอร์ต้องไปนั่งประดิษฐ์โค้ดแล้ว การตรวจงานกับ User หรือผู้ใช้ยังง่ายขึ้นมากครับ

คือโปรแกรมเมอร์ก็นำเสนอโปรแกรมที่เขียนในรูปของ Flowchart ซึ่งแสดงลำดับวิธีคิดด้วยรูปภาพได้เลย แถมยังโชว์การใช้งานได้จริงตอนนั้นเลยด้วย ผู้ใช้จึงเข้าใจง่ายขึ้นว่าโปรแกรมเมอร์เขียนอะไรมา ไม่ใช่มานั่งอธิบายอยู่ว่าโค้ดบรรทัดนี้ มันไปดึงตัวแปรบรรทัดไหนมาจนผิดพลาด ซึ่งฟังไปฟังมาก็งงทั้งคนเล่าและคนฟัง

แล้วถ้ามีกระบวนการคิดจุดไหนที่ผิด ผู้ใช้ก็สามารถชี้จุดที่ผิดพลาดได้ง่ายขึ้น จบงานไวขึ้น งานที่เคยเขียนด้วย High-Code ที่ใช้เวลาพัฒนา 3 เดือน เปลี่ยนมาใช้ Low-Code อาจจบในเวลาไม่ถึงเดือนก็ได้ครับ เรื่องของ Low-Code นี่เล่าเอง ผมยังอยากเอามาใช้กับกิจการของ Show No Limit เลย ยุคนี้หาโปรแกรมเมอร์ได้ยากเย็น การจะมีระบบงานดี ๆ เรียนรู้ง่ายให้โปรแกรมเมอร์ทำงานง่ายขึ้น งานเสร็จเร็วขึ้น ผมก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่

ผมว่า low code นี่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่น่าจะตอบโจทย์หลายๆ องค์กรที่กำลังทำเรื่อง transformation แถม Developer ที่ได้ลองใช้ ชีวิตก็น่าจะสบายขึ้นด้วยนะ คลิปนี้ผมกับคุณตั้ม พยายามสรุปภาพรวมของ Low-Code ให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุดนะครับ แต่ถ้าใครยังมีข้อสงสัย หรืออยากได้แนวทางนำ Low-Code ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ก็สามารถติดตามและสอบถามผ่านเพจ Low-code by Mendix ของทาง TBN Software ได้ ซึ่งนอกจากความรู้เรื่อง Low-Code แล้วก็ยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกอยู่เรื่อย ๆ ด้วยนะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส