ในแต่ละปี ประเทศไทยมักจะมีข่าวการบาดเจ็บหรือแม้แต่การเสียชีวิตจากการถูกทำโทษในสถานศึกษา ไม่ว่าจะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ หนึ่งในบทลงโทษที่แสนเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยอันตรายหากไม่ได้ผ่านการคิดไตร่ตรองก่อน คือ การทำโทษด้วยการลุกนั่งหรือสก็อตจัมป์เป็นจำนวนหลายครั้ง โดย Hack for Health จะพามาทำความรู้จักกับบทลงโทษนี้กัน

FYI: ลุกนั่ง = สควอท (Squat) ต่างจาก สก็อตจัมป์ หรือ สควอทจัมป์ (Squat jump) ที่ทำท่าลุกนั่งคล้ายกัน แต่จะเพิ่มการกระโดดเข้ามาในช่วงลุกขึ้น

รู้จักกับการลุกนั่ง/สก็อตจัมป์ให้มากขึ้น

ท่าลุกนั่งเป็นท่าการออกกำลังกายแบบบอดีเวท (Bodyweight training) ซึ่งช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลายส่วน ตั้งแต่กล้ามเนื้อสะโพก อุ้งเชิงกราน ต้นขาด้านหน้า น่อง และกล้ามเนื้อลำตัวด้านข้าง หากทำอย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้ ดีต่อสุขภาพ กระชับสัดส่วน และช่วยเพิ่มการเผาผลาญ

พอท่านี้ได้ชื่อว่าเป็นท่าของการออกกำลังกาย เราจึงเห็นการทำโทษของสถาบันการศึกษาไทยในหลายแห่งตามข่าว ทั้งในอดีตและปัจจุบันใช้การลุกนั่งเป็นการทำโทษ โดยบอกหรืออ้างว่าเป็นการออกกำลังกาย เพราะเมื่อทำติดต่อกันมักจะทำให้รู้สึกเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า และสร้างความทรมานให้กับคนที่ทำได้

ทำไมการทำโทษด้วยการลุกนั่ง-สก็อตจัมป์ถึงอันตราย?

การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างที่รู้กันว่าอะไรที่มากเกินหรือทำอย่างไม่ถูกต้องย่อมส่งผลเสียได้ การลุกนั่ง-สก็อตจัมป์ก็เช่นเดียวกัน

การทำท่าลุกนั่งอย่างไม่ถูกต้อง

การออกกำลังกายอย่างถูกต้องนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนที่ตาเห็น แม้ภาพการลุกนั่งของหลายคนก็เป็นแค่การย่อขาและยืนขึ้น แต่ในการทำจริงนั้นมีรายละเอียดที่ไม่ควรมองข้าม อย่างตำแหน่งและลักษณะการย่อที่หัวเข่าที่ไม่ควรยื่นเกินปลายเท่า

ท่าทางการลุกนั่งที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ หรือเส้นเอ็นถูกใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเสียดสี อักเสบ และฉีกขาดได้ ยิ่งหากเป็นเด็กที่ร่างกายกำลังสร้างกระดูกอาจทำให้กระดูกฟอร์มตัวผิดไปจากที่ควรจะเป็นเมื่อทำเป็นประจำ ซึ่งส่งผลเสียในอนาคต

หรืออย่างการลุกนั่งโดยที่เข่ายื่นไปเกินปลายเท้าจะทำให้น้ำหนักถ่ายลงไปที่หัวเข่ามากกว่าที่สะโพกและขาจนทำให้เข่าบาดเจ็บได้

การทำมากเกินไป

ต่อให้คุณออกกำลังกายในท่าที่ถูกต้องเป๊ะ ๆ แต่การออกในจำนวนที่มากเกินไปส่งผลเสียได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการลุกนั่งหลายสิบหรือหลายร้อยครั้งในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เพราะสามารถทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ฉีกขาด และติดเชื้อได้ แล้วถ้าคุณออกกำลังกายในท่าที่ผิดต่อเนื่องกันหลายครั้งสามารถทำให้กระดูก เส้นเอ็น หรือเส้นประสาทบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดด้านสุขภาพ

นักเรียนและนักศึกษาดูจะเป็นวัยที่แข็งแรงแข็งขันกว่าช่วงวัยอื่น ๆ จนอาจทำให้คนที่มีอำนาจในการทำโทษลืมไปว่าไม่ใช่ทุกคนแข็งแรงเท่ากันหมด ซึ่งคนที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากการลุกนั่งได้มากกว่าและรุนแรงกว่าด้วย เช่น

  • คนอ้วนหรือน้ำหนักตัวมาก เพราะน้ำหนักตัวจะไปลงที่หัวเข่าหรือข้อเท้าจนเกิดการกดทับและอักเสบตามมา ทั้งเหนื่อยง่ายและหายใจลำบากกว่าคนกลุ่มอื่นจนหายใจไม่ทันและเป็นลมได้
  • คนที่มีปัญหาด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายที่ผิดท่าและมากเกินไปอาจทำให้กระดูกเปราะ ร้าว แตก หรือหักได้
  • คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหืดหอบอาจทางเดินหายใจตีบ หายใจไม่ทัน จนหมดสติหรือเสียชีวิตได้
  • คนที่มีความเครียด การทำโทษมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งความเครียดจากการถูกทำโทษ ทั้งทางร่างกายหรือทางความรู้สึกอาจส่งผลต่อสมองและทางเดินหายใจได้ สังเกตได้จากเวลาคนที่เหนื่อยมาก ๆ แล้วเป็นลม หรือบางคนอาจถึงขั้นเป็นลมชัก

ความแตกต่างทางร่างกายที่ถูกละเลย

หลายครั้งที่เด็กที่ถูกทำโทษยอมจำนนและขอยอมแพ้ต่อการทำโทษ ไม่ว่าจะด้วยวาจา พฤติกรรม น้ำตา ภาวะสุขภาพ หรือสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ มักถูกที่ผู้สั่งให้ทำโทษมองว่าเป็นคนอ่อนแอ สำออย และปิดท้ายด้วยคำว่าคนอื่นสามารถทำได้ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ซึ่งสะท้อนปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจสร้างผลเสียต่อสุขภาพและจิตใจของผู้ที่ถูกทำโทษตามมา

การลุกนั่งที่มากเกินไปจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างแน่นอน แต่สามารถได้อย่างปลอดภัยเมื่อทำในท่าที่ถูกต้องและจำนวนที่เหมาะสม โดยควรอยู่ระหว่าง 5–20 ครั้ง/รอบ ทั้งหมด 3–4 รอบ แต่ละรอบเว้น อย่างน้อย 1 นาที

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่สร้างแนวทางในการสร้างบทเรียนอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยให้กับคนรู้สึกว่าควรได้รับบทโทษเพื่อลดผลกระทบต่อตัวผู้ให้บทเรียนและผู้ที่ได้รับบทเรียน โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของไทยเพื่อการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสร้างสรรค์ ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดี

ที่มา: WebMD, EverydayHealth

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส