ใครที่ไม่ได้ดูบอล หรือเตะบอลอาจสงสัยว่าเวลานักเตะใช้ศีรษะโหม่งบอล รู้สึกเจ็บไหม แล้วอันตรายรึเปล่า? สำหรับคนที่เตะบอลน่าจะพอรู้อยู่ว่าการโหม่งบอลต้องใช้การเกร็งกล้ามเนื้อ ให้ถูกตำแหน่ง และถูกจังหวะเพื่อลดแรงกระแทก และส่งลูก ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้รู้สึกผิดปกติในทันที แต่ถึงอย่างนั้นข้อมูลทางการศึกษาพบว่าการโหม่งบอลส่งผลเสียต่อสมองได้หลายด้าน

ในการโหม่งบอล นักเตะจำเป็นต้องเกร็งกล้ามเนื้อคอเพื่อส่งแรงให้บอลไปในทิศทางที่ต้องการ ผลสำรวจพบว่าผู้เล่นโหม่งบอลเฉลี่ย 6–12 ครั้ง/แมตช์ ซึ่งบริเวณคอ และศีรษะของเราเป็นจุดที่บอบบาง และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่รุนแรงมากกว่าช่วงลำตัว และช่วงขา ถ้าคุณเตะบอลอยู่บ่อย ๆ แล้วใช้ศีรษะโหม่งลูกเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้

การโหม่งบอลทำให้สมองกระทบกระเทือนไม่ต่างจากอุบัติเหตุ

การใช้ศีรษะรับ หรือส่งบอลอาจทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งมีตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงระดับอันตราย การโหม่งบอลส่วนใหญ่อาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการทันที แต่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในระดับที่ไม่รุนแรง โดยจะรู้สึก และระบมบริเวณที่ใช้โหม่งในวันถัด ๆ ไป

การบาดเจ็บในลักษณะนี้มักไม่รุนแรง และหายเองได้เมื่อพัก แต่หากเกิดขึ้นบ่อยทุกสัปดาห์ อย่างนักกีฬา หรือคนที่นัดเตะบอลกับเพื่อนตลอด อาจเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมจากการบาดเจ็บเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy: CTE) ได้ ในระยะยาวอาจเริ่มพบสัญญาณของอาการสมองเสื่อม เช่น สูญเสียความทรงจำ พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือควบคุมร่างกายได้ไม่เหมือนเดิม

ในเคสที่ใช้ศีรษะรับบอลที่มีพุ่งมาอย่างรุนแรงอาจทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน และเกิดอาการตามมาทันที เช่น ปวดหัว มึนหัว เวียนหัว ตาพร่า เสียการทรงตัว รู้สึกสับสน คลื่นไส้ ไปจนถึงขั้นหมดสติได้เลยทีเดียว และอาจทำให้เลือดออกในสมองได้เหมือนกับการกระแทกจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอาการที่ควรเฝ้าระวัง และไปพบแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

การโหม่งบอลส่งผลต่อการทำงานของสมอง และเพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ไมเคิล ลิปตัน (Michael Lipton) ศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่ได้ศึกษานักกีฬาที่เตะบอลเป็นประจำ และใช้ศีรษะโหม่งบอลเฉลี่ย 1,500 ครั้งภายในช่วงเวลา 2 ปี

พบว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบต่อการทำงานสมอง และโครงสร้างขนาดเล็กภายในสมอง และเมื่อเปรียบการทำงานของสมองกับคนที่ใช้ศีรษะโหม่งในระดับที่น้อย และไม่ได้รับการกระแทกที่ศีรษะเลยพบว่า คนกลุ่มที่ใช้ศีรษะโหม่งบอลเป็นประจำมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และความจำที่น้อยลง

ไมเคิล ลิปตัน ได้พูดถึงการศึกษาอีกชิ้นที่ศึกษาในคนที่เตะบอลที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 53 ปี จำนวน 353 คนด้วยการถ่ายภาพภายในสมองพบว่าคนกลุ่มนี้มีแผลกดทับ (Deep Tissue Injury) ภายในสมอง และเนื้อสมองบริเวณที่ได้รับการกระแทกบ่อยเปลี่ยนไปด้วย จึงเป็นไปได้สูงว่าการโหม่งบอลที่แม้ไม่รุนแรง แต่โหม่งเป็นประจำส่งผลต่อสมองได้

นักบอลอายุน้อย และมือสมัครเล่นเสี่ยงมากกว่า

การโหม่งบอลที่ถูกต้องต้องอาศัยประสบการณ์ และเทคนิคในการโหม่งที่ถูกต้อง และผ่านการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้ามเนื้อ การเลือกตำแหน่งที่ใช้จะใช้โหม่ง หรือเทคนิคการรับให้ได้รับแรงกระแทกน้อยที่สุด โดยที่ยังสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันไว้ได้อยู่

ข้อมูลพบว่าคนที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้านสมองจากการโหม่งบอล คือ กลุ่มนักบอลที่อายุน้อย มือใหม่ และมือสมัครเล่น เพราะคนกลุ่มนี้มีทักษะ และประสบการณ์ในการรับบอลด้วยศีรษะน้อยกว่า ถึงขั้นที่ในต่างประเทศมีกฎการแข่งในกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 10 ปีว่าห้ามใช้การโหม่งระหว่างการแข่งขันเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ

ลดความเสี่ยงการบาดเจ็บสมองการจากการโหม่งบอล

การเลี่ยงการโหม่งบอลดูจะเป็นวิธีป้องกันการบาดเจ็บบริเวณสมองได้มากที่สุด แต่หากคุณชื่นชอบการเตะบอล สิ่งนี้อาจเลี่ยงได้ยาก ซึ่งการฝึกเทคนิคการโหม่งนอกช่วงเวลาเตะจริงอาจช่วยให้คุณรู้จังหวะ และจับจังหวะในการเกร็งกล้ามเนื้อคอเพื่อรับส่งผลได้ดีมากขึ้น และเสี่ยงน้อยลง นอกจากการฝึกเทคนิคแล้ว อาจพยายามเลี่ยงการใช้วิธีโหม่ง และใช้วิธีการรับส่งบอลรูปแบบแทนในจังหวะที่สามารถทำได้

ส่วนถ้าคุณโหม่งบอล แล้วรู้สึกถึงการกระแทกที่รุนแรง ปวดหัว เวียนหัว ตาพร่า เสียการทรงตัว หรือรู้สึกเหมือนจะหมดสติให้หยุดการเตะทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจ รวมถึงอาการเหล่านี้ที่อาจเกิดตามมาหลายชั่วโมงหลังโหม่งบอล และควรหยุดพักกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทก หรือเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บด้วย

สำหรับในระยะยาวอาจจะต้องสังเกตอาการเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น เพราะแม้จะมีงานวิจัยที่พบว่าการโหม่งบอลสัมพันธ์กับอาการสมองเสื่อม แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน และภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัยส่งผลร่วมกัน อย่างการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮฮล์ โรคประจำตัว และพันธุกรรม

ที่มา: 1, 2, 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส