ภาวะลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีน Covid-19 เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานในหมู่นักวิชาการและบุคคลทั่วไป ล่าสุดทาง AstraZeneca ได้ออกมายอมรับครั้งแรกว่าวัคซีน Covid-19 ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดได้จริง

บริษัทยายักษ์ใหญ่ AstraZeneca ยอมรับว่าวัคซีนป้องกัน Covid ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชื่อ Covishield นั้นสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยากได้แก่ลิ่มเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ โดย Covishield ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษและสวีเดนโดยได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้รับการผลิตโดย Serum Institute of India

การศึกษาและวิจัยบางชิ้นที่ดำเนินการระหว่างการแพร่ระบาดของ Covid-19 พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 60-80% อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่า Covishield อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดซึ่งส่งผลต่อชีวิตได้

เนื่องจากวัคซีนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดได้จึงนำไปสู่การฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักรว่าวัคซีนดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทำให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 100 ล้านปอนด์แก่เหยื่อประมาณ 50 ราย ผู้เสียหายรายหนึ่งบอกว่าวัคซีนทำให้เกิดความเสียหายกับสมองของเขาอย่างถาวรเนื่องจากลิ่มเลือดเข้าไปอุดกั้นบริเวณดังกล่าว

AstraZeneca ยอมรับเป็นครั้งแรกในรายงานเอกสารต่อศาลว่าวัคซีนทำให้เกิด Thrombocytopenia Syndrome (TTS) หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำและลิ่มเลือดได้ในบางกรณี The Telegraph รายงานว่า AstraZeneca ยอมรับว่าวัคซีนสามารถก่อให้เกิด TTS ได้ในบางกรณี แต่ก็พบได้ยาก ทั้งนี้ยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดลิ่มเลือดที่แน่ชัด พร้อมเสริมว่าแม้ไม่มีวัคซีนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ซึ่งการยอมรับของ AstraZeneca ในครั้งนี้ขัดกับคำยืนยันของบริษัทเมื่อปี 2023 ว่าวัคซีนไม่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้

องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า Covishield อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากที่เรียกว่า Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือเป็นภาวะการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติและรุนแรงซึ่งมีความเชื่อมโยงกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ

ข้อมูลจากสภาองค์การวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างประเทศระบุว่าผลข้างเคียงนั้นพบได้น้อยมาก โอกาสเกิดขึ้นอยู่ที่ 1 ใน 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งองค์กรอนามัยโลกชี้ว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในการป้อง Covid-19 นั้นยังมีมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสยู่ดี

โดย 3 ปีก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือด แต่ยังไม่ใช่การยอมรับตรง ๆ โดยบริษัทเอง