วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างสองดินแดนได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

Cross-Border QR หรือบริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทย สามารถทำรายการผ่านโมบายแอปพลิเคชันของธนาคารหรือผู้ให้บริการที่ร่วมโครงการได้ โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกง สามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทย สามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้

บริการดังกล่าวไม่แตกต่างกับการชำระเงินด้วย Thai QR ภายในประเทศที่เราคุ้นเคยกันดี ยกเว้นการชำระเงินในต่างประเทศ ธนาคารจะแปลงค่าสินค้าและบริการเป็น ‘เงินบาท’ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนขณะทำรายการ แล้วจึงหักเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่ผูกไว้กับโมบายแอปพลิเคชัน หมายความว่า กรณีร้านค้าในประเทศไทยเป็นผู้ขาย ก็จะได้รับเงินเป็นเงินบาทตามราคาสินค้าและบริการทันที ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองดินแดนอีกด้วย

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลางคือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong  และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-Bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย รวมถึงอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า “ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค” 

ในขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า “ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม”

ไทย - ฮ่องกง เปิดบริการ QR
Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง (ซ้าย),
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ขวา)

สำหรับใครที่มีแผนเดินทางไปท่องเที่ยวฮ่องกงในช่วงวันหยุดยาวนี้ beartai BRIEF ได้รวบรวมคำถาม – คำตอบ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบริการชำระเงินข้ามพรมแดนฮ่องกง – ไทย มาไว้ให้แล้ว!

คนไทยเดินทางไปฮ่องกงจะสแกน QR Code ได้อย่างไร ?

ผู้ใช้งานที่มาจากไทยต้องใช้โมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการไทยที่ร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย โดยผู้ใช้งานได้ผูกบัญชีเงินฝากไว้ แล้วสแกน QR Code ร้านค้าในฮ่องกง ซึ่งออกโดยผู้ให้บริการฮ่องกงที่ร่วมโครงการ

เมื่อชำระค่าบริการเสร็จสิ้น ผู้ใช้งานจะได้รับการยืนยันการตัดบัญชีเป็นเงินบาทผ่านโมบายแอปพลิเคชัน และเมื่อทำรายการสำเร็จ ก็จะได้รับ e-Slip เป็นหลักฐานทุกรายการทันที โดยสามารถเลือกบันทึก หรือแชร์ e-Slip การทำรายการผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการติดต่อสื่อสารได้

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานที่มาจากฮ่องกงต้องใช้โมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการฮ่องกงที่ร่วมโครงการ และผู้ใช้งานได้ผูกบัญชีเงินฝากไว้ สแกน QR Code ร้านค้าในไทย ซึ่งออกโดยผู้ให้บริการไทยที่ร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

Cross-Border QR มีกำหนดวงเงินใช้จ่ายหรือไม่ ?

สำหรับผู้ใช้งานที่มาจากไทย สามารถใช้จ่ายผ่าน Cross-Border QR ได้สูงสุด 100,000 บาทต่อรายการ หรือสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อวัน ในขณะที่ผู้ใช้งานที่มาจากฮ่องกง สามารถใช้จ่ายผ่าน Cross-Border QR ได้สูงสุดไม่เกิน HKD 10,000 ต่อวัน และไม่กำหนดวงเงินต่อรายการ

ทั้งนี้ การชำระเงินในต่างประเทศด้วย QR code ยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม

ธนาคารจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดในการแปลงค่าเงิน ?

การชำระเงินในต่างประเทศธนาคารจะแปลงค่าสินค้าและบริการเป็น ‘เงินบาท’ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนขณะทำรายการ แล้วจึงหักเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่ผูกไว้กับโมบายแอปพลิเคชัน โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามปัจจัยตลาด ซึ่งทำให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ให้บริการอื่น ๆ

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส