โทเคนดิจิทัล (Investment Token) กับ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วผู้ลงทุนต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร หลังครม.ประกาศเก็บภาษีโทเค็นดิจิทัล 15% ให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

Investment Token vs Cryptocurrency

คริปโทเคอร์เรนซี เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสกุลเงินเข้ารหัส ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ตัวอย่างของคริปโทเคอร์เรนซีที่เห็นได้ชัด คือ Bitcoin และ Stable Coin เป็นเหรียญที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินสกุลหนึ่ง เช่น USDT-USDC ตรึงมูลค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี

แต่สำหรับโทเคนดิจิทัลแล้ว มันเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือในการแบ่งรายได้ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ โดยตามนิยามของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้แบ่งโทเคนดิจิทัลไว้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือ investment token มีลักษณะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยมุ่งหวังว่าจะได้ผลตอบแทนในอนาคต เช่น ส่วนแบ่งกำไร และสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิในการลงคะแนน เป็นต้น
  2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ utility token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิกับผู้ถือในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่าง ๆ ตามที่ระบุเอาไว้ตามเงื่อนไขของเหรียญ เช่น Ethereum, BNB, Shiba inu และเหรียญประจำบล็อกเชนสัญชาติไทยภายใต้กฎหมายไทย เช่น KUB Coin, JFIN เป็นต้น

สิ่งที่อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Investment Token

สำหรับ Investment Token ในบริบทประเทศไทยเรานั้นก็ค่อนข้างแยกขาดกับโทเคนอื่นๆ ทั้งโทเคนใน Defi, Cefi หรือการพัฒนาโปรเจกต์ GameFi ต่าง ๆ ล้วนไม่ใช่โทเคนเพื่อการลงทุนสำหรับไทย ซึ่งในไทย Investment Token มีลักษณะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ผู้ถือโทเคนลงทุนมุ่งหวังว่าจะได้ผลตอบแทนในอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่วนแบ่งกำไร หรือเงินปันผล เป็นต้น แต่การถือครองมีความยืดหยุ่นมากกว่า ด้วยลักษณะการเป็นโทเคนที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย บางครั้งลิสต์ซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมกับคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม Investment Token ไม่เหมือนกับการถือหุ้นเสียทั้งหมด เพราะโทเคนดิจิทัลไม่ใช่การลงทุนกับทั้งบริษัท แต่มีลักษณะร่วมลงทุนแค่ในโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง เช่น การทำภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง หรือการทำหมู่บ้านจัดสรรหนึ่งแห่ง ซึ่งการจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือโทเคน Investment Token แรกของไทย คือ SiriHub Token ของเครือแสนสิริ และที่โด่งดังอีกโทเคน คือ Destiny Token ที่ใช้เพื่อการระดมทุนทำภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2”

Investment Token – คริปโทเคอร์เรนซี จ่ายภาษีอย่างไร

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันว่า Investment Token ควรเก็บภาษีอย่างไร เพราะถ้ามอง Investment Token เป็นหุ้น เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% แต่กำไรจากการขายหุ้นไม่ถูกเรียกเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ในขณะที่มุมมอง Investment Token เป็น Bond ก็จะมีการเรียกเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไม่ว่าจะเป็นจากดอกเบี้ย หรือการขายหน่วยลงทุน และไม่ถูกนำไปคำนวณในภาษีเงินได้สิ้นปี

แต่หลังจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการถือครอง โดยให้หักเป็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และไม่ต้องนำส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ทำให้สรุปได้ว่า ‘กระทรวงการคลังจัดรูปแบบการลงทุนใน Investment Token ให้เหมือนกับ Bond มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยไม่ต้องนำไปคำนวณสิ้นปีภาษี

อ้างอิงจาก บทความก่อนหน้า ครม. ประกาศเก็บภาษีกำไรโทเคนดิจิทัล หักภาษี 15%

ขณะที่ฝั่ง คริปโทเคอร์เรนซี ยังไม่ชัดเจนในการเรียกเก็บภาษี เนื่องจากมีความแตกต่างในลักษณะการซื้อขาย ทั้งรายได้และผลกำไรจากส่วนต่างราคา รวมถึงเงินปันผลที่ได้จาก Staking แม้กระทั่งการถือ Stable Coin ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตลอดเวลา

ดังนั้น การจ่ายภาษีคริปโทเคอร์เรนซี จึงเป็นภาระรับผิดชอบของผู้ซื้อขายเอง ที่จะต้องบันทึกกำไร/ขาดทุนธุรกรรมทุกอย่างของตน เพื่อจดแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อสิ้นปีภาษี ซึ่งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เช่น Bitkub Orbix และอื่นๆ เริ่มมีการแจ้งเอกสารใบกำกับภาษีทางอีเมล์ ให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อความสะดวกในการบันทึกรายได้กำไรขาดทุน และยื่นแจ้งภาษีแก่กรมสรรพากร