มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้มีสกิลในการพูดหรือมีความกล้าที่จะทักทายคนอื่นก่อน ถึงแม้ว่าจะอยากทักหรืออยากพูดคุยกับคนนั้นก็ตาม ซึ่งสาเหตุก็อาจจะมาจากความอาย ไม่กล้า ไม่มั่นใจ จนอาจทำให้คิดว่าตัวเองเป็นคนอัธยาศัยไม่ดี ไม่ทักทาย และอาจเป็นการปิดโอกาสในการทำความรู้จักคนอื่น ๆ ซึ่งจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยปรับไมนด์เซตและพฤติกรรม ที่จะทำให้เป็นคนอัธยาศัยดีขึ้น วันนี้ Hack for Health มีคำตอบ 

เริ่มจาก “Small Talk”

การเริ่มต้น การสนทนากับผู้คนใหม่ ๆ ทำให้คุณเกิดความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่? หากการพูดคุยกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ เราขอแนะนำให้เริ่มต้นจากการคุยอะไรง่าย ๆ คุยน้อย ๆ แบบ “Small Talk” คุณเชื่อหรือไม่ว่า Small Talk ทำหน้าที่สำคัญในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งช่วยละลายความเคอะเขินระหว่างคุณและคนอื่น ๆ ที่คุณต้องการคุยด้วย และมีบทบาทในการเอาชนะความไม่สบายใจทางสังคม 

การเริ่มต้นจากการทักทาย และพูดคุยเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยสร้างรากฐานสำหรับการสนทนาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางอาชีพใหม่ ๆ ช่วยคุณค้นหาลูกค้าใหม่ ๆ หาเพื่อนใหม่ ๆ ซึ่งคุณจะต้องฝึกฝนทักษะทางสังคมนี้ และพยายามเข้าหาผู้คนด้วยตัวเอง

เทคนิคเปลี่ยน Mindset เพื่ออัปเกรดตัวเองให้เป็นคนที่อัธยาศัยดีมากขึ้น

การเปลี่ยน Mindset เพื่อเริ่มต้นการสนทนากับผู้อื่น คุณจะต้องโฟกัสไปที่เป้าหมายเชิงบวกและพยายามเริ่มจากการสนทนาแบบ “Small Talk” ซึ่งทาง Hack for Health ได้นำเคล็ดลับที่จะช่วยทำให้คุณ มีความรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการเข้าหาผู้คนและเริ่มการสนทนากัน

  • พยายามท้าทายความคิดเชิงลบ: หากคุณมีข้อสงสัยในตัวเอง หรือมีความคิดเชิงลบเกี่ยวกับการเข้าหาผู้อื่น ให้ท้าทายความคิดเหล่านั้น แทนที่ด้วยความเชื่อเชิงบวกและเสริมพลังให้กับตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะคิดว่า “พวกเขาคงไม่สนใจที่จะคุยกับฉันหรอก” ให้เปลี่ยนเป็นลองคิดว่า “ฉันคุยเก่ง ฉันมีเรื่องน่าสนใจมากมาย และคนอื่น ๆ อาจจะรู้สึกสนุกกับการพูดคุยกับฉัน” 
  • ทำความเข้าใจในการผูกสัมพันธ์: ทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกปฏิสัมพันธ์ จะนำไปสู่การสนทนาที่ลึกซึ้งและมีความหมาย หรืออาจทำให้สนิทกันมากขึ้น ให้คุณเริ่มต้นการพูดคุยด้วยเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์ง่าย ๆ หรือเริ่มการสนทนาแบบเป็นกันเอง และทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกปฏิสัมพันธ์จะต้องส่งผลทำให้เกิดมิตรภาพที่ยืนยาว
  • ฟังอย่างกระตือรือร้น: การเป็นผู้ฟังที่ดี จัดเป็นทักษะสำคัญในการเข้าหาผู้อื่น พยายามฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอย่างจริงใจ ถามคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับตนเองมากขึ้น
  • สร้างความมั่นใจในตนเอง: ความมั่นใจมีบทบาทสำคัญในการเข้าหาคนอื่น ๆ พยายามสร้างความภาคภูมิใจในตนเองคุณสามารถสร้างความมั่นใจในตนเองผ่านการพูดคุยที่ดี ๆ ได้ ยิ่งคุณรู้สึกมั่นใจมากเท่าไร การเข้าหาผู้อื่นก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น
  • ฝึกความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้อื่น: พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น เมื่อคุณเข้าหาผู้คนด้วยความเห็นอกเห็นใจ คุณจะปรับตัวให้เข้ากับความต้องการและอารมณ์ของผู้อื่นได้มากขึ้น ทำให้เชื่อมโยงเข้าหากันได้ง่ายขึ้น และอย่าทักทายด้วยคำพูดที่ไม่สุภาพ หรือตัดสินผู้อื่น หรือพูดง่าย ๆ ถ้าคุณไม่อยากให้คนอื่นทักคุณยังไง ก็อย่าทักคนอื่นเช่นนั้น 
  • เริ่มต้นด้วยก้าวเล็ก ๆ : หากคุณไม่คุ้นเคยกับการเริ่มต้นการสนทนาในการคุยกับผู้อื่น ให้เริ่มต้นด้วยก้าวเล็ก ๆ ให้คุณเริ่มต้นด้วยการทักทายผู้คนที่คุณพบในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้น ค่อย ๆ หลังจากนั้นพยายามเข้าหาคนแปลกหน้าในงานสังคม หรือกิจกรรมที่คุณชอบทำ 
  • ตั้งเป้าหมาย: ตั้งเป้าหมายสำหรับตัวคุณเองเมื่อต้องการเข้าหาผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะตั้งเป้า ในการที่จะเริ่มการสนทนากับคนใหม่ ๆ 1 คนในงานกิจกรรมที่คุณเข้าร่วม 
  • ฝึกสติ: ใส่ใจกับภาษากายและคำพูดของคนที่คุณกำลังคุยด้วย การมีสติจะช่วยทำให้คุณมีสมาธิ และมีส่วนร่วมในการสนทนาได้มากขึ้น ทำให้คู่สนทนาเห็นว่าคุณมีความใส่ใจในการพูดคุย และอยากคุยต่อ
  • เรียนรู้จากการถูกปฏิเสธ: ให้คุณทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกปฏิสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างราบรื่น และบางคนอาจไม่เปิดรับการทักทาย หรือการพูดคุยของคุณ อย่าถือเอาการปฏิเสธนี้มาคิดมาก แต่ให้มองว่าสิ่งนี้เป็นประสบการณ์การเรียนรู้และเป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะทางสังคมของคุณแทน

Hack for Health ขอแนะนำว่า การสร้างนิสัยในการเข้าหาผู้คนและเริ่มการสนทนาต้องใช้เวลาและการฝึกฝน ขอให้คุณมีความอดทนกับตัวเองให้มาก ๆ หยุดมองตัวเองในแง่ลบ และอย่าท้อแท้กับความพูดไม่เก่งในช่วงแรก ๆ ด้วยความพากเพียรและทัศนคติเชิงบวก

คุณจะรู้สึกสบายใจและมีทักษะมากขึ้นในการเข้าหาผู้อื่นและเริ่มต้นการสนทนา แม้ว่าคุณจะประหม่าแต่ก็ขอให้พยายามเข้าหาผู้อื่นด้วยทัศนคติเชิงบวก สิ่งนี้จะทำให้คุณสบายใจ หากคุณรู้สึกวิตกกังวล ให้แสดงความคิดเชิงบวกออกไปผ่านภาษากายที่ผ่อนคลาย เช่น การยิ้มหรือการสบตา

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส