คุณผู้ชมครับวันนี้ผมจะมารีวิวเครื่องทำน้ำแข็งแบรนด์ไทย Rabbit Ice ชื่อนี่น่ารักมากนะครับ แต่ชื่อบริษัทที่ผลิตน่ารักยิ่งกว่า เขาชื่อว่าบริษัท กระต่ายน้อยน่ารัก จำกัด แค่ชื่อก็ซื้อแล้วครับ แต่ในสไตล์ผมทั้งทีถ้าจะให้พูดเรื่องสเปกจ๋าเลย “ก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่แนว”

วันนี้ผมเลยมีชาเลนจ์ที่น่าสนใจ มาให้ทายกันว่าเครื่องดื่มประเภทไหนที่จะทำให้น้ำแข็งละลายเร็วที่สุด ซึ่งเราก็จะใช้น้ำแข็งที่ผลิตกันขึ้นมาเองจากเครื่องนี้นี่แหละเป็นตัวตัดสิน

นี่คือ Rabbit Ice รุ่น HZB-15/SA ซึ่งวิธีการใช้งานง่ายมากครับ ขั้นตอนแรก เสียบปลั๊ก เปิดเครื่อง เปิดฝา เติมน้ำ 1.5 ลิตร เขาก็จะมีขีดบอกไว้ แต่ถ้าน้อยไปก็จะมีไฟขึ้นเตือนว่าต้องเติมอีกนะ

ถ้ามั่นใจว่าทำทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ปิดฝาแล้วเลือกขนาดน้ำแข็ง ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีของ Rabbit Ice ที่มีขนาดให้เลือก 3 ไซซ์ เล็ก กลาง ใหญ่ จากปกติในท้องตลาดที่มีราคาใกล้ ๆ กัน ถ้าไม่ S ก็ L ไปเลย เลือกเสร็จก็นั่งรอน้ำแข็งได้เลยครับ

ส่วนหลักการทำงานสำหรับใครที่อยากรู้ ตัวเครื่องจะดูดน้ำจากแทงค์ตรงนี้ขึ้นไปพักที่คอยล์เย็น 9 อันตรงนี้ จากนั้นน้ำก็จะค่อย ๆ เกาะตัวกันเป็นน้ำแข็งซึ่งก็จะใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 6 – 9 นาที พอเสร็จแล้วก็จะถูกเทไปรวมที่ถาดพักตรงนี้

ซึ่งในรุ่นที่เรารีวิวจะเก็บได้อยู่ที่ราว ๆ 1 กิโลกรัม เฉลี่ยต่อการใช้งานในบ้านก็จะครอบคลุม 2 – 3 ท่าน และก็ไม่มีความจำเป็นต้องถอดปลั๊กเข้า/ออก ก็คาไว้ 24 ชั่วโมงได้เลย อยากทำน้ำแข็งเมื่อไหร่ก็ไปกดปุ่ม แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะเมื่อน้ำแข็งเต็มแล้วตัวเซนเซอร์ก็จะหยุดทำงาน

น้ำแข็งที่่ได้จาก Rabbit Ice นะครับจะเป็นน้ำแข็งที่เรียกว่า หัวกระสุน ข้อดีคือมันเคี้ยวสนุกครับ ไม่ต้องกลัวว่าฟันจะหัก

ทีนี้เรามาดูผู้ท้าชิงของเรากันว่ามีเครื่องดื่มประเภทไหนกันบ้าง ก็จะมีน้ำเปล่า น้ำอัดลม นมจืด น้ำผลไม้ และ กาแฟ

กติกานะครับ 5 แก้วสำหรับเครื่องดื่ม 5 ประเภทแล้วเราจะเติมน้ำแข็งลงไปแค่แก้วละ 4 ก้อน โดยปกติแล้วแก้วนึงจะใส่ได้ 18 ก้อน หมายความว่า 2 รอบของการผลิตก็จะได้ 1 แก้ว

ในระหว่างที่เรารอติดตามผลทดลอง อันนี้เดี๋ยวผมมาให้ดูรอบตัวเครื่องกันก่อน สิ่งหนึ่งที่ผมชอบและคุณผู้ชมที่กำลังจะตัดสินใจซื้อเครื่องทำน้ำแข็งไปใช้ก็น่าจะอยากมั่นใจ ก็น่าจะเป็นวัสดุที่ห่อหุ้มภายนอกนี่แหละครับ Rabbit Ice HZB-15/SA ใช้เป็นสเตนเลส สตีล ซึ่งแน่นอนว่าแข็งแรง ไม่เป็นสนิมง่าย ๆ

ส่วนบางคนอาจคิดว่า ฉันมีตู้เย็นทำน้ำแข็งได้จะมีไปทำไม แต่คุณผู้ชมครับเครื่องนี้จุได้ถึง 1 กิโลกรัม ลองนึกว่ามีเพื่อนนั่งอยู่เต็มบ้าน ถามเพื่อนจะดื่มอะไรดีแล้วต้องหยิบน้ำแข็งออกมาฟาดโต๊ะ เพราะน้ำแข็งติดกัน แต่น้ำแข็งในถึง Rabbit Ice ไม่ติดกันเลยครับ

ส่วนอีกเรื่องที่หลายคนน่าจะอยากรู้กันคือค่าไฟที่ใช้ต่อเดือน อันนี้ทาง Rabbit Ice ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าอัตราการกินไฟไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน หรือ 30 ยูนิต ในการทำงานแบบ 24 ชม. ตลอด 30 วัน

อีกเรื่องหนึ่ง คือปกติผมชอบกินอะไรพิเรนทร์ ๆ นะ นี่เลยใส่ชาดำเย็นเข้าไปได้ออกมาเป็นน้ำแข็งชาดำเย็น ! อันนี้ไม่ได้นะครับ อย่าหาทำ

เขาออกแบบมาใช้กับน้ำเปล่าเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ผมชอบเพราะว่าหลายคนคงจะทราบว่าน้ำแข็งที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานเนี่ยอาจมีสารปนเปื้อนออกมา เราทำเองเราควบคุมความสะอาดของเราได้ มั่นใจครับ

ข้อสังเกตที่กองบรรณาธิการแบไต๋ฝากไว้นะครับ สำหรับ Rabbit Ice รุ่น HZB-15/SA เราให้เป็นเรื่องของน้ำหนักตัวเครื่องที่อยู่ที่ 11.5 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนละมันไม่ใช่เรื่องที่จะเคลื่อนย้ายหรือพกพาไปไหนมาไหนสะดวก ว่าง่าย ๆ คือเหมาะกับการซื้อมาใช้ในบ้านสำหรับการทำน้ำแข็งนั่นเองครับ

รีวิวที่ดีต้องมีราคา! สำหรับ Rabbit Ice รุ่น HZB-15/SA เครื่องนี้สนนราคาอยู่ที่ 3,890 บาทส่วนรุ่นที่ใหญ่ขึ้นมา HZB-25/SA อยู่ที่ 8,690 บาท ซึ่งรูปแบบการทำงานเหมือนกันเลย แต่จะแตกต่างในแง่การผลิตที่ทำน้ำแข็งได้มากกว่า ก็จะเปลี่ยนจาก 9 เป็น 12 ก้อนต่อรอบ ถังพักน้ำแข็งตรงนี้ก็จะเก็บได้ 1.8 กิโลกรัม

สรุปว่าเครื่องดื่มชนิดไหนทำให้น้ำแข็งละลายช้าที่สุด ซึ่งเป็นการทดสอบด้วยตาไม่มีเครื่องวัดอะไรทั้งสิ้น ถ้ามองด้วยตาเปล่าน้ำเปล่าคือไปก่อนเลย ต่อมาน่าจะเป็นกาแฟที่เหลืออยู่นิดนึง อันดับ 3 คือนม ส่วน 4 และ 5 สูสีกันมากก็คือ น้ำอัดลม และ น้ำผลไม้ ถ้าดูแบบละเอียด ๆ น้ำผลไม้ชนะไปนิดเดียว

ใครทายน้ำผลไม้ไว้ชนะครับ !

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส