อารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลาช่วงหนึ่ง จากอารมณ์ดีกลายเป็นเศร้า จากเศร้ากลายเป็นโมโห วันนี้นิสัยเป็นแบบนี้ อีกวันหนึ่งนิสัยเป็นอีกแบบ เมื่อเจอกับคนที่มีลักษณะแบบนี้ หลายคนมักจะคิดว่าเป็นโรคไบโพลาร์ หรือบางคนอาจเรียกว่าโรคหลายบุคลิก ซึ่งคุณอาจกำลังสับสน และเข้าใจผิดอยู่ เพราะจริง ๆ แล้ว โรคไบโพลาร์กับโรคหลายบุคลิก ไม่-เหมือน-กัน!
โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)
โรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สลับไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า กับอารมณ์ที่ดีมากกว่าปกติ ซึ่งการแสดงอาการในแต่ละช่วงอาจคงเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ และมักมีอาการเหล่านี้
- มักมีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนมาก
- นอนไม่หลับหรือหลับมากไป
- รู้สึกอ่อนเพลียแทบทุกวัน
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- สมาธิในการทำงานลดลง
- คิดถึงเรื่องตายอยู่บ่อย ๆ
โรคหลายบุคลิก Dissociative Identity Disorder
โรคหลายบุคลิกจัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความเป็นตัวตนของตัวเองไป เกิดความรู้สึกสับสน และมีบุคลิกภาพมากกว่า 2 แบบ ความทรงจำขาด ๆ หาย ๆ ไปจนถึงการสูญเสียความจำ ได้ยินเสียงคนอื่นในหัว รวมทั้งมีอาการเหล่านี้
- รู้สึกสับสนในตัวเอง รู้สึกว่ามีบุคลิกภาพมากกว่า 2 แบบ
- สูญเสียความทรงจำ
- ได้ยินเสียงในหัว
- มองกระจกแล้วจำตัวเองไม่ได้ หรือนึกไม่ออกว่าตัวเองเป็นใคร
- ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง คิดว่าเรื่องที่พบเจอเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดจากการเข้าใจผิด
ซึ่งวิธีวางแผนรักษาโรคไบโพลาร์ และโรคหลายบุคลิก มีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยที่การรักษาโรคไบโพลาร์จะรักษาจากการใช้ยาเป็นหลัก ส่วนวิธีการรักษาโรคหลายบุคลิก จะมาพร้อมกับวิธีที่มากกว่า เช่น
- การทำจิตบำบัด (Psychotherapy)
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy)
- อาจมีการใช้ยาร่วมด้วย
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการที่แตกต่างกันไปของคนไข้แต่ละคน ดังนั้นถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตัวคุณเอง หรือแม้แต่คนใกล้ชิดกำลังมีภาวะอาการเหล่านี้อยู่ ก็ควรที่จะรีบไปปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง