Global Web Index บริษัทชั้นนำด้านการวิเคราะห์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ รายงานว่าในปี 2021 จำนวน 8 ใน 9 ของชาวไทยบนทวิตเตอร์มีความสนใจในเรื่องการออมเงินและการลงทุน ในขณะที่ข้อมูลจาก Brandwatch ระบุว่า ในปี 2020-2021 คนไทยได้ทวีตเรื่องการออมการลงทุนมากกว่า 70,000 ครั้งต่อวัน 

ปัจจุบัน สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้เป็นเครื่องมือบริหารเงินของคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างวินัยการออม และบทความนี้ beartaiBRIEF จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 แอปพลิเคชันที่จะทำให้การบริหารเงินเป็นทั้งเรื่องง่าย สนุก และมีโอกาสทำกำไรได้อีกด้วย

Kept by krungsri

Kept by krungsri Screenshot

แอปพลิเคชันที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 1.7% ต่อปี และมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย โดยการทำงานของ Kept จะแบ่งบัญชีเป็นกระปุกต่าง ๆ และมีลูกเล่นการออมเป็นตัวเสริม โดยเฉพาะฟีเจอร์เด่นอย่าง ‘แอบเก็บ’ ในกระปุก Fun ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเก็บเงินได้แบบไม่รู้ตัว

เนื่องจากทุก ๆ ครั้งที่โอนเงินออก หรือมีการสแกนจ่ายผ่าน QR Code แอปก็จะแอบหยอดกระปุกไว้ให้เราในรูปแบบต่าง ๆ ตามการตั้งค่า เช่น มีการโอนเงินออกไป 90 บาท แอปก็จะช่วยเก็บ 10 บาท หรือช่วยเก็บ 10% ของยอดใช้จ่ายทุก ๆ 100 บาท เป็นต้น

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ ‘สั่งเก็บ’ ฟีเจอร์ที่ช่วยสร้างวินัยการออม ด้วยการหยอดกระปุกในจำนวนเงินที่เท่า ๆ กันทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน แล้วแต่การตั้งค่าของเรา

นอกจากนี้ Kept ยังมีฟีเจอร์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการเบื่อแอป เช่น Together Savings ที่ซึ่งเป็นการสร้างกระปุกเก็บเงินไว้ใช้ตามเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงการต่อยอดการออมไปสู่การลงทุนในกระปุก Kept Invest

MAKE by KBank

MAKE by KBank Screenshot

แอปพลิเคชันจัดการเงินที่ช่วยให้ผู้ใช้งาน สามารถจัดการ จ่าย และจดบันทึกในรูปแบบ Chat Banking ที่สามารถบันทึกได้ทั้งข้อความและรูปภาพในแต่ละธุรกรรมการเงิน รวมถึงการตรวจสอบประวัติการทำรายการย้อนหลัง หรือเรียกเก็บเงินจากเพื่อนผ่านโปรแกรมแชต

แอปนี้มีจุดเด่นเรื่องฟังก์ชันในแอปที่มีความหยืดหยุ่น สามารถปรับให้เข้ากับผู้ใช้งานได้ทุกประเภท และมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย โดยหนึ่งในฟีเจอร์ที่โดดเด่นของ MAKE คือ Cloud Pocket ที่ให้ผู้ใช้สามารถแบ่งเงินในบัญชีออกเป็นกระเป๋าย่อย ๆ และสามารถกำหนดเป้าหมายในการเก็บเงินของแต่ละกระเป๋าได้ เช่น ค่าเสื้อผ้า, ค่าบิลต่าง ๆ ในแต่ละเดือน หรือของชิ้นใหญ่ที่อยากได้

ทั้งนี้ หากเรามีเป้าหมายในการเก็บเงินร่วมกับเพื่อน เช่น การไปเที่ยวด้วยกัน ก็สามารถชวนเพื่อนมาร่วมกันเก็บเงินเป็นกองกลางได้ และเพื่อให้ทุก ๆ กระเป๋าย่อย สามารถบรรลุเป้าหมายในการเก็บเงินได้ แอปก็อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถล็อกแต่ละกระเป๋าย่อยใน Cloud Pocket ได้ เพื่อไม่ให้เผลอเอาเงินออกมาใช้จนหมดเสียก่อน

Dime!

Dime App Screenshot

Dime! เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมทั้งการจัดการเงินและการลงทุนเอาไว้ด้วยกัน โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกต่อยอดเงินให้งอกเงยได้ด้วยบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 3% ต่อปี

หรือถ้าใครเป็นสายลงทุน แอปนี้ก็ให้บริการลงทุนในกองทุนรวมกว่า 1,700 กองทุน จาก 20 บลจ. ซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ เช่น กองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างประเทศ และกองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษี RMF และ SSF ผู้ใช้งานจึงมีตัวเลือกที่หลากหลายในการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง

แต่อีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นของ Dime! คือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเลือกซื้อหุ้นระดับโลกในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาได้ เช่น หุ้นของ Apple, Microsoft, Amazon หรือ Tesla ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 50 บาท ทั้งนี้ หากคุณยังเป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่ต้องการข้อมูลการลงทุนเพิ่มเติม ภายในแอปก็มีบริการข้อมูลข่าวสารการเงินการลงทุนให้ด้วย

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 แอปพลิเคชัน แม้จะเป็นแอปจัดการเงินเหมือน ๆ กัน แต่ก็มีฟังก์ชัน ฟีเจอร์ และจุดเด่นที่แตกต่างกัน ผู้ใช้งานจึงควรอ่านเงื่อนไขการใช้บริการของแต่ละแอปพลิเคชันให้เข้าใจและชัดเจนก่อน เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการเงินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ แล้วถ้าถามว่าเมื่อไรที่ควรเริ่มออม หรือเริ่มลงทุนตอนไหนดี? ก็ต้องบอกว่า “ตอนนี้แหละดีที่สุด” เริ่มเลย!

หมายเหตุ : บทความนี้มิใช่เป็นการแนะนำหรือเชิญชวนให้มาลงทุน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา : MCOT, Kept, MAKE, Dime!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส