วงการดนตรีนั้นเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัยตามเทคโนโลยีนะครับ ตั้งแต่ยุคที่เราฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง แล้วก็พัฒนาเป็นเทปทำให้สามารถพกพาเพลงไปฟังนอกบ้านได้ ต่อมาก็เข้ายุคเพลงดิจิทัลด้วยแผ่น CD ที่ให้เสียงได้คมชัด ไม่มีปัญหาแผ่นเสียงสึกหรือเทปยึด จนพัฒนามาเป็นไฟล์ mp3 สู่ยุค iPod และปัจจุบันในยุคสมาร์ตโฟน เราก็ฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่งเป็นหลัก ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงเพลงใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเป็นรายเพลงหรือรายอัลบั้มอีก

แต่เคยสงสัยบ้างไหม ว่าผู้ให้บริการสตรีมเพลงนั้นมีวิธีแบ่งรายได้ไปสู่ศิลปินที่เรารักอย่างไร? เคยสงสัยบ้างไหมว่าจากจำนวนเงินไม่มากนักที่ทางผู้ให้บริการสตรีมเพลงเรียกเก็บ จะกลับไปหาศิลปินของพวกเราสักเท่าไรกัน? วันนี้จะแบไต๋เรื่องนี้ให้ฟังกันครับ

มาเริ่มจากบริการยอดฮิตอย่าง Spotify กันครับ จะใช้ระบบที่เรียกว่า “สตรีมแชร์ (stream share)” โดยทาง Spotify จะนำยอดสตรีมทั้งหมดในหนึ่งเดือนของศิลปินคนนั้นในแต่ละประเทศ มาหาสัดส่วนเทียบกับการสตรีมทั้งหมด สตรีมแชร์จึงจะเป็นตัวกำหนดรายได้ของศิลปิน เหมือนกับการแบ่งชิ้นเค้ก

สมมติว่าเดือนที่แล้วมียอดสตรีมเพลงรวมทั้งหมด 1,000,000 ครั้ง และศิลปินรายหนึ่งมียอดสตรีม 100,000 ครั้ง จากยอดสตรีมรวม ศิลปินรายนั้นก็จะได้รับส่วนแบ่งเงินเป็น 10% ของรายได้หลังหักส่วนแบ่งให้ Spotify แล้ว โดยจากข้อมูลปัจจุบัน ปี 2022 จะมีการหักส่วนแบ่งให้ Spotify 30 เปอร์เซ็นต์

สมมุติว่าเดือนนั้น Spotify มีรายได้ 1,000,000 บาท ก็จะเป็นรายได้บริษัทไป 300,000 บาท และเหลือแบ่งให้ศิลปิน 700,000 บาท ซึ่งถ้าศิลปินมีส่วนแบ่งคนฟังเพลง 10% ก็จะได้เงินไป 70,000 บาทในเดือนนั้นนั่นเอง

แล้วถ้าศิลปินสังกัดอยู่ในบริษัท กระบวนการแบ่งเงินก็จะซับซ้อนขึ้น เพราะต้องแบ่งเงินให้ต้นสังกัดก่อน แล้วแต่ที่ตกลงกันไว้ ถึงจะเหลือเงินมาถึงศิลปินครับ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Spotify สามารถคิดค่าบริการได้หลากหลาย ทั้งแบบสมัครคนเดียว หรือสมัครเป็นครอบครัว ที่หารต่อคนแล้วค่าฟังเพลงต่อเดือนถูกเหลือเกิน เพราะสุดท้ายค่าบริการจากผู้ใช้แต่ละประเทศก็เอาไปรวมกันในถังกลาง เพื่อแบ่งสู่ศิลปินตามสัดส่วนการฟัง ศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ของโลกที่ยอดฟังหลายล้าน จึงได้ส่วนแบ่งเป็นกอบเป็นกำจากระบบนี้ครับ ซึ่งบริการสตรีมมิ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีคิดรายได้ให้ศิลปินแบบนี้ครับ

ต่อกันที่ Tidal ผู้ให้บริการที่เน้นคุณภาพเสียง ก็มีระบบถังกลางเพื่อแบ่งรายได้ตามสัดส่วนให้ศิลปินเหมือนกับ Spotify เช่นกัน

แต่ระบบจ่ายเงินใหม่ล่าสุดที่ Tidal เข็นออกมาสู้ศึกแอปสตรีมมิงในช่วงปลายปี 2021 สำหรับสมาชิกระดับ HiFi Plus โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ฟังเพลงแบบ Hi-Res ได้ คือ 

“การจ่ายเงินให้ศิลปินโดยตรง” (Direct-to-artist payments) โดย Tidal จะแบ่งรายได้จากสมาชิกคนนั้น 10% ให้ศิลปินที่สมาชิกคนนั้นฟังมากที่่สุดในแต่ละเดือน เช่นค่าสมาชิกในไทยของ Tidal HiFi Plus อยู่ที่ 258 บาท/เดือน ทุกสิ้นเดือนศิลปินที่เราฟังมากที่สุดก็จะได้เงินพิเศษอีก 25.8 บาทจากเรา ซึ่งถ้าศิลปินคนนั้นมีแฟนคลับที่ฟังใน Tidal เยอะ ก็จะได้เงินจำนวนนี้มากขึ้นไปด้วย

และอีกวิธีก็คือ “Fan-Centered Royalties” คือแทนที่จะเอารายได้ทั้งหมดไปรวมในถังกลางแล้วแบ่ง ซึ่งอาจไม่ยุติธรรมสำหรับแฟนเพลง ที่ค่าบริการส่วนหนึ่งของเขาจะเอาไปจ่ายให้ศิลปินคนอื่นที่ไม่เคยฟังเพลงเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับสมาชิกระดับ HiFi Plus จะแบ่งจ่ายเฉพาะศิลปินที่ฟังจริงๆ เท่านั้น ซึ่ง Tidal บอกว่าจะทำให้เงินไปตกอยู่กับศิลปินที่เราเป็นแฟนมากขึ้น

เราก็เลยพอจะสรุปภาพรวมได้ว่า กระบวนการแบ่งจ่ายเงินสู่ศิลปินนั้นจะต้องนำเงินรวมทั้งหมดที่ทางผู้ให้บริการสตรีมเพลงได้รับ ทั้งจากการสมัครสมาชิก และจากโฆษณา มาหารแบ่งออกเป็นเปอร์เซ็นต์ตามยอดสตรีม แล้วจ่ายให้ทางศิลปิน/บริษัทต้นสังกัด นั่นเอง

แล้วการสตรีม 1 ครั้งบนแต่ละแพลตฟอร์มจะได้เงินประมาณเท่าไหร่นั้น เราได้ข้อมูลจากเว็บ producer hive ซึ่งประมาณการคร่าวๆ ในปี 2022 มาดังนี้

เริ่มจาก Tidal ที่มีการจ่ายส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ศิลปินมากที่สุด คือราว 0.01284 ดอลลาร์ หรือราว 40 สตางค์ต่อการสตรีมครับ

แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน ประมาณ 3,000,000 คน ซึ่งน้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้ยอดเงินที่ได้รับจากผู้ใช้งานนั้นน้อยลงไปด้วย 

ในขณะที่ทาง Spotify ที่ถูกนับเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จ่ายให้ศิลปินราว 0.00318 ดอลลาร์ หรือราว 10 สตางค์ต่อสตรีม

แม้จะฟังดูน้อย แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินเป็นอันดับ 1 ของโลก มากกว่า 180 ล้านคน ก็ทำให้มีเงินรวมในถังกลางมาก จนทำให้รายได้ที่ศิลปินจะได้รับมีมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ อยู่ดี

ส่วน Apple Music ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนผู้ใช้ 78 ล้านคน นั้นจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในอัตราที่น่าคบหามาก คือราว 0.008 ดอลลาร์ หรือราว 26 สตางค์

และ YouTube Music นั้นมีการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ต่อการสตรีม 1 ครั้งราว 0.002 ดอลลาร์ หรือราว 6 สตางค์ ซึ่งอาจจะดูน้อย แต่ด้วยผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินจำนวน 50 ล้านคนซึ่งนับว่าไม่น้อยซะทีเดียวนะครับ แถมคนยังรู้จัก YouTube Music มากขึ้นได้เรื่อย ๆ ผ่าน YouTube ที่มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคนอีก จึงเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจสำหรับศิลปินอยู่ครับ

ทั้งนี้ ตัวเลขที่ออกมานั้นเป็นเพียงข้อมูลเฉลี่ยคร่าว ๆ ของแต่ละผู้ให้บริการสตรีมมิงเท่านั้นนะครับ ไม่ได้ลงลึกที่อัตราค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันไปสำหรับสมาชิกในรูปแบบที่แตกต่างกัน หรือปัจจัยอื่น ๆ อีก ดังนั้น เมื่อต้องแบ่งจ่ายค่าลิขสิทธิ์สู่ศิลปิน ราคาที่ศิลปินได้รับจึงอาจมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่ทางเราได้กล่าวมาครับ

เห็นตัวเลขแล้ว ศิลปินเบอร์เล็กๆ ก็อาจจะอยู่ด้วยค่าสตรีมมิงอย่างเดียวไม่ได้ เอาเป็นว่ารักใคร ชอบใคร นอกจากช่วยสตรีมฟังเพลงเขาแล้ว ก็ซื้อสินค้า ซื้อ CD ซื้อแผ่นเสียงสนับสนุนกันได้นะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส