เคยสงสัยไหมครับว่า ข่าวที่แชร์ต่อ ๆ กันในไลน์ เป็นข่าวจริง หรือ ข่าวปลอม ? รู้หรือไม่ครับว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 ถึง 30 มิ.ย. 64 หรือราว ๆ 9 เดือน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จาก พบว่า มีคนหลงแชร์ข่าวปลอมไปแล้วกว่า 20 ล้านคน นี่แค่คนแชร์เฉย ๆ นะ ไม่รวมคนเห็น หรือคนที่ทำตาม ซึ่งจะสร้างความเสียหายมากมาย

เพื่อ ‘สร้างภูมิคุ้มกันข่าวปลอม’ กับทุกคน วันนี้ผมก็เลยจะมา #beartai ให้รู้ถึงเทคนิคการสังเกต และการใช้ ‘แม่รู้ดี’ แช็ตบอตอัจฉริยะในแอปพลิเคชันไลน์

การที่เราจะแยกได้ว่า ข้อความหรือข่าวที่เราได้เห็นนั้นจริงหรือไม่ ก็ต้องสังเกตดูว่า แหล่งข่าวมาจากที่ใด มีที่มาที่ไปหรือไม่ หรือเนื้อหาเป็นไปได้แค่ไหน มีหลักฐานมารองรับหรือไม่ ถ้าเราวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดได้ เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมครับ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้แบบนี้เสมอไป ก็เลยต้องอาศัยผู้ช่วยเช็กข่าวและข้อความที่น่าสงสัย อย่าง ‘แม่รู้ดี’ ครับ

‘แม่รู้ดี’ เป็นแช็ตบอต (Chatbot) ในแอปพลิเคชัน LINE ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Gogolook ผู้พัฒนาสัญชาติไต้หวัน ที่เคยส่งแอป Whoscall มาให้ #beartai รีวิวเมื่อหลายปีก่อน (ปี 2558 หรือ 6 ปีที่แล้ว) ผมยังจำได้เลยว่า เป็นแอปที่ใช้ระบุเบอร์แปลก ๆ หรือเบอร์ที่เราไม่รู้จักว่าเป็นใคร เพื่อป้องกันการโทรกวนใจ หรือเบอร์พวกมิจฉาฉีพทั้งหลาย

โดยความสามารถของ ‘แม่รู้ดี’ เป็นการเอาเทคโนโลยี Fact-Checking AI หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ มาเช็กข้อความในแช็ต แล้วเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อแจ้งให้รู้ว่า ข้อความไหนน่าสงสัย มีตรงไหนที่เป็นจริงบ้าง รวมถึงเสนอเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันครับ

โดยฐานข้อมูลของ ‘แม่รู้ดี’ ก็มาจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น

  • COFACT – แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยตรวจสอบข่าวลวง
  • Anti-Fake News Center Thailand – ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จาก กระทรวงดิจิทัลฯ
  • เว็บไซต์ตรวจข่าวปลอม Thai D.I. Machine – จาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
  • อย. เช็ก ชัวร์ แชร์ จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • และสำนักข่าว SpringNews

ด้วยความที่ข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่ง ซึ่งแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูล จากแม่รู้ได้ ได้ค่อนข้างครอบคลุมครับ เช่น เรื่องสุขภาพ, โควิด 19, วัคซีน, สังคม, อาหารและยา, ภัยพิบัติ, นโยบายรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจด้วยครับ

นอกจากนี้ แม่รู้ดี ยังสามารถตรวจสอบ ลิงก์เว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงเช็กบัญชีอีเมล์ จาก Have I Been Pwned ว่า เคยมีข้อมูลหลุด หรือโดนคุกคามจากผู้ไม่หวังดีหรือเปล่า

และที่สำคัญ แม่รู้ดีนั้น มีผู้พัฒนาเดียวกับ Whoscall ก็เลยทำให้ แม่รู้ดี มีฐานข้อมูลเบอร์โทรกว่า 1.6 ล้านเลขหมายทั่วโลก เราจึงค้นหาเบอร์แปลก ๆ ได้เช่นกัน

วิธีการใช้งาน แม่รู้ดี ก็ไม่ยากเลยครับ เปิดไลน์ขึ้นมาแล้วเพิ่มเพื่อน @maeroodee ได้เลยครับ พอเปิดแช็ตขึ้นมาเราก็จะเจอกับหน้าเมนู อันนี้ถ้าใครสงสัยว่าจะใช้ยังไง ก็กดปุ่ม “วิธีการใช้” โดยจะมีการแยกเป็น การใช้แบบส่วนตัว และการใช้แบบกลุ่มครับ

โดยการใช้แบบส่วนตัว อันนี้เราจะสามารถถามเรื่องต่าง ๆ ในหน้าแชทของแม่รู้ดีได้ทันทีเลยครับ ซึ่งเราสามารถค้นหาได้ทั้ง ข่าว เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล แค่ไปคัดลอกแล้วพิมพ์ส่งไปครับ

โดยการตรวจข่าวที่น่าสงสัย แม่รู้ดีก็จะแสดงความคล้ายคลึงกันในรูปแบบ % ครับ ถ้ายิ่งเยอะก็แปลว่าคำถามกับคำตอบใกล้เคียงกัน แต่ถ้าน้อยอันนี้เราก็ต้องมาอ่านรายละเอียดดูอีกทีครับ

ส่วนการเช็กเบอร์เราก็คัดลอกมาพิมพ์ใส่ได้เลยครับ และแม่รู้ดีก็จะบอกว่าน่าสงสัยหรือไม่ หรือเป็นเบอร์ของใครครับ ยกตัวอย่างผมใส่เบอร์ ตัวเองลงไป ก็จะไม่ขึ้นว่าน่าสงสัยครับ

ผมจะลองใส่ข่าวที่น่าสงสัย กับเบอร์โทรที่เป็นของมิจฉาชีพลงไป แล้วดูกันว่า แม่รู้ดี จะตอบมาอย่างไร

ส่วนของการทดสอบ

  1. เบอร์โทร: 063-215-0210 / 02-059-6285 / 063-272-5490 (ไม่ปลอดภัย)
  2. อีเมล : [email protected] (ปลอดภัย)

  • [email protected] (เคยโดนคุกคาม หรือข้อมูลหลุด)

  1. ข่าวปลอม : คำเตือนจากแพทย์ทั่วโลก ห้ามประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย
  2. ข่าวปลอม : มะนาวรักษามะเร็ง

ในเรื่องของการเช็กข้อมูลก็ต้องบอกว่าทำได้ดี ถึงจะมีบางเรื่องที่ยังไม่มีในฐานข้อมูล ทำให้ % ที่แสดงผลออกมาค่อนข้างน้อย อันนี้ก็เราก็สามารถแจ้งเรื่องเข้าไป พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ครับ

แต่จุดที่น่าสนใจคือ เราสามารถดึง แม่รู้ดี ไปคอยตรวจสอบในกลุ่มได้ด้วยนะครับ โดยหลังจากกดเพิ่มเพื่อนแล้ว ก็กดค้นหาชื่อ แม่รู้ดี แล้วเชิญเข้ากลุ่มเหมือนกับเชิญเพื่อนได้เลยครับ

โดยการตรวจสอบในกลุ่ม แม่รู้ดี จะทำแบบอัตโนมัติ หากมีคนพิมพ์ข้อความ หรือข่าว ที่คล้ายที่มีอยู่ฐานข้อมูลคล้ายกันเกิน 80% ขึ้นไป แม่รู้ดีก็จะแสดงผลการตรวจสอบ ว่าเป็นข้อมูลน่าสงสัยหรือไม่ พร้อมกับแสดงลิงก์ที่เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ครับ แต่ถ้าต่ำกว่า 80% จะไม่มีการตอบกลับใด ๆ ซึ่งจะไม่ขัดจังหวะการคุยครับ

จุดนี้ผมว่าดีมาก เพราะจะช่วยตรวจสอบข่าวว่าจริงหรือไม่ ที่ส่งต่อในกลุ่มได้ครับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักจะแชร์ข่าวที่มีข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพหรือสมุนไพรเยอะมาก อันนี้จะได้มีข้อมูลที่ถูกต้องครับ

จุดสังเกต

แต่ถึง แม่รู้ดี จะมีจุดเด่นสักแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบคอนเทนต์ที่เป็นภาพ หรือวิดีโอได้ครับ จุดนี้ถือเป็นจุดสังเกตที่ทางกองบรรณาธิการแบไต๋อยากฝากให้ไปพัฒนาต่อครับ

ก็ต้องบอกว่า คนไทยชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันนะครับ มีอะไรดี ๆ ก็อยากแชร์ส่งต่อให้คนอื่น แต่ในทางกลับกัน หากสิ่งที่เราแชร์ไปเป็นข่าวที่ไม่จริง หรือข้อมูลผิด ๆ ถ้ามีคนทำตาม ก็ต้องส่งผลเสียมากกว่าใช่ไหมครับ?

ดังนั้นอยากให้ทุกคนช่วยกันเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์นะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส