สารเคมีตลอดกาล (Forver chemicals) เป็นชื่อเล่นของ PFAS (Per and Polyfluoroalkyl Substances) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้เวลาหลายพันปีในการย่อยสลายจนได้ชื่อว่าสารเคมีตลอดกาล โดย PFAS เป็นส่วนประกอบของวัตถุและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนโลกนี้มากมาย ตั้งแต่แปรงสีฟันไปจนถึงเรือดำน้ำ และได้ปนเปื้อนไปทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ โดยเฉพาะดินและน้ำ ข้อมูลบางส่วนพบว่า PFAS สัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคต่อมไทรอยด์ คอเลสเตอรอลสูง ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตับเสียหาย และรบกวนการทำงานของฮอร์โมน

ผลการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ พบการปนเปื้อน PFAS ในน้ำประปากว่า 45 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบครึ่งหนึ่งของน้ำทั้งหมด ซึ่งทีมสำรวจยังบอกด้วยว่าอาจมีการปนเปื้อนและมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารนี้มากกว่าที่การสำรวจพบ

การศึกษาอีกชิ้นที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างน้ำโดยตรงจากก๊อกน้ำจำนวน 716 แห่ง ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2564 พวกเขาประเมินว่าจะมีการตรวจพบสารเคมี PFAS อย่างน้อยหนึ่งชนิดใน 45 เปอร์เซ็นต์ของน้ำดื่มในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการปนเปื้อนส่วนใหญ่มาจากแหล่งน้ำใกล้เขตเมืองและในพื้นที่ที่สร้าง PFAS เช่น โรงงานสารเคมี โรงงานอุตสาหกรรม บ่อขยะ หรือพื้นที่สำหรับกำจัดขยะ

ตัวอย่างน้ำที่นักวิจัยเก็บมาที่มาจากแหล่งน้ำส่วนตัวและแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งมีความเข้มข้นหรือปริมาณการปนเปื้อนของ PFAS ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

ในปี 2565 องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกาหรือ EPA ได้ประกาศเตือนว่าสารเคมีตลอดกาลอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้หลายพันเท่าของผลกระทบที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดย EPA ได้เสนอมาตรฐานน้ำดื่มในระดับชาติเกี่ยวกับการกรอง PFAS จำนวน 6 ชนิดออกจากน้ำที่ผู้คนใช้ในระดับที่ไม่สามารถตรวจพบได้

ดร.เจมี ดูว์อิต (Dr.Jamie DeWitt) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์และพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนาได้แนะนำว่าผู้คนไม่จำเป็นต้องกลัวการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดนี้ แต่จำเป็นต้องรู้และตระหนักถึงผลกระทบ รวมถึงการรู้วิธีที่ในการรับมือ ซึ่ง ดร.เจมีบอกว่าไส้กรองคาร์บอนในเครื่องกรองน้ำอาจช่วยลดปริมาณได้ แต่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำ หรือใช้เครื่องกรองน้ำที่ใช้ระบบ RO (Reverse osmosis) ร่วมกับการหมั่นสังเกตข้อมูลในเว็บไซต์สาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อเช็กความสะอาดของน้ำ

เคยมีผลการสำรวจตัวอย่างน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของไทยก็พบว่ามีการปนเปื้อนของ PFAS ด้วยเช่นเดียวกัน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีตลอดกาลในแม่น้ำสายนี้

ปัญหาการปนเปื้อน PFAS ในสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของโลกในปัจจุบันและทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ไม่แพ้ปัญหาด้านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการผลิตและบริโภคที่สร้างความสุขให้แก่ประชากรบนโลกใบนี้

ที่มา: CNN, ipen.org 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส