ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยตั้งแต่ปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางจิตวิทยา ไปจนถึงปัจจัยทางสังคมที่อาศัยอยู่ แต่หากมองในมุมของการแพทย์ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่เรียกว่าเซโรโทนิน ที่มีปริมาณลดลงจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความคิด

โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม การสูญเสียครั้งใหญ่ หรือความเครียดสะสม แต่ลักษณะอาการและสัญญาณเตือนจะเป็นยังไงหรือมีแนวทางรักษาอย่างไรไปดู

สัญญาณบ่งบอกอาการ

หากคิดว่าตัวเองกำลังเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าแต่ยังไม่แน่ใจลองเช็กอาการต่อไปนี้เบื้องต้นดู

  • ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง
  • ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองเคยชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ
  • เชื่องช้า เหม่อลอย
  • อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  • รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง
  • นอนมากขึ้นหรือน้อยลงมากกว่าปกติ

อย่างไรก็ตามหากพบสัญญาณข้างต้นถือว่าเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้าแต่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้แบบ 100% ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ดังนั้นไปดูอาการเพิ่มเติมที่พบเห็นได้ ดังนี้

  • รู้สึกเศร้าแต่เป็นความเศร้าที่หาสาเหตุไม่ได้ 
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าหมกมุ่นอยู่กับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า
  • ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองได้
  • มีปัญหาเรื่องความจำ
  • คิดถึงเรื่องความตาย
  • การพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ 
  • มีอาการป่วยทางกายแบบไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง

โดยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการดังกล่าวมากจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ กลัวการอยู่กับคนเยอะ ๆ เป็นต้น

แนวทางการรักษา

สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะซึมเศร้านั้นมีหลายวิธี คนไข้แต่ละคนจำเป็นต้องปรับการรักษาให้เหมาะสมกับระยะอาการ ดังนี้

1. จิตบำบัด

มีหลายรูปแบบ ดังนี้

  • จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด รักษาด้วยการเน้นสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมาย วางแผน แก้ปัญหา และพัฒนาทักษะทางสังคม
  • จิตบำบัดแบบประคับประคอง รักษาด้วยการกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงออกทางความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือผิดหวัง 
  • จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่าชีวิตตนเองเต็มไปด้วยความล้มเหลว สิ้นหวัง และเมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ก็มักจบด้วยการโทษและตำหนิตัวเอง การบำบัดในลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางความคิดดังกล่าวและเรียนรู้ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์

2. รักษาโดยใช้ยา

ส่วนใหญ่การรักษาภาวะซึมเศร้าจะรักษาด้วยยา 2 กลุ่ม ดังนี้

  • ยากลุ่มต้านเศร้า มีหลากหลายชนิดให้เลือกและพบผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย เช่น Fluoxetine ยาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรคย้ำคิดย้ำทำ และกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน อะมิทริปไทลีน ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าและโรคปลายประสาทอักเสบ
  • ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยากลุ่มควบคุมอารมณ์ ยากลุ่มคลายกังวล ยากลุ่มสมาธิ ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ร่วมกับยากลุ่มต้านเศร้าเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าในบางราย

3. การรักษาด้วยไฟฟ้า TMS 

ใช้รักษาผู้มีภาวะซึมเศร้าที่มีอาการเรื้อรังมานาน รักษาไม่หาย และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่น ๆ วิธีการรักษา คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการกระตุ้นด้วย TMS ครั้งละประมาณ 30 นาทีเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ และต้องรักษาต่อเนื่อง 4 – 6 สัปดาห์ โดยทุกขั้นตอนต้องอยู่ภายใต้การประเมินของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผลข้างเคียงต่ำผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บเล็กน้อยบริเวณศีรษะแต่เป็นความเจ็บที่สามารถทนได้

4. กระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่ดื้อยา 2 ชนิดขึ้นไปหรือดื้อต่อการรักษา จะรักษาโดยใช้เครื่องมือที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทบริเวณที่เกิดโรค โดยการประเมินตำแหน่งจะอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ ระยะเวลาโดยทั่วไปจะใช้เวลากระตุ้นประมาณ 30 – 40 นาทีต่อครั้ง ความถี่ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันประมาณ 20 – 30 ครั้งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ผลข้างเคียงปวดศีรษะและปวดตึงบริเวณที่วางหัวปล่อยสนามแม่เหล็ก

วิธีเยียวยาจิตใจเมื่อเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้านอกเหนือจากการใช้ยาเรื่องที่การข้างต้นแล้วยังสามารถเริ่มต้นได้จากตัวผู้ป่วยเอง ดังนี้

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าช่วงแรกและไม่มีอาการรุนแรง เริ่มต้นง่าย ๆ เช่น การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการเดินเล่น ว่ายน้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นต้น
  • เข้าใจ ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าความเศร้าที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอแต่เกิดจากความผิดปกติจากสารเคมีในสมอง ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความรู้สึกมาฉุดรั้งให้เรารู้สึกแย่มากขึ้น แต่จงมองอย่างเข้าใจ เศร้าบ้างเสียใจบ้างเป็นเรื่องปกติ
  • ตั้งเป้าหมายชัดเจนและไม่ยากเกินไป สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจากความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตควรเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการตั้งเป้าหมายที่ไม่ยากเกินไป เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองอยากทำต่อเนื่อง
  • ทำกิจกรรมที่ชอบ กิจกรรมไหนที่ทำแล้วรู้สึกดีก็พยายามแบ่งเวลาให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น
  • ดูแลตัวเอง แน่นอนว่าการกระตุ้นตัวเองให้ดูแลตัวเองสำหรับผู้มีภาวะซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่มีอะไรดีไปกว่าการใส่ใจดูแลตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไรเลย แค่ได้ประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเท่านี้ก็ถือว่าช่วยได้แล้ว

อย่างไรก็ตามภาวะซึมเศร้าสามารถรักษาได้หากรู้เท่าทันอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองหากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส